เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “สายตาสั้น”
1. ถ้าไม่ใส่แว่นตลอดเวลาจะสายตาสั้นลง
เรื่องนี้ไม่ได้จริงเสมอไป เพราะจะเกิดแค่กับเด็กเท่านั้น เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่ดวงตายังเติบโตได้อยู่ หากไม่ได้ใส่แว่นตลอดเวลาจนทำให้ใช้สายตาเพ่งมองอยู่บ่อยครั้ง ลูกตาจะยืดออกผิดปกติ (Elongation) ทำให้สายตาสั้นมากขึ้นกว่าเดิมได้
แต่ในผู้ใหญ่จะไม่เกิดขึ้น เพราะการเพ่งสายตาชั่วขณะของผู้ใหญ่ไม่ได้ทำให้ลูกตายืดตาออก เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการตาเมื่อย ตาล้า ปวดศีรษะเท่านั้น ไม่ได้ทำให้สายตาสั้นขึ้นแต่อย่างใด
2. ไม่ควรให้เด็กใส่แว่นตามค่าสายตา เพราะจะทำให้สายตาสั้นลง
หลายคนเข้าใจว่าดวงตาของเด็กยังอ่อนแอเกินกว่าจะใส่แว่น หากใส่แว่นค่าสายตามากๆ ตามค่าสายตาจริง จะเป็นการทำร้ายดวงตามากเกินไปและทำให้สายตาสั้นมากขึ้น ในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย
เพราะถ้าเด็กไม่ได้ใส่แว่นตามค่าสายตาที่ควรเป็น เด็กจะเพ่งมองและทำให้ลูกตายืดออกจนสมดุลระยะสายตาผิดปกติและทำให้สายตาสั้นมากขึ้น ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าสายตาเปลี่ยน หรือเปลี่ยนน้อยลง ควรให้เด็กได้ใส่แว่นตาที่เหมาะกับค่าสายตาตั้งแต่ต้น
3. สายตาสั้นไม่ทำให้ตาบอด
ความจริงแล้ว สายตาสั้นอาจทำให้ตาบอดได้ หากสายตาสั้นมากเกินไปและไม่ได้รักษาด้วยการปรับค่าสายตา อย่างการใส่แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ หรือทำเลสิก จนทำให้มองเห็นเพียงภาพเบลอๆ ก็จะถือว่าเป็นอาการตาบอด นอกจากนี้สายตาสั้นมากๆอาจจะทำให้เกิดโรคที่ทำให้ตาบอดสนิทหรือตาบอดบางส่วนได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อม, น้ำวุ้นตาเสื่อม, จอตาฉีกขาดและหลุดลอก เป็นต้น
4. ค่าสายตายาวและสายตาสั้น สามารถหักลบกันได้
สายตายาวและสายตายาวไม่สามารถหักลบกันได้ เพราะเป็นความผิดปกติคนละส่วนกัน กรณีส่วนใหญ่ที่พบได้มากคือเป็นผู้ที่สายตาสั้นจากสรีระดวงตามาตั้งแต่ต้น เมื่ออายุมากขึ้นเกิดเป็นสายตายาวตามอายุจากกล้ามเนื้อควบคุมเลนส์ตาเสื่อม ทำให้มองใกล้ไม่ชัด มองไกลก็ไม่เห็น
ค่าสายตาที่วัดออกมาได้ จึงจะมีทั้งค่าสายตาสั้น แยกกับค่าสายตายาว เช่น “LE -1.00 +2.00 add” ตัวเลข +2.00 add นั่นคือค่าสายตายาวที่เพิ่มขึ้นมา
ในการประกอบแว่น หากอยากให้แว่นแก้ไขได้ทั้งสองค่าสายตา เลนส์จะถูกแบ่งเป็นสองส่วน ครึ่งบนจะเป็นค่าสายตาสั้นใช้สำหรับมองไกล ส่วนครึ่งล่างจะเป็นค่าสายตายาวใช้สำหรับมองใกล้นั่นเอง
5. สายตาสั้นจะกลับมาเป็นปกติเมื่ออายุมากขึ้น
มีกรณีที่เด็กสายตาสั้น เมื่อโตขึ้นค่าสายตาสั้นน้อยลงเช่นกัน เกิดจากการเติบโตของลูกตาที่สมดุลมากขึ้น แต่ส่วนที่คนมักเข้าใจผิดคือ หากตอนอายุน้อยสายตาสั้น เมื่ออายุมากขึ้นและสายตายาว จะหักล้างทำให้ค่าสายตาสั้นหายไป ซึ่งไม่เป็นความจริง
จากที่กล่าวไว้ในหัวข้อที่แล้วว่าค่าสายตายาวและสายตาสั้นไม่สามารถนำมาหักลบกันได้ ดังนั้นสายตาสั้นจะไม่หายไป แม้จะอายุมากขึ้นจนเกิดอาการสายตายาวก็ตาม