รฟท. ชวนนักศึกษาออกแบบอุโมงค์ รถไฟต้องมนต์เด่นชัย-เชียงของ ทำไมคล้ายฮวงซุ้ย
รถไฟต้องมนต์เด่นชัย-เชียงของ อุโมงค์คู่ขนาน ความยาว 1.2 กม.เป็นอุโมงค์แห่งความรัก แรงบันดาลใจจากตำนานรักพระลอ ณ อำเภอสอง การออกแบบใช้ลายผ้าดอกสักเป็นต้นแบบ ระฆังคู่นี้มีนามว่า “ปิยนกังสดาล”
ก่อนอื่นต้องบอกว่าแบบตามรูปยังไม่ใช่แบบ Final นะ ตอนนี้ทาง รฟท. เปิดให้นิสิตนักศึกษาสามารถส่งผลงานการออกแบบเข้าประกวดเพื่อจะนำผลงานนั้นมาใช้อีกทีหนึ่ง
แต่เห็นรูปคร่าวๆ แล้ว ชาวเน็ตต่างรู้สึกว่ามันคุ้นๆ แปลๆ ไม่เป็นมงคลสักเท่าไหร่นะ
รายละเอียด จากแฟนเพจ คือ
รถไฟต้องมนต์เด่นชัย-เชียงของเส้นทางประวัติศาสตร์
*แข่งออกแบบอุโมงค์ตั้งโจทย์”นพกังสดาลภาวนา”
*สร้างอัตลักษณ์ความต่าง4อุโมงค์อลังกาลสายมู
*ความรัก-อายุยืนยาว-โภคทรัพย์-การงานมั่นคง
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า รฟท. เปิดให้นิสิต นักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทุกชั้นปี ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดแนวคิดการออกแบบหน้าปากอุโมงค์ทางเข้า-ออก ในโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์สอง จ.แพร่, อุโมงค์งาว จ.ลำปาง, อุโมงค์แม่กา จ.พะเยา และอุโมงค์ดอยหลวง จ.เชียงราย
ภายใต้แนวคิด “นพกังสดาลภาวนา” คำอธิษฐานศรัทธาต่อ 9 ระฆังมงคลที่จะสถิตอยู่หน้าปากอุโมงค์ ซึ่งได้รับการพุทธาภิเษกจากครูบาที่เป็นศูนย์รวมจิตใจอริยสงฆ์ทั้ง 9 แห่งล้านนา เพื่อความเป็นสิริมงคล
รถไฟสายใหม่นี้เป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ ที่ชาวแพร่ ลำปางในเขตอำเภอเมืองงาว พะเยา และเชียงราย รอคอยกันมายาวนาน มีแผนตั้งแต่ปี 2507
จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้ดำเนินโครงการฯ รฟท. จึงมีความคิดจะส่งเสริมคุณค่า สร้างศรัทธา ความรัก ความหวงแหน และให้ทางรถไฟสายนี้ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่
รวมถึงเป็นเส้นทางที่ทุกคนต้องมาเยือน โดยสื่อผ่าน 9 ระฆังมงคลที่จะสถิตอยู่หน้าปากอุโมงค์ทั้ง 4 และปลายทางสถานีเชียง โดยทั้ง 4 อุโมงค์มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
1.อุโมงค์สอง ความยาว 1.2 กม.เป็นอุโมงค์แห่งความรัก แรงบันดาลใจจากตำนานรักพระลอ ณ อำเภอสอง การออกแบบใช้ลายผ้าดอกสักเป็นต้นแบบ ระฆังคู่นี้มีนามว่า “ปิยนกังสดาล”
2.อุโมงค์งาว ความยาว 6.2 กม. เป็นอุโมงค์แห่งอายุ สุขี เพราะมีความยาวมากที่สุดในไทย สื่อถึงการมีอายุที่ยืนยาว สุขภาพแข็งแรง การออกแบบใช้ไม้สัก เป็นไม้ยืนต้น และเป็นไม้ประจำจังหวัดแพร่ ระฆังคู่นี้มีนามว่า “อิทธิกังสดาล”
3.อุโมงค์แม่กา ความยาว 2.7 กม. เป็นอุโมงค์แห่งโภคทรัพย์ เพราะมีลักษณะภูเขา คล้ายเบี้ยโบราณแทนความอุดมสมบูรณ์ มีแรงบันดาลใจออกแบบเป็นนกยูงไทย ซึ่งจังหวัดพะเยา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเหล่านกยูงธรรมชาติหนาแน่นที่สุด ทั้งยังเป็นสัตว์มงคลงดงาม ระฆังคู่นี้มีนามว่า “นะชาลีติกังสดาล”
4.อุโมงค์ดอยหลวง ความยาว 3.4 กม. เป็นอุโมงค์แห่งหน้าที่การงาน เพราะชื่อดอยหลวง เป็นชื่อมงคลนาม สื่อถึงราชการการงาน มีช้างสีขาวใต้เมฆสัญลักษณ์ประจำจังหวัด และสอดคล้องกับการสื่อถึงการงานที่สำเร็จมั่นคง ระฆังคู่นี้มีนามว่า “อิทธิกังสดาล”
สำหรับระฆังใบที่ 9 จะสถิตกลางสถานีเชียงของ ปลายทางรถไฟมีนามว่า “สัมฤทธิ์ภาวนากังสดาล” สำเร็จทุกปรารถนา ส่งผลงานได้ภายในวันที่ 15 มิ.ย.66 ตัดสินผลงานวันที่ 16-30 มิ.ย.66 ประกาศผลตัดสินวันที่ 1 ก.ค.66
ผู้ชนะและแบบที่ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างจริง จะได้รับการสลักชื่อผู้ออกแบบ บนแผ่นทองเหลืองบริเวณอุโมงค์ทั้ง 4 แห่ง และจะได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาระหว่างก่อสร้างด้วย