‘ตัดหางปล่อยวัด' แล้วตัดหางอะไรกัน หมา หรือ แมว
เชื่อว่าสำนวนไทย หลายคนต้องคุ้นหูแน่นอน อย่าง ‘ตัดหางปล่อยวัด' แล้วตัดหางอะไรกัน คงคิดกันบ่อยว่าเป็นหมาแน่
ถ้าให้ลองทายกันเล่น ๆ แบบไม่แอบเปิดกูเกิลค้นหาข้อมูล เราว่ามีหลายคนต้องตอบว่า ‘สุนัข’ บ้างล่ะ ‘แมว’ บ้างล่ะ
แต่แท้จริงแล้ว ที่มาของสำนวนตัดหางปล่อยวัด ไม่ใช่หางของสุนัขหรือแมวแต่อย่างใด
แต่คือ..................... หางไก่! ต่างหาก
ขอเล่าเท้าความกันไปในสมัยอดีตกาล คนโบราณเขามีความเชื่อกันว่า การตัดหางไก่ แล้วนำไปปล่อยจะช่วยสะเดาะเคราะห์ได้
มีหลักฐานปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่า เมื่อเกิดสิ่งที่เป็นอัปมงคล เช่น หากการทะเลาะวิวาทตบตีกัน
ถึงเลือดตกยางออกในพระราชวังต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยนำไก่ไปปล่อยนอกเมือง เพื่อให้พาเสนียดจัญไรไปให้พ้น
และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีประกาศกล่าวถึงการนำไก่ไปปล่อยที่วัดเพื่อสะเดาะเคราะห์ด้วยเช่นกัน จึงสันนิษฐานว่าไก่ที่จะนำไปปล่อยที่วัดจะตัดหาง เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าเป็นไก่ที่ปล่อยเพื่อการสะเดาะเคราะห์นั่นเอง คนทั่วไปจะได้สังเกตเห็นว่าเป็นไก่ลอยเคราะห์ หากจับเอาไปอาจจะทำให้เคราะห์ร้ายได้