ตรอกรักปั๋นใจ ตอนที่ 8
ตอนที่ 8
ผ่านวันตรุษจีนไปได้เกือบสัปดาห์ นายหมงมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เป็นบิดาและมารดา
ระหว่างร่วมรับประทานอาหารมื้อเย็นด้วยกัน
“เตี่ยครับ”
“แม่ครับ”
นายหมงเอ่ยขึ้น พลางสบตาผู้ให้กำเนิดทั้งสองด้วยแววตาจริงจัง
“ผม….ผมจะให้เตี่ยกับแม่ไปสู่ขอน้องสายบัวแต่งงานครับ”
ผู้ให้กำเนิดทั้งสองต่างสบตากัน แล้วหันมามองหน้าลูกชายสุดรักสุดสวาท นายซ้งถอนหายใจ
เฮือกใหญ่ แล้วกล่าวด้วยเสียงราบเรียบว่า
“เตี่ยกับแม่ลื้อ ได้ไปทาบทามหนูกิมลั้งลูกสาวเถ้าแก่สิงห์ไว้แล้วนะอาหมง”
“ผมไม่ได้รักน้องกิมลั้ง แต่ผมรักน้องสายบัวครับเตี่ย”
นางบุญเรืองผ่อนลมหายใจออกมาอย่างช้าๆ เหมือนลดอาการหนักใจกับคำบอกเล่าของลูกชาย
ผู้เป็นมารดาเอื้อมมือไปลูบแผ่นหลังอย่างแผ่วเบา เสมือนลูกชายยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่มักร้องไห้
งอแงอยู่บ่อยๆ ความรู้สึกจากมืออันนุ่มนิ่มของผู้เป็นมารดาสัมผัสได้จนรู้สึกอบอุ่นอยู่ในใจ
“อาหมง….ฟังแม่พูดก่อนนะลูก การที่เตี่ยกับแม่ได้ไปทาบทามหนูกิมลั้งลูกสาวเถ้าแก่สิงห์นั้น
มันมีเหตุผลและความจำเป็น” นางบุญเรืองหยุดอธิบาย พลางสบตานายซ้งผู้เป็นสามีเพื่อขอ
ความมั่นใจ ก่อนจะอธิบายต่อว่า
“ประการแรก เตี่ยของลูกเป็นคนจีนที่มาจากผืนแผ่นดินใหญ่ โดยถือกำเนิดมาจากตระกูลที่มีแซ่มันก็เหมือนกับคนไทยที่มีนามสกุล เมื่อมีลูกมีหลาน ลูกหลานก็จะต้องสืบทอดวงศ์ตระกูลนั้นๆ
โดยการแต่งงานกับคนมีแซ่เหมือนกัน เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์แซ่เอาไว้ มันก็เช่นเดียวกันกับคนไทย
ที่จะต้องสืบทอดวงศ์ตระกูลนามสกุลของฝ่ายชายเอาไว้เหมือนกัน ประการที่สอง อาซ้อแม่ของหนูกิมลั้ง
ป่วยเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หาย ก็อดเป็นห่วงลูกสาวไม่ได้ ถ้าหากเกิดเป็นอะไรไปอย่างกะทันหัน
จึงอยากให้หนูกิมลั้งแต่งงานมีครอบครัว เพื่อที่จะได้หมดห่วง ประการที่สาม พวกพี่ๆ ของลูกก็ได้
แต่งงานแต่งการมีครอบครัวกันไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่ลูกเพียงคนเดียว เตี่ยกับแม่จึงอยากให้ลูก
มีครอบครัว เป็นฝั่งเป็นฝาเหมือนกับพวกพี่ๆ เค้าเสียที และประการสุดท้าย การแต่งงานต้องคำนึงถึง
ศักดิ์ศรี และเลือกคนที่มีฐานะความเป็นอยู่เท่าเทียมกัน หรือไม่ต่ำต้อยไปกว่าเรา พูดง่ายๆ ก็คือ
ต้องแต่งงานแบบเงินต่อเงิน เข้าใจมั้ยลูก” นางบุญเรืองพยายามอธิบาย โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา
เพื่อให้ผู้เป็นลูกชายเข้าใจเจตนารมณ์ของบิดามารดา
“แต่ว่า….ผม….ผมไม่ได้รักน้องกิมลั้งนะครับแม่” นายหมงยังคัดค้านเสียงแข็ง และมีสีหน้าปั้นยาก
“เอาเถอะหน่า พวกลื้ออยู่ๆ กันไปก็รักกันเองแหละ” นายซ้งสรุปตัดบท โดยไม่ได้สนใจสีหน้าของนายหมง
ที่เศร้าสลดหดหู่ลงไปอย่างเห็นได้ชัด นางบุญเรืองสบตากับนายซ้งอีกครั้งแล้วกล่าวอย่างใจเย็นว่า
64
“เอายังงี้ ถ้าลูกยังไม่พร้อม เตี่ยกับแม่อยากให้ลูกบวชเสียก่อน จะบวชซักหนึ่งเดือนหรือจะบวชเอาพรรษาก็แล้วแต่ลูกละกัน สึกออกมาแล้วก็ค่อยว่ากันใหม่ ดีมั้ยลูก”
นายหมงคิดทบทวนอยู่นาน จึงตกปากรับคำว่าจะบวชเพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดา แต่ยังตัดสินใจ
ไม่ได้ว่าจะเอาหนึ่งเดือนหรือจะเอาหนึ่งพรรษาดีและประการที่สำคัญก็คือ อย่างน้อยจะได้ยืดเวลา
เรื่องการแต่งงานกับกิมลั้งออกไปอีกหลายเดือน
ข่าวการบวชของนายหมงขจรกระจายไปทั่วชุมชนตรอกบ้านจีน และผู้ที่ป่าวประกาศปล่อยข่าวก็มิใช่ใครอื่น เธอผู้นั้นนามว่า นกยูง เช่นเคย
“มาแล้วจ้า….มาแล้ว….นกยูงคนงามมีข่าวมาประกาศให้พ่อแม่พี่น้องได้รับฟังกันจ้า”
นกยูงแหกปากเปล่งเสียงดัง พลางชำเลืองมองไปที่สายบัวกับซ่อนกลิ่นเพื่อนรักทั้งสอง ที่ช่วยกัน
จัดผักสดและของป่าให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเต็มแผงหน้าร้าน ยายแตงอ่อนแม่ค้าขายผลไม้
ตะโกนร้องถามเสียงดังว่า
“วันนี้มีข่าวอะไรมาประกาศละจ๊ะ แม่นางคนงามเมืองระแหง”
“ข่าวดีจ้ะ คุณนายแตงอ่อนสุดสวย” นกยูงพูดแหนบเล็กๆ ก่อนว่าต่อ
“ข่าวดีของพี่หมงกับฉันจ้ะ คุณนายแตงอ่อนสุดสวย” นกยูงลอยหน้าลอยตาพูดอย่างน่าหมั่นไส้
“ข่าวดีอะไรวะ แม่นางคนงามเมืองระแหง” ยายแตงอ่อนยื่นหน้าเข้าไปหานกยูง พลางชำเลืองมอง
ไปที่สายบัวกับซ่อนกลิ่นด้วยสายตาเยาะเย้ยถากถาง
“พี่หมงเค้าจะบวช และเมื่อสึกออกมาแล้วจะแต่งงานทันทีจ้ะ”” นกยูงตอบเสียงดัง เพื่อหวังจะให้ผู้คนที่อยู่รอบข้างได้ยินไปด้วย
“หา! พี่หมงจะบวช….สึกแล้วจะแต่งงาน” ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เมื่อได้ยินคำกล่าวของนกยูง
ต่างอุทานออกมาเป็นเสียงเดียวกัน
“ใช่จ้ะ พี่หมงจะบวช และเมื่อสึกออกมาแล้วจะแต่งงานจ้า” นกยูงทวนคำพูดอีกครั้งอย่างชัดถ้อยชัดคำ
และจงใจพูดเหมือนให้ผู้อื่นได้ยินชัดๆ พลางยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ แสดงอาการดีใจอย่างออกหน้าออกตา
“ใครกันหน่า จะโชคดีได้เป็นเจ้าสาวของท่านพ่อเลี้ยงหมง” ป้ากิ่งแม่ค้าขายของป่าเอ่ยถามลอยๆ
“ข้าว่าจะมีใครเสียอีกล่ะ แม่ดอกนกยูงคนงามเมืองระแหงคนนี้ไง” ยายแตงอ่อนแม่ค้าขายผลไม้
กล่าวสรรเสริญเยินยอ ทำให้บรรดาไทยมุงทั้งหลาย ต่างตบมือโห่ร้องอย่างชอบอกชอบใจกันใหญ่
นกยูงทำท่ากระมิดกระเมียนเขินอายแล้วว่า
“แหม….พวกพี่ๆ ลุงๆ ป้าๆ ก็ว่ากันไปนั่น นกยูงอายนะจะบอกให้”
“จะอายไปทำไมกันเล่าแม่ดอกนกยูง เอ็งก็พูดอยู่เมื่อตะกี้นี้ว่า เป็นข่าวดีของเอ็งกับท่านพ่อเลี้ยงหมง
ข้าขอแสดงความยินดีล่วงหน้าด้วยนะโว้ย ท่านแม่เลี้ยงคนใหม่” ป้ากิ่งแม่ค้าขายของป่าพูดเสริม
65
แถมขอฝากเนื้อฝากตัวล่วงหน้าไปด้วยทันที
“ข้าขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะจ๊ะแม่เลี้ยง”
“ข้าด้วยนะแม่เลี้ยง”
“ข้าด้วยจ้าแม่เลี้ยง”
“จ้า….นกยูงขอบใจพวกพี่ๆ ลุงๆ ป้าๆ ทุกคน และเมื่อวันนั้นมาถึง นกยูงจะไม่ลืมทุกคนเลยนะจ๊ะ"
นกยูงหยอดคำหวานให้ผู้สนับสนุนทุกคนชื่นอกชื่นใจในคำกล่าว แต่ในความคิดกลับแตกต่างจากคำกล่าวอย่างสิ้นเชิง ผิดกับซ่อนกลิ่นที่อดรนทนไม่ไหวกับคำกล่าวในวงสนทนา ที่พูดคุยโต้ตอบ
ด้วยคำเหน็บแหนม และยั่วยุของคนกลุ่มนั้นหล่อนเชิดหน้าใส่ แล้วจ้องมองเขม็งอย่างอารมณ์โกรธ
บวกกับความหมั่นไส้ จึงทำให้ทุกคนในวงสนทนา ต่างก้มหน้าหลบสายตาไม่กล้าสู้สายตาอันคมกริบ
ของหล่อนแต่อย่างใด ซ่อนกลิ่นผละออกมาจากแผงหน้าร้าน แล้วเดินตรงหรี่เข้าไปหาวงสนทนา
พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า
“ฉันขอแสดงยินดี และขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะยะแม่เลี้ยงกำมะลอ”
“ทำไมเอ็งถึงพูดอย่างนั้นวะนังซ่อนกลิ่น แม่เลี้ยงกำมะลงกำมะลออะไรกัน เอ็งไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงเสียจริงๆ
นี่แม่ดอกนกยูงคนงามเมืองระแหง ที่จะได้เป็นแม่เลี้ยงคนใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ ตัวจริงเสียงจริงเลยนะโว้ย” ยายแตงอ่อนพูดยกยอปอปั้นเสียยืดยาว โดยที่ไม่รู้ว่าความจริงเป็นเยี่ยงไรจึงทำให้ซ่อนกลิ่นหัวเราะชอบใจเสียงดังกับคำกล่าวของยายแตงอ่อน ส่วนสายบัวไม่ยินดียืนร้ายกับคำกล่าวในวงสนทนา
ที่พูดถึงการบวช และการแต่งงานของนายหมงกับนกยูงหลังสึกจากการเป็นพระแล้ว คำกล่าวของนกยูงกลับไม่ทำให้สายบัวมีความรู้สึกตื่นเต้น และกระทบกระเทือนจิตใจแต่อย่างใด เพราะเมื่อสามวันก่อนที่ผ่านมา นายหมงได้นัดหมายให้สายบัวออกมาพบที่ใต้ต้นดอกพิกุลใกล้ท่าน้ำวัดน้ำหัก
โดยมีซ่อนกลิ่นอยู่ร่วมการสนทนาด้วย
“พี่มีเรื่องจะบอกน้องสายบัวจ้ะ” สีหน้าคนบอกมีความกังวลอยู่ในใจ
“พี่หมงมีเรื่องอันใดจะบอกหรือจ้ะ” น้ำเสียงถามของสายบัวราบเรียบ
“หลังสงกรานต์พี่จะบวช”
“พี่หมงจะบวช!” ซ่อนกลิ่นอุทานด้วยอาการตกใจ แต่ผิดกลับสายบัวที่นิ่งเงียบ แล้วกล่าวด้วยน้ำเสียงสดใสว่า
“ดีแล้วจ้ะพี่หมง อายุของพี่ก็สมควรที่จะต้องบวชเรียนได้แล้ว อีกอย่างหนึ่งพี่บวชเพื่อจะได้ทดแทน
พระคุณเตี่ยกับแม่ น้องดีใจและอนุโนทนาบุญด้วยจ้ะ”
“แต่....แต่พี่มีอีกเรื่องหนึ่งที่จะบอกน้องสายบัวให้รับรู้ คือว่า….” แววตาแสดงความกังวลเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
“มัวแต่คือว่า….คือว่าอยู่นั่นแหละ จะว่าอะไรก็ว่ามา เห็นใจคนคอยฟังบ้างสิพี่หมง”
66
ซ่อนกลิ่นแสร้งตำหนิ พลางค้อนให้เล็กๆ นายหมงสบตากับคนรักเหมือนวิงวอนของความเห็นใจ
และขอให้เข้าใจเรื่องราวที่จะเล่าให้ฟังต่อจากนี้ความเครียดทำให้น้ำเสียงของคำกล่าวที่ออกมา
สั่นเครือปนกับความประหม่าว่า
“คือ….คือว่า หลังจากที่พี่สึกแล้ว พี่คงจะต้องแต่งงาน” แล้วคำพูดนี้ก็แผ่วหายเข้าไปในลำคอ
สีหน้าซีดเผือกลงจนสังเกตได้
“พี่หมงจะแต่งงาน!” ซ่อนกลิ่นอุทานตกใจอีกครั้ง แต่แววตาแฝงความดีใจที่เพื่อนรักจะได้มีครอบครัว
“จ้ะ พี่จะแต่งงาน แต่….”
“ยังจะมีแต่อีก แต่อะไรอีกล่ะพี่หมง” ซ่อนกลิ่นตั้งคำถามแทนเพื่อนรักด้วยความสงสัย
“แต่พี่….แต่พี่จะแต่งงานกับน้องกิมลั้ง”
“พี่หมง!” ทั้งสายบัวและซ่อนกลิ่นอุทานเรียกชื่อออกมาพร้อมกันอย่างเสียงดังฟังชัด ขอบตาสายบัว
เริ่มร้อนผ่าว ริมฝีปากบางเม้มเป็นเส้นตรง พยายามบอกตนเองว่าอย่าแสดงความอ่อนแอออกมาให้ใครเห็น แต่ความพยายามนั้นไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย น้ำใสๆ ที่ไหลเอ่อล้นออกมา
แสดงถึงความรู้สึกเจ็บปวดลึกๆ ในใจ คำกล่าวที่ว่า “พี่จะแต่งงานกับน้องกิมลั้ง” ,มันสร้างความเจ็บช้ำ
ให้กับเธอยิ่งกว่าใครเอาไม้หน้าสามมาฟาดที่หน้าให้เจ็บปวด สายบัวใช้เรียวมืองามปาดน้ำตาบนสองแก้มพลางสะอื้นไห้เบาๆ เหมือนไม่ให้ผู้ใดได้ยิน นายหมงเกิดอาการประหม่าทำอะไรไม่ถูกเมื่อเห็นคนรักก้มตาซ่อนน้ำตา จึงตัดสินใจเอ่ยเสียงแผ่วเบาว่า
“น้องสายบัวอย่าพึ่งตกใจและเสียใจไปนะจ๊ะที่รัก ฟังพี่อธิบายก่อน ที่พี่แต่งงานกับน้องกิมลั้ง
เพราะความจำเป็น”
“ยังจะมีหน้ามาอธิบายอะไรอีกรึพี่หมง….ไป….สายบัวกลับบ้าน” เลือดสาวพุ่งปรี๊ดขึ้นหน้าแสดง
อารมณ์โกรธ ที่ฟังได้จากเสียงตวาดดังลั่นอย่างไม่สนใจหน้าอิฐหน้าปูนใดๆ ทั้งสิ้น
“อย่าพึ่งไป….ฟังพี่อธิบายให้เข้าใจกันก่อนสิน้องสายบัว” นายหมงพูดจบ แล้วรีบเอื้อมมือมาดึง
แขนสายบัว พร้อมรั้งร่างผอมบอบบางเข้าไว้ให้อยู่ในอ้อมกอด พลางกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า
“พี่ขอร้อง….น้องสายบัวอย่าพึ่งไป พี่ขอให้น้องสายบัวกับน้องซ่อนกลิ่นฟังเหตุผล และความจำเป็น
ของพี่เสียก่อนนะจ๊ะ” สายตาของคนพูดเว้าวอนออดอ้อนขอความเมตตา และความเห็นใจจากคนรัก
ความอบอุ่นที่สายบัวสัมผัสได้ทำให้อุณหภูมิความโกรธลดต่ำลง จากนั้นนายหมงก็อธิบายเหตุผล
และความจำเป็นให้คนทั้งสองรับฟัง เพื่อความกระจ่าง ชัดเจน และเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น
สายบัวสบสายตากับชายคนรักที่จ้องมองอยู่อย่างไม่กะพริบ พลางกล่าวปนเสียงสะอื้นไห้ว่า
“สายบัวเข้าใจพี่หมงจ้ะ” แต่น้ำเสียงยังสั่นพร่าที่มิอาจจะควบคุมได้ มือสองข้างเย็นเฉียบราวน้ำแข็ง
ยิ่งจิตใจนั้นไม่ต้องพูดถึง มันย่ำแย่อ่อนปวกเปียกเหมือนเทียนไขที่ถูกไฟลนให้หลอมละลายหายไปจากโลกใบนี้
67
“แต่ยังไงเสียพี่ขอสัญญาว่า พี่จะต้องแต่งงานกับน้องสายบัวให้จงได้ ถึงแม้ว่าพี่ได้แต่งงานกับ
น้องกิมลั้งแล้วก็ตาม เพราะหัวใจรักของพี่อยู่ที่น้องสายบัว มิได้อยู่ที่น้องกิมลั้ง น้องกิมลั้งจะได้
แค่เพียงร่างกายของพี่เท่านั้น แต่จะไม่ได้หัวใจรักของพี่แต่อย่างใด” คำกล่าวและคำมั่นสัญญา
ที่นายหมงลั่นวาจาออกมานั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยความจริงใจและความรักมั่นที่มีให้กับสายบัว
จนเธอเริ่มใจอ่อนและคล้อยตามกับชายคนรัก
“สายบัว! แกจะบ้าเหรอ ไปเชื่ออะไรกับลมปากผู้ชาย” ซ่อนกลิ่นค้านเสียงแข็ง แล้วค้อนให้วงใหญ่
สายบัวนิ่งเงียบไปครู่ใหญ่ เธอมองหน้าเพื่อนรักที แล้วมองหน้าชายคนรักที ก่อนตัดสินใจเอ่ยออกมาปนเสียงสะอื้นไห้ที่หลุดออกมาจากลำคอว่า
“ซ่อนกลิ่น ฉันขอบใจแกมากนะ ที่แกรักและห่วงใยตัวฉัน แต่ฉันมีความเชื่อมั่นในความรักของ
พี่หมงที่มีให้กับฉัน และฉันขอบอกให้แกรู้เลยนะว่า ตัวฉันเองก็รักพี่หมงไม่น้อยไปกว่าที่พี่หมง
มอบความรักให้กับฉันเหมือนกัน แกไม่ต้องคิดอะไรมาก นึกเสียว่ามันเป็นเวรเป็นกรรมของฉัน
ที่จะต้องชดใช้ให้กับพี่หมงก็แล้วกันจ้ะ”
“แต่ว่า….แกจะยอมกินน้ำใต้ศอกนังกิมลั้งหรอกรึเพื่อนรัก” ซ่อนกลิ่นยังค้านเหมือนเตือนให้มีสติ สายบัวไม่ตอบคำถามเพื่อนรัก ทำได้แค่เพียงมองหน้ารูปงาม แล้วส่งยิ้มหวานให้แทนคำขอบใจ
ซ่อนกลิ่นถอนหายใจเฮือกใหญ่ก่อนว่า
“ฉันตามใจแกนะ….สายบัว เพราะฉันคิดว่าคงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าเตือนสติแกเท่านั้น….
แล้วพี่หมงล่ะ จะทำยังไงกันต่อไป”
“พี่คิดว่าหลังจากที่พี่แต่งงานกับน้องกิมลั้งผ่านพ้นไปแล้ว และขอสัญญาว่าอีกไม่เกินเจ็ดวัน
พี่จะให้เตี่ยกับแม่ไปสู่ขอน้องสายบัวแต่งงานทันที”
“ที่พี่หมงพูดมา พี่คิดว่ามันจะง่ายหรอกรึ” ซ่อนกลิ่นถามแทนเพื่อนรักอย่างไม่มั่นใจในคำกล่าว
“พี่จะไม่สนใจอะไรทั้งนั้น เพราะพี่ถือว่าได้ทำตามความต้องการของเตี่ยกับแม่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนนอกเหนือจากนั้น พี่ขอทำตามหัวใจรักของพี่บ้างแล้วกัน แต่พี่ขอน้องสายบัวไว้อย่างหนึ่งนะจ๊ะ….”
“อะไรจ๊ะพี่หมง” น้ำเสียงสายบัวแจ่มใสขึ้นเหมือนคลายกังวลในใจ
“พี่ขอให้น้องสายบัวอดทน อดกลั้น และคอยวันที่พี่ให้เตี่ยกับแม่ไปสู่ขอน้องสายบัวแต่งงาน”
“น้องจะคอย คอยวันที่พี่หมงทำตามคำมั่นสัญญาที่ว่าไว้กับน้อง และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น น้องยินดี
ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่ เพราะน้องเชื่อมั่นในความรักที่พี่มอบให้แก่น้องจ้ะ”
“พี่ดีใจที่น้องสายบัวมีความเชื่อมั่นในความรักของพี่ ที่พี่มีให้กับน้องจนหมดหัวใจ พี่ขอสัญญาว่าจะทำตามคำมั่นสัญญาที่พี่ได้ลั่นวาจาไว้”นายหมงว่าพลางโอบกอดสายบัวด้วยหัวใจรักอย่างเต็มเปี่ยม
“จ้ะ พี่หมง”
68
สายบัวที่อยู่ในอ้อมกอดมองชายคนรัก ด้วยแววตาที่เต็มไปด้วยประกายสดใส แล้วส่งยิ้มหวานให้
โดยมีซ่อนกลิ่นยืนมองด้วยความปลาบปลื้มและซาบซึ้งใจในความรักของคนทั้งสองแล้วว่า
“ฉันดีใจกับแกด้วยนะสายบัว ที่แกกับพี่หมงเข้าใจกันได้ แล้วพี่หมงก็อย่าลืมคำมั่นสัญญาที่ว่าไว้
กับสายบัวล่ะ” ซ่อนกลิ่นกล่าวหยอกเย้า พลางค้อนให้นายหมงที่เหลือบมองซ่อนกลิ่นอยู่เหมือนกัน
“จ้ะ….จ้ะ….แม่คุณทูนหัว” นายหมงขานรับด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มด้วยใจเป็นสุข
วันสงกรานต์ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน พุทธศักราช 2454 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ถึงวันเสาร์ที่ 15 เมษายน พุทธศักราช 2454 แรม 2 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ถือเป็นวันปีใหม่ของชาวไทย
ซึ่งเป็นประเพณีอันงดงาม ที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาลเคียงคู่กับวันตรุษจีน
จึงเรียกรวมกันว่า “ประเพณีตรุษสงกรานต์” คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤตว่า“สํ-กรานต”
แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น ผ่าน หรือเคลื่อนย้ายโดยมีนัยความหมายว่า การเข้าสู่ศักราชราศีใหม่
หรือวันขึ้นปีใหม่ หรือการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ทั้งนี้วันสงกรานต์สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพล
มาจากเทศกาลโฮลีของอินเดียที่ใช้สีสาดใส่กันแต่ของไทยใช้น้ำสาดใส่กัน เพราะมีความเชื่อว่า
น้ำจะพัดพาเอาสิ่งที่ไม่ดี หรือสิ่งที่เป็นอัปมงคลออกไปจากตัวเรา
สมัยโบราณกาลที่ผ่านมาคนไทยถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งถือฤดูเหมันต์
(ฤดูหนาว) เป็นการเริ่มต้นปี จะอยู่ราวปลายเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคม ต่อมาได้เปลี่ยนแปลง
ไปตามคติพราหมณ์ที่มีรากเหง้ามาจากการสังเกตธรรมชาติและฤดูการผลิต ทำให้วันปีใหม่จึงเปลี่ยนเป็น
วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 หรือประมาณเดือนเมษายนอันเป็นการนับปีใหม่ตามเกณฑ์จุลศักราช โดยถือเอา
วันมหาสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5)
ในปีพุทธศักราช 2432 ได้กำหนดให้วันที่ 1เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นการนับทางสุริยคติแทน
จนกระทั่งมาถึงสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปีพุทธศักราช 2483 ได้ประกาศให้
วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันเป็นการนับปีใหม่แบบสากลนิยม ดังนั้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช2484
เป็นต้นมา จึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1มกราคม ใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่คนไทยยังคุ้นเคย
วันขึ้นปีใหม่ไทยในเดือนเมษายน จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยใช้ร่วมไปด้วย ซึ่งในแต่ละวันมีความหมายและความสำคัญ ดังนี้
1. วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” หรือทางเหนือเรียกว่า “วันสังขารล่อง”
หมายถึง วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่นๆ แล้วจนครบ 12 เดือน
จะมีการยิงปืนจุดประทัดตั้งแต่เช้าตรู่ เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการขับไล่เสนียดจัญไรต่างๆ ให้ล่องไป
พร้อมกับสังขาร และทำความสะอาดเสื้อผ้า มุ้ง หมอน ที่นอนและอื่นๆ รวมทั้งปัดกวาดบ้านเรือน
ให้เรียบร้อย และมีการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย
69
2. วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา หรือ วันเน่า” แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่พระอาทิตย์
เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อันเป็นราศีตั้งต้นปี ถือว่าเป็นวันสำคัญที่จะได้ประสบแต่
ความดีงามตลอดทั้งปีเป็นมงคลแก่ชีวิต วันนี้จึงจะไม่ทำอะไรที่ไม่เป็นมงคล เช่น ด่าทอว่าร้ายใส่กัน
หรือทะเลาะวิวาทกัน โดยตอนเช้าจะไปตลาดจัดซื้ออาหาร ขนม และสิ่งของจำเป็น เพื่อนำไปทำบุญ
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันดา” ตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด โดยขนจากแม่น้ำปิงแล้วนำไปยังวัด
ที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อก่อเจดีย์ทรายตามลานวัด เจดีย์ทรายที่ก่อขึ้นจะตบแต่งด้วยธงทิวสีต่างๆ
เรียกว่า “ตุง” ตุงทำด้วยกระดาษสี ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงและรูปร่างต่างๆ ติดปลายไม้
และยังมีอีกชนิดหนึ่งตัดเป็นรูปลวดลายต่างๆ ติดปลายไม้ เรียกว่า “ช่อ” ซึ่งมีความเชื่อว่าการทาน
หรือถวายตุงหรือช่อนี้ เมื่อตายไปจะสามารถพ้นจากขุมนรกได้ด้วยตุงหรือช่อนี้ (สำหรับผู้ที่มี
บาปหนักถึงต้องตกนรก) ส่วนการขนทรายเข้าวัดนั้นถือเป็นการทดแทนทรายที่ติดเท้าหรือรองเท้า
ที่เหยียบย่ำเข้าออกวัดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งเจดีย์ทรายจะทำพิธีถวายทานในวันรุ่งขึ้น (15 เมษายน)
และจะมีการเล่นรดน้ำใส่กัน ทำให้หนุ่มสาวมีโอกาสได้พบปะและหยอกล้อรดน้ำใส่กันอย่างสนุกสนาน
3. วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันเถลิงศก”หรือทางเหนือเรียกว่า “วันพญาวัน” หมายถึง
เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือเป็นวันเริ่มปีศักราชใหม่ ซึ่งที่กำหนดให้อยู่วันนี้เพื่อให้แน่ใจว่า
ดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนมาเข้าสู่ราศีเมษแล้วอย่างน้อย 1 องศา จะมีการตื่นแต่เช้าตรู่
เพื่อจัดเตรียมอาหารคาว หวาน แล้วจะนำไปถวายพระที่วัดเป็นทำบุญตักบาตร เรียกว่า “ทานขันข้าว”
เป็นการถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งจะถวาย
เจดีย์ทราย ถวายจ่อตุง ถือว่าเป็นอานิสงส์ จากนั้นตั้งแต่ตอนบ่ายจนถึงตอนเย็นจะไปรดน้ำดำหัว
หรือคารวะเพื่อขอขมาลาโทษผู้เฒ่าผู้แก่ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องผู้อาวุโส ผู้มีบุญคุณ
หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือ และตอนเย็นจะไปรดน้ำดำหัวพระเจ้า คือการแสดงความคารวะต่อ
พระพุทธรูปที่สำคัญประจำเมืองนั้นๆ และยังรวมไปถึงรดน้ำดำหัวกู่ คือที่บรรจุพระอัฐิของบรรพบุรุษ
หรือเจ้านายที่ได้ทำคุณงามความดีไว้ต่อบ้านเมือง ครูบาอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา บุคคลสำคัญใน
ชุมชนนั้นๆ เป็นต้น
ทั้งนี้วันมหาสงกรานต์จะมีนางสงกรานต์ประจำวันของแต่ละวันจำนวน 7 นาง ซึ่งเป็นคติ
ความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์ โดยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ให้จารึก
ลงในแผ่นศิลาติดไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ที่กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่งรวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตร
สองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์
ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปีก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ
70
เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ แล้วเอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง เพื่อหุงบูชาอธิษฐาน
ขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์
ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรนามว่า ธรรมบาล ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี จนกระทั่งคลอด
แล้วตั้งชื่อให้กุมารน้อยว่า ธรรมบาลกุมาร และสร้างปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาธรรมบาลกุมารโตขึ้น ได้เรียนรู้ภาษานกและเรียนไตรเภทจบ จนอายุเจ็ดขวบได้เป็นอาจารย์
บอกมงคลต่างๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่งท้าวกบิลพรหมถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ
โดยตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าธรรมบาลกุมารตอบคำถามได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบคำถามไม่ได้
ก็จะตัดเศียรธรรมบาลกุมารบูชา ซึ่งคำถามมีอยู่ว่า “ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน
และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน” ธรรมบาลกุมารยังไม่สามารถตอบคำถามได้ จึงขอผัดผ่อนไปอีก 7 วัน
จนกระทั่งล่วงเลยมาถึงวันที่ 6 จึงลงจากปราสาทมานอนใต้ต้นตาล โดยมีความคิดว่าหากไม่สามารถ
ตอบคำถามได้จะขอตายในที่ลับยังดีเสียกว่าไปตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม แต่นับเป็น
ความโชคดีที่ธรรมบาลกุมารสามารถฟังภาษานกได้ เพราะบังเอิญได้ยินนกอินทรีสองตัวผัวเมีย
สนทนากัน โดยนกผู้เป็นเมียถามผัวว่าพรุ่งนี้จะไปหาอาหารที่ไหน แล้วนกผู้เป็นผัวตอบว่าจะไป
กินศพธรรมบาลกุมาร ถ้าตอบคำถามไม่ได้ ด้วยความอยากรู้นกผู้เป็นเมียจึงถามผัวว่าคำถาม
มีอะไรบ้าง แต่นกผู้เป็นเมียก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ เมื่อมีการยอมนกผู้เป็นผัวจึงเฉลยออกมาว่า
“ตอนเช้าศรีจะอยู่ที่หน้า จึงต้องมีการล้างหน้าล้างตากันทุกเช้า ตอนเที่ยงศรีจะอยู่ที่อก จึงต้องมีการ
เอาเครื่องหอมปะพรมที่อกเพื่อคลายร้อนให้จิตใจสดชื่น ส่วนตอนค่ำศรีจะอยู่ที่เท้า จึงต้องมีการล้างเท้าก่อนเข้านอน” เมื่อได้คำเฉลยแล้ว วันรุ่งขึ้นของวันที่ 7 ธรรมบาลกุมารตอบคำถามได้อย่างถูกต้อง
จึงเป็นเหตุให้ท้าวกบิลพรหมพ่ายแพ้และจำต้องตัดเศียรบูชาตามคำมั่นสัญญาที่ว่าไว้ แต่มีปัญหาอยู่ว่า
ถ้าพระเศียรตกไปอยู่ที่ใดก็จะทำให้เกิดภัยอันตรายต่อที่ตรงนั้น เช่น หากตั้งไว้บนแผ่นดินก็จะเกิด
ไฟไหม้ได้ หากโยนขึ้นไปบนอากาศก็จะไม่เกิดฝนทำให้ขาดแคลนน้ำได้ และสุดท้ายหากโยนทิ้งลงใน
มหาสมุทรก็จะเกิดภัยพิบัติความแห้งแล้งไม่มีน้ำกินน้ำใช้ได้ ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้ง 7 นาง
อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมเพรียงกัน และมีข้อสรุปได้ว่า มอบหมายให้ธิดาทั้ง 7 นาง
ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเวรกันนำพานมารองรับพระเศียรของท้าวกบิลพรหม แล้วเวียนขวารอบ
เขาพระสุเมรุ 60 นาที จากนั้นนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาศ โดยให้นางทุงษะเทวี
ธิดาองค์โตเริ่มอันเชิญออกแห่เป็นองค์แรกเพราะฉะนั้นธิดาทั้ง 7 นาง จึงต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเวรกัน
อันเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ เมื่อครบกำหนด 365 วัน หรือ 1 ปี (โลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียน
มาถึงวันมหาสงกรานต์) โดยทรงสัตว์พาหนะของตนเอง พร้อมด้วยอาหารและอาวุธประจำพระองค์
และเนื่องจากธิดาทั้ง 7 นาง จะมาปรากฏตัวในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงเรียกว่า “นางสงกรานต์”
71
ส่วนท้าวกบิลพรหมก็คือ พระอาทิตย์ เพราะคำว่า กบิล หมายถึง สีแดง ทั้งนี้ในแต่ละปี
นางสงกรานต์ทั้ง 7 นาง จะมาทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเวรกันตรงตามวันมหาสงกรานต์
อันประกอบไปด้วย
1. นางทุงษเทวี (วันมหาสงกรานต์เป็นวันอาทิตย์)
ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราชภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ ส่วนทางเหนือล้านนาคือ นางแพงศรี
2. นางโคราคเทวี (วันมหาสงกรานต์เป็นวันจันทร์)
ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหารภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์
พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์(เสือ) ส่วนทางเหนือล้านนาคือ นางมโนรา
3. นางรากษสเทวี (วันมหาสงกรานต์เป็นวันอังคาร)
ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต (เลือด) พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล
พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู) ส่วนทางเหนือล้านนาคือ นางรากษสเทวี
4. นางมัณฑาเทวี (วันมหาสงกรานต์เป็นวันพุธ)
ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม
พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัสพะ(ลา) ส่วนทางเหนือล้านนาคือ นางมันทะ
5. นางกิริณีเทวี (วันมหาสงกรานต์เป็นวันพฤหัสบดี)
ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกตภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง
พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร(ช้าง) ส่วนทางเหนือล้านนาคือ นางกัญญาเทพ
6. นางกิมิทาเทวี (วันมหาสงกรานต์เป็นวันศุกร์)
ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์
พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย) ส่วนทางเหนือล้านนาคือ นางริญโท
7. นางมโหทรเทวี (วันมหาสงกรานต์เป็นวันเสาร์)
ทรงพาหุรัดทัดดอกสาวหาว (ผักตบชวา)อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวา
ทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง) ส่วนทางเหนือล้านนาคือ
นางสามาเทวี
สำหรับปีพุทธศักราช 2454 วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน พุทธศักราช 2454 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน นางสงกรานต์ คือ นางกาฬกิณีเทวี (นางกิริณีเทวี) ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน
เสด็จนั่งมาเหนือหลังกุญชรหรือหลังคชสาร(ช้าง) เป็นพาหนะ
บทประพันธ์โดย นิพรรนา