ที่มาต้นกำเนิดของ สัญญาณ "ว้าว !"
ดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวคนถือธนูอาจส่งสัญญาณ "ว้าว !" มาถึงโลกเมื่อ 43 ปีก่อน
ที่มาของชื่อสัญญาณ "ว้าว!" เกิดจากคำอุทานที่นักวิทยาศาสตร์เขียนไว้ตรงริมขอบกระดาษที่เต็มไปด้วยข้อมูลรหัส
ในวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1977 กล้องโทรทรรศน์วิทยุบิ๊กเอียร์ (Big Ear radio telescope) ในรัฐโอไฮโอของสหรัฐฯ สามารถตรวจจับสัญญาณวิทยุกำลังสูงในย่านความถี่แคบจากห้วงอวกาศได้เป็นเวลา 72 วินาที ซึ่งผลวิเคราะห์เทียบเคียงกับสัญญาณจากนอกโลกอื่น ๆ ชี้ว่า สัญญาณนี้มีความเป็นไปได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ ที่จะเป็นการสื่อสารจากมนุษย์ต่างดาว
นักดาราศาสตร์ในโครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาวหรือเซติ (SETI) เรียกชื่อสัญญาณปริศนานี้ว่า "ว้าว !" (Wow! signal) ตามคำอุทานด้วยความประหลาดใจที่นักดาราศาสตร์ผู้หนึ่งเขียนไว้ตรงริมขอบกระดาษซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลรหัส พร้อมกับวงกลมส่วนที่บันทึกข้อมูลประหลาด "6EQUJ5" เอาไว้ด้วย
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า นักดาราศาสตร์ของเซติไม่สามารถตรวจจับสัญญาณข้างต้นได้ซ้ำอีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว และจนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบแหล่งที่มาของสัญญาณว้าว ! อย่างแน่ชัด เพียงสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากกลุ่มดาวคนถือธนูหรือซาจิตทาเรียส (Sagittarius) เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนายอัลเบอร์โต คาบัลเลโร นักดาราศาสตร์สมัครเล่น ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยเรื่องดังกล่าวผ่านคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org โดยอ้างว่าเขาสามารถติดตามค้นหาแหล่งกำเนิดของสัญญาณว้าว ! ได้แล้ว โดยชี้ว่าน่าจะเป็นดาวฤกษ์ที่มีลักษณะคล้ายกับดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา และเป็นหนึ่งในดาวฤกษ์หลายดวงของกลุ่มดาวคนถือธนูนั่นเอง
ภาพถ่ายบางส่วนของกลุ่มดาวคนถือธนูหรือซาจิตทาเรียส บันทึกไว้โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
นายคาบัลเลโรใช้วิธีค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) ที่เหมาะสมต่อการกำเนิดชีวิต ซึ่งอยู่ในบริเวณขอบเขตของท้องฟ้าที่สัญญาณว้าว ! ถูกส่งมา รวมทั้งค้นหาดาวฤกษ์ศูนย์กลางที่ดาวเคราะห์ประเภทดังกล่าวโคจรวนรอบอยู่ด้วย
โดยใช้ฐานข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศกายอา (Gaia) ซึ่งกำลังทำแผนที่สามมิติของกาแล็กซีทางช้างเผือก และรวบรวมข้อมูลของดาวฤกษ์ไว้ถึง 1.3 พันล้านดวง
อ้างอิงจาก: วิกิพีเดีย,BBC