การเวนคืนกรมธรรม์
เวนคืนกรมธรรม์คือ การทำการขอยกเลิกกรมธรรม์ เพื่อทำการขอรับเงินสดจากทางบริษัทประกันชีวิต ตามจำนวนที่ได้มีการกำหนดไว้ในส่วนของตารางมูลค่ากรมธรรม์ หลังจากเวนคืนกรมธรรม์แล้วสัญญากับบริษัทประกันถือเป็นอันสิ้นสุด
ถ้าพูดถึงการทำประกันชีวิตหลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างกับคำว่าการเวนคืนกรมธรรม์ หรือบางคนอาจเคยได้รับการชักชวน ให้หยุดจ่ายเบี้ยสำหรับประกันที่มีอยู่ เพื่อไปทำประกันแบบใหม่ ทั้งนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่ทำให้อยากเวนคืนกรมธรรม์ หรือการเวนคืนกรรม์มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ความคุ้มค่าที่เลือกทำว่าคุ้มไหม เรื่องนี้ไม่ต้องกังวลไป เพราะเราจะไปหาข้อมูลมาให้ศึกษาแล้วที่นี่
การเวนคืนกรมธรรม์คืออะไร
การเวนคืนกรมธรรม์คือ การขอยกเลิกกรมธรรม์เดิม เพื่อรับเงินสดจากบริษัทประกัน จะขอเวนคืนได้เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นแล้ว โดยทั่วไปมูลค่าเงินสดจะเกิดขึ้นในปีที่ 2 หรือมีการจ่ายชำระเบี้ยประกันไปแล้ว 2 ปี หลาย ๆ คนเลือกที่จะเวนคืนเมื่อประสบกับปัญหาการเงินและต้องการเงินสดมาหมุนเวียนใช้จ่าย หรือบางครั้งก็เกิดจากการที่ซื้อกรมธรรม์ผิดประเภท และต้องการเปลี่ยนกรมธรรม์ฉบับใหม่ที่มีสัญญาการคุ้มครองตามที่ต้องการ
แน่นอนว่าการเวนคืนกรมธรรม์ต้องมีข้อดีและข้อเสียเสมอ เพื่อให้เราได้นำไปพิจารณาเลือกเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับการใช้ให้มากขึ้น โดยข้อดีนั้นเราสามารถได้รับกรมธรรม์ใหม่ที่ตอบโจทย์มากขึ้น ส่วนข้อเสียคือ เมื่อทำแล้วอยากยกเลิก จะทำได้หลังจากเซ็นเอกสารแค่ 15 วัน หากเลยเวลาที่กำหนดไปแล้ว จะได้รับเป็นเงินสดที่มูลค่าน้อยมาก และการซื้อใหม่ก็ต้องจ่ายเบี้ยแพงกว่าเดิม
ข้อดีของการเวนคืนกรมธรรม์
หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ต้องการเงินก้อน เช่น ตกงานขาดรายได้ ต้องการเงินเพื่อหมุนเวียนธุรกิจ การเวนคืนกรมธรรม์ก็เป็นอีกทางเลือกที่สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องยอมรับได้ว่าเงินที่ได้จากการเวนคืน อาจน้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายไป
สำหรับข้อดีของการยกเลิกกรมธรรม์เราก็มีมาใเพื่อช่วยให้ท่านตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
1. กรณีซื้อประกันชีวิตผิดตั้งแต่ต้น ส่วนใหญ่คนไทยจะซื้อประกันชีวิตเนื่องจากถูกขายมากกว่าอยากซื้อ หลายคนจึงซื้อประกันชีวิตด้วยความเกรงใจ ทั้งจากเพื่อนหรือคนรู้จัก ไม่มีความรู้ความเข้าใจในกรมธรรม์ที่ซื้อ การเวนคืนกรมธรรม์เดิมเพื่อซื้อกรมธรรม์ที่เหมาะสม ก็เหมือนกับการเริ่มต้นใหม่นั่นเอง ทำให้เลือกประกันที่มีความคุ้มครองตามที่ตัวเองต้องการได้
2. กรณีที่กรมธรรม์เดิมไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการ เช่น จากเดิมซื้อกรมธรรม์ที่ทุนประกันสูง ๆ เนื่องจากมีภาระความรับผิดชอบมาก เช่นมีภาระหนี้สินสูง แต่ปัจจุบันภาระความรับผิดชอบลดลง หรือหนี้สิ้นไม่มีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องแบกภาระการจ่ายประกันสูง ๆ เพื่อทุนประกันสูงอีกต่อไป การเวนคืนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย หรือมองหาช่องทางการออมเงินใหม่ที่ดีกว่า ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
3. กรณีที่กรมธรรม์ใหม่ให้ประโยชน์มากกว่ากรมธรรม์เดิม การเลือกซื้อกรมธรรม์ก็เหมือนการตัดเสื้อผ้า ที่ขนาดหรือรูปแบบ เปลี่ยนแปลงไปตามยุค การเลือกเปลี่ยนกรมธรรม์แบบใหม่ที่เหมาะสมกับตัวเองก็น่าจะดีกว่า เช่น อยากซื้อประกันชีวิตที่คุ้มครองการศึกษาของลูก แต่เมื่อลูกเรียนหนังสือจบพ่อแม่เข้าสู่วัยกลางคนหรือใกล้เกษียณ ควรเปลี่ยนมาเลือกซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญแทน เพื่อสร้างกระแสเงินที่มั่นคงในยามเกษียณ
4. เป็นการบริหารรายจ่ายเพราะภาระการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตไม่ควรเกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังหักภาษี เนื่องจากการประกันชีวิต เป็นสัญญาการออมเงินระยะยาวที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา คือ ชำระเบี้ยในจำนวนและภายในเวลาที่กำหนด หากรายได้ในอนาคตไม่แน่นอน แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูง มีภาระต้องจ่ายเบี้ยประกันชีวิตเยอะเกินไป อาจทำให้ไม่สามารถชำระเบี้ยได้ จะเป็นผลเสียต่อแผนการบริหารความเสี่ยงหรือบริหารเงินออม ดังนั้นควารเลือกจ่ายเบี้ยประกันในแบบที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
ข้อเสียของการเวนคืนกรมธรรม์
สำหรับผู้ที่ต้องการเวนคืนกรมธรรม์เพราะจ่ายค่าเบี้ยต่อไปไม่ไหว หรือต้องการใช้เงินก้อน แนะนำให้พิจารณาทางเลือกอื่น อย่างการกู้กรมธรรม์ที่ยังได้รับความคุ้มครองจากประกันดูก่อน หรือต้องการหยุดจ่ายเบี้ยเพื่อทำประกันตัวใหม่ ให้ดูที่ความคุ้มค่าหลังยกเลิกกรมธรรม์ เพราะจะทำให้ได้รับเงินลดลง
สำหรับข้อเสียของการยกเลิกกรมธรรม์เราก็มีเพื่อช่วยให้ท่านตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
1. ถ้าหากจะมีการเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตควรจะทำการเวนคืนหรือยกเลิกภายใน 15 วัน หลังจากที่มีการเซ็นรับเกี่ยวกับเอกสารกรมธรรม์ประกันชีวิต ซึ่งกฏหมายให้สิทธิยกเลิกสัญญาและเวนคืนเงินประกัน โดยจะได้รับเงินที่ชำระไปคืน (มีค่าธรรมเนียมเล็กน้อย) ซึ่งถ้าหากมีการเวนคืนหลังจาก 15 วันไปแล้วนั้น จะได้รับมูลค่าเงินสดหรือที่มีการเรียกกันว่า มูลค่าเงินเวนคืน โดยทั่วไปนั้นจะน้อยกว่าเบี้ยที่ทำการจ่ายไป
2. เมื่ออายุที่มากขึ้น การซื้อประกันชีวิตในรูปแบบเดียวกัน จะต้องทำการจ่ายเบี้ยประกันที่แพงขึ้น เนื่องจากในส่วนของเบี้ยประกันชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นอัตราคงที่ คือปีแรกจ่ายเบี้ยเท่าไหร่ก็จ่ายเท่ากันตลอดอายุกรมธรรม์ ดังนั้นหากเลือกการเวนคืนกรมธรรม์แล้วทำประกันแบบเดิม ก็ต้องจ่ายเบี้ยที่แพงกว่าเดิมไปตลอด ไม่ใช่จ่ายเบี้ยแพงกว่าเดิมแค่ปีแรกปีเดียว แต่หากซื้อประกันคนละเแบบกับของเดิมที่เวนคืน ต้องดูรายละเอียดเบี้ยประกันที่ต้องชำระอีกที เพราะไม่แน่นอนเสมอไปว่าเบี้ยจะแพงขึ้น
3. เวลาทำประกันชีวิตใหม่ ถ้ามีปัญหาสุขภาพบริษัทประกันชีวิตก็อาจไม่รับ หรือถ้ารับก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มหรือยกเว้นไม่คุ้มครองความเสียหายจากโรคที่เป็นอยู่ ขณะที่ประกันชีวิตตัวเดิมอาจให้ความคุ้มครองทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีข้อยกเว้น
เวนคืนกรมธรรม์ คุ้มไหม
จุดมุ่งหมายการยกเลิกกรมธรรม์ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป จะให้ชี้ชัดว่า “คุ้มค่าไหม” เป็นเรื่องที่เราคงจะเจาะจงได้ยากพอสมควร เนื่องจากบางคน การเวนคืนกรมธรรม์ไม่ได้เกิดจากปัญหาทางการเงิน มูลค่าเวนคืนเงินสด คือมูลค่าเงินที่ขอคืนได้ก่อนครบกำหนด ที่บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินคืนตามที่ปรากฏในตารางของมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัย โดยทั่วไปจะเริ่มมีมูลค่าเกิดขึ้นตั้งแต่สิ้นปีที่ 2
โดยทั่วไปส่วนใหญ่ในช่วงปีแรก ๆ ของการทำประกัน มูลค่าของการเวนคืนกรมธรรม์ที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่สูงมากนัก หากผู้เอาประกันจะเวนคืนในช่วงนี้ เงินที่จะได้รับมักจะน้อยกว่าจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป เมื่อเทียบกับการถือกรมธรรม์จนครบสัญญา ซึ่งเงินที่ได้รับจากประกันมักสูงกว่าจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป
สรุป
ก่อนจะเวนคืนกรมธรรม์ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดว่าคุ้มค่าหรือไม่ ควรพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ประกันที่จะซื้อใหม่มีความเหมาะสมกว่าประกันเดิมหรือเปล่า ทุนประกันเพียงพอกับความต้องการหรือระยะเวลาความคุ้มครองเหมาะสมยาวนานแค่ไหน จ่ายเบี้ยประกันไหวหรือไม่ และต้องตรวจสุขภาพตามที่บริษัทประกันแนะนำเพื่อจะได้รับความคุ้มครองเต็ม 100% รวมทั้งมีข้อยกเว้นอะไรบ้าง หากพิจารณาแล้วไม่คุ้มค่าการอยู่กับกรมธรรม์เดิมก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป