“สะพานประตูจีน” ซากสะพานโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา
++++++++++++++++++
กรุงศรีอยุธยามีแม่น้ำสามสายล้อมรอบทั้งสี่ด้าน จนมีสภาพเหมือนเกาะ
ในเกาะเมืองมีคลองขนาดใหญ่สายหนึ่ง (คลองนี้มี 2 ชื่อ) วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ เป็นคลองขุดแยกออกจากคลองเมืองหรือแม่น้ำลพบุรีเดิมตรงบริเวณป้อมประตูข้าวเปลือกทางด้านทิศเหนือ เรียกว่า “คลองประตูข้าวเปลือก”
ส่วนท้ายของคลองสายนี้ตรงไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือข้ามไปวัดขุนพรหม ทางด้านทิศใต้ของเกาะเมือง เรียกว่า “คลองประตูจีน”
“คลองประตูข้าวเปลือก-คลองประตูจีน” นอกจากจะเป็นคลองที่ใช้ระบายน้ำจากแม่น้ำลพบุรีลงมาออกเจ้าพระยาในฤดูน้ำหลากแล้ว ยังเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของคนกรุงศรีอยุธยา ตัดผ่านวัดสำคัญอย่างวัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา สองฟากฝั่งคลองเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวต่างชาติ มีย่านการค้ากว่าสิบแห่งตั้งอยู่เรียงราย และยังมีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีการช่วงชิงอำนาจราชสมบัติเกิดขึ้นหลายครั้ง
เป็นสิ่งน่าเสียดายที่ในวันนี้ คลองประตูข้าวเปลือก-คลองประตูจีน สิ้นสภาพความเป็นคลองเสียแล้ว แต่แนวคลองอาจอนุมานได้จากแนวถนนชีกุนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นถนนที่ตัดคู่ขนานกันแนวคลองในอดีตทางฝั่งตะวันตก
เมื่อมีคลองก็ย่อมมีสะพาน ตลอดแนวคลองประตูข้าวเปลือก-คลองประตูจีน เคยมีสะพานข้ามคลองทั้งที่ทำจากศิลาแลง อิฐ และไม้ อยู่ถึง 6 สะพาน
“สะพานประตูจีน” ที่เห็นในรูป เป็นร่องรอยสะพานข้ามคลองประตูจีนที่ยังหลงเหลืออยู่ ตัวสะพานก่อด้วยอิฐ ตรงกลางเจาะเป็นช่องโค้งให้เรือลอดผ่านได้ ในอดีต บริเวณนี้เป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ที่เข้ามาตั้งบ้านเรือน และทำมาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา
“…เชิงสะพานประตูจีนไปเชิงสะพานประตูในไก่ เป็นย่านจีนอยู่ตึกทั้งสองฟากถนนหลวง นั่งร้านขายของสรรพเครื่องสำเภา ไหม แพร ทองขาว ทองเหลือง ถ้วย โถ ชาม เครื่องสำเภาครบ…” (จากหนังสือ อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์ฯ)
แม้ในปัจจุบัน คงแทบไม่มีใครจดจำ คลองประตูข้าวเปลือก-คลองประตูจีน ได้อีกแล้ว และ สะพานประตูจีน ก็ไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมผู้คนสองฝั่งคลองให้สัญจรไปมาหาสู่กันเหมือนเก่า
แต่อย่างน้อยซากอิฐปูนที่หลงเหลืออยู่ ก็ยังคงเล่านขานเรื่องราวความผูกพัน ความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี ให้หลายคนที่ผ่านไปผ่านมาได้รับฟังอยู่เสมอ