6 โรคอันตรายที่มาจากฝน ปี 66
6 โรคอันตรายที่มากับฝน!! ปี 66
หน้าฝน 2566 ฤดูนี้นอกจากสร้างความชุ่มฉ่ำคลายร้อนแล้วยังมาพร้อมกับโรคภัยต่างๆ ที่มากับฝนอีกด้วย มีโรคหน้าฝนอะไรที่ต้องระวังบ้าง และป้องกันได้อย่างไร
1. โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก สามารถพบการระบาดได้บ่อยในหน้าฝน เกิดจาก"ยุงลาย" เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ในแต่ละปียังมีคงผู้ติดเชื้อจำนวนมาก นอกจากหน้าฝนที่พบผู้ป่วยบ่อยแล้วยังพบการติดเชื้อนี้ได้ตลอดทั้งปีนอกจากนี้โรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา และไม่มีวัคซีนป้องกันอาการของโรคไข้เลือดออกที่พบได้ชัดเจนคือไข้สูงเฉียบพลัน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ อาเจียน มีผื่นแดงขึ้นตามแขนขาลำตัว หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ อาการไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว และมีภาวะช็อกเกิดขึ้น มีอาการตับโต สังเกตได้จากการกดแล้วรู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวาการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือระวังตนเองไม่ให้ยุงกัด ดูแลรักษาบ้านให้สะอาดปลอดโปร่งเพื่อไม่ให้ยุงลายพักอาศัย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อับชื้น มีแสงสว่างเพียงพอ หากมีไข้สูงเฉียบพลันให้รีบพบแพทย์ทันที
2. โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร
โรคติดเชื้อทางเดินอาหารนอกจากจะพบได้บ่อยในหน้าร้อนแล้ว ในหน้าฝน 2566 ก็สามารถพบโรคนี้ได้เช่นกัน โดยเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส อาหารที่ปรุงไม่สุกพอหรืออาหารที่ค้างไว้หลายชั่วโมงผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง มีอาการสูญเสียน้ำภายใน 1 – 2 วันหรือภายในไม่กี่ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิด ประเภท ปริมาณของเชื้อโรค และสารพิษที่ได้รับ แต่หากเกิดอาการรุนแรงขึ้น เช่น ท้องเสียมาก อาเจียนมาก มีเลือดปนในอาเจียนหรืออุจจาระ แขนขาอ่อนแรง หากปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับมีไข้สูง ควรรีบพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้วิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร คือการปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนที่ทั่วถึงแสะสะอาด ล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดด้วยน้ำหลายๆ ครั้ง ควรแยกมีดและเขียงสำหรับหั่นอาหารสุกและอาหารดิบออกจากกัน ดูแลครัวให้สะอาดอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน และสะอาด ใช้ช้อนกลางแทนช้อนส่วนตัว ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจติดมากับฝ่ามือ
3. โรคมือเท้าปาก
หน้าฝน 2566 เป็นฤดูที่พบการระบาดของโรคมือเท้าปากได้บ่อยในเด็กเล็ก โดยติดต่อจากเชื้อไวรัสแพร่ผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วยโรคมือเท้าปากมักระบาดในโรงเรียน โดยเฉพาะชั้นอนุบาลเด็กเล็ก โรคนี้มีระยะฟักตัว 3-7 วัน พบเชื้อทางน้ำลาย 2-4 วัน ก่อนมีอาการ จนถึง 1-2 สัปดาห์หลังมีอาการ ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ตํ่าๆถึงไข้สูง อ่อนเพลีย ต่อมา มีอาการเจ็บปาก กลืนนํ้าลายไม่ได้ และไม่ยอมทานอาหารเนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้นเหงือก และกระพุ้งแก้ม อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้นอย่าให้เด็กมีไข้สูงเกินไป เพราะอาจจะชักได้การป้องกันโรคมือเท้าปาก สามารถทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ และล้างทุกครั้งก่อนกินอาหารด้วยสบู่หรือเจลล้างมือ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า และควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและมีผู้คนพลุกพล่าน เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้หากพบว่าลูกหลานป่วยเป็นโรคนี้ควรหยุดเรียน และพักผ่อนให้หายป่วยเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อยังเด็กคนอื่น และต้องรีบแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ และที่สำคัญผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานหากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
4. โรคตาแดง
หน้าฝน 2566 เป็นฤดูที่พบการระบาดของโรคตาแดงหรือ โรคตาอักเสบพบได้บ่อย มากกว่าฤดูอื่นๆ เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาโดยตรง ไม่ติดต่อทางการสบสายตา หรือการรับประทานอาหารร่วมกันการป้องกันโรคตาแดง สามารถทำได้ด้วยการล้างมือด้วยน้ำสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที อย่าปล่อยให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา เมื่อเกิดมีอาการตาแดงขึ้น ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง
5. โรคผิวหนัง
ความอับชื้นที่มาพร้อมกับสายฝนอาจก่อให้เป็นผื่นผิวหนังได้ หากไม่ดูแลรักษาความสะอาดให้ถูกวิธีจะทำให้เกิดโรคผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา รวมถึงผิวหนังอักเสบได้ โดยโรคผิวหนังที่พบบ่อยในฤดูฝน ได้แก่โรคน้ำกัดเท้า ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อรา ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงเราสามารถป้องกันโรคผิวหนังในหน้าฝน 2566 ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำสกปรกโดยตรง หรือใส่รองเท้าบู๊ทยางเมื่อต้องเดินลุยน้ำท่วมขัง หากเปียกฝนควรรีบทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ หรือเช็ดตัวให้แห้ง ไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะความอับชื้นเป็นปัจจัยให้ผิวไวต่อเชื้อแบคทีเรีย และแพ้ง่ายขึ้น
6. โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งคนและสัตว์ โดยการติดเชื้อในคนจะมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนแบคทีเรียดังกล่าว รวมถึงการสัมผัส หรือได้รับแบคทีเรียทางรอยแผลที่ผิวหนังผู้ที่ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูจะมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่อง ตัวเหลือง คลื่นไส้ และอาเจียน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับตับและไต และอาจรุนแรงทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบจนถึงขั้นเสียชีวิตได้การป้องกันโรคฉี่หนูสามารถทำได้ด้วยการสวมรองเท้าบูทยาวทุกครั้งเมื่อต้องลุยน้ำขัง หากไม่ได้ใส่ เมื่อลุยน้ำเสร็จ ต้องรีบล้างมือล้างเท้า ด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคโดยเร็ว หลีกเลี่ยงการเดินหรือสัมผัสน้ำขังในพื้นที่สาธารณะต่างๆ หมั่นทำความสะอาดบริเวณในบ้านและนอกบ้าน ล้างมือล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง หากสัมผัสภาชนะบรรจุของเสียของสัตว์ พยายามอย่าตัดเล็บเท้าสั้นเกินไปจนเกิดบาดแผล เพราะเท้าเป็นตำแหน่งที่เชื้อโรคจากที่ต่างๆสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายไม่อมน้ำ กลืนน้ำ หรือลืมตาในน้ำที่ไม่สะอาดเพราะอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน กินอาหารที่สะอาด และล้างผักผลไม้ให้สะอาดทุกครั้งเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค หากพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีจะเห็นได้ว่าหน้าฝน 2566 มีโรคที่ต้องระวังมากมาย แต่ก็สามารถป้องกันตนเองเบื้องต้นจากโรคเหล่านี้ได้หากใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ
ข้อมูลอ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กรมการแพทย์, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
อ้างอิงจาก: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กรมการแพทย์, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี