ผ้าขี้ริ้ว คือส่วนไหนของวัว!
บอกมานะว่า ใครชอบกิน “ผ้าขี้ริ้ว” บ้าง
เปล่า ไม่ได้หมายถึงผ้าขี้ริ้วที่เป็นผ้าเก่า ๆ ขาด ๆ เอาไว้เช็ดโต๊ะเช็ดพื้น อันนั้นกินไม่ได้อยู่แล้ว แต่หมายถึง “ผ้าขี้ริ้ว” ของวัว ที่บรรดาคอเนื้อขาแซบทั้งหลายคงชอบในความกรุบกรอบอร่อยของมัน แล้วคุณทราบหรือไม่ว่า ผ้าขี้ริ้วที่ว่านี้ มาจากอวัยวะส่วนใดของวัวกันแน่
คำตอบก็คือ มาจากกระเพาะส่วนหน้าสุด ที่เรียกว่า รูเมน (Rumen) ของวัว
ในสัตว์จำพวกสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างวัวควายนั้น กระเพาะอาหารจะมีขนาดใหญ่มาก และจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ซึ่งแต่ละส่วนจะทำหน้าที่แตกต่างกันไปได้แก่
กระเพาะผ้าขี้ริ้ว หรือ รูเมน (Rumen) เป็นกระเพาะส่วนแรกสุดและมีขนาดใหญ่ที่สุด อาหารที่วัวกินเข้าไปแล้วจะถูกพักอยู่ในกระเพาะส่วนนี้ก่อน ในกระเพาะส่วนนี้ยังไม่มีการย่อยอย่างละเอียด แต่จะมีจุลินทรีย์ต่าง ๆ มาช่วยในกระบวนการหมักอาหาร และอาจจะมีการย่อยในเบื้องต้น
กระเพาะรังผึ้ง หรือ เรติคิวลัม (Reticulum) มีขนาดประมาณ 5% ของทั้งหมด อยู่ติดกับรูเมน มีหน้าที่รับและขยอกอาหารที่มาจากกระเพาะผ้าขี้ริ้วกลับไปที่ปากเพื่อ “เคี้ยวเอื้อง” หรือกระบวนการเคี้ยวอย่างละเอียดอีกครั้ง
กระเพาะสามสิบกลีบ หรือ โอมาซัม (Omasum) เป็นกระเพาะส่วนที่สาม มีลักษณะเป็นแผ่นหลืบ ๆ ซ้อน ทำน้าที่รับอาหารจากากรเคี้ยวเอื้อง และกระจายอาหารให้เข้ากัน
กระเพาะแท้ หรือ อะโบมาซัม (Abomasum) เป็นกระเพาะที่ทำหน้าที่เป็นกับกระเพาะอาหารของมนุษย์และสัตว์อื่น คือมีหน้าที่ย่อยอาหารด้วยเอนไซม์ชนิดต่าง ๆ ก่อนจะส่งต่อไปยังลำไส้เล็กต่อไป
กระเพาะผ้าขี้ริ้วหรือรูเมนจะมีลักษณะเป็นผนังหน้า ผิวมีตุ่มเล็ก ๆ จำนวนมากแลดูคล้ายผ้าขนหนู เมื่อล้างทำความสะอาดจะมีสีออกขาวเทา มีเนื้อกรุบกรอบอร่อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ลาบก้อย ยำ หรืออาหารจำพวกจิ้มจุ่ม เป็นต้น