น้ำมันเครื่องเก่า มีอันตราย ไม่ควรนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง!??
อ.เจษฏา ได้โพสแจงดังนี้
มีคำถามทางบ้านส่งมา เกี่ยวกับที่มีบางคน ประดิษฐ์เตาหุงต้มอาหารจำหน่าย โดยอ้างว่าเป็นเตาที่สามารถใช้พวก "น้ำมันเครื่องเก่า" มาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้
ซึ่งมุมนึง ก็น่าชื่นชมในความพยายามและฝีมือในการประดิษฐ์เตา ที่มีการสร้างถังเก็บน้ำมัน การควบคุมไฟ และมีพัดลมช่วยเร่งไฟด้วย จนทำให้น้ำมันเครื่อง ที่ปรกติจะติดไฟได้ยาก สามารถกลายเป็นเชื้อเพลิงได้ ....
.. แต่ในอีกมุมนึง ก็ต้องเตือนกันนะครับ ว่าน้ำมันเครื่องเก่า ที่ผ่านการใช้งานแล้ว จะเกิดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่ โดยเฉพาะการนำมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะอันตรายต่อผู้ใช้ที่สูดดมเข้าไป เป็นการปลดปล่อยสารเคมีอันตรายเหล่านั้นออกสู่สิ่งแวดล้อมด้วย
#ปัญหาของน้ำมันเครื่องใช้แล้ว
- น้ำมันหล่อลื่น หรือน้ำมันเครื่อง ถูกนำใช้ในยานพาหนะ อุตสาหกรรมและกิจกรรมต่างๆ และทำให้เกิดน้ำมันที่ใช้แล้ว เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก โดยมีปริมาณกว่า 230 ล้านลิตรต่อปี
- น้ำมันหล่อลื่นที่ใช้กันอยู่ ประกอบด้วยน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน และสารเพิ่มคุณภาพ (additives) เมื่อถูกใช้งานแล้ว คุณสมบัติของสารประกอบที่มีอยู่ในน้ำมันจะเปลี่ยนไป น้ำมันหล่อลื่นเสื่อมคุณภาพเหล่านี้ ประกอบด้วยสารอินทรีย์ประเภทไฮโดรคาร์บอน สารตัวทำละลาย โลหะหนัก ฯลฯ
- การกำจัดน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว อย่างไม่ถูกวิธี จึงเป็นอันตรายอย่างมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์ พืช และมนุษย์
- ปริมาณน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วทั่วประเทศ ที่ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบในเชิงพาณิชย์มีเพียง 25% ที่เหลืออีก 75% ถูกจัดเก็บอย่างไม่เป็นระบบ และมีการซื้อขายใช้ประโยชน์ที่ไม่ถูกหลักทางวิชาการ ทำให้เกิดปัญหาในการใช้งาน และก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
- น้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว จะมีการจัดเก็บในเบื้องต้น โดยผู้ประกอบการ และจะถูกจัดส่งอย่างเป็นระบบโดยผู้รับขนส่ง/จัดเก็บรายย่อย เพื่อที่จะนำเข้าคลังจัดเก็บน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว ซึ่งคลังจัดเก็บจะมีกระบวนการบำบัดในเบื้องต้น เช่น แยกน้ำ และกรองสิ่งสกปรก ก่อนที่จะนำไปเก็บยัง ถังพัก
- และหลังจากนั้นจะถูกลำเลียงเข้ายังส่วนกำจัด/บำบัด น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายที่จะทำการกำจัด เช่น เผาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูน หรือเผาทำลาย หรือนำไปบำบัดโดยผ่านกระบวนการต่างๆ ที่ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว
#อันตรายจากน้ำมันเครื่องต่อร่างกายมนุษย์
- ถ้าร่างกายสัมผัสกับน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว เป็นประจำ ผิวจะแห้งแตก ระคายเคือง เป็นผื่นแดง เนื่องจากน้ำมันจะไปชะล้างไขมันธรรมชาติออกจากผิวหนัง ทำให้เกิดการติดเชื้อ และแพ้ได้ง่าย
- หากสูดดมไอละอองน้ำมันหล่อลื่น ในกรณีมีการใช้งานของเครื่องยนต์ จะเกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้อ่อนเพลีย ง่วงนอน ระคายเคืองต่อหลอดลมและปอด
- หากรับประทานอาหารหรือน้ำ ที่มีน้ำมันหล่อลื่นปนเปื้อน เข้าสู่ร่างกาย สารเพิ่มคุณภาพในน้ำมันหล่อลื่นจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดท้องและท้องเสีย
- และในกรณีที่ร่างกายรับเอาน้ำมันหล่อลื่นเข้าไป เป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้
#อันตรายจากการจัดเก็บและกำจัดไม่ถูกวิธีต่อสิ่งแวดล้อม
- การทิ้งน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว ลงท่อน้ำสาธารณะหรือแหล่งน้ำ เป็นการทำลายระบบนิเวศวิทยาในแหล่งน้ำ เพราะน้ำมันจะลอยตัว และรวมตัวบนผิวน้ำ ปิดกั้นไม่ให้ออกซิเจนและแสงอาทิตย์ผ่านไปได้ เป็นการทำลายแหล่งอาหาร การวางไข่ของสัตว์น้ำ และทำลายทัศนียภาพที่ดี
- การเก็บหรือทิ้งน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วและภาชนะบรรจุที่ไม่ถูกวิธี ทำให้น้ำมันหล่อลื่นเกิดการรั่วไหลลงดิน ทำให้พื้นดินบริเวณนั้นเสียคุณค่าในการเพาะปลูก
- และถ้าซึมลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน จะทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็น นำไปบริโภคและใช้สอยไม่ได้
- "การเผาน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว" และภาชนะบรรจุ ทำให้เกิดไอควันพิษ ที่มีโลหะหนักและออกไซด์ของโลหะ ฟุ้งกระจายสู่บรรยากาศ ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ
#ข้อปฎิบัติหลังใช้น้ำมันหล่อลื่น
- อย่าทิ้งน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วและภาชนะบรรจุ ปะปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป
- อย่าเผา ฝังดิน หรือทิ้งน้ำมันหล่อลื่น ลงท่อระบายน้ำหรือแหล่งน้ำ
- จัดสร้างบ่อดักน้ำมัน บริเวณที่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นและซ่อมเครื่องยนต์
- จัดให้มีภาชนะที่เหมาะสม เพื่อรองรับน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว เพื่อรอการเก็บรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกวิธี
- คืนภาชนะบรรจุน้ำมันหล่อลื่น เพื่อป้องกันการนำมาบรรจุน้ำมันปลอมปน
- แนะนำลูกค้าให้ร่วมมือกันในการจัดเก็บและกำจัดภาชนะบรรจุนำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี
ข้อมูลจาก https://consumersouth.org/paper/715