เงินกู้ในประเทศไทยใครเป็นเจ้าหนี้?
หนี้ในประเทศ ใครเป็นเจ้าหนี้
มาต่อที่หนี้ในประเทศ ซึ่งเป็นหนี้ส่วนใหญ่ คิดเป็น 98.14 เปอร์เซ็นต์ของหนี้สาธารณะทั้งหมด
พอเปลี่ยนมาพูดถึงหนี้ภายในประเทศ เราจะเจอคำเรียกที่มาของเงินกู้ไม่เหมือนที่มาของเงินกู้จากต่างประเทศ นั่นคือจะไม่ค่อยได้ยินคำว่า ‘แหล่งเงินกู้’ แต่จะได้ยินคำว่า ‘เครื่องมือการกู้’ มาแทน ซึ่งมีเหตุผลของการใช้คำอยู่
การกู้เงินภายในประเทศมีเครื่องมือการกู้ คือ ตราสารหนี้, การกู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญากู้ยืมเงิน
เครื่องมือหลักที่ภาครัฐใช้คือ ตราสารหนี้ อ้างอิงตามที่เจ้าหน้าที่เศรษฐกรของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ให้ข้อมูลว่า “ใช้ตราสารหนี้ประเภทพันธบัตรเป็นส่วนมาก”
ตราสารหนี้มีหลายประเภท ได้แก่
1.ตราสารหนี้รัฐบาล ออกโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง
-ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bills)
-ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring Bills)
-พันธบัตรรัฐบาล (Government Bonds)
-พันธบัตรออมทรัพย์ (Government Savings Bonds)
2. พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State-Owned Enterprise Bonds) ออกโดยรัฐวิสาหกิจที่ต้องการกู้เงิน เช่น พันธบัตรการรถไฟแห่งประเทศไทย พันธบัตรการไฟฟ้านครหลวง พันธบัตรองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นต้น
3. พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายประเภท
4. พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ออกโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ไขฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคง
อย่างที่บอกในข้อมูลชุดแรกๆ ว่า ภาคที่ก่อหนี้มากที่สุดคือ รัฐบาล และเครื่องมือการกู้เงินที่รัฐบาลใช้เป็นหลักก็คือการออกตราสารหนี้ การกู้เงินก้อนใหญ่แต่ละครั้ง สบน. จะกระจายใช้ตราสารหนี้ประเภทต่างๆ และเครื่องมืออื่นตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ แต่ที่ใช้มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของตราสารหนี้ทั้งหมดก็คือพันธบัตรรัฐบาล
ด้วยความที่ตราสารหนี้นั้นจำหน่ายเป็นการทั่วไป ทั้งประชาชน บุคคลทั่วไป บริษัทเอกชน กองทุน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือใครก็สามารถลงทุนในตราสารหนี้ได้ ดังนั้น สำหรับหนี้สาธารณะส่วนที่เป็นหนี้ในประเทศ เราจึงหาข้อมูลที่ระบุอย่างละเอียดได้ยากว่าใครเป็นเจ้าหนี้ของรัฐอยู่จำนวนเท่าใด
ตามข้อมูลยอดคงค้างตราสารหนี้ภาครัฐในประเทศไทย เผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่ากลุ่มผู้ถือตราสารหนี้หลักๆ เรียงลำดับตามมูลค่าตราสารหนี้ที่ถือ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์, Contractual Savings Funds (ประกอบด้วย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานประกันสังคม ข), บริษัทประกัน, สถาบันการเงินอื่นๆ, ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กองทุนรวม
ด้วยความที่ยากจะระบุจำแนกแจกแจงและเปิดเผยว่าองค์กรไหน กองทุนไหน หรือบุคคลรายย่อยคนใดถือตราสารหนี้อยู่จำนวนเท่าใด หนี้ในประเทศจึงไม่จำแนกตามแหล่งเงินกู้ แต่จะจำแนกตามเครื่องมือที่ใช้กู้เงิน และเรียกว่า ‘เครื่องมือการกู้’ อย่างที่กล่าวไป
โดยสรุป การจะตอบคำถามที่ว่า หนี้สาธารณะกู้มาจากไหน รัฐบาลไทยเป็นลูกหนี้ใครบ้าง? จึงระบุได้ชัดเพียงแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมากในจำนวนเงินกู้ทั้งหมด ส่วนเงินกู้ในประเทศนั้นมีเจ้าหนี้จำนวนมากมาย ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เข้าไปเป็นเจ้าหนี้โดยการซื้อตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ของภาครัฐ
รวมถึงบุคคลทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ เอง ใครที่ถือพันธบัตร หรือตราสารหนี้ประเภทใดๆ อยู่ ก็แปลว่าคุณเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งในมวลหนี้สาธารณะก้อนมหึมามหาศาลนี้.
อ้างอิงจาก: pdmo.go.th, mof.go.th, bot.or.th