อ.เจษฏา โพสเตือน "ไม่ควรเอาน้ำหมักชีวภาพ ไปเทตามแม่น้ำลำคลองครับ"
ล่าสุดอ.เจษฏา ได้ออกมาโพสชี้แจงดังนี้..
มีคนส่งข่าวนี้มาฟ้อง เรื่องที่วันก่อน ทางผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ไปร่วมกันปลูกต้นไม้ที่บริเวณเกาะกลางของถนนอักษะ ในกิจกรรม "ผู้ว่าฯ สัญจร เขตทวีวัฒนา" (ดู https://www.facebook.com/prbangkok/posts/538221228486031) ซึ่งมีการนำเอา "น้ำหมักชีวภาพ" ไปเทลงในคลอง บริเวณสะพานธรรมสันติด้วย !?
ก็ขอนำเอาโพสต์เก่าที่เคยเขียนไปนานแล้ว (และก็รีโพสต์อยู่เรื่อยๆ) มาย้ำเตือนซ้ำ ถึงความเข้าใจผิดๆ ทำตามกระแสมายาคติกัน ของการเอาน้ำหมักชีวภาพ น้ำอีเอ็ม มาเทลงไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามลำคลอง .. ซึ่งไม่ควรทำครับ ! นอกจากจะไม่ได้ผลดีจริงอย่างที่เชื่อตามกันมา ยังส่งผลเสียต่อแหล่งน้ำด้วย !
น้ำหมักชีวภาพ หรือน้ำอีเอ็มนั้น มีส่วนผสมของจุลินทรีย์หลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกเชื้อแบคทีเรีย และเมื่อลงไปในแหล่งน้ำ มันก็จะเจริญเติบโตด้วยการนำเอา "ออกซิเจน" ในน้ำไปใช้ย่อยสลายสารอินทรีย์เป็นอาหาร ตามปรกติของชีวิตมัน และทำให้น้ำมีระดับออกซิเจนน้อยลง ยิ่งในน้ำมีสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่มาก แบคทีเรียอีเอ็มพวกนี้ก็จะยิ่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียจากการขาดออกซิเจนขึ้นกว่าเดิม
ส่วนที่มีการอ้างว่ามีจุลินทรีย์ชนิดที่สังเคราะห์แสงได้ เลยจะได้มีออกซิเจนเพิ่มขึ้นในน้ำ นั่นก็เป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากว่าแบคทีเรียพวกนี้ไม่ได้สร้างออกซิเจนขึ้น แต่ยังใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายสารเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าสามารถนำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาใช้ในชีวิตมันได้ด้วย
นอกจากนี้ จุลินทรีย์ใน EM สามารถทำงานได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจน (Aerobic conditions) และไม่มีออกซิเจน (Anaerobic conditions) จึงควรนำเอาน้ำหมักชีวภาพหรือน้ำอีเอ็มไปใช้กับการบำบัดสารอินทรีย์ในสุขาและการหมักขยะเพื่อทำปุ๋ยเท่านั้น ซึ่งจะไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องการใช้ออกซิเจนของจุลินทรีย์
ข้อมูลจากบทความ "วิศวะจุฬาวิจัย “EM ไม่ได้ช่วยในการบำบัดน้ำเสีย” และ “เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค” https://thinkofliving.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%AC%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2-em-%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84-6848/
อ่านในรายละเอียดของโพสต์เก่า ด้านล่างนี้ครับ
-------------------------
(รีโพสต์) "นอกจาก EM ball แล้ว น้ำ EM ก็ไม่ควรเอาไปเทตามลำคลองเช่นกันครับ"
อีกหนึ่งมายาคติผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องเชื้อจุลินทรีย์ EM ที่ถูกมีใจมาให้ใช้เพียงแค่การหมักปุ๋ยหมักขยะหรือล้างห้องน้ำ แต่ถูกเอาไปโปรโมทใช้เกินจริง อย่างเช่น การเอาไปทำเป็นอีเอ็มบอลโยนในพื้นที่น้ำท่วม หรือการทำน้ำอีเอ็มมาเทตามคูคลองแบบนี้
หลายชุมชนมักทำกิจกรรมเทน้ำหมัก EM ลงตามคูคลองของชุมชนตนเอง ดังเช่นในภาพประกอบนี้ ด้วยหวังว่าจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น
แต่ความจริงแล้ว มันกลับกัน เพราะจะกลับกลายเป็นทำให้น้ำเน่าเสียมากกว่าเดิม !! ดังการทดลองในอดีต เมื่อปี 2546 ที่ นิด้า กรุงเทพมหานคร และกองทัพบกได้ทดลองใช้ EM บำบัดน้ำเสียใน "คลองแสนแสบ"
กลายเป็นว่าคุณภาพน้ำแย่ลงกว่าเดิม ค่าออกซิเจนละลายยังคงเป็นศูนย์ ยังคงเป็นน้ำเสีย แถมน้ำยังดำขึ้น เหม็นขึ้นกว่าเดิมด้วย
ลองอ่านรายละเอียดและผลการทดลองครั้งนั้น ได้ตามข่าวข้างล่างนี้นะครับ ... หวังว่าคงจะฉุกใจคิดกันได้มากขึ้นนะครับ จะได้ปรับเปลี่ยนกิจกรรม ที่อุตส่าห์ลงแรงลงกล้าทำกัน ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
-------
(นสพ. แนวหน้า, 30 กันยายน 2546)
ตามที่กทม.ร่วมกับสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)และกองทัพบก จัดโครงการฟื้นฟู คุณภาพคลองแสนแสบ โดยการทิ้งสารชีวภาพหรือ EM ก้อนดังโหงะ และปุ๋ยชีวภาพลงในคลองแสนแสบ ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม จนสิ้นสุดระยะโครงการวันที่ 20 กันยายน 2546 ซึ่งเป็นวันอนุรักษ์คูคลองและแม่น้ำแห่งชาตินั้น
รายงานข่าวจากสำนักระบายน้ำ(สนน.) กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ สนน.ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นประจำต่อเนื่อง และได้ทำรายงานสรุปผลเสนอ นาง ณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2546 ที่ผ่านมา โดย นายสนั่น โตทอง รองปลัดฯ ลงนามรับทราบ สามารถสรุปได้ดังนี้ เมื่อมีการทิ้งสาร EM ก้อนดังโหงะ และปุ๋ยชีวภาพลงในคลองแสนแสบ ขณะที่น้ำในคลองมีการไหล ไม่ได้ทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น กลับทำให้ออกซิเจนลดลงมีค่าเป็นศูนย์ ส่งผลให้น้ำเน่าเสียมากยิ่งขึ้นถ้าใส่ในปริมาณที่มากๆ โดยได้เก็บตัวอย่างน้ำทั้งก่อน และหลังการทิ้งสารชีวภาพไปตรวจสอบ พร้อมจดบันทึก ค่าที่วัดได้อย่างละเอียดทุกสัปดาห์
สำหรับบริเวณที่มีการเก็บตัวอย่างน้ำ ได้แก่ บริเวณท่าน้ำวัดศรีบุญเรือง ค่าความสก ปรกก่อนเติมสารอยู่ที่ 7.5 ปริมาณออกซิเจนมีค่าเป็น 0 หลังเติมสารพบค่าความสกปรก เพิ่มขึ้นเป็น 12 ส่วนค่าออกซิเจนเป็น 0 เช่นเดิม นอกจากนี้ที่ท่าเรือคลองตันและท่าเรือราชเทวีค่าความสกปรก ก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และค่าออกซิเจนก็เป็น 0 ซึ่งแสดงว่าสารชีวภาพ ไม่ได้ทำให้คุณภาพน้ำในคลองดีขึ้นตรงกันข้ามกลับทำให้แย่ลง เป็นห่วงว่าประชาชนจะนำไปใช้ในทางผิดๆ จะส่งผลให้น้ำเสียมากขึ้น เพราะขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใด ที่ตรวจสอบอย่างจริงจัง ที่สำคัญอาจทำให้เชื้อโรค เชื้อรา แบคทีเรียในน้ำแพร่กระจายเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้สนน.ยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองหลังวัดเทพลีลาว่า หลังจากได้ข่าวกทม.น้ำสารชีวภาพเติมลงในคลองแสนแสบ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำ ให้ดีขึ้นจึงได้นำสารชนิดนี้เทลงในคลองเช่นเดียวกัน ปรากฎทำให้น้ำมีสีเขียวและกลายเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเห็นรบกวนมากกว่าเดิม สนน.เคยนำเรื่องนี้เข้าไปพูดในที่ประชุมแล้ว แต่ทาง นิด้าไม่ยอมฟังเสียง ยืนยันจะเดินหน้าต่อไป ส่วนทหาร มีทีท่าถอยๆ ออกมาบ้างแล้ว ซึ่ง สนน.เสนอแนะให้ทดลองทำในบริเวณที่ควบคุมได้เช่น ที่กักเก็บน้ำเน่าเสีย แต่ไม่มีใครฟัง เช่นเดิม อย่างไรก็ตามกรมควบคุมมลพิษได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษา ผลกระทบของการใช้สารชีวภาพแล้ว
ที่มา ข่าวตัดสิ่งแวดล้อมรายวัน http://library.pcd.go.th/Multimedia/News/2546/9/30/4.pdf
(ข่าวนี้โพสต์ไว้เว็บไซต์ https://eminscience.wordpress.com/2011/11/07/%E0%B8%97%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89-em-%E0%B8%9A%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%83/ )
------------------------------