หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ตรอกรักปั๋นใจ๋ ตอนที่5

เนื้อหาโดย Takflim ตากฟิล์ม

ตอนที่ 5

​หลังจากงานประเพณีลอยกระทงผ่านไปหลายสัปดาห์ ข่าวการคบหากันฉันชู้สาวระหว่าง

นายหมงกับสายบัวลือสะพัดไปทั่วชุมชนตรอกบ้านจีน และชุมชนบ้านเชียงทอง โดยผู้ที่ป่าวประกาศ

ปล่อยข่าวก็มิใช่ใครอื่น เธอผู้นั้นนามว่า นกยูง นั่นเอง

“แม่ขอถามเอ็งหน่อยสิแม่นางตัวดี เอ็งไปทำอะไรงามหน้าไว้ที่วัดวันลอยกระทง” นางยุพินผู้เป็นมารดา ร้องถามด้วยความขัดข้องในใจกับข่าวลือของลูกสาว

“หนูก็ไม่ได้ไปทำอะไรที่เสียหายนี่จ๊ะแม่” สายบัวรีบตอบปฏิเสธทันควัน

“ไม่ไปทำอะไรที่เสียหายได้ไง แล้วทำไมข่าวของเอ็งมันถึงลือสะบัดไปทั่วตรอกบ้านจีนยันไปถึงบ้านเชียงทอง มันยิ่งกว่าไฟไหม้ฟางเสียอีก”สายบัวเริ่มอึดอัด แล้วนิ่งเงียบไปไม่กล้าโต้ตอบ

นางยุพินมองหน้าผู้เป็นลูกสาว พลางค้อนให้วงใหญ่ก่อนตำหนิต่อว่า

“เป็นสาวเป็นนางทำอะไรทำไมไม่นึกถึงหน้าพ่อหน้าแม่ไว้บ้าง เมื่อเช้าแม่ขายผักในตลาดได้ยินข่าว

ของเอ็งลือสะพัดหนาหูไปทั่ว โดยมีเพื่อนรักของเอ็งแม่นังนกยูงตัวแสบ มันป่าวประกาศเรื่องของเอ็ง

ดังไปทั่วตลาดสดชุมชนตรอกบ้านจีน ตั้งแต่หัวตรอกยันท้ายตรอก นี่ยังดีนะที่พ่อของเอ็งยังไม่

รู้เรื่องอะไร ไม่งั้นเอ็งคงโดนดีแน่ๆ”

สายบัวน้ำตาเริ่มเอ่อเต็มสองเบ้าตา พลางมองหน้าผู้เป็นมารดาอย่างนึกสงสารหัวอกของคนเป็นแม่

ก่อนโผเข้ากอดด้วยความเสียใจ ที่ทำให้พ่อกับแม่เดือดเนื้อร้อนใจ และสร้างความอบอายขายขี้หน้า

ที่ให้ชาวบ้านมาติฉินนินทาว่าร้ายให้เสียหาย แล้วนึกแค้นเพื่อนรักที่คิดคดทรยศเอาเรื่องมาป่าว

ประกาศ จนเป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงแก่ตนเองและครอบครัว

“แม่....หนูขอโทษ แต่หนูกับพี่หมงไม่ได้ทำอะไรที่เสียหายนะจ๊ะ เราสองคนแค่ไปลอยกระทงด้วยกัน

ที่ท่าน้ำวัดน้ำหักเท่านั้น แล้วหนูผิดด้วยหรือ”

“เอ็งจะผิดหรือไม่ผิด มันไม่สำคัญหรอกลูก แต่มันไม่เหมาะไม่ควร เพราะเราเกิดมาเป็นลูกผู้หญิงยังไงเสียมันก็เสียเปรียบเค้าวันยังค่ำ และอีกอย่างเค้าเป็นเศรษฐี แต่เรามันเป็นคนจน มันไม่คู่ควร

กันอยู่แล้ว” นางยุพินเอ่ยเสียงราบเรียบเบาๆพลางสัมผัสศีรษะลูกสาวอย่างรักใคร่เอ็นดู                                                                                                                                                                                                                                                   

“เรื่องรวยเรื่องจน ก็ไม่น่าจะมาเกี่ยวอะไรกับเรื่องความรักเลยนะแม่” สายบัวเอ่ยถามด้วยน้ำตาคลอ

“เอ็งว่าไม่เกี่ยว แล้วเอ็งคิดหรือไม่ว่า ครอบครัวเค้าจะไม่มาขอเกี่ยว และยอมรับเอ็งเป็นลูกสะใภ้”

“แล้วหนูจะทำยังไงดีล่ะแม่”

“เลิก!” คำพูดนี้ของนางยุพินแทบจะขาดใจให้ได้ เพราะในใจนึกเสียดายว่าที่ลูกเขยเศรษฐีพ่อค้าไม้

ผู้มีทรัพย์สมบัติร่ำรวยมั่งคั่ง และอยู่สุขสบายเมื่อได้เป็นแม่ยาย เพราะอย่างน้อยหนี้สินที่เคยหยิบยืน

มาคงมลายหายไปในพริบตา แต่เธอก็พูดอะไรออกมาไม่ได้จึงเก็บเงียบงำไว้ในใจ                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                  

“แม่….แต่หนูกับพี่หมง เราสองคนรักกันนะจ๊ะแม่”

36

“ยังไงเอ็งก็ต้องเลิก”

“พ่อ!” นายโปรยเดินเข้ามาหาสองคนแม่ลูกด้วยสีหน้าเคร่งเครียด แล้วทรุดกายลงนั่งข้างๆพลางถอน

หายใจเฮือกใหญ่ก่อนว่า

“เชื่อพ่อเถอะลูก เค้ามันคนรวย แต่เรามันคนจน เราไม่คู่ควรกับเค้าหรอกลูกเอ๋ย”

“แต่....หนูกับพี่หมงรักกันนะจ๊ะพ่อ”

“พ่อว่าเอ็งตัดอกตัดใจเสียเถอะวะสายบัวเอ๊ย ผู้ชายดีๆ ที่เค้ามาแอบรักเอ็งชอบเอ็งมีอีกตั้งเยอะแยะ เชื่อพ่อกับแม่เถอะลูก”

สายบัวนิ่งเงียบกลั้นสะอื้นมิให้บุพการีได้ยินเสียง เก็บความบอบช้ำใจไว้ในอกอย่างสุดแสนทรมาน

แล้วตั้งคำถามขึ้นในใจมากมาย เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ตนเองมีกับชายคนรัก ว่าทำไมมีความรัก

กับคนอื่นเขาสักครั้ง ถึงไม่ราบรื่นเอาเสียเลย มีแต่ปัญหาและอุปสรรคคอยขัดขวางความรักของเรา

ทั้งสองให้วุ่นวายใจยิ่งนัก ทำไมมนุษย์เราใช้ความรวยกับความจนมาเป็นตัวชี้วัดของความรัก

ทำไมไม่วัดตรงความรักและความเข้าใจอันบริสุทธิ์ที่มีให้แก่กัน แล้วนี่เราถ้ามีโอกาสได้เจอะเจอ

กับพี่หมง เราจะพูดคุยเรื่องนี้อย่างไรดี ยิ่งคิดก็ยิ่งบั่นทอนความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กับความรักแย่ลง

ไปเรื่อยๆ ผสมกับความเจ็บแค้นในใจ ยิ่งคิดก็ยิ่งนึกแค้นเพื่อนรัก ที่คิดคดทรยศเอาเรื่องของตน

มาป่าวประกาศ จนเป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงแก่ตนเองและครอบครัว แต่จะทำอะไรได้ล่ะ ถ้าคิดจะไป

สู้รบตบมือต่อปากต่อคำเถียงกับนกยูงคงไม่ได้การณ์เป็นแน่ เพราะหล่อนจะพูดคำด่าคำจนบางครั้ง

รับแทบไม่ได้ และที่สำคัญพฤติกรรมที่คอยกลั่นแกล้งและชอบยื้อแย่งพี่หมงไปจากตนนั้น

หล่อนยังกระทำได้โดยไม่มีความละอายแก่ใจ เพียงเพื่อต้องการสนองตัณหาราคะ และจะเอาชนะตนให้จนได้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้เพื่อให้อยู่ดีมีสุขก็คือ นิ่ง และทำเมินเฉยไม่ต้องไปสนอกสนใจและไม่ต้องไปโต้ตอบอะไรทั้งสิ้น โดยพยายามใช้ความนิ่งสงบ เพื่อสยบความเคลื่อนไหวเป็นดีที่สุด

เช้าวันใหม่ ณ ตลาดสดที่ตั้งอยู่กลางชุมชุนตรอกบ้านจีน ผู้คนจอแจแออัดเดินกันขวักไขว่

ไปมาเต็มตลาดสด เพื่อจับจ่ายใช้สอยซื้อหาผัก ผลไม้ ปลาแม่น้ำปิง เป็ด ไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว

และของป่าอีกมากมาย ที่พ่อค้าแม่ค้านำมาวางขายเต็มตลาดสด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีร้านขายผักสด

และของป่าของนางยุพินกับสายบัวผู้เป็นลูกสาวรวมอยู่ด้วย เสียงร้องเรียกหาลูกค้าของพ่อค้าแม่ค้า

ดังแข่งกันอย่างเซ็งแซ่ และแล้วก็มีเสียงหนึ่งร้องเสียงแหลมสูงดังลั่นตลาดสดมาแต่ไกล ก่อนเห็น

ตัวเจ้าของเสียงแหลมสูงนั้นด้วยซ้ำ

“มาแล้วจ้า….มาแล้ว วันนี้นกยูงมีข่าวฉาวคาวโลกีย์มาประกาศให้พ่อแม่พี่น้องได้รับฟังกัน ใครสนใจอยากรู้ข่าวฉาวของ….” นกยูงต้องอ้าปากค้าง เมื่อเหลือบไปเห็นนางยุพินกับสายบัวเพื่อนรักสองคน

แม่ลูก ช่วยกันจัดผักสดและของป่า ที่เก็บมาตั้งแต่เช้ามืดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเต็มแผงหน้าร้าน

37

นกยูงไม่รอช้า รีบเดินตรงหรี่เข้าไปหาด้วยท่าทีไม่หวังดีสักเท่าไหร่นัก แล้วทักทายเสียงดังลั่นตลาดสดว่า

“สวัสดีจ้าแม่ยุพิน” นกยูงว่าพลางยกมือไหว้มารดาเพื่อนรักเหมือนอย่างไม่ค่อยจะเต็มใจนัก

ก่อนจีบปากจีบคอเอ่ยถามต่อว่า

“อ้าว มาแล้วเหรอจ๊ะเพื่อนรัก ไม่เห็นหน้าเห็นตาตั้งหลายอาทิตย์ คิดว่าได้ดิบได้ดีไปเป็นคุณนาย

เศรษฐีพ่อค้าไม้เสียแล้วสิ แต่ที่ไหนได้ ยังมานั่งขายผักเน่าๆ อยู่ที่เดิม” นกยูงพูดจาถากถางพร้อมเสียงหัวเราะเยาะดังลั่นตลาดสด นางยุพินส่ายหน้าต่อพฤติกรรมของนกยูงที่พูดจาไร้มารยาท

คำพูดคำจาแต่ละคำทำให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจ ไม่มีการถนอมน้ำใจ และความเกรงอกเกรงใจผู้ใดเลยสักนิด แต่ถึงจะปากร้ายแต่ก็ยังดีที่ยังมีสัมมาคารวะยกมือไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ ฉะนั้นพื้นฐาน

ของสันดานยังถือว่าเป็นคนดีอยู่ ส่วนสายบัวกลับนิ่งเฉยไม่โต้ตอบ ยังคงก้มหน้าก้มตาจัดผักสดและของป่าอย่างใจเย็น

“เออแน่ะ….ดูสิ….ถามแล้วไม่ตอบ สงสัยไม่ได้เอาปากมาจากบ้าน แล้วยังงี้จะขายผักเน่าๆ ได้ยังไงกัน ฉันว่านะเอาไม่เททิ้งลงแม่น้ำปิงจะดีกว่า แล้วไม่ต้องมานั่งขวางหูขวางตาให้ฉันรำคาญลูกตา”

สองคนแม่ลูกสบตากัน แล้วนิ่งเงียบไม่กล่าวโต้ตอบอะไร กลับยิ่งทำให้นกยูงมีอารมณ์โกรธมากยิ่งขึ้น หล่อนเดินเข้าไปประชิดตัวสายบัวห่างกันแค่ไม่ถึงคืบ แล้วตะคอกใส่หน้ารูปงามของสายบัว

เสียงดังลั่นว่า

“ยังไม่ได้เป็นคุณนายเศรษฐีพ่อค้าไม้ กลับเสือกหยิ่งเสียแล้วนี่ ฉันถามแก ฉันพูดกับแก แล้วทำไมแกถึงไม่ตอบคำถามฉัน” ทุกสายตาต่างมองมารวมอยู่ที่จุดเดียวกัน ทั้งตลาดสดเงียบกริบกันอยู่

พักใหญ่ ก่อนมีเสียงหนึ่งดังขึ้นว่า

“หยุดได้แล้วนังนกยูง แกหยุดแหกปากตะคอกใส่สายบัวซักทีเถอะ ไม่อายคนก็อายหมูอายหมามันบ้าง”

ซ่อนกลิ่นเพื่อนรุ่นเดียวกัน อดรนทนไม่ไหวที่เห็นเพื่อนรักโดนรังแกต่อหน้าต่อตา

“แกมาเสือกอะไรด้วย….หา!....นังซ่อนกลิ่น” นกยูงตวาดถามเสียงดังลั่นด้วยอารมณ์โกรธจัด

พร้อมทำตาขวางใส่คู่กรณีอย่างลืมตัว

“เป็นบ้าเป็นบออะไรของแกนักหนา แกทำเกินไปแล้วนะ นี่สายบัวเป็นเพื่อนของพวกเรานะ”ซ่อนกลิ่นกล่าวเตือนสติให้นกยูงใจเย็นลง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ หล่อนกลับลอยหน้าลอยตา

แล้วตะแบงเสียงดังใส่ว่า

“ฉันไม่สนใจหรอก ตราบใดที่มันยังเสือกสะเออะมาแย่งพี่หมงของฉันไป ฉันก็จะตามด่าตามว่า

มันให้ถึงที่สุด”

“ฉันขอถามแกหน่อยเถอะ ที่แกว่าพี่หมงเป็นแฟนของแก แล้วแกเคยถามพี่หมงสักคำบ้างรึเปล่าว่า

เค้ายอมรับว่าแกเป็นแฟน” ซ่อนกลิ่นถามเพื่อนรัก เพื่ออยากรู้ความจริงจากปากโดยตรง

38

นกยูงนิ่งอึ้งไปพักใหญ่ เพราะพูดอะไรไม่ออก เหมือนมีใครเอาค้อนมาทุบหัวจนมึนงง และเมื่อได้สติ

จึงตวาดเสียงดังลั่นด้วยอารมณ์โมโหโกรธ จนเลือดขึ้นหน้าเป็นฟืนเป็นไฟ

“อีซ่อนกลิ่น!” ว่าพลางยกฝ่ามือตั้งฉากหมายจะเข้าไปตบหน้าซ่อนกลิ่นสักฉาดให้หายโกรธ

“แกคิดจะตบฉัน แต่แกลืมคิดไปรึเปล่าว่าฉันก็ตบเป็นเหมือนกัน”

“เก่งจริงนะมึง มา….มึงเข้ามา แม่จะตบโชค์ให้แขกดูสักหน่อย คราวหน้าคราวหลังมึงจะได้ไม่กล้า

มาผยองกับกูอีก” นกยูงสบถลั่นท่าทางโกรธเคือง แล้วเดินตรงหรี่เข้าไปหาซ่อนกลิ่น ที่ตั้งท่าคอย

รับมืออยู่เช่นกัน

“เพี้ยะ!” ซ่อนกลิ่นตบไปที่ใบหน้าอันอวบอูมของนกยูง จนหน้าหันไปตามแรงตบเสียงดังสนั่นหวั่นไหว

นกยูงเซถลาล้มกลิ้งไปนอนกองกับพื้น หล่อนเงยหน้าขึ้นพร้อมชี้หน้าซ่อนกลิ่นพลางสบถคำด่าดังลั่นตลาดสดอีกว่า

“อีซ่อนกลิ่น!.......ทอง!....อีเวร!….มึงตบหน้ากู”

“เออ….สิวะ! แกคิดว่าฉันอยากจะหอมแก้มเน่าๆ ของแกหรอกรึ” ซ่อนกลิ่นพูดยังไม่ทันขาดคำ

ก็ตบเต็มฝ่ามือไปที่ใบหน้าอันบอบช้ำของนกยูงอีกครั้ง ก่อนที่ฝ่ามือของนกยูงจะมาสัมผัสใบหน้างาม

“ผัวะ!” ครั้งนี้จัดหนักกว่าครั้งแรก นกยูงเซถลาจะล้ม แต่มือทั้งสองข้างคว้าเส้นผมที่ยาวสลวย

เป็นเงางามของซ่อนกลิ่นกำเต็มสองมือ จึงเป็นผลให้ร่างของคนทั้งสองล้มลงไปนอนทับกัน

อย่างไม่เป็นท่า และในสถานการณ์บังคับแบบนี้ทำให้ทั้งสองกอดรัดฟัดเหวี่ยงเกือกกลิ้งกับพื้น

โดยไม่นึกห่วงสวย เพราะหวังแค่เพียงจะเอาชนะต่อกันเท่านั้น  

“เร็ว….มาเร็วพวกเรา….มาดูนังนกยูงตบกับนังซ่อนกลิ่นกลางตลาดสด….เร็ว”

ยายแตงอ่อนแม่ค้าขายผลไม้แหกปากตะโกนเสียงดัง ทำให้พ่อค้าแม่ค้าและผู้คนที่มาเดินตลาดสดต่างมุงดูรายการมวยวัดคู่เอก พร้อมส่งเสียงเชียร์กันดังลั่นสนั่นตลาดสด ทั้งสองยังปลุกปล้ำตบตีนัวเนียกันอย่างเมามัน แต่ดูเหมือนว่านกยูงจะเป็นฝ่ายได้เปรียบเสียมากกว่าคู่ต่อสู้ เพราะนกยูง

เป็นผู้หญิงร่างใหญ่ทรวงทรงองค์เอวอวบอั๋นแต่อยู่ในระดับอวบระยะสุดท้ายแล้ว หล่อนเป็นลูกผสม ระหว่างพ่อเชื้อสายจีนกับแม่เป็นหญิงคนพื้นเพแถวๆ ชุมชนบ้านท่าแค ด้วยนายเปาแซ่หลี

ได้อพยพหนีความยากจน ล่องเรือสำเภามาจากมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่รุ่นหลังนายเต็ง แซ่หลี ถึง 2 ปี แต่ด้วยความเป็นเครือญาติตระกูลแซ่หลีเดียวกัน

นายเต็ง แซ่หลี จึงมอบหมายหน้าที่ให้เป็นหัวหน้าควบคุมคนงานในปางไม้ เกี่ยวกับธุรกิจการทำไม้

ในส่วนการทำไม้ “ตอนป่า” ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ และไว้วางใจมากที่สุด ส่วนซ่อนกลิ่นผู้เป็นเพื่อน

รุ่นราวคราวเดียวกันนั้น มีพ่อกับแม่เชื้อสายลาวซึ่งบรรพบุรุษอพยพมาจากหลวงพระบาง แล้วมาตั้ง

รกรากแถวๆ ชุมชนบ้านเชียงทอง ด้วยนายลอยอินทร์แก้ว เป็นคนท้องถิ่นที่ใช้ชีวิตอยู่ติดกับแม่น้ำปิง

39

มาตั้งแต่เกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จึงทำให้เป็นผู้ที่มีความสามารถ และชำนิชำนาญด้านการต่อเรือโกลน เรือหางแมงป่อง และการล่องแพไม้ซุง จนหาใครจับตัวได้ยากคนหนึ่งเลยทีเดียว นายเต็ง แซ่หลี

จึงมอบหมายหน้าที่ให้เป็นหัวหน้าควบคุมคนงานในปางไม้ เกี่ยวกับธุรกิจการทำไม้ ในส่วนการทำไม้

“ตอนยวดยาน” แต่คนทั้งสองก็ใช่ว่าจะลงรอยกันสักเท่าไหร่นัก มักเกิดปัญหาและความขัดแย้ง

ในการปฏิบัติงานกันอยู่เนืองๆ โดยปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกครั้งนั้น มักจะมาจาก

นายเปา แซ่หลี เป็นผู้ก่อเรื่อง และชอบวางอำนาจบาตรใหญ่อย่างไม่เกรงใจใครทั้งสิ้นในปางไม้

อยู่เป็นประจำ โดยมักชอบแอบอ้างความเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายเต็ง แซ่หลี มาโดยตลอด

และประเด็นที่สำคัญคือ ต้องการหวังจะฮุบธุรกิจการทำไม้และโรงเลื่อยไม้ทั้งหมดของนายหมง ปันใจ

มาเป็นของตนเอง โดยมักจะคอยยุยงส่งเสริมให้นกยูงใช้ความสาวความสวยหว่านเสน่ห์ และความ

พยายามที่มีทั้งหมด หมายมั่นปั้นมือจับนายหมง ปันใจ ผู้เป็นลูกชายของนายซ้ง แซ่ปัน มาเป็นสามี

ให้จงได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม เพราะถ้าไม่ได้ด้วยเลห์ ก็เอาด้วยกล และถ้าไม่ได้ด้วยมนต์

ก็เอาด้วยคาถาอาคมเข้าช่วยให้สำเร็จ และรู้มาจากปากของนกยูงว่า นายหมงแอบรักชอบพออยู่กับสายบัว ผู้เป็นลูกสาวของนายโปรย เครือหลวง คนเลี้ยงม้าที่ชุมชนบ้านเชียงทอง เพื่อรับจ้างขนส่งสินค้าไปอำเภอแม่สอด กับภรรยาคนบ้านเดียวกันคือ นางยุพิน เครือหลวง แม่ค้าขายผักสด

และของป่าในตลาดสดชุมชุนตรอกบ้านจีน  

ทั้งนี้นายเปา แซ่หลี พ่อของนกยูง และนายลอย อินทร์แก้ว พ่อของซ่อนกลิ่น เป็นลูกจ้าง

ของบริษัทกิมเซ่งหลี ที่ดำเนินธุรกิจค้าไม้ รับซื้อของป่า รับต่อเรือโกลน และเรือหางแมงป่อง

ซึ่งคนทั้งสองต่างเป็นหัวหน้าควบคุมคนงานในปางไม้ เกี่ยวกับธุรกิจการทำไม้ โดยแบ่งหน้าที่

ความรับผิดชอบตามกระบวนการการทำไม้ที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ

1) การทำไม้ “ตอนป่า” เริ่มจากการคัดเลือกต้นไม้ที่จะตัดฟัน ได้แก่ สัก แดง ประดู่

หลุมพอ มะค่าโมง เต็ง รัง เป็นต้น เมื่อคัดเลือกต้นไม้ที่จะตัดฟันได้แล้ว ให้ถากเขียงที่ต้นไม้สูง

จากพื้นดินไม่ต่ำกว่า 1.30 เมตร และที่โค่นต้นไม้ รวมเป็น 2 เขียง จากนั้นจะประทับตรา ปีย่อ

ของ พ.ศ. ที่ทำการสำรวจคัดเลือก และเลขเรียงที่เริ่มต้นตั้งแต่เลขที่ 1 ต่อเนื่องกันไปจนสิ้นปีพ.ศ. นั้น

ซึ่งทุกครั้งจะต้องมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมคัดเลือกและเป็นผู้ตีตราประจำต้นไม้นั้นๆ โดยจะใช้

ดวงตรา ต. ตราตัด เพื่อเป็นการแสดงให้ทราบว่าอนุญาตให้ตัดฟันได้ เมื่อตัดโค่นต้นไม้ล้มลง

และต้องตัดทอนให้เป็นท่อนๆ เอาเฉพาะส่วนที่ตรง ยาวให้มากที่สุด และตัดส่วนที่เป็นง่ามหรือ

ปุ่มตาออก โดยไม้ซุง 1 ท่อน จะต้องมีความยาวไม่ควรสั้นกว่า 4 เมตร จากนั้นเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะ

ตรวจสอบอีกครั้งว่า ต้นไม้ที่ตัดโค่นเป็นต้นที่ตีดวงตรา ต. ตราตัด ถูกต้องและตัดทอนได้กี่ท่อน

หลังจากตรวจสอบแล้วว่าถูกต้อง เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะประทับตราที่ไม้ซุงทุกท่อนตรงหน้าเขียง

40

ที่ทำไว้ห่างจากปลายสุดของท่อนไม้ด้านปลาย ไม่เกิน 50 เซนติเมตร จำนวน 1 เขียง ซึ่งการถาก

หน้าเขียงให้ถากลึกถึงแก่น หรือลึกไปในเนื้อไม้ไม่น้อยกว่า 2 เซนติเมตร กว้างไม่น้อยกว่า 20เซนติเมตร

ยาวไม่น้อยกว่า 45 เซนติเมตร กับให้ถือหน้าตัดด้านโคนของไม้แต่ละท่อนเป็นหน้าเขียงที่จะต้อง

ประทับตราอนุญาตชักลากอีกแห่งหนึ่งด้วย ทั้งนี้รูปรอยตราที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะต้องประทับลงบน

หน้าเขียงและหน้าตัดด้านโคนของไม้แต่ละท่อนที่ตบแต่งให้เรียบแล้วนั้นมีดังนี้ ตราประจำตัว

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้ตรวจวัด ตราอนุญาตชักลากพร้อมด้วยเลขเรียงประจำต้น (เลขเรียงลำดับต้น

ที่คัดเลือกให้ตัดฟัน) เลขเรียงแสดงท่อนที่ตัดทอนได้จากแต่ละต้น เลขเรียงลำดับท่อนที่ประทับ

ตราอนุญาตชักลาก (ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้ดำเนินการ) และเลขปี พ.ศ. ที่ประทับตรา แล้วถึงจะ

ชักลากไม้ซุงให้ออกห่างจากตอเดิมได้ การชักลากไม้ซุงมักนิยมใช้ช้างหรือรถแทรกเตอร์ลากไม้ซุง

จากตอที่ตัดมารวมไว้เป็นที่เดียวกัน เรียกว่า “ถอนตอ” ส่วนสถานที่ที่นำไม้ซุงมารวมกองกัน

ไว้เป็นที่เดียวกัน เรียกว่า “หมอนไม้” และขั้นตอนสุดท้ายคือ ตราค่าภาคหลวง เพื่อคำนวณ

เรียกเก็บเงินค่าภาคหลวงไม้และค่าบำรุงป่า (ถ้ามี) ซึ่งที่ปางไม้ของบริษัทกิมเซ่งหลีก็นิยมใช้ช้าง

ชักลากไม้ซุงเช่นกัน เพราะพื้นที่ป่าไม้ที่ได้รับอนุญาตให้สัมปทานทำไม้ส่วนใหญ่จะอยู่แถวๆ

อำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด โดยสภาพภูมิประเทศทั่วไปของจังหวัดตากจะเป็นพื้นที่ราบ

มีเทือกเขาสูงชันล้อมรอบ และมีป่าไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น ทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง

และป่าสนตามยอดเขา ตั้งแต่ระดับความสูง 200เมตร ถึง 1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเล

โดยมีทิวเขาถนนธงชัยสูงชันสลับซับซ้อนเป็นตัวแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ตากฝั่งตะวันออก

ประกอบด้วยอำเภอเมืองตาก อำเภอบ้านตากอำเภอสามเงา และอำเภอวังเจ้า ส่วนตากฝั่งตะวันตก

ประกอบด้วยอำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาดอำเภอพบพระ อำเภอท่าสองยาง และอำเภออุ้มผาง

ดังนั้นการชักลากไม้ซุงของปางไม้บริษัทกิมเซ่งหลีที่ได้รับอนุญาตให้สัมปทานทำไม้ที่อำเภอแม่สอด

และอำเภอแม่ระมาดจึงต้องใช้ช้างชักลากไม้ซุงโดยการชักลากไม้ซุงด้วยช้างนั้น ทำให้ปางไม้บริษัทกิมเซ่งหลีจะต้องจ้างคนงานที่เป็นชาวพม่ามาเป็นควาญช้าง เพื่อควบคุมดูแลช้างทั้งก่อน

และหลังใช้งานชักลากไม้ซุง ซึ่งผู้ที่เป็นหัวหน้าควาญช้างคือ หม่องอองเล เป็นคนพื้นเมืองชาวพม่า

ที่หนีความยากจนเข้ามาทำมาหากินฝั่งแม่สอดพร้อมครอบครัวที่มีภรรยามาทำหน้าที่เป็นหัวหน้า

แม่บ้านประจำปางไม้ และมีลูกชายลูกสาวอย่างละคน หม่องอองเลยังมีอีกหน้าที่หนึ่งที่นอกเหนือ

จากหน้าที่ประจำคือ เป็นสมุนคนสำคัญของนายเปา แซ่หลี ไม่ว่าจะมีเรื่องอะไร หม่องอองเลจะ

เป็นทัพหน้าเสมอ อีกทั้งคอยดูแลเลี้ยงดูปูเสื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำไม้ ดูแลแขกผู้หลัก

ผู้ใหญ่คนสำคัญของเจ้านาย ที่มาเที่ยวป่าเพื่อล่าสัตว์ป่า รวมไปถึงสรรหาผู้หญิงมาปรนเปรอ

เจ้านาย และเพื่อนพ้องของเจ้านายให้อิ่มหมีพีมันเปรมปรีดิ์อย่างมีความสุข จนลืมครอบครัวที่บ้าน

โดยเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น จะปิดบังมิให้นายเต็ง แซ่หลี และนายซ้ง แซ่ปัน ล่วงรู้แต่อย่างใด

41

2) การทำไม้ “ตอนยวดยาน” หลังจากไม้ซุงรวมกองกันไว้ที่หมอนไม้เรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนต่อไปคือการขนส่งไม้ซุงนั้นๆ ออกจากป่า เพื่อนำไปสู่โรงเลื่อยไม้หรือตลาดค้าไม้

ซึ่งการเดินทางของไม้ซุงจะมี 2 ทาง ได้แก่ ทางบกจะใช้รถยนต์หรือรถไฟ สำหรับทางน้ำ

มักจะนิยมทางนี้กันเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นการขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายถูกที่สุด ด้วยวิธีการผูกไม้ซุง

รวมกันเป็นแพ แล้วล่องลงมาตามแม่น้ำ เรียกว่า “การล่องแพ” โดยจะมีคนคอยควบคุมแพไม้ซุง

ไปตลอดการล่อง ตามแม่น้ำจนถึงจุดหมายปลายทาง สำหรับขั้นตอนนี้จะต้องขอรับอนุญาตจาก

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ หลังจากที่ได้ตรวจสอบแล้วว่าถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะออกหนังสือสำคัญให้

เพื่อผู้ขนส่งไม้ซุงนำติดตัวไปตลอดการเดินทางและให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตรวจสอบเมื่อผ่านด่านป่าไม้

เรียกว่า ใบเบิกทาง จนถึงโรงเลื่อยไม้หรือตลาดค้าไม้เพื่อแปรรูปเป็นสินค้า

​บริษัทกิมเซ่งหลี เริ่มก่อตั้งมาจากการใช้นามสกุล “แซ่” ของบุคคลสำคัญสามท่านได้แก่ 

​​1) นายบุญเย็น แซ่กิม  

2) นายทองอยู่ แซ่เซ่ง  

3) นายเต็ง     แซ่หลี​

กล่าวคือ เมื่อปีพุทธศักราช 2402 นายเต็ง แซ่หลี (เกิดพุทธศักราช 2385) มีอายุ 17 ปี ได้อพยพ

ล่องเรือสำเภามาจากมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นรุ่นราวคราว

เดียวกันกับนายซ้ง แซ่ปัน (เกิดพุทธศักราช 2386) มีอายุ 16 ปี) ซึ่งเป็นบิดาของนายหมง ปันใจ

โดยมีเสื่อผืนหมอนใบล่องเรือสำเภามาตายเอาดาบหน้า ใครใคร่พอใจตรงไหนก็ขึ้นบก แล้วตั้ง

รกรากถิ่นฐานทำมาหากิน และแพร่ลูกแพร่หลานเพื่อสืบเชื้อสายวงศ์ตระกูลแซ่กันต่อไป ซึ่งตรงกับรัชสมัย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เมื่อนายเต็ง แซ่หลี และนายซ้ง แซ่ปัน

รอนแรมมาถึงประเทศไทย และขึ้นฝั่งที่บางกอก (คำว่า “บางกอก” สันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่

แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งเป็นเกาะ บางแห่งเป็นโคก จึงเรียกกันว่า “บางเกาะ” หรือ

“บางโคก” และอีกสันนิษฐานหนึ่งว่าบริเวณนี้มีต้นมะกอกขึ้นอยู่มากมาย จึงเรียกว่า “บางมะกอก”

โดยคำว่า “บางมะกอก” มาจากวัดอรุณ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัด และต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่า

“บางกอก” ครั้นเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาในปีพุทธศักราช 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงกอบกู้อิสรภาพจากพม่า และทรงสถาปนาเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร

ให้เป็นราชธานีแห่งใหม่เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2313 ต่อมาครั้นสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ

ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่ง

ราชวงศ์จักรี มีพระราชดำริว่า ฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรีมีชัยภูมิที่ดีกว่าฝั่งตะวันตก เพราะมี

42

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง หากมีศึกสงครามก็สามารถต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าอยู่ฝั่งตะวันตก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของ

กรุงศรีอยุธยาเป็นสำคัญเมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2325 ซึ่งต่อมาทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง

ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 น. เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 9 บาท (54 นาที)

ปีขาล จ.ศ. 1144 จัตวาศก และทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนพุทธศักราช 2325 จนกระทั่งมาถึงสมัยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 21ธันวาคม

พุทธศักราช 2514 ได้รวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันเป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี”

และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “กรุงเทพมหานคร” แต่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “กรุงเทพฯ”)

นายเต็ง แซ่หลี และนายซ้ง แซ่ปัน ต่างยึดอาชีพรับจ้างเป็นจับกังพายเรือ เพราะในสมัยนั้น

การคมนาคมทางถนนหนทางยังไม่ค่อยมี ดังนั้นการเดินทางและขนส่งสินค้าที่สะดวก รวดเร็ว

และนิยมมากที่สุด คือ ทางน้ำ โดยใช้เรือเป็นหลัก และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการรับจ้างเป็น

จับกังพายเรือไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาไทย แล้วแต่ว่าผู้ว่าจ้างจะสั่งให้พายก็พายไปเท่านั้น ต่อมาเปลี่ยน

อาชีพเป็นการรับจ้างหุงข้าวกระทะในโรงกงสีสำหรับเลี้ยงจับกัง เพราะได้ค่าจ้างมากกว่ารับจ้าง

เป็นจับกังพายเรือ เมื่อทั้งสองสะสมเงิน และได้ศึกษาเรียนรู้ภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น จึงมีความคิด

อยากจะค้าขายเป็นกิจการของตนเอง โดยนายเต็ง แซ่หลี ค้าขายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ และออกเงินกู้

เพื่อกินดอกเบี้ย ส่วนนายซ้ง แซ่ปัน เป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อของป่าที่ชาวบ้านนำมาขายจำพวก

งาช้าง เขาและหนังสัตว์ป่า น้ำผึ้ง สมุนไพรไทย และสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เป็นต้น จนสามารถ

ก่อร่างสร้างตัวมีเงินทุนเพิ่มมากขึ้นมากมาย ต่อมาหลังจากประเทศไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาว์ริง

(สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าเสรี อันเป็นระเบียบใหม่ของโลกในยุคลัทธิจักรวรรดินิยมอาณานิคมตะวันตก

ที่ได้ลงนามกันระหว่างอังกฤษและสยาม เมื่อวันที่ 18 เมษายน พุทธศักราช 2398 ในสมัยรัฐบาล

“ประชาธิปไตย” ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และสยามสมัย “ราชาธิปไตย” ของพระบาทสมเด็จ

พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจาก

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อทำสนธิสัญญา ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ

โดยการสร้างระบบการนำเข้าและส่งออกใหม่เพิ่มเติมจากสนธิสัญญาเบอร์นี ที่ได้รับการลงนาม

ระหว่างสยามและอังกฤษในปีพุทธศักราช 2369ซึ่งสนธิสัญญาเบาว์ริงนี้จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติ
เข้ามาทำการค้าเสรีในสยาม เพราะเนื่องจากในอดีตการค้าของชาวต่างชาติได้รับการจัดเก็บภาษีอย่างหนัก

43

และยังอนุญาตให้จัดตั้งสถานกงสุลอังกฤษในสยาม และรับประกันสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

ตลอดจนอนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถถือครองที่ดินในสยามได้ ทั้งนี้ได้ถูกบังคับใช้มาเป็น

ระยะเวลาถึง 70 กว่าปี จนกระทั่งมีการแก้ไขแล้วค่อยๆ ยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จ

พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปีพุทธศักราช 2461

แต่ไทยได้เอกราชสมบูรณ์เมื่อปีพุทธศักราช 2482 ในสมัย “รัฐธรรมนูญนิยม” ของรัฐบาลพลตรี

หลวงพิบูลสงครามที่มีการแก้ไข และลงนามในสนธิสัญญาใหม่กับโลกตะวันตกและญี่ปุ่นทั้งหมด)

จวบจนล่วงเลยมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

ธุรกิจการค้าของคนทั้งสองเจริญรุ่งเรือง และได้ขยายกิจการออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย

เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ตาก ลำปาง และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์การค้าที่ทำหน้าที่เป็นเครือข่าย

เชื่อมโยงการค้าระหว่างกรุงเทพมหานครกับเมืองต่างๆ ในชนบท และชายแดนระหว่างประเทศไทย

กับประเทศพม่า โดยวิธีล่องเรือจากกรุงเทพมหานครขึ้นไปสู่ภาคเหนือ ต่อมาทั้งนายเต็ง แซ่หลี

และนายซ้ง แซ่ปัน เห็นว่าเมืองระแหง (จังหวัดตาก) มีลู่ทางที่จะทำมาค้าขายอยู่มาก จึงรวบรวม

เงินทุนแล้วรอนแรมจากกรุงเทพมหานครมาตั้งรกราก เพื่อทำมาค้าขายที่เมืองระแหง (จังหวัดตาก)

โดยแรกๆ ยึดอาชีพเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อของป่า ไม้ และสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เช่น เกลือ

น้ำตาล น้ำมันก๊าด และยารักษาโรค เป็นต้น ระหว่างเมืองระแหง (จังหวัดตาก) กับอำเภอแม่สอด

และประเทศพม่า อยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งนายเต็ง แซ่หลี อพยพโยกย้ายไปทำมาค้าขายเพื่อขยาย

กิจการที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยปล่อยให้นายซ้ง แซ่ปัน เป็นผู้ดูแลธุรกิจการค้าทางเมืองระแหง

(จังหวัดตาก) มาหลายปี จนเป็นที่รู้จักมักคุ้นกับพ่อค้าจีนท้องถิ่น 2 ท่าน คือ นายบุญเย็น แซ่กิม  

และนายทองอยู่ แซ่เซ่ง ต่อมาจนถึงปีพุทธศักราช 2425 นายเต็ง แซ่หลี ประสบผลสำเร็จจาก

ธุรกิจการค้าที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีร้านชื่อ “ฮวดหลี” จนมีความสัมพันธ์รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

กับเจ้านายฝ่ายเหนือ คือ นายพุ่ม ศรีไชยันท์ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุ่ม ศรีไชยันท์ เป็นพระนรินทรราชเสนี

ข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ แล้วให้นายเต็ง แซ่หลี ช่วยทำภาษีอากรฝิ่น สุรา บ่อนเบี้ยและหวย

ในเมืองเชียงใหม่ จนผู้คนเรียกว่า “อากรเต็ง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อธุรกิจการค้าที่จังหวัดเชียงใหม่

มีความมั่นคงแล้ว จึงเริ่มขยายกิจการลงมาที่เมืองระแหง (จังหวัดตาก) และได้มารู้จักกับ

นายบุญเย็น แซ่กิม และนายทองอยู่ แซ่เซ่ง โดยมีนายซ้ง แซ่ปัน เป็นผู้แนะนำ จนกระทั่งจัดตั้ง

บริษัทกิมเซ่งหลีขึ้น โดยดำเนินธุรกิจการประมูลผูกขาดการจัดเก็บภาษีอากรต่างๆ กิจการธนาคาร

การทำโรงสี การทำไม้ โรงเลื่อยไม้ รับซื้อของป่า รับต่อเรือ และค้าขายกับประเทศพม่า แล้วต่อมา

ท่านทั้งสามได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ดังนี้

44

1) นายบุญเย็น แซ่กิม  ​ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น  หลวงจิตรจำนงวานิชนาม

2) นายทองอยู่  แซ่เซ่ง  ​ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น  หลวงบริรักษ์ประชากร

3) นายเต็ง       แซ่หลี​ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น  หลวงอุดรภัณฑ์พานิช

   (อากรเต็ง)

เนื่องจากเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองอย่างอเนกอนันต์ ที่อาจกล่าวได้ว่า

เป็นคนจีนอพยพที่มีความสามารถ และความมานะบากบั่นสูง จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

เป็นนายทุนรุ่นบุกเบิกของเมืองไทย ในช่วงที่เพิ่งพัฒนาเข้าสู่ระบบทุนนิยม และมีบทบาทสำคัญใน

การประกอบกิจการการค้าต่างๆ แข่งขันกับพวกนายทุนตะวันตก ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจ

ของเมืองไทยอย่างมากในเวลานั้น อีกทั้งมีความเกี่ยวพันกับระบบราชการไทย ด้วยการเป็นขุนนาง

เจ้าภาษีอากร ที่เรียกว่า “นายทุนข้าราชการ”ส่วนการบริหารจัดการธุรกิจต่างๆ ของบริษัทกิมเซ่งหลี

ได้ตกลงแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบโดยให้

​1) อากรเต็งดูแลกิจการบริษัทที่กรุงเทพมหานคร

2) นายบุญเย็นดูแลกิจการบริษัทที่เชียงใหม่

3) นายทองอยู่ดูแลกิจการบริษัทที่เมืองระแหง (จังหวัดตาก)

สำหรับนายซ้ง แซ่ปัน ไม่มีความต้องการที่อยากจะมียศฐานบรรดาศักดิ์แต่อย่างใด ขอเป็นบุคคลธรรมดาสามัญ เพื่อดูแลธุรกิจที่นอกเหนือเพื่อนทั้งสามดูแลอยู่ ได้แก่ กิจการทำไม้ โรงเลื่อยไม้

รับซื้อของป่า และค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคกับประเทศพม่า โดยให้ลูกชายคนที่ 4 คือ นายดม แซ่ปัน

หรือพ่อเลี้ยงดม ดูแลธุรกิจการทำไม้และโรงเลื่อยไม้ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปางและให้ลูกชายคนที่ 5 คือ นายหมง แซ่ปัน หรือพ่อเลี้ยงหมง ดูแลธุรกิจการทำไม้และโรงเลื่อยไม้

ที่จังหวัดตาก รับซื้อของป่า และค้าขายกับประเทศพม่า

 

บทประพันธ์โดย นิพรรนา 

เนื้อหาโดย: Takflim ตากฟิล์ม
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Takflim ตากฟิล์ม's profile


โพสท์โดย: Takflim ตากฟิล์ม
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 มาแน่! คนทั่วไปรับผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568น้องเต้าหู้แจกไข่ให้ชาวบ้าน แต่กลับเจอมนุษย์ป้ารุมเข้ามาจัดการ ทำเอาน้องอึ้งจนพูดไม่ออก เห็นแล้วรู้สึกอายแทนจริงๆ
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
น้องเต้าหู้แจกไข่ให้ชาวบ้าน แต่กลับเจอมนุษย์ป้ารุมเข้ามาจัดการ ทำเอาน้องอึ้งจนพูดไม่ออก เห็นแล้วรู้สึกอายแทนจริงๆน้ำใจยิ่งใหญ่! หนุ่มไร้เงินขอติดรถกลับบ้าน เจอผู้ให้เต็มคันสุดอบอุ่น
กระทู้อื่นๆในบอร์ด นิยาย เรื่องเล่า
โบราณสถานอายุกว่า 1,300 ปี แห่งไซบีเรีย ซึ่งเต็มไปด้วยปริศนาที่รอคำตอบโบสถ์เซนต์แมรี่แห่งไซออน, เอธิโอเปียเขาพระวิหาร: สัญลักษณ์แห่งความงดงามและความขัดแย้งภาพสุดท้าย
ตั้งกระทู้ใหม่