ตรอกรักปั๋นใจ๋ ตอนที่ 3
ตอนที่ 3
ตรอกบ้านจีนยามนี้ทำไมมันช่างเงียบเหงาเศร้าสร้อยไร้ชีวิตชีวาเสียเหลือเกิน บ้านเรือนถูกปิดตายไร้ผู้คนอยู่อาศัย บ้านแต่ละหลังถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมผุพัง ต้นไม้น้อยใหญ่
และต้นหญ้าขึ้นรกครึ้มจนน่าสะพรึงกลัว ที่ผ่านมาถนนในตรอกบ้านจีนสายนี้ เคยคึกคักดารดาษ
ไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอย ต่างพากันเดินขวักไขว่ไปมาทั้งวันทั้งคืน ปนกับเสียงจ้อกแจ้กจอแจ
อย่างไม่ขาดสาย ผสมผสานกับเสียงพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดยามเช้าและยามเย็นของตรอกบ้านจีน
ที่ต่างส่งเสียงร้องเรียกหาลูกค้าดังลั่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อขายข้าวของและสินค้าอุปโภคบริโภค
สิ่งที่จำเป็น แต่มาวันนี้กลับเงียบเหงาไม่มีเสียงร้องเรียกหาลูกค้าแต่อย่างใด คนทั้งสี่เดินเข้า
มากันเรื่อยๆ แล้วมาหยุดอยู่ที่หน้าบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่ง จนเป็นสาเหตุให้มะลิอุทานร้องเสียงหลงว่า
“โอ้โห บ้านของใครคะอาพั้วบัวเรียบ ทำไมถึงใหญ่โตเหมือนกับบ้านในละครโทรทัศน์เลยค่ะ”
คุณย่าบัวเรียบมองตามคำพูดที่มะลิอุทานร้องออกมา สายตาอันพร่ามัวทอดมองไปที่ตัวเรือน
ทรงไทยล้านนาแบบโบราณหลังใหญ่ ที่ตั้งตระหง่านโดดเด่นใหญ่โตอย่างน่าเกรงขาม ตัวเรือนถูกสร้างจากไม้สักทั้งหลัง ซึ่งจะปลูกต่อเนื่องกันสามหลัง โดยให้เรือนหลังใหญ่อยู่ตรงกลาง แล้วปลูก
เรือนหลังเล็กประกบซ้ายขวา ที่เชื่อมต่อเป็นพื้นเดียวกันด้วยพื้นกระดานทำจากไม้สักขนาดใหญ่
เรียกว่า “ชานบ้าน” ส่วนหลังคาจะมุงด้วยกระเบื้องไม้เรียกว่า “แป้นเกล็ด” ต่อมาไม้เป็นวัสดุหายาก
จึงเปลี่ยนมาใช้ “ดินขอ” มุงหลังคาแทนเรียกว่า “กระเบื้องดินขอ” และมียอดจั่วที่ประดับประดา
ด้วยกาแลทำจากไม้สักแกะสลักลวดลายวิจิตรงดงามตามแบบฉบับเรือนล้านนา สำหรับคำว่า
“กาแล” อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า “กะแลง” มีความหมายว่า “ไขว้กันอยู่” ซึ่งอาจจะได้รับอิทธิพล
มาจากชาวพื้นเมืองเดิมคือ พวกลัวะ (ละว้า) โดยเรือนแบบดั้งเดิมของพวกลัวะจะใช้กาแลประดับ
และกาแลแต่ละแห่งจะแกะสลักลวดลายแตกต่างเฉพาะอย่างกันไป จึงใช้เป็นเครื่องหมายบ่งบอก
ถึงฐานะแบ่งชนชั้นเชื้อตระกูลชาวล้านนาของเจ้าของเรือนไปในตัวด้วย
“ทำไมถึงปล่อยให้บ้านทรุดโทรมไปได้ขนาดนี้”คุณย่าบัวเรียบบ่นพึมพำอยู่ในลำคอ พลางใช้
ฝ่ามืออันเหี่ยวย่นปาดน้ำตาที่เอ่อล้นไหลออกมานองแก้ม อย่างสุดที่จะกลั้นเอาไว้ไม่ให้ไหลได้
ครูสายใจสัมผัสและบีบมือเบาๆ เสมือนปลอบโยนให้สงบจิตสงบใจ ทำใจยอมรับกับสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า
เพราะความรู้สึกลึกๆ ในใจก็ไม่ได้แตกต่างไปจากผู้เป็นอาเท่าไหร่นัก สายปานสบตากับผู้เป็นมารดา
ด้วยสีหน้าแสดงอาการฉงนสงสัยต่อพฤติกรรมของคุณย่าบัวเรียบ จึงตัดสินใจถามด้วย
ความอยากรู้ว่า
“คุณย่าร้องไห้ทำไมรึคะ”
“ย่าสงสารบ้าน สงสารความเป็นปันใจที่อยู่ในบ้านหลังนี้” คุณย่าบัวเรียบกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
เพราะมีความรู้สึกเจ็บช้ำลึกๆ อยู่ในก้นบึ้งของจิตใจ
19
“อาพั้วบัวเรียบสงสารบ้านทำไมรึคะ ไม่เห็นบ้านมันร้องไห้ซักหน่อย” มะลิเอ่ยถามพร้อมเกาหัว
แสดงอาการงงๆ สายปานหันไปทำเสียงด้วยปากดังจุๆ ให้มะลิเงียบ เพราะชั่วโมงนี้มันไม่ใช่เวลาจะมาทำตลก มะลิไม่พูดอะไรต่ออีกได้แต่หัวเราะแหะๆ คุณย่าบัวเรียบนิ่งเงียบไปสักครู่ใหญ่
แต่สายตายังกวาดมองไปทั่วตัวเรือนทรงไทยล้านนาแบบโบราณ พลางถอนหายใจเฮือกใหญ่ก่อนว่า
“สงสารสิมะลิ ถ้าเค้าร้องไห้ได้ เค้าคงร้องไห้จนไม่มีน้ำตาจะไหลออกมาเป็นแน่ บ้านหลังนี้
เป็นบ้านที่ฉันเคยอาศัยอยู่มาตั้งแต่เกิด เพราะเป็นบ้านของพ่อฉัน แต่ตอนนี้ฉันไม่รู้ว่าบ้านหลังนี้
เป็นของใคร ใครเป็นเจ้าของบ้านคนสุดท้าย”
“มะลิว่าเจ้าของบ้านคงขี้เกียจอยู่มั้งคะ เพราะบ้านหลังใหญ่เกินไป ถ้าเป็นมะลิกว่าจะทำความสะอาด
บ้านทั้งหลังเสร็จคงแย่แน่ๆ” มะลิพูดจาตามประสาซื่อไม่ได้คิดอะไรให้มีแก่นสารสาระสำคัญ
สายปานสะกิดที่แขนพลางตำหนิเบาๆ ว่า
“พี่มะลิก็พูดไปเรื่อยเปื่อย” มะลิหันมายิ้มแหยๆสายปานหัวเราะคิกๆ เพราะนึกขำพฤติกรรมของสาวใช้พม่า ก่อนหันไปถามผู้เป็นย่าด้วยความใคร่รู้ว่า
“เจ้าของบ้านคนสุดท้ายหายไปไหนแล้วละคะคุณย่า ทำไมถึงปล่อยให้บ้านทรุดโทรมผุพังเสียหาย
จนหาความสวยงามไม่ได้เอาเสียเลย ดูสิคะคุณย่าต้นไม้ขึ้นรกรุงรังเต็มไปหมด ประตูหน้าต่าง
หลุดหลุ่ยไม่เป็นชิ้นดี สีถลอกลอกออกมาเป็นแผ่นๆ จนเห็นเนื้อไม้เกือบหมดทั้งหลัง ปานเห็นแล้วอดนึกเสียดายบ้านหลังนี้จังเลยค่ะ”
“ทำไงได้ละลูก เจ้าของบ้านเค้าคงไม่สนอกสนใจบ้านหลังนี้เป็นแน่ ถึงได้ปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมถึงเพียงนี้” น้ำเสียงขุ่นเขียวผสมกับใบหน้าไร้รอยยิ้ม
“ปานอยากทราบประวัติของบ้านหลังนี้จังเลยค่ะคุณย่า” สายปานถามด้วยความสนใจใคร่รู้ประวัติ
ความเป็นมาเป็นไปของบ้านหลังนี้ เพราะอย่างน้อยข้อมูลที่คุณย่าบัวเรียบจะเล่าให้ฟัง ก็สามารถที่จะเชื่อมโยงให้รู้ถึงชุมชนตรอกบ้านจีนนี้ได้โดยปริยาย
“เรื่องมันยาวนะลูก อย่าไปรบกวนคุณย่าเลย แม่ว่าพวกเราออกไปทานก๋วยเตี๋ยวกันดีกว่า นี่ก็ใกล้จะเที่ยงแล้ว” ครูสายใจพูดตัดบท เพราะเห็นเวลาที่นาฬิกาข้อมือเรือนน้อยบอกเวลากำลังใกล้จะเที่ยงวัน
“ไม่เป็นไรหรอกครูสายใจ ถ้าสายปานอยากรู้เดี๋ยวฉันก็จะเล่าให้ฟัง แต่ขอถามทุกคนก่อนว่าหิวก๋วยเตี๋ยวกันแล้วรึยัง” คุณย่าบัวเรียบหันไปถามทุกคน แต่ทุกคนส่ายหน้าบอกอาการปฏิเสธพร้อมด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม จากนั้นพากันมานั่งตรงเก้าอี้ม้ายาวฝั่งตรงข้ามเรือนทรงไทยล้านนา
แบบโบราณ สายลมยังพัดเอาความเย็นมาเอื่อยๆ ให้คลายร้อนลงไปได้บ้าง สายตาทุกคู่จับจ้องมาที่
คุณย่าบัวเรียบ โดยเฉพาะสายปานกับมะลิที่นัยน์ตาเป็นประกายแวววาวสนอกสนใจใคร่รู้จนเห็นได้ชัด
20
คุณย่าบัวเรียบสูบลมหายใจยาวๆ เข้าเต็มปอดเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่ร่างกายพร้อมดื่ม
น้ำเก๊กฮวยอุ่นๆ ได้อึกใหญ่ที่มะลิเตรียมเอามาจากบ้าน ใบหน้าเพิ่มสีสัดแลดูสดชื่นเปล่งปลั่งกระชับกระเฉงขึ้นมาอีกครั้ง แววตาของเธอมีประกายอย่างเลือดนักสู้คนหนึ่งเหมือนกัน
เพราะเมื่อวันวานในอดีตที่ผ่านมา เธอเคยต่อสู้ดิ้นรนเพื่อต้องการอยู่ให้รอดจนมาถึงทุกวันนี้
คุณย่าบัวเรียบคิดย้อนเวลากลับไปถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาแล้วอดใจหายไม่ได้ อะไรกันนี่
มันผ่านมากี่แรมปีแล้วนะ แต่เมื่อคิดคำนวณตัวเลขอยู่ในใจ แปดสิบกว่าปีมาแล้วหรือนี่กระไร
ทำไมวันเวลามันวิ่งผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วเสียจริงๆ เธอทำเสียงกระแอมเบาๆ พลางหันมา
ยิ้มให้กับทุกคน ที่ต่างจ้องมองรออย่างใจจดใจจ่อ อยากจะฟังเรื่องเล่าเมื่อครั้งอดีตของบ้าน
หลังนี้เต็มทน แล้วเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงเสนาะเพราะพริ้งชวนน่าติดตามว่า
“เริ่มแรกเดิมที พวกเราคนในตระกูลปันใจสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่เป็นคุณพ่อของย่า
แต่ท่านเป็นคุณปู่ทวดของสายปาน ท่านเป็นคนไทยเชื้อสายจีน โดยคุณพ่อของท่านเป็นคนจีนแต้จิ๋ว
นามสกุลที่ใช้ดั้งเดิมคือ แซ่ปัน (นามสมมุติ) ซึ่งถ้าเรียงลำดับเครือญาติกันแล้ว ท่านเป็นปู่เทียด
ของสายปาน ท่านหนีความยากจนและสงครามฝิ่น ระหว่างปีพุทธศักราช 2382 – 2385 และกบฏไต้เผ็ง
ระหว่างปีพุทธศักราช 2393 – 2407 อพยพล่องเรือสำเภามาจากมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของประเทศจีน
แผ่นดินใหญ่ ต่อมาได้แต่งงานกับคุณแม่ของท่าน ซึ่งเป็นหญิงคนพื้นเพแถวๆ ชุมชนบ้านเชียงทอง
ท่านดูแลกิจการค้าขายต่างๆ รวมไปถึงการทำไม้และโรงเลื่อยไม้ต่อจากผู้เป็นบิดา ซึ่งในยุคสมัยนั้น
ถือได้ว่าเป็นผู้มีฐานะร่ำรวยอย่างมากเลยทีเดียวเพราะกิจการทำไม้และโรงเลื่อยไม้เป็น
กิจการสืบทอดมาจากบิดาของท่าน ที่ได้ทำมาช้านานตั้งแต่ครั้งอดีตกาลในช่วงปลายสมัยของ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ประมาณปีพุทธศักราช 2453”
“คุณปู่ทวดของปานท่านชื่ออะไรคะคุณย่า” สายปานซักถามอย่างสนใจ
“ท่านชื่อ นายหมง แซ่ปัน จ้ะลูก” คุณย่าบัวเรียบตอบอย่างยิ้มแย้มชื่นชม
“คุณปู่ทวดหมง แซ่ปัน” สายปานทบทวนนามบรรพบุรุษซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบอย่างปลาบปลื้มในใจ
“ท่านเป็นคนขยันขันแข็ง มานะบากบั่น อดทนต่อสู้กับชีวิต หนักเอาเบาสูงไม่เคยย่อท้อกับความยากลำบาก อาชีพการทำไม้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะลูก มันเป็นอาชีพของลูกผู้ชายที่ต้องบุกป่าฝ่าดง และต้องพบเจอ
กับภยันตรายน้อยใหญ่มากมาย ทั้งสัตว์ป่าที่ดุร้าย โจรผู้ร้ายตามแนวตะเข็บชายแดน และโรคภัยไข้เจ็บ
โดยเฉพาะไข้ป่าที่คราดชีวิตคนงานของพวกเราล้มตายไปก็ไม่น้อย ซึ่งบ่อยครั้งที่ท่านเคยถูกปล้น
สะดมเอาทรัพย์สินเงินทองไปจนหมด และล้มป่วยปางตายมาแล้วหลายครั้งเหมือนกัน”
“เมื่อรู้ว่าการทำไม้มีอันตราย ทำไมไม่เลิกทำอาชีพนี้ แล้วไปหาอาชีพอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ทำละคะ”
“ผลประโยชน์ยังไงละลูก สายปานรู้มั้ยว่า ธุรกิจการทำไม้เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ และให้ผลประโยชน์
21
มากมายมหาศาล ไม้เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง ตราบใดที่คนยังมีความต้องการที่จะใช้ไม้
ในปริมาณที่มาก และยิ่งต้องการเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ การตัดไม้ทำลายป่าก็ย่อมทวีความรุนแรง
เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะใช้ไม้เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน”
“คุณย่าคะ คุณปู่ทวดหมงท่านทำไม้อะไรคะ”
“ไม้สักกับไม้อื่นๆ อีกมากมาย เช่น ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้มะค่า และไม้ตะแบก แต่ไม้ที่มีมูลค่ามากที่สุด
และตลาดมีความต้องการสูงที่สุดก็คือไม้สักจ้ะลูก”
“ที่บ้านมะลิเรียกว่า ต้นดาฮัต มะลิยังจำได้ว่าตอนเป็นเด็กที่อยู่ฝั่งพม่า เคยเห็นผู้ใหญ่แถวบ้านตัดต้นดาฮัตนี้หมดเป็นป่าๆ ราบเรียบเตียนโล่งไม่เหลือแม้กระทั่งตอ” มะลิพูดเสริมเพราะอยากจะมีส่วนร่วมในวงสนทนา แล้วส่งยิ้มแหยๆ หลบอยู่หลังสายปานที่ยืนหัวเราะนึกขำสาวใช้คนพม่า ก่อนเอ่ยต่อว่า
“เพราะผลประโยชน์จากธุรกิจการทำไม้ที่มีมูลค่ามหาศาลใช่มั้ยคะ จึงทำให้คุณปู่ทวดหมงถึงเลิก
ทำไม้ไม่ได้” สายปานตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบด้วยน้ำเสียงเคร่งเครียด
“ใช่จ้ะลูก คุณปู่ทวดของสายปานเลิกทำไม้ไม่ได้หรอก เพราะธุรกิจการทำไม้และโรงเลื่อยไม้ เป็นทรัพย์
สมบัติมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล และยังเกี่ยวข้องกันกับผู้ใหญ่ระดับสูง
ในระบบราชการสมัยนั้นอย่างแน่นแฟ้น เพราะการเข้าถึงผู้ใหญ่ระดับสูงในระบบราชการสมัยนั้น
ลูกรู้มั้ยว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ซึ่งผลจากการรู้จักมักคุ้นสนิทสนมกับผู้ใหญ่ระดับสูงในระบบ
ราชการ สามารถสร้างชื่อเสียง สร้างความเชื่อถือ เป็นที่นับหน้าถือตา และเป็นที่ยำเกรงเหล่าพ่อค้า
ในแวดวงทำธุรกิจการทำไม้และโรงเลื่อยไม้เดียวกัน ส่วนผู้ใหญ่ระดับสูงในระบบราชการก็สามารถ
ช่วยเหลือเกื้อกูลพ่อค้าได้มากทีเดียว โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้งานลื่นไหลไม่ติดขัดแต่อย่างใด แล้วสุดท้ายสิ่งตอบแทนที่ทั้งสองฝ่ายได้รับร่วมกันก็คือ ผลประโยชน์อันมากมายมหาศาล
จากธุรกิจการทำไม้และโรงเลื่อยไม้ มันเหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่ายังไงล่ะลูก และนี่แหละคือเหตุผล
ที่ทำไมคุณปู่ทวดของสายปานถึงเลิกทำอาชีพนี้ไม่ได้ เพราะอาชีพการทำไม้และโรงเลื่อยไม้ เป็นอาชีพ
ที่ทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ สามารถสร้างฐานะให้ร่ำรวยมั่งคั่งได้เร็วที่สุด และมีเกียรติยศศักดิ์ศรี
ทรงอิทธิพลอำนาจต่อสังคม ทั้งในด้านบวกและด้านลบ โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก”
“ที่ว่าไม่ต้องลงทุนอะไรมาก หมายความว่ายังไงคะคุณย่า” สายปานถามด้วยความสงสัยพร้อมแสดงสีหน้าพิศวงมากขึ้น คุณย่าบัวเรียบยกถ้วยน้ำเก๊กฮวยอุ่นๆ ขึ้นจิบ แล้วเล่าต่อว่า
“การตัดฟันชักลากไม้สักทางภาคเหนือเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2383 ขณะนั้นจะมีคนจีน
พม่า และเงี้ยว (ไทยใหญ่) ขออนุญาตเข้าไปตัดฟันชักลากไม้สักจากเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ในหัวเมือง
ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปางเพราะคนจีนต้องการใช้ไม้สักจำนวนมากในการต่อเรือ
แล้วส่งไปยังเมืองจีนเพื่อใช้กิจการค้าขายขนส่งสินค้า และอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่ช่วงต้น
22
กรุงรัตนโกสินทร์ โดยผู้ขออนุญาตต้องชำระค่าตอไม้ตามจำนวนต้นสักที่จะตัดฟันให้แก่เจ้าผู้ครองนคร เพราะป่าไม้ในอดีตถือเป็นทรัพย์สินในความครอบครองของเจ้าผู้ครองนคร ที่สามารถสืบทอดเป็น
มรดกตกทอดต่อไปจนถึงรุ่นลูกหลานได้ ดังนั้นไม้สักในป่าธรรมชาติจึงเป็นทรัพย์สินโดยไม่ต้อง
ลงทุนอะไรเลย ทีนี้เข้าใจแล้วใช่มั้ยลูก”
“อ๋อ....ปานเข้าใจแล้วค่ะ” สายปานขานรับพร้อมพยักหน้าหงึกๆ
“จริงๆ แล้ว ป่าไม้ในความครอบครองของเจ้าผู้ครองนครจะมี 2 ลักษณะคือ เจ้าผู้ครองนครจะเป็น
ผู้ให้สัมปทานแก่ผู้ขอทำไม้โดยตรง ตั้งแต่ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ แล้วต้องชำระเป็นค่าเปิดป่า
และอีกลักษณะหนึ่งเจ้าผู้ครองนครและลูกหลานจะเป็นผู้ดำเนินกิจการทำไม้เอง ผู้ขอไม่มีสิทธิ์เช่าป่า
ถ้าประสงค์จะค้าไม้ต้องรับเหมาซื้อไม้ซุงตามกำหนด และตามจำนวนที่เจ้าผู้ครองนครกำหนดไว้
ตั้งแต่แพร่และน่าน แล้วต้องชำระเป็นค่าตอไม้”ครูสายใจอธิบายเสริม
“ถ้ายังงั้นในสมัยก่อน การทำไม้ถือเป็นทรัพย์สมบัติอันมีค่ามหาศาล ที่สืบทอดเป็นมรดกตกทอด
จากบรรพบุรุษไปจนชั่วลูกชั่วหลาน โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธุรกิจการทำไม้และ
โรงเลื่อยไม้ จนกว่าป่าไม้จะหมดไปใช่มั้ยคะคุณแม่” สายปานถามต่อกับผู้เป็นมารดา
“ใช่จ้ะลูก สิ่งใดก็ตามที่มีความต้องการสูง และเกิดค่านิยมชมชอบในการใช้ไม้สักอย่างมาก ทำให้ราคา
ของไม้สักพุ่งพรวดสูงกว่าไม้ชนิดอื่น จึงเป็นสิ่งล่อตาล่อใจทำให้ผู้ทำไม้เกิดความอิจฉาริษยา
และมีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเกิดขึ้นอย่างรุนแรง เพราะความโลภละโมบของผู้ทำไม้ และเกิดความลำเลียงที่ไม่ได้ให้ความยุติธรรมกับผู้ทำไม้ของผู้ครอบครองป่า ผลสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เกิดกรณี
พิพาทระหว่างผู้ขออนุญาต ผู้รับอนุญาต และผู้ครอบครองป่า จนรัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนจาก
ผู้เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงได้ยืมตัว มร. เอช สเลด (Mr. H. Slade) ซึ่งเป็นข้าราชการผู้มี
ความชำนาญการป่าไม้ของพม่าจากรัฐบาลอินเดียมาใช้ชั่วคราว เพื่อสำรวจการทำไม้สักในภาคเหนือ
ของไทย แล้วรายงานผลการสำรวจการทำไม้สักที่มีข้อบกพร่อง และได้เสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้รัฐบาลทราบ จากนั้นรัฐบาลนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(รัชกาลที่ 5) เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งก็ได้ทรงพระราชดำริเห็นชอบและ
พระราชทานพระราชหัตถ์ เลขาที่ 63/385 ลงวันที่ 18 กันยายน ร.ศ.115 (พุทธศักราช 2439)
ถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้น โดยให้สังกัด
อยู่ในกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Royal Forest Department
โดยมี มร. เอช สเลด (Mr. H. Slade) เป็นอธิบดีกรมป่าไม้คนแรก และต่อมาได้ประกาศใช้
พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 จนมาถึงทุกวันนี้ล่ะจ้ะลูก”
“ถือว่าประเทศไทยเราโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) นะคะคุณแม่”
23
“ใช่จ้ะลูก นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เอาล่ะนี่ก็บ่ายมากแล้ว
พวกเราไปทานก๋วยเตี๋ยวกันดีกว่า คงจะหิวกันแล้วกระมัง” ครูสายใจกล่าวสรุปแล้วชวนเชิญ
“คุณแม่คะ คุณย่าเล่าเรื่องบ้านของคุณปู่ทวดยังไม่จบเลยนะคะ พวกเราจะไปกันแล้วเหรอ”
สายปานทักท้วงพร้อมสีหน้างอนเล็กๆ
“เอาเถอะ วันหน้าค่อยว่ากันใหม่ บ่ายโมงกว่าแล้ว คุณย่าคงหิวก๋วยเตี๋ยวแย่แล้วมั้งลูก” ครูสายใจตัดบท
ทุกคนหันมาสบตากัน เพราะท้องเริ่มร้องเรียกหาอาหารเช่นเดียวกัน จากนั้นพากันเดินย้อนกลับออกมาทางเดิม จนมาถึงร้านก๋วยเตี๋ยวไทยคุณย่าชุ่มที่ตั้งอยู่ตรงหัวมุมทางโค้งของถนนตากสิน
เมื่อเพื่อนรักเจอกันจึงส่งเสียงร้องทักทายดังลั่นหน้าร้านก๋วยเตี๋ยวไทย
“ว่าไงคุณนายบัวเรียบคนงาม ลมอะไรหอบเธอมาถึงร้านก๋วยเตี๋ยวของฉันจ๊ะ”
“ลมหิวก๋วยเตี๋ยวกับลมคิดถึงเพื่อนยังไงละจ๊ะแม่ชุ่มคนสวย แล้วเธอล่ะสบายดีนะจ๊ะ”คุณย่าบัวเรียบ
ตอบด้วยวาจาอ่อนหวานใบหน้าแย้มยิ้มก่อนถามบ้าง
“สบายดีจ้าคุณนายคนงาม เข้ามา…เข้ามา…..เข้ามานั่งในร้านกันก่อน ข้างนอกอากาศมันร้อน
เดี๋ยวคุณนายคนงามเป็นลมเป็นแล้งไป จะเสียภาพพจน์คนงามเมืองระแหง”
ทุกคนอมยิ้มกับคำทักทายของคุณย่าทั้งสอง เมื่อทุกคนได้นั่งโต๊ะที่คุณย่าชุ่มจัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นคุณย่าชุ่มจึงเอ่ยถามด้วยความสงสัยต่อว่า
“ไปไงมาไงถึงมาที่ร้านของฉันได้ละเธอ”
“อ๋อ….เมื่อเช้าเอาหลนเต้าเจี้ยวไปถวายหลวงปู่บัวทองที่วัดน้ำหักมา แล้วก็นึกอยากจะกินก๋วยเตี๋ยวไทย เพราะไม่ได้กินมาหลายเดือนแล้ว เลยนึกถึงร้านของเธอขึ้นมาได้ พอดีเห็นตรอกบ้านจีนจึงเดิน
เข้าไปเยี่ยมเยือนบรรยากาศเก่าๆ สักหน่อยแล้วก็เดินออกมาหาร้านของเธอเนี่ยแหละจ้ะ”
“เข้าไปเห็นมาแล้ว รู้สึกยังไงบ้างล่ะ” คุณย่าชุ่มถามน้ำเสียงเศร้าสร้อย พลางหยิบเส้นบะหมี่เหลือง
ลวกในหม้อก๋วยเตี๋ยว ตามรายการที่ลูกค้าจดสั่งลงในกระดาษแผ่นน้อยที่เตรียมไว้บริการให้ลูกค้า
“เห็นแล้วรู้สึกเศร้าใจ และสลดหดหู่สังเวชใจจริงๆ จ้ะเธอ บรรยากาศเก่าๆ ตอนพวกเราเป็นเด็กๆ
มันหายไปหมดสิ้นจนแทบไม่หลงเหลืออะไรสักอย่าง” คุณย่าบัวเรียบกล่าวเสียงสั่นเครือ
“ใช่จ้ะเธอ วันเวลามันเปลี่ยนแปลงไปจนไม่หลงเหลืออะไรไว้ให้เลย ความหลังครั้งเก่าตอนพวกเรา
เป็นเด็กๆ ก็ไม่หลงเหลืออะไรไว้เช่นกัน ดีแต่เหลือไว้แค่เพียงความทรงจำที่ติดตัวพวกเรามาเท่านั้น”
“ใครจะนึกบ้างว่า ในอดีตที่ผ่านมาตรอกบ้านจีนแห่งนี้ เคยเป็นชุมทางย่านการค้าเส้นทางแม่น้ำปิง
ของเมืองระแหง ที่มีความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟูคึกคักไปด้วยผู้คนมากมาย และสินค้าต่างๆ มากหลาย”
24
“ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันขึ้นอยู่กับว่าจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นหรือจะเปลี่ยนแปลงให้แย่ลงกว่าเดิม” คุณย่าชุ่มกล่าวสรุป อย่างเห็นดีเห็นงามตามความคิดของเพื่อนรัก
คุณย่าทั้งสองบ่นพึมพำด้วยสีหน้าเศร้าสลดใจเมื่อนึกถึงความหลังครั้งอดีตที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันมา
ในชุมชนตรอกบ้านจีน ถนนสายหลักภายในชุมชนตรอกบ้านจีนจะมีบ้านเรือน และร้านค้า
ขึ้นรายเรียงทั้งสองฝั่งของถนน อีกทั้งยังเป็นสถานที่วิ่งเล่นของพวกเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ทั้งสองฝั่งของ
ถนนเช่นกัน แต่ทางด้านซ้ายของถนนสายหลักภายในชุมชนตรอกบ้านจีนนี้ จะเป็นฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาของเหล่าพ่อค้าแม่ค้า เพื่อติดต่อค้าขายและขนส่งสินค้า
โดยใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางล่องขึ้นลงตามแม่น้ำปิง ซึ่งในส่วนของชุมชนตรอกบ้านจีน
จะมีท่าเรือที่เชื่อมต่อกันระหว่างท่าเรือกับถนนสายหลักภายในขุมชนตรอกบ้านจีน เพื่อใช้สำหรับ
ติดต่อค้าขายและขนส่งสินค้า โดยมีท่าเรืออยู่ด้วยกัน 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือ ท่าปากคลองน้อย
และท่าวัดน้ำหัก ซึ่งในปัจจุบันท่าเรือทั้ง 3 ท่าเรือได้ถูกรื้อถอนและถมแม่น้ำปิง เพื่อปรับเปลี่ยน
บางส่วนให้กลายเป็นถนนหนทางไปเสียหมดสิ้นจนไม่หลงเหลือภาพในอดีตเก่าๆ เอาไว้อีกเลย
“คุณน้าบัวเรียบจะเอาเส้นอะไรดีคะ” ลูกสาวคนเล็กของคุณย่าชุ่มร้องถาม
“ฉันขอเส้นบะหมี่เหลืองต้มจืดก็แล้วกันจ้ะ” ตอบพลางดื่มน้ำเก๊กฮวยอุ่นๆ แก้คอแห้งจนหมด
“คุณพี่สายใจกับน้องสายปานรับเส้นอะไรดีจ๊ะ” วงเดือนถามบุคคลทั้งสองด้วยสีหน้ายิ้มๆ
“พี่เอาเส้นใหญ่แห้งจ้ะ สายปานละลูกจะเอาเส้นอะไร”
“ปานขอเส้นบะหมี่เหลืองต้มยำกับเส้นเล็กแห้งค่ะ”
“สองถ้วยเลยเหรอลูก จะทานหมดมั้ยเนี่ย”
“หมดสิค่ะคุณแม่ ปานขอบอกว่าตอนนี้หิ๊ว....หิว”
“ทีเมื่อตะกี้แม่ถามว่าหิวรึยัง กลับนิ่งเงียบ” ครูสายใจแกล้งเย้าผู้เป็นลูกสาว พลางอมยิ้มมุมปาก
“มะลิล่ะ จะเอาเส้นอะไร”
“เอาเหมือนคุณสายปานค่ะ”
“นี่ก็อีกคน เมื่อตะกี้ถามว่าหิวรึยัง กลับส่ายหน้าปฏิเสธ คราวหน้าถ้าถามแล้วไม่ตอบจะปล่อย
ให้หิวเสียให้เข็ด” มะลิไม่ตอบ กลับยืนหลบอยู่หลังของสายปานพร้อมหัวเราะแหะๆ
ก๋วยเตี๋ยวไทยจังหวัดตาก เป็นอาหารยอดนิยมที่อยู่คู่กับจังหวัดตากมาอย่างช้านาน
ไม่ว่ารุ่นไหนต่อรุ่นไหนก็ต้องเคยกินกันมาแล้ว เป็นก๋วยเตี๋ยวไทยสูตรพื้นเมืองที่หากินได้ง่ายเพราะสะอาด สะดวก รวดเร็ว และที่สำคัญราคาไม่แพง โดยความอร่อยจะแตกต่างกันไปตามสูตร
ของน้ำซุป ที่แต่ละร้านจะคิดสูตรของตัวเอง และถือเป็นความลับที่หวงแหนอย่างมาก ลักษณะเด่น
อีกอย่างหนึ่งก็คือ เครื่องปรุงที่ใส่ลงไปในก๋วยเตี๋ยวของแต่ละร้าน ที่มีความแตกต่างไม่เหมือนกัน
25
อาทิเช่น หมูบะช่อ หมูแดงแผ่นบางๆ ถั่วงอก ถั่วฝักยาวหั่นเฉียง พริกป่น พริกไทยป่น น้ำปลาน้ำตาลทราย น้ำมะนาว แล้วจะโรยด้วยแผ่นเกี๊ยวทอด และแคบหมูกรอบชิ้นเล็กๆ รวมไปถึง
กุ้งฝอยแห้งตัวจิ๋วสีแดงๆ ที่เป็นสีตามธรรมชาติ สำหรับผู้ที่ต้องการก๋วยเตี๋ยวไทยแบบแห้ง จะใส่
กระเทียมเจียวที่ผ่านขบวนการเจียวกระเทียมสับละเอียดกับน้ำมันหมู ที่ส่งกลิ่นหอมชวนน่ากินยิ่งนัก
โดยที่มาของน้ำมันหมูจะได้จากการนำไขมันหมูมาล้างน้ำเปล่าให้สะอาด แล้วหั่นให้เป็นชิ้นขนาด
สี่เหลี่ยมลูกเต๋า จากนั้นใส่ลงในกระทะที่มีความร้อนระดับอ่อนถึงปานกลาง ตามด้วยน้ำเปล่าลงไปสักครึ่งช้อนโต๊ะ เพื่อต้องการให้กากหมูมีสีขาวสวยน่ากิน ใช้เวลาเจียวไม่นานไขมันหมูที่หั่นเป็น
ชิ้นนั้นก็จะคายน้ำมันออกมาจนเหลือแต่กากหมูที่แห้งสนิท เมื่อได้น้ำมันหมูตามต้องการแล้ว
ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นก่อน แล้วค่อยนำมาใส่ภาชนะที่สะอาดและแห้งสนิท ห้ามมีความชื้นโดยเด็ดขาด
เพราะจะทำให้น้ำมันหมูมีกลิ่นหื่นได้ ส่วนกากหมูเมื่อตักขึ้นจากกระทะแล้วให้ใส่เกลือลงไปสัก
ครึ่งช้อนชา ความร้อนในกากหมูจะละลายเกลือไปเอง ซึ่งเป็นการถนอมอาหารให้เก็บไว้ได้นาน
ตอนบ่ายแก่ๆ หลังท้องอิ่ม รู้สึกว่าหนังท้องตึงหนังตาก็เริ่มหย่อน ผสมกับความอ่อนระโหย
โรยแรงกับการเดินฝ่าเปลวแดดยามบ่ายที่เริ่มร้อนอบอ้าว หลังจากเข้าไปเยี่ยมเยือนตรอกบ้านจีน
ทุกคนต่างแยกย้ายไปพักผ่อนตามอัธยาศัย แต่จะมีเพียงสายปานเท่านั้นที่ยังคุ้นคิดเรื่องราว
ในอดีตที่ผ่านมาของชุมชนตรอกบ้านจีน โดยมีคำถามมากมายที่ยังวนเวียนติดค้างอยู่ในหัวสมอง
“ตรอกบ้านจีน?” สายปานคิดเสมอว่าจะต้องหาคำตอบให้กระจ่างชัดเจนสำเร็จให้จงได้ หลังจากอาหารมื้อเย็นสายปานจ้องหาโอกาสที่จะเข้าไปพูดคุยกับคุณย่าบัวเรียบ ที่นั่งจิบน้ำเก๊กฮวยร้อนตรงมุมนั่งเล่นห้องโถงใหญ่
“คุณย่าทำอะไรอยู่ค่ะ”
“อ๋อ….กำลังคิดอะไรเพลินๆ อยู่จ้ะลูก สายปานมีอะไรกับย่ารึเปล่า” คุณย่าบัวเรียบยิงคำถามเหมือนรู้ใจ
สายปานสบตากับผู้เป็นย่าพร้อมยิ้มหวานให้ ก่อนเอ่ยขึ้นว่า
“แหม....คุณย่าช่างรู้ใจปานจังเลยนะคะ” พลางหัวเราะคิกๆ ชอบใจ
“ถ้าย่าไม่รู้ใจหนู แล้วจะเป็นย่าของหนูได้รึ” คุณย่าบัวเรียบหัวเราะหึๆ ในลำคอ แล้วกล่าวต่อว่า
“ยังติดใจเรื่องตรอกบ้านจีน ที่เล่าเมื่อตอนกลางวันอยู่สิท่าแม่ตัวดี” สายปานพยักหน้ารับ และอมยิ้มที่มุมปาก
“เอายังงี้ก็แล้วกันนะลูก พรุ่งนี้หลังเลิกเรียน เมื่อลูกกลับมาถึงบ้าน ก็รีบไปอาบน้ำอาบท่าเสียให้
เรียบร้อย เพราะหลังจากกินข้าวกินปลามื้อค่ำกันเสร็จแล้ว ย่าจะสอนทำกระทงใบตอง และจะเล่า
เรื่องตรอกบ้านจีนให้ฟังต่อ ดีมั้ยลูก”
“ดี....ดีมากเลยค่ะคุณย่า” สายปานแสดงอาการดีใจออกหน้าออกตาจนเห็นได้ชัด
“เอาล่ะ ถ้ายังงั้นว่ากันตามนี้ก็แล้วกันนะลูก ไปนอนได้แล้ว พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้าไปโรงเรียน
เออ....แล้วอย่าลืมไปบอกคุณครูด้วยว่า ย่าไม่อนุญาตให้หนูเป็นนางนพมาศนั่งกระทงของโรงเรียนนะ”
“ค่าาาา....คุณย่าคนสวย” สายปานตอบเสียงยานคางแล้วลุกเดินออกไป คุณย่าบัวเรียบมองตามหลังหลานรักด้วยความรักใคร่เอ็นดู พลางอมยิ้มเล็กๆ ที่มุมปากอย่างมีความสุข
บทประพันธ์โดย นิพรรนา