กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงได้ยินหรือคุ้นหูกับประโยคนี้กันมาไม่มากก็น้อย เป็นประโยคที่ใช้ในการเปรียบเปรยถึงบางสิ่งบางอย่างที่ต้องใช้ระยะเวลาและอดทนในการกระทำหรือสรรสร้าง เพื่อให้เกิดความสำเร็จลุล่วงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และมักจะใช้เปรียบเปรยกับการทำงานของคนเรา หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้บรรลุเป้าหมายในชีวิต.. แต่วันผู้เขียนจะขอมาพูดถึงเรื่องราวของกรุงโรมที่ชื่อเมือง และเป็นสถานที่จริง ๆ ตั้งอยู่บนโลกจริง มิใช่ประโยคหรือคำพูดอีกต่อไป
โดยตามตำนานเล่าว่า ภายหลังจากล้มสลายของเมืองทรอย อันเกิดจากการทำสงครามอันยาวนานระหว่างชาวอะคีอันส์และชาวทรอย ชาวทรอยส่วนที่เหลือรอดจากการล้มสลายของเมือง ได้ทำการอพยพหาดินแดนแห่งใหม่เพื่อลงหลักปักฐานโดยการนำของเจ้าชายอีเนียส (Aeneas) แห่งทรอย
ภายหลังจากที่ได้ค้นพบดินแดนแห่งใหม่อยู่แถวเนินเขาอัลบาน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จากตำแหน่งของกรุงโรม ต่อมาเจ้าชายอีเนียสได้ตั้งชื่อเมืองว่า อัลบา ลองกา (Alba Longa) และปกครองเมืองสืบต่อไป
ภาพวาดตำนานในศตวรรษที่ 17 ของ Ferdinand Bol แสดงให้เห็นว่าอีเนียสเป็นชุดเกราะมอบรางวัลเกียรติยศให้กับผู้ชนะการแข่งขัน
จนกระทั้งมาถึงยุคสมัยของกษัตริย์นูมิทอร์ ( Numitor ) ปกครองเมือง ได้เกิดการแย่งชิงอำนาจทางบัลลังก์โดยอามูลิอูส ( Amulius )ผู้เป็นน้องชายของตน จนในที่สุดอามูลิอูสได้แย่งชิงบัลลังก์จากพี่ชายและขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองได้สำเร็จ ได้เนรเทศพี่ชายของตนพร้อมสังหารเหล่าบุตรชายของนูมิทอร์ เว้นไว้เพียงบุตรสาวเพียงหนึ่งเดียวของเขาคือ เรอา ซิลเวีย (Rhea Silvia) แต่อามูลิอูสได้ทำการส่งเรอาไปเป็นนักบวชหญิงของเทพีเวสต้า เพื่อถือศีลพรหมจรรย์ เป็นตัดตอนมิให้ทางฝั่งของนูมิทอร์ได้มีทายาทสืบอำนาจต่อไป
Mars et Rhea Silvia by Peter Paul Rubensภาพวาดเทพเจ้ามาร์ส กับ เรอา ซิลเวีย โดย Peter Paul Rubens
หลังจากที่อามูลิอูสได้ปกครองเมืองได้ในระยะหนึ่ง ได้มีข่าวลือเข้าถึงหูของตนว่า เรอานั้นได้ตั้งท้อง โดยในตำนานเล่าว่า นางถูกขืนใจโดยเทพมาร์ส (Mars) เทพเจ้าแห่งสงคราม และกำเนิดบุตรชายฝาแฝด หลังจากนั้นนางจึงถูกจับคุมขังและเด็กทั้งสองถูกฆ่าโดยการนำไปทิ้งที่แม่น้ำไทเบอร์ เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมของอามูลิอูส แต่เด็กชายทั้งสองได้กลับรอดชีวิต ด้วยการช่วยเหลือของเทพมาร์ส และลอยไปเกยตื้นที่บริเวณตีนเขาเพลาไทน์ (Palatine) และโดยได้รับการเลี้ยงดูจากแม่หมาป่าโดยให้ทั้งสองดูดนมของตน จนกระทั้งต่อมาเฟาตูลุส (Faustulus) ซึ่งเป็นคนเลี้ยงแกะที่พบเจอเด็กทั้งสอง ได้นำเด็กทั้งสองมาเลี้ยงดูเป็นลูกและตั้งชื่อโรมุลุสและเรมุส (Romulus and Remus)
รูปหล่อสำริดแสดงโรมุลุสและแรมุสซึ่งมีแม่หมาป่าเป็นผู้เลี้ยงดู
เด็กทั้งสองได้ทำงานช่วยเหลือบ้านและหมู่บ้านของตนมาตลอด จนกระทั้งเติบโตเป็นชายหนุ่ม และในเวลาต่อมาทั้งสองได้พบเจอกับ นูมิทอร์ ซึ่งในความจริงแล้วมีศักดิ์เป็นตาของทั้งสอง ภายหลังทั้งสองได้รับรู้ถึงความจริงเรื่องราวต่าง ๆ ชาติกำเนิดของตนและความสัมพันธ์ของทั้งสองและนูมิทอร์ จึงได้ทำการยกไพร่พลของตนทั้งหมดไปชิงบัลลังก์จากอามูลิอูสคืนจนสำเร็จ และได้คืนบัลลังก์ให้กับนูมิทอร์ผู้เป็นตาของทั้งสอง เป็นกษัตริย์ครองเมืองต่อมา
หลังจากนั้นทั้งสองได้สร้างหมู่บ้านขึ้นใหม่ที่บริเวณแม่น้ำไทเบอร์ ได้แก่ “โรม” ของโรมุลุส และ “รีมอเรีย” ของเรมุส แต่ในเวลาต่อมาทั้งสองได้เกิดการวิวาทกัน ทำให้เรมุสต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของโรมุลุส ทำให้โรมุลุสได้สร้างเมืองขึ้นมาและปกครองเมือง โดยตั้งชื่อเมืองนั้นว่า โรม (Rome) ตามชื่อของตน
ชาวเมืองโรมในยุคแรกเริ่มของการสร้างเมือง ส่วนใหญ่นั้นเป็นพวกผู้คนที่ถูกเนรเทศ ผู้ลี้ภัย และทาสมากจากเมืองอื่น ๆ และทั้งหมดเป็นผู้ชาย ทำให้เมืองเกิดภาวะขาดสตรีในเมืองของตน โรมุลุสผู้ปกครองต้องการขยายปริมาณจำนวนประชากรของโรมและต้องการประชากรที่เป็นสตรีเพศเป็นอย่างมาก จึงได้ออกอุบายจัดงานงานรื้นเริง เฉลิมฉลองเทพเนปจูนขึ้นภายในเมืองโรม และเชื้อเชิญสตรีชาวเมืองอื่น ๆ มาร่วมงาน และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมก็จะให้ชาวเมืองโรม ซึ่งในเวลานั้นมีแต่ผู้ชาย เข้ามาลักพาตัวเหล่าบรรดาสตรีทั้งหลายภายในงานไปเป็นเมียของตน จากผลของอุบายนี้ทำให้เหล่าบรรดาพ่อ พี่ชาย และสามีของสตรีที่ถูกลักพาตัวไป เกิดข้อวิวาท ความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามระหว่างโรมและเมืองต่าง ๆ โดยรอบ โดยเฉพาะโรมกับเมืองเซบาย แต่สงครามถูกหยุดโดยเหล่าสตรีที่ถูกลักพาตัว ต่างเข้ามาขัดขวางมิให้เกิดสงครามกับโรม จึงทำให้เกิดการทำสนธิสัญญาเพื่อสันติระหว่างโรมกับเมืองต่าง ๆ โรมได้รวมกับเซบายและอยู่ในการปกครองโรมุลุส และติตุส ตาติอุส (Titus Tatius) กษัตริย์แห่งเซบาย
The Intervention of the Sabine Womenภาพวาดการแทรกแซงของผู้หญิงเซบาย โดย Jacques-Louis David
หลังจากติตุส ตาติอุส กษัตริย์แห่งเซบายได้สิ้นพระชนม์ลง ทำให้การปกครองทั้งหมดตกไปอยู่ที่โรมุลุส และได้ปกครองกรุงโรม หรือเมืองโรมมาอย่างราบรื่นเป็นเวลา 38 ปี และหายสาบสูญไป โดยตามตำนานเล่าว่า เกิดพายุขนาดใหญ่เข้ามาในเมืองโรมอย่างกะทันหัน และได้ลักเอาตัวโรมุลุสไป บ้างก็ว่าเขาไปเป็นเทพที่บนสวรรค์ นามว่า “กวิรีนุส” (Quirius) เมืองโรมมีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีก 6 พระองค์ และกำเนิดสาธารณะรัฐโรมันหรืออาณาจักรโรมัน ในราว 509 ปีก่อนคริสตกาล
ซากอาคาร The Roman Forum ศูนย์กลางทางการเมือง กฎหมาย ศาสนา และเศรษฐกิจ ของอารยธรรมโรมัน
กว่าจะมาเป็นกรุงโรม หนึ่งในศูนย์กลางทางอำนาจในยุคสมัยของอาณาจักรโรมันในอดีต เมืองที่เจริญรุ่งเรือง เฟื้องฟูในอดีต มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องผ่านเรื่องราวมากมาย ทั้งดีและร้าย สารพัดปัญหาต่าง ๆ กว่าจะเป็นเมืองที่มีชื่อได้จนถึงทุกวันนี้ เฉกเช่นความสำเร็จของคนเราก็เช่นกัน มันก็มิใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน วิธีการแก้ปัญหา อุปสรรค์ต่าง ๆ เพื่อได้ซึ่งการบรรลุเป้าหมายและความสำเร็จของเรา
สิ่งที่น่าสนใจในหัวข้อนี้คือ สำนวนนี้ไม่ได้มาจากชาวโรมันหรือแม้แต่ชาวอิตาลี โดยสำนวนนี้ปรากฏครั้งแรกในบทกวีฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 12 ซึ่งเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า ‘Rome ne fu pas faite toute en un jour’
สันนิษฐานว่าต้นกำเนิดของสำนวนนี้ มาจากนักบวชในราชสำนักของฟิลลิปป์แห่งอาลซัส เคานต์แห่งแฟลนเดอร์ส (Phillippe of Alsace, the Count of Flanders) ในเบลเยี่ยมปัจจุบัน
ต่อมาในศตวรรษที่ 15 สำนวนนี้ก็ปรากฏในผลงานรวบรวมสุภาษิตกรีก-ละติน ของนักปรัชญาชาวดัตช์ อีราสมุส (Erasmus) และในศตวรรษต่อมา นักเขียนชาวอังกฤษ ริชาร์ด ทาเวอร์เนอร์ (Richard Taverner) ก็แปลสำนวนนี้เป็นภาษาอังกฤษ
และในช่วงเวลาเดียวกัน นักเขียนชาวอังกฤษอีกคนชื่อ จอห์น เฮย์วูด (John Heywood) ก็ได้เขียนสำนวนนี้ลงในผลงานที่ชื่อ ‘A Dialogue Containing the Number in Effect of all the Proverbs in the English Tongue, or Proverbs for short’ ที่ทำให้สำนวนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
และตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา วงดนตรีหลายวงก็หยิบเอาสำนวนนี้มาตั้งเป็นชื่อเพลง ก็ยิ่งทำให้ผู้คนรู้จักกับสำนวนมากยิ่งขึ้น
ภาพประกอบจากwikipedia1awikipedia2wikipedia3wikipedia4wikipedia5
อ้างอิงจาก:
culture trip. The Origin of the Saying 'Rome Wasn't Built in a Day'.
Benjamin Spall. Rome Wasn’t Built in a Day. https://shorturl.at/MQS58
Marry go round https://news.trueid.net/detail/5J5lRBxG8aQn