ถนนที่สร้างขึ้นแห่งแรกในประเทศไทย
ถนนเจริญกรุง (อักษรโรมัน: Thanon Charoen Krung) ถนนสายสำคัญสายหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นตั้งแต่ถนนสนามไชยบริเวณวงเวียน รด. หน้าหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และหลังจากตัดกับถนนพระรามที่ 3 แล้ว ถนนเจริญกรุงจะมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าถนนตก จนไปสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และการไฟฟ้านครหลวงเขตยานนาวา โดยเป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตก ผ่านพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตสาทร และเขตบางคอแหลม และเป็นเส้นแบ่งของเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (ด้านซ้าย) กับเขตสัมพันธวงศ์ (ด้านขวา) ตั้งแต่ช่วงสะพานเหล็กบนไปจนถึงบริเวณแยกหมอมี
ถนนแก้ไข
ถนนเจริญกรุงเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404[1] แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2407 มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 19,700 บาท การก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้นเนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น และมีพวกกงสุลได้เข้าชื่อกันขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศและอ้างว่า “เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนือง ๆ”
ในปีระกา พ.ศ. 2404 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นนายงาน รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางคอแหลม เรียกว่าถนนเจริญกรุงตอนใต้ (แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าเจริญกรุงตอนล่าง) กว้าง 5 วา 4 ศอก (ประมาณ 10 เมตร หรือเทียบได้กับถนน 4 เลน) โดยมีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (ต้นสกุลเศวตศิลา) เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนนลักษณะสองข้างถนนมีคันหินขนาบ และมีร่องสำหรับระบายน้ำ ก่ออิฐกว้าง 40 เซนติเมตร ลึก 60 เซนติเมตร พื้นถนนยังมีสภาพไม่ดีนัก เพราะไม่มีการลงฐาน ใช้วิธีการทุบพอให้ดินเรียบ ๆ แล้วเอาอิฐเรียงตะแคง อัดให้แน่นด้วยดินหรือทราย ถมตรงกลางให้นูนขึ้นแบบหลังเต่าเพื่อระบายน้ำลงสองข้างเวลาฝนตก เมื่อการตัดถนนแล้วเสร็จใหม่ ๆ สภาพถนนยังไม่เรียบร้อย ในฤดูแล้งมีฝุ่น ส่วนฤดูฝนเป็นโคลนตม[2]
ในปีจอ พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง พระยาบรรหารบริรักษ์ (สุ่น) เป็นนายงาน รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน คือช่วงระยะทางตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน) กว้าง 4 วา โดยสร้างเป็นถนนดินอัด เอาอิฐเรียงตะแคงปูให้ชิดกัน ตรงกลางนูนสูง เมื่อถูกฝนไม่กี่ปีก็ชำรุด การก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนในนี้เดิมกำหนดให้ตัดตรงจากสะพานดำรงสถิต ถึงกำแพงเมืองด้านถนนสนามไชย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทักท้วงว่าการสร้างถนนตรงมาสู่พระบรมมหาราชวังอาจเป็นชัยภูมิให้ข้าศึกใช้ตั้งปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงเมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนแนวถนนมาหักมุมเลี้ยวตรงเชิงสะพานดำรงสถิต[3]
เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า นิวโรด (New Road) ชาวจีนเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ซิงพะโล่ว (จีน: 新打路) แปลว่าถนนตัดใหม่[4] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า "ถนนเจริญกรุง" ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนครซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน ดังความว่า
"ทางที่ทำใหม่ตรงวัดพระเชตุพน ตรงออกไปนอกกำแพงข้ามคลองไปริมบ้านแขกเมืองเขมร เลี้ยวไปถึงป้อมปัจนึกแล้วข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ตรงลงไปถึงบางคอแหลมนั้น โปรดเกล้าฯให้เรียกว่า ถนนเจริญกรุง ห้ามอย่าให้เรียกอย่างอื่นต่อไป จดหมายประกาศให้ราษฎรรู้จงทั่ว"[5]
อ้างอิงจาก
""ความเรื่องมาก" ของฝรั่งกับการสร้างถนนในสมัยรัชกาลที่ 4". ศิลปวัฒนธรรม.
ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา. (2531). พระบรมราชจักรีวงศ์กับกรุงเทพมหานคร. หน้า 30.
""พระปิ่นเกล้าฯ" ทรงค้านตัดตรง "ถนนเจริญกรุง" จากสามแยกสู่พระนคร ?!?". ศิลปวัฒนธรรม.
ย่านเก่าในบางกอก. "ประวัติถนนเจริญกรุง". สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
กรมศิลปากร.(2547). ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4. หน้า 503.