รู้หรือไม่? อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยเกือบจะได้เป็นประธานาธิบดีอิสราเอล
รู้หรือไม่? อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยเกือบจะได้เป็นประธานาธิบดีอิสราเอล
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และเดวิด เบนกูเรียน นายกรัฐมนตรีคนแรกของ อิสราเอล (ภาพจาก Wikimedia)
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก จากผลงานการคิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ทำให้เขาขึ้นชั้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่รู้หรือไม่ครั้งว่าหนึ่ง ไอน์สไตน์ได้รับข้อเสนอให้ก้าวสู่วงการการเมือง และเกือบจะได้เป็นประธานาธิบดีของประเทศเกิดใหม่ อย่าง “อิสราเอล” มาแล้ว
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด
ได้มีการก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นใน ค.ศ. 1948 จากการสนับสนุนของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีนายกรัฐมนตรีคนแรก คือ เดวิด เบน-กูเรียน (David Ben-Gurion) และประธานาธิบดีคนแรก คือ ชาอิม ไวซ์มัน (Chaim Weizman)
วันที่ 9 พฤศจิกายน 1952 ไวซ์มันเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ทำให้ เบน-กูเรียนต้องหาบุคคลที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับจากประชาชนมาเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ซึ่งคนที่เขาหมายตาไว้ก็คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นั่นเอง
เหตุที่เป็นไอน์สไตน์ เพราะเบน-กูเรียนเห็นว่า นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องมีเชื้อสายยิว บวกกับชื่อเสียงและความสามารถของไอน์สไตน์ก็เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ด้วยเหตุผลทุกข้อประกอบกัน ย่อมทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเกิดใหม่อย่างอิสราเอลเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลกมากขึ้น เพราะขณะนั้นอิสราเอลยังไม่ได้รับการยอมรับทางการทูตจากหลายประเทศ เหตุจากกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับชาวปาเลสไตน์และประเทศอาหรับข้างเคียงที่เป็นศัตรูกับพวกเขา
เบน-กูเรียนติดต่อไอน์สไตน์ผ่าน แอ็บบา อีแบน (Abba Eban) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ไอน์สไตน์อาศัยอยู่ (ไอน์สไตน์เป็นชาวเยอรมัน เชื้อสายยิว แต่ลี้ภัยออกนอกประเทศในช่วงที่พรรคนาซีปกครองเยอรมนี และมีนโยบายกดขี่ชาวยิว
ภายหลังเขาเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน) ให้ทาบทามไอน์สไตน์มารับตำแหน่งประธานาธิบดีอิสราเอล ซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ต้องบริหารประเทศ เพราะมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลทำหน้าที่อยู่แล้ว
ข้อเสนอของเบน-กูเรียนมีเงื่อนไขว่า หากไอน์สไตน์ตกลงยอมรับข้อเสนอ จะต้องสละสัญชาติอเมริกันและเปลี่ยนมาถือสัญชาติอิสราเอล รวมทั้งต้องย้ายไปอยู่อิสราเอล และแม้จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่รัฐบาลอิสราเอลก็จะยังคงอนุญาตให้ไอน์สไตน์มีส่วนร่วมต่อวงการวิทยาศาสตร์เหมือนเดิม และจะสนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ ของเขาด้วย
อย่างไรก็ตาม ไอน์สไตน์ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว
ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน เช่น อายุมาก เพราะตอนได้รับข้อเสนอ เขามีอายุ 73 ปีแล้ว ซึ่งในความเห็นของไอน์สไตน์คือตัวเองแก่เกินไปที่จะเข้าสู่แวดวงการเมือง ประการที่สอง ไอน์สไตน์ลงหลักปักฐานที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1933 นับเป็นเวลาเกือบ 20 ปี จึงเกิดความผูกพันกับประเทศนี้ การต้องย้ายไปอาศัยในประเทศอื่นที่ไม่มีความผูกพันเป็นสิ่งที่เขาไม่ชอบอย่างมาก
ประการสุดท้าย
ไอน์สไตน์คิดว่าตัวเขาไม่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน ไอน์สไตน์มองว่ายังมีคนที่เหมาะสมกว่าอีกหลายคน ที่ควรได้รับโอกาสเข้ามาทำงานการเมืองในตำแหน่งนี้ ดังคำกล่าวของเขาว่า
“ผมรู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณอย่างยิ่งต่อข้อเสนอของรัฐบาลอิสราเอล แต่ผมต้องขอปฏิเสธและขออภัยเป็นอย่างยิ่ง ผมขาดทั้งความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารจัดการคน”
เมื่อไอน์สไตน์ปฏิเสธข้อเสนอ ตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่จึงตกเป็นของ ยิตซัก เบน-ซวี (Yitzhak Ben-Zvi) นักการเมืองอิสราเอลผู้มีความสามารถอีกคนหนึ่ง ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอิสราเอลเกือบ 11 ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 1952 ถึงเดือนเมษายน ปี 1963