รู้หรือไม่ว่า?..ทหารของกองทัพออสเตรเลีย เคยประกาศสงครามกับ "นกอีมู" ในปี ค.ศ.1932
สงครามอีมู
เป็นปฏิบัติการทางทหารของกองทัพออสเตรเลียในปี ค.ศ.1932 เพื่อกำจัดฝูงนกอีมูที่เข้าทำลายไร่ข้าวสาลีในเขตคอมเปียน(Compion)ของรัฐออสเตรเลียตะวันตก(Western Australia)
หลังสงครามโลกครั้งที่1 รัฐบาลออสเตรเลียได้จัด สรรที่ดินในรัฐออสเตรเลียตะวันตก ให้ทหารผ่านศึก 5,000 นาย ตั้งถิ่นฐานและทำอาชีพปลูกข้าวสาลี ต่อมาในปี ค.ศ.1929 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐก่อนลุกลามมาถึงยุโรปและออสเตรเลีย ทว่าทางการกลับแนะนำให้เกษตรกร อดีตทหาร เหล่านี้ ปลูกข้าว สาลีเพิ่มขึ้น โดยหวังป้องกันปัญหาอาหารขาดแคลนโดยรัฐบาล สัญญาจะให้เงินชดเชย ให้กับราคาข้าวสาลีที่เริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้รัฐบาลไม่อาจจ่ายเงินครบถ้วนได้ และเมื่อถึงปี ค.ศ.1932 รัฐบาลก็ไม่มีงบมากพอจะจ่ายเงินชดเชยราคาข้าวสาลี ประกอบกับราคาข้าวสาลีได้ตกต่ำลงมาก จนเกษตรกรขาดทุน
เดือนตุลาคม ค.ศ.1932 ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวสาลีพร้อมเก็บเกี่ยว เกษตรกรของรัฐออสเตรเลียตะวันตก ยืนกรานจะไม่ส่งข้าวสาลีที่เก็บเกี่ยวได้ ไปขายในเมืองยกเว้นจะได้เงินชดเชยจากรัฐตามสัญญา
การประท้วงของเกษตรกร ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ ในรัฐออสเตรเลียตะวันตก ประชาชนเริ่มไม่พอใจที่เห็นรัฐบาลกลางแก้ปัญหานี้ ไม่ได้ และเริ่มมีกระแสที่พูดถึงการแยกตัวจากรัฐบาลกลาง
สถานการณ์ของชาวนาแย่ลงไปอีก เมื่อเกิดภัยแล้ง และมีฝูงนกอีมูกว่าสองหมื่นตัวอพยพสู่เขตเพาะปลูก และกัดกินต้นข้าวเสียหายนับพันๆเอเคอร์ ในเวลาไม่กี่วัน
บรรดาชาวนา ที่ส่วนใหญ่เป็นทหารผ่านศึก พยายามกำจัดนกอีมู แต่พวกมันว่องไวเกินกว่าปืนไรเฟิลของพวกเขาจะจัดการได้ ทำให้พวกเขาต้องการอาวุธอื่นที่ร้ายแรงกว่า อย่างปืนกล พวกชาวนาจึงรวมตัวกันยื่นหนังสือถึงกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ให้ช่วยส่งปืนกลพร้อทหาร มาช่วยกำจัดนกอีมู
รัฐมนตรีกลาโหม เซอร์ จอร์จ เพียซ เชื่อว่า การช่วยกำจัดนกอีมู จะทำให้พวกชาวนาของรัฐออสเตรเลียตะวันตกพอใจรัฐบาล และลดแรงกดดันได้ จึงเสนอให้รัฐบาลอนุมัติ ซึ่งรัฐบาลก็เห็นด้วยและให้ส่งปืนกลกับทหารไปช่วยกำจัดนกอีมู โดยทางรัฐออสเตรเลียตะวันตกจะรับผิดชอบค่าใช้ในการขนย้ายอาวุธและกำลังพล ส่วนพวกชาวนาจะต้องจัดอาหาร และที่พักให้พวกทหาร พร้อมกับจ่ายค่ากระสุนด้วย
สงครามอีมู เริ่มขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1932 โดยทางกองทัพได้ส่ง พันตรี กวินเน็ด เพอเวส ไวนน์ ออเบร เมเรดิธ กับทหารหนึ่งหมู่ พร้อมปืนกลเลวิส สองกระบอก ไปยังเขตคอมเปียน เพื่อเริ่มกำจัดพวกนกอีมู ที่นั่น ทั้งนี้ นอกจากหมู่ทหารพร้อมปืนกลแล้ว ยังมีพวกชาวนา อดีตทหาร อีกหลาบสิบคนที่เข้าร่วมรบกับพวกนกอีมูด้วย
ทว่า พวกนกอีมูร้ายกาจกว่าที่คิด พวกมันจัดเวรยามคอยเฝ้าระวังเหตุ ทุกครั้งที่ยกฝูงมากินข้าวสาลีในนา
และรักษาระยะห่างกับมนุษย์ จนทำให้ดักยิงพวกมันได้ยาก พันตรีเมเรดิธจึงสั่งให้เอาปืนกลกระบอกหนึ่งขนขึ้นหลังรถกะบะ แล้วให้นำรถ ออกไล่ยิงกราดฝูงนกอีมู ทว่าพวกนก ก็วิ่งหลบหนีคดเคี้ยวไปมา จนทำ ให้รถคันหนึ่งเสียหลังพลิกคว่ำ ซึ่งแม้จะไม่มีใครบาดเจ็บ แต่ก็ทำให้ปืนกลพังไปกระบอกหนึ่ง จากนั้น ต่อมา พวกทหารก็เปลี่ยนแผน โดยไปดักซุ่มยิงพวกอีมูตามแหล่งน้ำและสังหารพวกนกได้มากขึ้น ทว่าก็ยังไม่มากพอ จะทำให้พวกมันไม่รบกวนนาข้าวอีก
เมื่อถึงวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1932 ฝ่ายทหารก็ยุติปฏิบัติการกำจัดนกอีมู รวมเป็นเวลาปฏิบัติการทั้งสิ้น 1 เดือน 9 วัน สังหารนกอีมูได้ 986 ตัว ใช้กระสุนปืนกล ทั้งหมด 9,860 ตับ โดยพันตรีเมเรดิธิ ได้อ้างว่ามีนกอีมูบาดเจ็บเกือบ 2,500 ตัว จากทั้งหมด 20,000 กว่าตัว แต่ที่สำคัญคือ หลังปฏิบัติการครั้งนี้ พวกอีมูยังคงบุกมากินข้าวสาลีเหมือนเดิม จนเมื่อภัยแล้งสิ้นสุดลง พวกมันจึงกลับเข้าป่าไป
ความล้มเหลวในปฏิบัติการกำจัดนกอีมู ของกองทัพออสเตรเลีย ทำให้สื่อในออสเตรเลียและยุโรปเอาไปตีพิมพ์เป็นเรื่องชวนหัว โดยพวกเขาเรียกปฏิบัติการนี้ ว่า มหาสงครามอีมู(Great Emu war)
หลัง สงครามอีมู ทางการออสเตรเลียยังคงมีความพยายามกำจัดพวกนกอีมูหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งเข้าถึงช่วงทศวรรษที่ 1960 ทางการจึงใช้วิธีสร้างรั้วขนาดใหญ่กั้นพื้นที่เพาะปลูกกับถิ่นอาศัยของพวกนกอีมูและสัตว์ป่าอื่นๆ ซึ่งก็ช่วยลดปัญหา เรื่องการบุกนาข้าวของฝูงนกอีมูลงไปได้ และเมื่อมีการทำแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารสำหรับสัตว์ป่าในช่วงที่มีภาวะแห้งแล้ง ก็ทำให้ปัญหาผ่อนคลายลง