หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ตรอกรักปั๋นใจ๋ ตอนที่ 1

เนื้อหาโดย Takflim ตากฟิล์ม

ตอนที่ 1 🎉
ความหนาวเย็นของสายลมที่พัดผ่านมาทางช่องไม้เล็กๆ ของศาลาทรงไทย ได้สัมผัสผิวกายของหญิงชราผู้สูงวัย ด้วยอายุอานามราวแปดสิบกว่าๆ ให้รู้สึกเย็นยะเยือกขึ้นมาจับใจ ปอยผมสีดอกเลา
ปลิวไสวไปตามแรงลมพัด สายตาที่พร่าพรางเหม่อลอยมองสายน้ำที่ไหลเอื่อยผ่านหลังบ้าน
ทรงล้านนาโบราณหลังใหญ่ที่ต่อเติมเป็นศาลาทรงไทยอยู่ริมตลิ่งแม่น้ำปิง คุณย่าบัวเรียบเอนหลัง
นอนทอดยาวบนเก้าอี้โยกไม้สักหลังงามปลดปล่อยอารมณ์ไปตามความรู้สึกที่นึกคิดถึงวันเก่าๆ
ที่ผ่านมา ความหลังครั้งเก่าๆ มีทั้งเหตุการณ์ที่ดีและเหตุการณ์ที่เลวร้ายปะปนกันไป มันยังติดตรา
ตรึงใจฝังอยู่ในความทรงจำของคุณย่าบัวเรียบอย่างไม่เสื่อมคลายและไม่มีวันลืมเลือน ถึงแม้วันเวลา
จะผ่านพ้นไปนานแสนนานแล้วก็ตาม ไออุ่นของแสงแดดยามสายสาดส่องเข้ามาทางช่องไม้เล็กๆ
ของศาลาทรงไทย ทำให้อากาศเริ่มอบอุ่นขึ้นมาได้บ้าง สายตาคุณย่าบัวเรียบยังหยุดอยู่ที่ทิวทัศน์
เบื้องหน้าของสายน้ำปิงที่ไหลเอื่อยๆ ไปตามธรรมชาติจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ ปีนี้น้ำเหนือไหลบ่า
ลงมามากกว่าปกติ ถึงแม้จะเข้าเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวแล้วก็ตาม แต่ฝนก็ยังไม่หยุดตก
ทั้งนี้มักจะเรียกช่วงรอยต่อของฤดูกาลนี้ว่า ปลายฝนต้นหนาว กล่าวคือ ประมาณเดือนตุลาคมถึง
เดือนพฤศจิกายนของทุกปี
“อาพั้วบัวเรียบ ๆ จะกินข้าวเช้ารึยังคะ” สาวใช้พม่าใบหน้าเหลืองนวลด้วยแป้งทานาคาเรียกเสียงดัง
เพราะหูเธอเริ่มตึงตามวัยที่ชราภาพ แล้วคุณย่าบัวเรียบหันมาถามมะหน่อด้วยน้ำเสียงแหบแห้งว่า
“นี่มันกี่โมงกี่ยามแล้วล่ะมะลิ” มะลิเป็นชื่อเรียกภาษาไทยที่คุณย่าบัวเรียบตั้งให้ ตั้งแต่แรกรับมา
เป็นคนรับใช้ที่บ้าน ซึ่งคำว่า มะหน่อ เป็นภาษาพม่าที่ใช้เรียกสาวๆ ชาวพม่า
“จะแปดโมงแล้วค่ะ อาพั้วบัวเรียบ” มะลิตอบเสียงดังฟังชัดถึงแม้จะพูดภาษาไทยยังไม่ชัดเจน
ซักเท่าไหร่
“เออ....สายแล้วนี่ เอ้า....กินก็กิน เดี๋ยวฉันจะได้กินยา” ตอบด้วยน้ำเสียงแหบพร่าผะแผ่ว พร้อมใช้มือทั้งสองข้างสัมผัสใบหน้าที่เหี่ยวย่นแตกลายงาเป็นริ้วรอยตามวัย เพื่อรวบรวมเส้นผมสีดอกเลา
ที่แตกกระจัดกระจายไม่เป็นรูปทรงหลังจากโดนลมพัดเมื่อเช้า แล้วเกล้าขึ้นเป็นมวยสูงแบบง่ายๆ
อยู่บนศีรษะอย่างสาวเมืองเหนือ เพราะเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของผู้หญิงล้านนา คือ จะเกล้าผมมวย
โดยจะรวบผมขึ้นไปสูง พันผมไปรอบมือข้างหนึ่งคล้ายๆ เวลาพันด้ายเข้ากับแกน แล้วใช้ปลายผม
สอดเข้าในช่องว่างตรงกลางของผมที่พันกับมือนั้นไว้ จากนั้นเอาผมที่ลอดออกมาพันเก็บไปรอบ
แล้วเหน็บปลายผมไว้ด้านใต้มวยผม สำหรับคนผมยาวมากๆ ไม่สามารถยึดผมมวยไว้ด้วยปิ่น
ปักผมอันเดียวได้ มักจะใช้ “หย่อง” หรือเส้นลวดสีดำขดเป็นรูปตัวยู (U) เสียบรอบมวยผมเพื่อยึด
ไว้ให้เรียบร้อย ซึ่งความยาวของหย่องมีขนาดมาตรฐานประมาณ 2 – 3 นิ้ว และเมื่อมีงานบุญต่างๆ
จะตกแต่งมวยผมด้วยปิ่นปักผม เช่น ปิ่นเงิน ปิ่นทองคำ ปิ่นทองเหลือง ปิ่นที่ทำจากเขา – กระดูกสัตว์
หรือดอกไม้ไหว เช่น ดอกเก็ดถะหวา (ดอกพุดซ้อน) ดอกจำปา ดอกจำปี ดอกเอื้องผึ้ง เป็นต้น

หน้า 2
กาลเวลาเป็นตัวบ่งบอกถึงความชราภาพของร่างกาย มนุษย์เราพอมีอายุมากขึ้นโรคภัย
ไข้เจ็บก็เรียกหา โดยที่ทุกคนไม่สามารถหลีกพ้นไปได้ตามกฎของธรรมชาติ และหลังอาหารทุกมื้อ
คุณย่าบัวเรียบมักจะดื่มน้ำสมุนไพรไทยเป็นน้ำเก๊กฮวยร้อนๆ ซึ่งทำมาจากดอกเก๊กฮวยที่ตากแห้งแล้ว
เพื่อช่วยแก้ร้อนในดับกระหายและดับพิษร้อนเพิ่มความสดชื่นเพราะมีฤทธิ์เป็นยาเย็น อีกทั้งช่วย
กำจัดสารพิษออกจากร่างกายโดยขับออกมาในรูปแบบของเหงื่อหรือปัสสาวะ และที่สำคัญช่วย
ป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงด้วย
“มะลิ....มะลิ....ครูสายใจไปโรงเรียนแล้วรึยัง” คุณย่าบัวเรียบถามหลังจากดื่มน้ำเก๊กฮวยร้อนหมดแก้ว
“ไปตั้งแต่เช้าแล้วค่ะ เห็นบอกว่าต้องรีบไป เพราะมีประชุมผู้ปกครองที่โรงเรียนค่ะ”
“แล้วสายปานล่ะไปโรงเรียนรึยัง” คุณย่าบัวเรียบถามหาสายปานผู้เป็นเหลนสาววัยสดใสที่รักดั่งแก้วตาดวงใจ
“ออกไปแล้วเหมือนกันค่ะ อาพั้วบัวเรียบ” มะลิตอบขณะเก็บจานข้าวบนโต๊ะเพื่อนำไปล้างทำความสะอาด
พร้อมเทน้ำเก๊กฮวยร้อนเพิ่มลงในถ้วยแก้วให้คุณย่าบัวเรียบ
“อื้ม....” ว่าพลางพยักหน้ารับช้าๆ จากนั้นทอดสายตาไปที่สายน้ำปิงที่ไหลสะท้อนแสงพระอาทิตย์ยามสายระยิบระยับเป็นประกายสีเงินสวยงาม ทำให้หวนนึกถึงเรื่องราวเก่าๆ แล่นออกมาจาก
ความทรงจำที่เก็บสะสมมาชั่วชีวิต จนขอบตาเริ่มแดงระเรื่อขึ้นมาทันที แล้วน้ำตาของคุณย่าบัวเรียบ
เอ่อท้นรินลงอาบใบหน้าอย่างไม่รู้ตัว เพราะนึกสงสารหลานสะใภ้ที่ชื่อสายใจขึ้นมาจับใจ
หลังจากนายแพทย์จงรักษ์ ปันใจ ผู้เป็นสามีได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งที่ตับ จึงต้องร่วมชะตากรรม
กับความวุ่นวายของคนในตระกูลปันใจ ร่วมไปถึงสายปานผู้เป็นลูกสาวของเธอ เพราะการแก่งแย่ง
ชิงดีชิงเด่นในธุรกิจค้าไม้และกิจการค้าขายกับประเทศพม่าอีกมากมายของนายหมง ปันใจ
ผู้เป็นใหญ่ในตระกูลปันใจ หลังการเสียชีวิตของนายหมง ปันใจ ความวุ่นวายของคนภายใน
ตระกูลปันใจจึงเกิดขึ้น ทำให้พี่น้องต่างมารดาต้องการเพื่อหวังจะครอบครองทรัพย์สินมรดก
หลายพันล้านจากธุรกิจค้าไม้และกิจการค้าขายจากผู้เป็นบิดาที่ไม่ได้ดำเนินการจัดทำพินัยกรรม
ไว้ให้เรียบร้อยตอนมีชีวิตอยู่ ซึ่งผลจากความละโมบเข้าครอบงำของลูกแต่ละคนที่เกิดจากต่างมารดากัน
ทำให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความในศาลที่ยังไม่สิ้นสุด
นายหมง ปันใจ เป็นพ่อค้าไม้และมีโรงเลื่อยไม้รายใหญ่ที่สุดในจังหวัดตาก มีภรรยาที่
ยอมรับและเลี้ยงดูจนมีลูกด้วยกันเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น นอกนั้นได้มาก็จ่ายเงินจ่ายทองเป็น
ค่าทำขวัญแล้วก็จบกันแบบไม่มีข้อผูกมัดแต่อย่างใด แต่หนึ่งในสามภรรยาของนายหมง ปันใจ
ที่รักและเชิดชูออกหน้าออกตาจนเป็นที่ยอมรับในแวดวงสังคมภายในจังหวัดตากและมีบทบาท
สำคัญในการบริหารสมาคมค้าขายจังหวัดตาก ซึ่งเป็นภรรยาคนที่ 2 คือ แม่เลี้ยงสายบัว ปันใจ
จนมีลูกด้วยกันถึง 5 คน เป็นผู้ชาย 3 คน และผู้หญิง 2 คน

หน้า 3
สมาคมค้าขายจังหวัดตากตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าตรอกเล็กๆ บนถนนตากสิน ตำบลระแหง อำเภอเมือง จังหวัดตาก เป็นเรือนทรงไทยโบราณชั้นเดียวยกพื้นสูงทำจากไม้สักทั้งหลังที่หันหน้า
ไปทางทิศเหนือ โดยด้านฝั่งขวามือเป็นถนนตากสินที่คู่ขนานกับตรอกเล็กๆ ด้านฝั่งซ้ายมือใกล้กับ
แม่น้ำปิงด้านฝั่งตะวันออก ซึ่งตรอกเล็กๆ เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนจีนที่อพยพมาตั้งรกราก
อยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงด้านฝั่งตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงกลุ่มคนไทยพื้นเมือง คนลาว คนมอญ คนพม่า
และคนแขกอิสลาม เป็นต้น แต่กลุ่มคนจีนที่มาอาศัยอยู่ได้ทำมาหากินจนสามารถขยายกิจการใหญ่โต
จนเป็นชุมชนย่านการค้าเส้นทางแม่น้ำปิงที่คึกคักและเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งชุมทาง
ของเหล่าพ่อค้าแม่ค้าที่ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วๆ ไป รวมถึงพ่อค้าไม้และสินค้าของป่าที่ล่องลง
มาจากทางภาคเหนือ แล้วแวะเพื่อพักผ่อนและจัดเตรียมสินค้าต่างๆ ลงเรือหรือล่องแพผ่านตำบลปากน้ำโพ
จังหวัดนครสวรรค์ต่อไปยังกรุงเทพมหานคร หรือขนส่งสินค้าบางอย่างโดยทางรถไฟที่เปิดดำเนินการ
จากกรุงเทพมหานครถึงตำบลปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์เท่านั้น อีกทั้งยังลำเลียงสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ
จากกรุงเทพมหานครขึ้นไปสู่ภาคเหนือ เช่น จังหวัดลำปาง และจังหวัดเชียงใหม่ จนผู้คนที่รู้จักมักจะ
เรียกชุมชนนี้ว่า ชุมชนตรอกบ้านจีน
“อาพั้วบัวเรียบ ๆ” คุณย่าบัวเรียบได้สติเมื่อมะลิร้องเรียกเสียงดัง
“อะไรอีกล่ะมะลิ เรียกฉันซะตกอกตกใจหมดเลย” ว่าแกมตำหนิเล็กๆ
“ขอโทษค่ะ มะลิจะถามอาพั้วบัวเรียบว่าจะเข้าบ้านรึยังคะ”
“กี่โมงแล้วล่ะมะลิ” มะลิยกข้อมือน้อยๆ ขึ้นมองดูเวลาที่นาฬิกาข้อมือเรือนเก่า แต่เป็นสมบัติ
อันล้ำค่าที่สุดของมะลิก่อนตอบเสียงดังฟังชัดว่า
“สิบโมงครึ่งแล้วค่ะ”
“ไป....ไป....ไปเข้าบ้าน สายมากแล้ว เดี๋ยวถ้ามะลิทำงานบ้านเสร็จ ก็มานวดให้ฉันหน่อยนะ”
“ได้ค่ะ อาพั้วบัวเรียบ”
​ยามบ่ายหลังอาหารเที่ยง คุณย่าบัวเรียบนอนตะแครงข้างให้มะลิสาวใช้พม่านวดจับเส้นไปตามร่างกายบริเวณแขนและขาจนเคลิ้มหลับไป แต่มาสะดุ้งตื่นอีกครั้งตอนมะลิเรียกให้พลิกตัว
นอนตะแครงอีกข้างหนึ่ง คุณย่าบัวเรียบปลดปล่อยอารมณ์ให้สบายกายและสบายใจ รู้สึกผ่อนคลาย
ลดความตึงเครียดที่หวนนึกถึงเรื่องราวเก่าๆ เมื่อเช้าที่ผ่านมาลงไปได้มากทีเดียว จนเสียงนาฬิกา
โบราณตั้งพื้นตัวใหญ่ดังขึ้นเพื่อบอกเวลาครบชั่วโมงเสียงดังกังวานไปทั่วบ้าน
“อุ๊ย! บ่ายสามโมงแล้วเหรอมะลิ พอๆๆ ได้แล้ว ฉันต้องไปเตรียมทำกับข้าวเย็นก่อน เดี๋ยวครูสายใจ
กับสายปานกลับมาบ้านจะได้กินข้าวเย็นพอดี”
“วันนี้อาพั้วบัวเรียบจะทำกับข้าวเย็นอะไรคะ”

หน้า 4
“ฉันว่าจะหลนเต้าเจี้ยวสักหน่อย เห็นครูสายใจบ่นอยากจะกินมาหลายวันแล้ว”
“มะลิก็อยากกินเหมือนกันค่ะ” มะลิพูดออกมาจากใจ เพราะความอยากกินอาหารที่ไม่เคยได้กินมาก่อน
“น้อยๆ หน่อยแม่นางคนนี้” คุณย่าบัวเรียบทำหน้าดุ พลางทำตาเขียวปัดใส่มะลิที่นั่งก้มหน้ายิ้มแหยๆ
แล้วคุณย่าบัวเรียบก็หัวเราะชอบใจเสียงดังก่อนว่า
“อยากกินก็จะทำให้กิน แต่มะลิต้องช่วยเป็นลูกมือให้ฉันด้วยนะ”
“ได้ค่ะ มะลิอยากทำหลนเต้าเจี้ยวเป็นเหมือนกัน เพราะต่อไปถ้ามะลิทำหลนเต้าเจี้ยวเป็น มะลิจะทำให้
อาพั้วบัวเรียบกินบ้างค่ะ” มะลิว่าประจบประแจงเอาใจผู้เป็นนาย
“ดีมากเลยย่ะ แล้วฉันจะคอยกินฝีมือแกนะยะแม่ดอกมะลิ” น้ำเสียงแฝงเหน็บแหนมปนหัวเราะลงคออย่างชอบใจ
หลนเต้าเจี้ยวเป็นอาหารไทยพื้นเมืองเลิศรสของจังหวัดตาก ที่มีความเอร็ดอร่อยขึ้นชื่ออีกหนึ่ง
เมนูเด็ด เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำพืชผลทางการเกษตรคือถั่วเหลือง โดยการนำถั่วเหลืองที่มีเชื้อรา
เจริญเติบโตเต็มที่ แล้วนำมาหมักด้วยน้ำเกลือบริสุทธิ์ในภาชนะเปิด จากนั้นปล่อยทิ้งไว้จนได้ที่
ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ตั้งแต่เริ่มแรกจะประมาณ 4 วัน จนได้เต้าเจี้ยวเม็ดสีเหลืองเข้มสวยงาม เต้าเจี้ยวมี
คุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยโปรตีนและกรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการถึง 17 ชนิด ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกและช่วยบำรุงโลหิต และที่สำคัญเป็นสารชูรสอาหารที่มีรสชาติคล้ายสารสกัดจากเนื้อสัตว์และมีกลิ่นหอมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในระหว่างการหมัก จึงใช้เป็น
เครื่องปรุงรสในการประกอบอาหารได้เป็นอย่างดี เช่น ทำเป็นแป๊ะซะผัดราดหน้า ผัดผักบุ้งไฟแดง
ผัดผักต่างๆ เป็นต้น โดยเฉพาะในการปรุงอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์จำพวกอาหารเจ อาหารมังสะวิรัติ
อีกทั้งทำเป็นอาหารชนิดต่างๆ โดยทำเป็นเครื่องจิ้ม เช่น หลนเต้าเจี้ยวที่กินกับผักสดจำพวก
แตงกวา ผักกาดขาว มะเขือตอแหลหรือมะเขือเสวย ถั่วฝักยาว ถั่วพู ขมิ้นขาว ฯลฯ น้ำจิ้มข้าวมันไก่ เป็นต้น รวมไปถึงอาหารที่ไม่ต้องการคาร์โบไฮเดรตสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
คุณย่าบัวเรียบสาละวนอยู่กับการทำหลนเต้าเจี้ยว โดยมีมะลิเป็นลูกมือคอยช่วยเหลือหยิบโน้น
นี่ นั่น ยุ่งวุ่นวายเสียงดังลั่นครัว
“มะลิ....มะลิ....สับเนื้อหมูแหลกละเอียดรึยังแม่คุณ” คุณย่าบัวเรียบเอ่ยถามสิ่งที่ต้องการ เสียงสับ
เนื้อหมูบนเขียงไม้มะขามโดยฝีมือมะลิยังดังลั่นครัวไม่หยุด
“เนื้อหมูสับได้รึยังยะแม่ดอกมะลิ สับเนื้อหมูแค่นี้ มัวแต่ชักช้าอย่างนี้จะไปทันกินอะไรกับเค้า....หา!” คุณย่าบัวเรียบถามย้ำอีกครั้ง
“จวนจะได้แล้วค่ะ ขออีกนิดหนึ่ง”
“เร็วๆ หน่อยสิยะแม่คุณ น้ำหางกะทิสดของฉันกำลังใกล้จะเดือดแล้ว”
“ได้ค่าาาา....อาพั้วบัวเรียบ” มะลิตอบน้ำเสียงยานคาง

หน้า 5
คุณย่าบัวเรียบโขลกเต้าเจี้ยวในครกหินแกรนิตอย่างชำนาญ เมื่อเต้าเจี้ยวโขลกจนละเอียดได้ที่แล้ว จึงตักใส่ถ้วยกระเบื้องลายเบญจรงค์สีสวยจนเต็ม จากนั้นปอกเปลือกหอมแดงแล้วซอยหยาบๆ พร้อมหั่นพริกชี้ฟ้าให้เป็นท่อนเล็กๆ สักพักได้กลิ่นหอมกรุ่นของน้ำหางกะทิสดที่เดือดอยู่ในกระทะ จึงเอาเต้าเจี้ยวที่โขลกจนละเอียดลงละลาย มะลิยื่นถ้วยที่ใส่เนื้อหมูสับละเอียดให้คุณย่าบัวเรียบพร้อมรอยยิ้มสดใสพลางว่า
“เนื้อหมูสับละเอียดได้แล้วค่ะ”
“ขอบใจย่ะแม่คุณ” คุณย่าบัวเรียบพูดกระแทกเสียงขึ้นจมูกพร้อมแอบอมยิ้มที่มุมปาก
เมื่อเต้าเจี้ยวละลายกับน้ำหางกะทิสดที่เดือดพราดส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่วบ้าน คุณย่าบัวเรียบตักเนื้อหมูสับละเอียดลงไปในกระทะแล้วคนจนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นใส่หอมแดงซอย
ตามด้วยพริกชี้ฟ้าที่หั่นเป็นท่อนๆ แล้วปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก เกลือป่น น้ำตาลปี๊บ ค่อยปรับรส
ให้ออกรสเปรี้ยว เค็มและหวาน เมื่อได้รสชาติที่ต้องการจึงตีไข่ไก่เทลงไปในกระทะแล้วคนเร็วๆ
พอเดือด ขั้นตอนสุดท้ายใส่น้ำหัวกระทิสดที่เตรียมไว้พอประมาณ แล้วรอจนเดือดอีกครั้งก็ใช้ได้
“คุณย่าทำอะไรคะ กลิ่นห๊อม....หอม ดูสิทำให้ปานหิวข้าวเลยค่ะ” สายปานร้องทักเมื่อกลับเข้าบ้าน
หลังจากเลิกโรงเรียน
“หลนเต้าเจี้ยวจ้ะลูก” คุณย่าบัวเรียบตอบผู้เป็นเหลนสาวพลางยิ้มให้หน้าตาเบิกบาน
“โอ้โห น่ากินจังเลยค่ะคุณย่า วันนี้ปานคงกินข้าวเย็นได้เยอะแน่ๆ เลย”
“ดีแล้วลูก กินเยอะๆ จะได้โตไวๆ”
“ปานตัวสูงแล้วนะคะคุณย่า เห็นเปล่าตัวปานสูงเกินคุณย่าแล้วนะคะ” ว่าพลางยืนเทียบคุณย่าบัวเรียบ
ที่กำลังจัดเตรียมอาหารบนโต๊ะ แล้วโอบกอดผู้เป็นย่าพลางหอมแก้มฟอดใหญ่
“แหม....ทำมาเป็นคุยเทียบรุ่นกับย่านะ เราน่ะแค่ชั้นมอหนึ่งนี่เอง ไป....ไป....ไปอาบน้ำอาบท่า
เสียก่อนเถอะแม่ตัวดี เดี๋ยวแม่ของลูกกลับมาบ้านจะได้กินข้าวเย็นพร้อมกัน”
“ค่ะ คุณย่า” สายปานตอบแล้วหอมแก้มอีกฟอดใหญ่
“ไม่ต้องมาหอมย่าแล้ว ไม่เหม็นเหงื่อย่ารึไง”
“ไม่เห็นจะเหม็นอะไรตรงไหนเลย หอมจะตาย....ห๊อม....หอม” ว่าพลางหัวเราะคิกๆ น้ำเสียงร่าเริง
“พอ....พอได้แล้ว....ไปอาบน้ำอาบท่าได้แล้วลูก”
“ค่าาาา....คุณย่าคนสวย” สายปานตอบเสียงยานคางแล้วเดินผละออกไป คุณย่าบัวเรียบมองตามหลังผู้เป็นเหลนสาวพลางบ่นพึมพำในใจว่า
“สายปานของย่า ไม่ว่าในอนาคตภายภาคหน้าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ย่าขอให้ลูกจงอดทนและอดกลั้น
แล้วตั้งสติให้มั่นคง ทำจิตใจให้แน่วแน่น เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ผ่านลุล่วงไปด้วยดีนะลูก”

หน้า 6
อาหารมื้อค่ำวันนี้ทุกคนพร้อมหน้าพร้อมตากันเหมือนเคยเกือบทุกวัน แม้บางวันครูสายใจต้องติดงานราชการหรืองานสังคมบ้างก็ตาม อาหารทุกอย่างวางอยู่บนโต๊ะส่งกลิ่นหอมกรุ่น
โดยเฉพาะหลนเต้าเจี้ยวที่ครูสายใจอยากกินมาหลายวันแล้ว
“วันนี้คุณอาหลนเต้าเจี้ยวรึคะ น่าทานจังเลยค่ะ”
“ก็เห็นครูสายใจบ่นอยากจะกิน อาก็เลยทำให้กิน”
“ขอบพระคุณคุณอามากค่ะ ถือว่าวันนี้พวกเราโชคดีนะคะ ที่ได้ทานฝีมือแม่ครัวหัวป่าก์ขั้นเทพเลยนะเนี่ย” ครูสายใจสาธยายสรรพคุณให้แก่ทุกคนได้ฟังพลางยกมือไหว้ผู้เป็นอาอย่างอ่อนช้อย
“ไม่ต้องมาขอบอกขอบใจอะไรอาหรอกครูสายใจ อะไรที่อาทำให้ได้ อาก็ยินดีที่จะทำให้จ้ะ ไหนๆ พวกเรา
ก็มีกันอยู่เพียงเท่านี้แล้ว”
“ค่ะ คุณอา” น้ำเสียงครูสายใจเศร้าลง เมื่อคุณย่าบัวเรียบพูดแบบมีเลศนัย
“พี่มะลิตักข้าวเถอะค่ะ ปานอยากกินหลนเต้าเจี้ยวของคุณย่าใจจะขาดแล้ว” สายปานเห็นว่า
บรรยายเริ่มจะโศกเศร้าขึ้นมา จึงรีบสั่งมะลิตักข้าวให้ทุกคน
“ค่ะ คุณสายปาน” มะลิขานรับพร้อมตักข้าวใส่ในจานให้คุณย่าบัวเรียบ ครูสายใจ และสุดท้ายเป็นจานของสายปาน บรรยากาศการสนทนาเงียบหายไปชั่วขณะ เพราะทุกคนกำลังเอร็ดอร่อยอยู่กับ
อาหารมื้อพิเศษ จนคุณย่าบัวเรียบเอ่ยถามว่า
“เป็นยังไงบ้างล่ะสายปาน อร่อยมั้ยลูก”
“เหนือเกินคำว่าอร่อยเลยค่ะคุณย่า ต้องใช้คำว่าอร่อยขั้นเทพจริงๆ” สายปานชมอย่างออกนอกหน้า จนคนถูกชมยิ้มน้อยยิ้มใหญ่แล้วว่า
“ถ้าอร่อย คราวหน้าจะทำให้กินอีก แต่คงต้องเป็นฝีมือของแม่ดอกมะลิแล้วละนะ”
“อ้าว ทำไมละคะคุณย่า พี่มะลิทำเป็นด้วยเหรอคะ” สายปานถามด้วยสีหน้าฉงนสงสัย
“เป็นสิลูก วันนี้เป็นลูกมือให้กับย่าทั้งวันเลย ย่าสอนมากับมือ ทำไมจะทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็เสียชื่อ
ย่าน่ะสิ จริงมั้ยแม่ดอกมะลิ” คุณย่าบัวเรียบกล่าวพาดพิงถึงสาวใช้คนพม่าที่ยืนเก้ๆ กังๆ
ด้วยความประหม่า แล้วตอบคำถามเสียงอ่อยๆ ว่า
“แต่มะลิกลัวว่าจะทำไม่อร่อยเท่าฝีมืออาพั้วบัวเรียบค่ะ”
“อ้าว ได้ยังไงกันล่ะแม่ดอกมะลิ เมื่อตะกี้แกยังบอกกับฉันเลยว่า ถ้าทำหลนเต้าเจี้ยวเป็น แกจะ
ทำให้ฉันกินบ้างไม่ใช่รึ” มะลิไม่ตอบแค่ส่งยิ้มแหยๆ แล้วเดินก้มหน้าไปหลบที่มุมห้อง ทำให้ทุกคน
ต่างหัวเราะชอบใจต่อพฤติกรรมของสาวใช้คนพม่า เป็นผลให้บรรยากาศการสนทนาครึกครื้น
ขึ้นมาบ้าง เวลาผ่านไปได้สักครู่คุณย่าบัวเรียบเอ่ยถามขึ้นเพื่อความมั่นใจว่า

หน้า 7
“เออ....อาทิตย์หน้าที่จะถึงนี้ ก็เป็นวันลอยกระทงแล้วสินะ”
“ใช่ค่ะ ปีนี้เห็นว่าทางจังหวัดจะจัดงานลอยกระทงให้ยิ่งใหญ่กว่าปีที่แล้ว งานนี้หนูคงเหนื่อยอีกตามเคย”
ครูสายใจบ่นพึมพำก่อนดื่มน้ำตาม หลังจากกลืนอาหารที่แสนเอร็ดอร่อยลงคอ
“เอาเถอะครูสายใจ ปีหนึ่งก็มีแค่เพียงครั้งเดียว ถือเสียว่าเป็นการทำบุญและขอขมาพระแม่คงคา
ที่พวกเราใช้น้ำเพื่อดื่ม กิน และอาบกันมาทั้งปี” คุณย่าบัวเรียบอธิบายตามความเชื่อที่มีมาตั้งแต่
โบราณกาล
“ใช่เลยค่ะคุณอา เพราะคิดเพื่อร่วมทำบุญและขอขมาพระแม่คงคา หนูจึงไม่คิดอะไรมาก”
ครูสายใจกล่าวคล้อยตามคุณย่าบัวเรียบด้วยสีหน้ายิ้มๆ
“คุณย่าคะ วันลอยกระทงสมัยตอนคุณย่าเป็นเด็กสนุกรึเปล่าคะ” สายปานตั้งคำถามใคร่รู้
“สนุกสิลูก สมัยก่อนตอนย่าเป็นเด็กๆ พ่อกับแม่จะพามาลอยกระทงกันที่ท่าน้ำวัดน้ำหัก เพราะวัด
เป็นจุดศูนย์รวมทุกอย่าง ไม่ว่าจะสุขหรือจะทุกข์ก็ต้องมาที่วัด สมัยก่อนวัดจะจัดงานวันลอยกระทงโดยให้มีมโหรสพบันเทิงเริงรื่นต่างๆ มากมาย แต่มีอย่างเดียวที่ย่าชอบมากที่สุดคือหนังกลางแปลง”
“หนังกลางแปลงคืออะไรคะคุณย่า” สายปานถามด้วยความสงสัย
“หนังกลางแปลงคือการฉายหนังในที่โล่งแจ้งตามลานวัด สนามหญ้าโรงเรียน หรือที่สาธารณะ
ทั่วๆไป ที่มีบริเวณเป็นลานกว้างมากพอสมควร โดยมีจอหนังเป็นผ้าสีขาวขนาด 7-8 เมตร
ส่วนเสาตั้งจอหนังจะเป็นไม้ไผ่ 2 ต้น แล้วผูกจอหนังทั้ง 4 มุม เพื่อป้องกันไม่ให้ปลิวเมื่อถูกลมพัด
และติดลำโพงฮอล์ลไว้ที่ด้านบนของเสาไม้ไผ่ทั้งสองต้น และอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้เด็ดขาด
คือเครื่องฉายหนัง ซึ่งในสมัยนั้นจะเป็นหนังขนาด 16 มิลลิเมตร ยุคของมิตร ชัยบัญชา เป็นพระเอก
กับนางเอกคือเพชรา เชาวราษฎร์ ส่วนจุดเด่นที่เป็นเสน่ห์อย่างมากของหนังกลางแปลงในยุคนั้นคือ
การพากษ์หนังเสียงแบบสดๆ พร้อมเสียงซาวด์ต่างๆ ตรงเนี่ยแหละที่ย่าชอบมากที่สุดเพราะ
คนพากษ์หนังจะเป็นผู้ชาย แต่เค้าสามารถทำเสียงได้หมดทุกเสียงไม่ว่าจะเป็นเสียงพระเอก ผู้ร้าย
ตลก คนแก่ เด็ก แม้กระทั้งนางเอก นึกแล้วยังอดขำไม่หายเลยจริงๆ” คุณย่าบัวเรียบหัวเราะร่วน
ในลำคออย่างมีความสุข
“ปานอยากทราบประวัติการลอยกระทงจังเลยคะคุณแม่” สายปานพูดเสียงออดอ้อนผู้เป็นมารดา
“วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือคืนวันเพ็ญ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย
ในราวเดือนพฤศจิกายน เป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดปฏิบัติกันมาช้านานตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัย
จนมาถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งจริงๆ แล้วประเพณี
ลอยกระทงนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีน่าจะ
เป็นพิธีของพราหมณ์ที่กระทำเพื่อบูชาเทพทั้งสาม ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม

หน้า 8
ต่อมายึดถือตามแนวทางศาสนาพุทธที่มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณี
ในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา
(แม่น้ำนัมมทาเป็นแม่น้ำที่ไหลคู่ขนานกับทิวเขาวินธัยลงภาคตะวันตกของอินเดีย ซึ่งจะแบ่งเขต
อินเดียเป็นภาคเหนือและภาคใต้) สำหรับประเทศไทยเราประเพณีลอยกระทงได้เข้ามาในสมัยกรุง
สุโขทัยเป็นราชธานี ประมาณพุทธศักราช 1800 เมื่อ 700 ปีมาแล้วจ้ะลูก” ครูสายใจหยุดดื่มน้ำ
แก้กระหาย สักพักแล้วเล่าต่อว่า
“การลอยกระทงจะมีความเกี่ยวพันกับนางนพมาศ ซึ่งจะมีเรื่องเล่าเป็นตำนานมาตั้งแต่ครั้งสมัย
กรุงสุโขทัยน่ะจ้ะ”
“นางนพมาศเป็นใครคะคุณแม่” สายปานตั้งคำถามสงสัย
“ตามตำนานแล้วนางนพมาศจะมีชื่อเรียกอีก 2 ชื่อ คือ เรวดีนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์
เกิดในรัชกาลพญาเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พระร่วง เป็นธิดาของพราหมณ์ในราชสำนัก
สมัยกรุงสุโขทัย ท่านรับราชการเป็นพระปุโรหิตตำแหน่งพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลหงส์
พงศ์มหาพฤฒาจารย์ กับมารดาชื่อนางเรวดี นางนพมาศมีรูปสมบัติและคุณสมบัติที่งดงาม
ได้รับการอบรมจากบิดามารดา โดยมีความรู้ทางอักษรศาสตร์ พุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์
งานช่างของสตรีและขับร้องดนตรี ต่อมาบิดามารดาได้ถวายตัวเข้ารับราชการในสมัย
พระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์พระร่วง และได้เลื่อนเป็นพระสนมเอก
เพราะเป็นที่ถูกพระราชหทัยสมเด็จพระร่วงเจ้าที่คิดค้นประดิษฐ์กระทงรูปดอกบัวในพระราชพิธี
จองเปรียง ลอยพระประทีป จนได้สมญาว่า “กวีหญิงคนแรกคนไทย” และนางนพมาศกลายเป็น
สัญลักษณ์ของประเพณีลอยกระทง จนสืบทอดมาว่าเมื่อถึงคราวเทศกาลลอยกระทงจะต้องมี
นางนพมาศควบคู่ไปกับประเพณีลอยกระทงด้วยเสมอ มาจนถึงทุกวันนี้”
“ถึงว่าสิ ปานสงสัยมาตั้งนานแล้วว่าทำไมกระทงที่ลอยต้องคล้ายดอกบัว เป็นความคิดที่ฉานฉลาด
อย่างมากของนางนพมาศที่ประดิษฐ์กระทงรูปดอกบัวเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมา
ต่อพระแม่คงคา”
“ใช่จ้ะลูก” ครูสายใจเอ่ยคล้อยตามลูกสาว
“คุณแม่คะ แล้วสมัยนั้นกระทงทำมาจากอะไรคะ” สายปานตั้งคำถามอีก
“กระทงส่วนใหญ่จะทำมาจากต้นกล้วยซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติจ้ะลูก”
“ใช่ลูก สมัยย่าก็ทำกระทงมาจากต้นกล้วยเหมือนกัน” คุณย่าบัวเรียบแสดงความคิดเห็นบ้าง
“กระทงที่ทำมาจากต้นกล้วย เค้าทำกันยังไงคะ”

หน้า 9
“ตัวกระทงจะใช้ลำต้นของกล้วยที่เรียกว่า หยวกกล้วย นำมาหั่นเป็นท่อนๆ วงกลมสูงประมาณ
1-2.5 นิ้ว ส่วนขนาดก็แล้วแต่ความพึงพอใจ สำหรับกลีบกระทงจะใช้ใบกล้วยที่เรียกว่า ใบตอง
นำมาพับเป็นกลีบตามรูปแบบต่างๆ โดยที่นิยมมีอยู่ด้วยกัน 6 แบบ ได้แก่ กลีบผกา กลีบกุหลาบ
กลีบหัวขวาน กลีบหัวนกลายเปีย กลีบการเวก และถักตัวตะขาบ ซึ่งได้สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้ง
โบราณกาลจนมาถึงปัจจุบันนี้ ” คุณย่าบัวเรียบอธิบายอย่างละเอียดลออไม่ขาดตกบกพร่อง
“คุณย่าคะ ปานอยากทำกระทงเป็นบ้างจังเลยค่ะ”
“ได้สิลูก เดี๋ยวใกล้ๆ วันลอยกระทงพวกเรามาทำกระทงลอยกัน” คุณย่าบัวเรียบเอ่ยพลางหัวเราะชอบใจลงคอ
“แต่....เอ๋ แล้วทำไมกระทงบ้านเราถึงใช้กะลามะพร้าวมาทำเป็นกระทงละคะ” สายปานยังมิคลาย
ข้อสงสัย ครูสายใจสบตาผู้เป็นลูกสาวก่อนอธิบายว่า
“เพราะจังหวัดตากบ้านเรามีอาชีพทำไส้เมี่ยงมะพร้าวที่กินคู่กับใบเมี่ยง ซึ่งเป็นอาหารว่างและ
สินค้าที่ระลึกเพื่อใช้เป็นของฝากยอดนิยม จนเป็นสินค้า OTOP ประจำจังหวัดตาก กล่าวคือ
นำมะพร้าวแก่จัดมากมากะเทาะเปลือกออกจนเหลือแต่เนื้อมะพร้าว แล้วขูดให้เป็นฝอยๆ
และนำไปผึ่งแดดประมาณ 1 วัน จากนั้นนำมาคลุกกับน้ำตาลทราย เกลือ ขิง ข่า หัวหอม ตะไคร้
ใบมะกรูด และพริก แล้วทอดด้วยไฟอ่อนๆ จนเริ่มสุกพอสมควร จึงนำถั่วลิสงและกระเทียมที่
ทอดกรอบจนเป็นสีเหลืองใส่ลงไปคลุกกับมะพร้าวในกระทะจนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วปล่อยทิ้ง
ไว้ให้สะเด็ดน้ำมันจนเย็นและแห้ง ส่วนที่เหลือคือกะลามะพร้าวจำนวนมากมาย ซึ่งด้วยภูมิปัญญา
ของคนเฒ่าคนแก่บ้านเราได้นำเอากะลามะพร้าวดังกล่าวมาขัดถูทำความสะอาดจนเกลี้ยงเกลา
แล้วตกแต่งกะลามะพร้าวด้วยลวดลายต่างๆ ให้สวยงามและใส่ด้ายรูปตีนกา สำหรับเป็นเชื้อเพลิง
จุดไฟก่อนที่จะปล่อยลงลอยในแม่น้ำปิงเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา”
“โอ้โห ไม่น่าเชื่อเลยว่าประเพณีลอยกระทงจะผ่านมาตั้งหลายยุคหลายสมัย แตกต่างกัน
ไปตามกาลเวลา ปานภูมิใจจังเลยที่บรรพบุรุษรุ่นปู่ย่าตายายของเราเป็นผู้สืบทอดขนบ
ธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม แล้วสืบทอดต่อกันมาจนถึงรุ่นลูกหลานเหลนโหลน และได้รักษา
ให้คงไว้มาจนถึงทุกวันนี้”
“จ้ะลูก เพราะกระทงที่ทำมาจากกะลามะพร้าวนี่แหละ ทำให้ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป
1,000 ดวง ของจังหวัดตากบ้านเรา จึงเป็นประเพณีที่โดดเด่นโด่งดังรู้จักกันไปทั่วโลก ซึ่งอาจจะ
ถือได้ว่าเป็นประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่มีแบบเดียวในโลก โดยที่ไม่มีใครเหมือน
แล้วก็ไม่เหมือนใคร”
ครูสายใจอธิบายอย่างภาคภูมิใจในประเพณีของตนเองที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

ประพันธ์โดย นิพรรนา

#นิยาย #เมืองตาก #ตากฟิล์ม

เนื้อหาโดย: Takflim ตากฟิล์ม
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Takflim ตากฟิล์ม's profile


โพสท์โดย: Takflim ตากฟิล์ม
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
5 VOTES (5/5 จาก 1 คน)
VOTED: xfq801
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
"ภาวะโลกเดือด" การปรับตัวในยุคที่ท้าทายสุดขีดของมนุษย์!!
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ช็อตฮาประชาชี : บ้านญาติบรรยากาศแบบนี้ ต้องหาคนมานอนเป็นเพื่อนหน่อยเน่อ ไม่งั้นหลอนแน่ๆเขมรเคลมอีก? อ้าง ข้าวเหนียวทุเรียน คือขนมดั้งเดิมของเขมรโบราณ!ตอนเรียนกับตอนทำงานเต่างกันแค่ไหน?แล้งหนัก...ประปาไร้น้ำ เกาะพีพีต้องซื้อน้ำใช้
กระทู้อื่นๆในบอร์ด นิยาย เรื่องเล่า
เหงาอยู่คนเดียวเผยนาทีระทึก "พายุฤดูร้อน" ถล่มเชียงราย..ทำเอากำแพงล้มระเนระนาด!แอบรักในรอยใจ ตอนที่ 4รีวิวของแจกเปิดเทอมโรงเรียนที่ญี่ปุ่น..ของแต่ละชิ้นนั้นคิดมาดีแล้ว
ตั้งกระทู้ใหม่