อ.เจษฏา เฉลย วัตถุบินลึกลับเมื่อคืนบินอยู่เหนือท้องฟ้า!!🛸
"วัตถุบินลึกลับเมื่อคืน คาดว่าเป็นจรวดของจีนครับ"
มีคำถามจากทางบ้านเกี่ยวกับ คลิปวิดีโอที่บันทึก "วัตถุบินลึกลับ" แถวจังหวัดหนองคาย โดยถามว่า "อาจารย์ครับ อยากทราบว่าเหตุการณ์นี้คืออะไรครับ เป็นคลิปที่คนรู้จักถ่ายไว้ครับ จาก อ. สังคม จ. หนองคายครับ"
ซึ่งคลิปดังกล่าวนั้น มีความยาวประมาณ 30 วินาที เห็นวัตถุที่มีแสงจ้าและมีปลายหางยาว คล้ายดาวหาง แต่เคลื่อนที่เร็วกว่า พร้อมแคปชั่นบนคลิปว่า "ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร 15 มีนาคม 2566 เวลา 18.50 น."
จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า ทางเพจเฟซบุ้คของ สมาคมดาราศาสตร์ไทย (https://www.facebook.com/messages/t/100001293485369/) ได้โพสต์รูปภาพทำนองเดียวกับ และข้อความประกอบว่า "🚀 วานนี้มีผู้พบเห็นวัตถุปริศนาทางฟ้าตะวันตก เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นจรวด Long March 11 ของจีน ที่บรรทุกวัตถุลึกลับชื่อ Shiyan 19 ขึ้นสู่อวกาศ ขอบคุณภาพจาก ปนัดดา แมนสถิตย์ "
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไชน่าเดลี่ ของจีน (https://global.chinadaily.com.cn/a/202303/16/WS641288b0a31057c47ebb4d5a.html) ได้รายงานเกี่ยวกับความสำเร็จในการปล่อยจรวด Long March 11 พร้อมดาวเทียม Shiyan 19 เมื่อวันพุธที่ 15 มีนาคม 2023 เวลา 6:41 PM GMT+0700 ไว้ดังข่าวด้านล่างนี้ครับ
"จรวดลองมาร์ชของจีน ได้ประสบความสำเร็จในการปล่อยแล้ว ถึง 16 ครั้งติดต่อกัน "
สถาบันเทคโนโลยีจรวดขนส่งแห่งชาติจีน (China Academy of Launch Vehicle Technology – CALT) ภายใต้บริษัท วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (China Aerospace Science and Technology Corporation- CASC) ได้แถลงว่า เมื่อเย็นวันพุธที่ผ่านมา จรวด Long March 11 ได้ส่งดาวเทียมการทดลอง Shiyan 19 ขึ้นสู่อวกาศ จากศูนย์ส่งดาวเทียม จิ่วเฉฺวียน (Jiuquan Satellite Launch Center) ในมณฑลกานซู่ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน และนับเป็นครั้งที่ 16 แล้ว ที่จรวดนี้ประสบความสำเร็จในการปล่อย ตั้งแต่ที่เริ่มให้บริการในปี ค.ศ. 2015
จรวดขนส่งลองมาร์ช 11 เป็นจรวดขนาด 4 ท่อน ความยาวประมาณ 21 เมตร หนักประมาณ 57.7 ตัน และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ส่งยานอวกาศขนาดเล็กขึ้นสู่วงโคจรต่ำ ในระดับ วงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Solar Synchronous Orbit - SSO) และระดับ วงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit - LEO) โดยมีความสามารถในการขนส่งของหนักถึง 500 กิโลกรัมไปสู่ระดับวงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ได้