เปิดตำนาน..สบู่ตรานกแก้ว!!
วอลเตอร์ เลโอ ไมเยอร์ เจ้าของตำนาน..#สบู่ตรานกแก้ว
จากบ้านเกิดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พรหมลิขิตได้ขีดเส้นให้ วอลเตอร์ เลโอ ไมเยอร์ อดีตประธานกรรมการของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ต้องเดินทางเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ประเทศที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลยในชีวิต และไม่เคยคาดคิดว่าจะเป็นที่ตั้งของ "ไมเยอร์ พาร์ค" บ้านหลังสุดท้ายในชีวิต ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 18 ไร่ ริมคลองประปา ถนนแจ้งวัฒนะ
ในวัย 87 ปี วอลเตอร์ ไมเยอร์ ยังคงแข็งแรง และเต็มไปด้วยความจำที่แม่นยำในอดีตของเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมา (บทความนี้เขียนเมื่อ 6 ปีที่แล้วโดยปัจจุบันท่านเสียชีวิตแล้วด้วยวัย 93 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2551) โดยเฉพาะเรื่องราวการเกิดขึ้นของสบู่หอมนกแก้ว ที่มีเรื่องราวเชื่อมโยงร้อยรัดกับเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด บริษัทที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยาวนานถึง 120 ปี ผ่านมาถึง 5 รัชสมัยแห่งพระราชวงศ์ ฝ่าอันตรายมาจากสงครามโลกถึง 2 ครั้ง 2 ครา รวมทั้งวิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในเมืองไทยอีกหลายครั้ง จนสุดท้ายวันนี้ได้ตกอยู่ภายใต้การบริหารของคนไทย คือ เจริญ สิริวัฒนภักดี
กอกุหลาบสีแดงสดใส ล้อมรอบน้ำพุขนาดใหญ่ บริเวณด้านหน้าบันไดของ "ชาโตว์ โอลิเวีย" บ้านหลังแรกในไมเยอร์ พาร์ค ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของวอลเตอร์ ไมเยอร์ และโอลิเวีย ผู้เป็นภรรยา เพื่อรำลึกถึงชีวิตในวัยเยาว์ ก่อนลงมือสร้างบ้าน วอลเตอร์ได้ส่งสถาปนิกจากบริษัทเทคนิคโนวาไปดูแบบบ้านในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเป็นแนวคิดในการออกแบบ ในขณะที่การตกแต่งภายในตัวบ้านจะมีการผสมผสานทั้งแบบยุโรป และไทย
ไมเยอร์ พาร์ค มีบ้านหลังใหญ่ทั้งหมดรวม 5 หลัง เรียงรายกันอยู่อย่างเงียบสงบ ท่ามกลางไม้ประดับที่ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม และพรรณไม้ใหญ่ เช่น ประดู่ ลั่นทม ที่ปลูกไว้ริมรั้ว และคั่นระหว่างตัวบ้านแต่ละหลัง
จากประตูใหญ่จนถึงประตูอีกด้านหนึ่งยาวประมาณ 315 เมตร เป็นที่ที่ได้ถมทำถนนส่วนตัว ริมทางเดินจะมีต้นเข็มตัดเป็นระเบียบเลียบกำแพง พื้นที่ส่วนหนึ่งของไมเยอร์ พาร์ค เป็นสวนสาธารณะและสระน้ำขนาดย่อม เพื่อให้คนในบ้านทุกหลังได้ใช้เป็นที่พักผ่อนร่วมกัน
วอลเตอร์ซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว และวางแผนการไว้ว่าจะสร้างอาณาจักรของครอบครัวให้มาอยู่รวมกัน เป็นความสุขอย่างหนึ่งในช่วงบั้นปลายของชีวิตที่เขาคาดหวังไว้ และบ้านทั้งหมดเพิ่งทยอยสร้างเสร็จเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา
ตัวบ้านชั้นล่างของวอลเตอร์ กว้างขวาง มีชุดรับแขกเรียงรายตามจุดต่างๆ มีโต๊ะรับประทานอาหารขนาดใหญ่ และในห้องๆ หนึ่งของชั้นนี้ มีโต๊ะ ตั่ง เตียง แบบไทยโบราณ ภายในตู้โชว์ก็จะประกอบไปด้วยเครื่องถ้วยชามของไทยที่เก็บสะสมไว้ และในห้องนี้เอง ที่เขาจะเก็บรูปถ่ายเก่าแก่ในอดีตเมื่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ของเมืองไทย รวมทั้งภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตเกี่ยวกับตนเอง เป็นห้องที่เขามีเรื่องเล่า และระลึกถึงอย่างมีความสุขกับผู้มาเยือนทุกครั้งไป
มองออกไปภายนอกบ้านผ่านกระจกใส ด้านหน้าจะเห็นสวนดอกไม้ที่สวยงาม ส่วนด้านข้างจะเป็นสระว่ายน้ำและภูเขาจำลองที่มีน้ำตกขนาดใหญ่ ที่เจ้าของบ้านบอกว่า ดูแล้วจะคิดถึงภูเขาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในวัยหนุ่ม วอลเตอร์เป็นคนชอบธรรมชาติ ชอบทะเล และ ชอบเดินป่าล่าสัตว์อย่างมาก "นกแก้ว" แบรนด์ของสบู่สูตรที่เขาคิดค้นขึ้นมาก็ได้มาจากการไปเห็นนกแก้วในป่านั่นเอง ป่าส่วนใหญ่ ที่เขาชอบไปเที่ยวในสมัยก่อนก็คือ ป่าละอู ในจังหวัดเพชรบุรี และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
บ้านหลังแรกที่มีทางเดินข้างน้ำตกเชื่อมต่อกับอาณาเขตบ้านของวอลเตอร์ ไมเยอร์ คือ บ้านของเอลล่า ยุคเกอร์ เอลล่าคือ หลานปู่ของอัลเบอร์ต ผู้ก่อตั้งบริษัทยุคเกอร์ พ่อของเธอคือ เอ็ดวาร์ด ลูกชายคนที่ 3 ของอัลเบอร์ต และพอลล่า ดาครูซ เอลล่าจะสนิทสนมกับโอลิเวีย และวอลเตอร์อย่างมาก ก่อนหน้านี้เธอมีบ้านอยู่ในซอยร่วมฤดี ติดกับบ้านของวอลเตอร์ ก่อนที่เขาจะขายบ้านที่นั่น แล้วมาสร้างอาณาจักรใหม่ที่นี่
บ้านหลังที่สองถัดไปคือ บ้านของปีเตอร์ สมพล บุนนาค ลูกชายคนโต ถัดไปเป็นบ้านของ ดร.นิติ ไมเยอร์ หลังสุดท้ายใช้ เป็นออฟฟิศของวอลเตอร์ ไมเยอร์
ส่วนลูกสาวของเขา แต่งงานและสร้างครอบครัวอยู่ที่รัฐนิวยอร์ก ประเทศอเมริกา ในบ้านหลังใหญ่นั้นจึงมีเพียงสองคนตายาย และคนดูแลอีก 5 คน ทุกๆ วัน ในเวลา 6.00-6.30 น. เขาจะออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำเป็นประจำ หากวันไหนตื่นสายก็จะเปลี่ยนเป็นการเดิน แล้วลงสระในช่วงบ่ายแทน หนังสือพิมพ์ที่ยังคงอ่านทุกวันคือ บางกอกโพสต์กับฟาร์อีตส์ อีโคโนมิสต์รีวิว รวมทั้งอ่านหนังสือพิมพ์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในอินเทอร์เน็ตบ้างบางครั้ง
ด้วยวัยที่ชราลงมากแล้ว ทุกวันนี้วอลเตอร์ ไมเยอร์ จึงตัดงานสังคมออกหมด และใช้เวลาไปเยี่ยมญาติที่สวิตเซอร์แลนด์เพียงปีละครั้ง ครั้งละประมาณ 2 อาทิตย์เท่านั้น เพื่อไปเยี่ยมพี่ชายกับพี่สาวที่อายุ 91 และ 90 ปี แต่ก็ยังคงเดินทางทำบุญตามวัดคาทอลิกต่างๆ เสมอ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก็เพิ่งเดินทางกลับจากการเยี่ยมวัดคาทอลิกที่จังหวัดเลย
วัดเซนต์นิโคลัส ที่อยู่ตรงข้ามสนามกอล์ฟ สยามคันทรี่ คลับ จังหวัดชลบุรีนั้น ไมเยอร์บริจาคเงินและสร้างวัดนี้ขึ้นมาเมื่อ ปี 2510 พื้นที่ส่วนหนึ่งในบริเวณวัดคือสุสานของญาติมิตรที่ล่วงลับ รวมทั้งที่ฝังศพของอัลเบอร์ต ยุคเกอร์ ผู้ก่อตั้งห้างยุคเกอร์ และคนในตระกูลที่ล่วงลับไปแล้ว
วัดญาณสังวราราม ในอำเภอบางละมุง ริมทะเลสาบด้านขวาของทางเข้าวัดเป็นที่ตั้งของศาลาสวิส เขาได้ออกทุนสร้าง 5 ล้านบาท เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบ
ในอดีตภาระที่หนักอึ้งบนบ่าของวอลเตอร์ ไมเยอร์ ในตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จะสลายไปกับสายลมและแสงแดด เมื่อได้ไปพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่คาซา โอลิเวีย บ้านหลังงามบนหาดวงศ์อำมาตย์ ที่ปัจจุบันถูกแวดล้อมไปด้วยตึกสูงของนักลงทุนที่พิสมัยเงินตรา (จากเรื่อง CASA OLIVIA สุด สัปดาห์ของวอลเตอร์ ไมเยอร์ โดยขุนทอง ลอเสรีวานิช ผู้จัดการ ตุลาคม 2532)
ปัจจุบันบ้านหลังนั้นยังเป็นสถานที่ทั้ง วอลเตอร์ และโอลิเวีย รักและแวะเวียนไปพักอยู่บ่อยๆ พร้อมๆ กับทำใจให้ยอมรับกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
วันเวลาในบั้นปลายชีวิตของวอลเตอร์ ไมเยอร์ พักอยู่ที่ไมเยอร์ พาร์ค อย่างมีความสุขท่ามกลางลูกหลาน และความภาคภูมิใจแห่งความสำเร็จของการทำธุรกิจในอดีต
"นกแก้วเคียงคู่คนไทยเสมอมา และจะคงอยู่ตลอดไป" คือแนวทางที่ชัดเจนในการทำตลาดตลอดระยะเวลา 55 ปีของสบู่หอมตรา "นกแกว" สบู่ไทยยี่ห้อแรก ที่กำลังฝ่าป้อมปราการอันแข็งแกร่งของสบู่แบรนด์อินเตอร์
เมื่อ 55 ปีก่อน สบู่หอมนกแก้ว ในกล่องกระดาษสีเขียว มีรูปนกแก้วสีเขียวจัดจ้าน 3 ตัวเกาะอยู่บนคอน เป็นที่รู้จักของคนไทยอย่างดี จากจุดแข็งของเนื้อสบู่ที่แข็งไม่เปื่อยยุ่ย และใช้ได้ดีกับทุกสภาพน้ำ เหมาะสำหรับการอาบน้ำในคลอง ในแม่น้ำ ซึ่งเป็นวิถีชีวิต ของคนไทยในชนบทต่างจังหวัด
ตำแหน่งของสบู่นกแก้วตอนนั้น จึงถูกวางไว้แค่ "สบู่บ้านนอก" ในขณะที่ตลาดในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ผู้คนจะนิยมใช้แบรนด์อินเตอร์อื่นๆ มากกว่า
จุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของสบู่ นกแก้ว ซึ่งได้กลายเป็นจุดด้อย ก็คือการมีส่วนผสมของสมุนไพรไทย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นไม่เชื่อถือนัก กระแสนิยมไทยเป็นเรื่องไกลตัวของสังคมเมืองไทยในช่วงเวลานั้น
แต่...ในที่สุดผู้บริหารบริษัทรูเบีย อุตสาหกรรม ผู้ผลิตสบู่ตัวนี้ ก็ได้นำจุดเด่นที่เคยกลายเป็นจุดด้อย มาผสมผสานกับนวัตกรรมใหม่ๆ ของการผลิต จนสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลายเป็นสบู่ที่คนไทยใช้ และทำลายปราการอันแข็งแกร่งของสบู่นอกยี่ห้ออื่นๆ ลงได้ ถึงแม้ส่วนแบ่งตลาดจะยังคงห่างจากสบู่ "ลักส์" จากค่ายลีเวอร์ บราเธอร์ อยู่มากก็ตาม
ตัวเลขที่ยืนยันได้จากผู้บริหารบริษัทรูเบีย ระบุว่าใน ปี 2543 ยอดขายของนกแก้วได้เพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านบาท และยังเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ จากมูลค่ารวมของตลาดทั้งหมดประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยที่ยังมีลักส์ครองตลาดในอันดับ 1
ระยะเวลา 55 ปีของการกำเนิดสบู่หอมนกแก้ว และการกำหนดกลยุทธ์ทางด้านการตลาดในแต่ละช่วงเวลา จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว
สบู่หอมนกแก้ว เกิดขึ้นในประเทศไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2490 ผู้ที่คิดค้นสูตรสบู่ตัวนี้ก็คือ วอลเตอร์ เลโอ ไมเยอร์ ประธานกรรมการบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ในขณะนั้น (อ่านประวัติของวอลเตอร์ ไมเยอร์ ได้ในเรื่องประกอบ) ในเวลานั้น เบอร์ลี่ฯ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านสั่งสินค้าเข้าจากต่างประเทศมาขายในเมืองไทย และส่งออกสินค้าข้าวและไม้สักไปขายต่างประเทศ โดยที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าขายเองเลย สบู่เป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่เบอร์ลี่ฯ เป็นเจ้าของ
แม้วอลเตอร์ ไมเยอร์ จะไม่ใช่คนไทย แต่เป็นชาว สวิตเซอร์แลนด์ที่ได้เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย และรักเมืองไทยอย่างมาก ปัจจุบันในวัย 87 ปี แม้พ้นจากทุกตำแหน่งในบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แล้ว เขายังพำนักในเมืองไทยและตั้งใจจะยึดเอาแผ่นดินไทยเป็นเรือนตาย ที่สำคัญเขาเป็นคนที่มองเห็นคุณค่าของสมุนไพรไทย และคิดที่จะทำสบู่สูตรสมุนไพรเพื่อคนไทยขึ้นมา โดยใช้หัวน้ำหอมจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางบริษัท เบอร์ลี่ฯ สั่งมาจากฝรั่งเศสเพื่อเข้ามาขายอยู่แล้วเป็นส่วนผสม ในสมัยนั้นสบู่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งของคนไทย แต่นิยมใช้เพื่อชำระล้างตัวมากกว่าเป็นการบำรุงผิว และตลาดในช่วงเวลา นั้นที่วางขายอยู่มักจะเป็นสบู่หอมทั้งสิ้น วอลเตอร์จึงได้มั่นใจ อย่างมากว่าคุณสมบัติของสบู่ตัวใหม่ที่เขาคิดนี้ต้องมีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ประเทศเยอรมนีแพ้สงคราม ทรัพย์สินต่างๆ ถูกนำมาขาย ซึ่งมีเครื่องจักรผลิตสบู่ยี่ห้อ COLIBRITA ซึ่งแปลว่า นกฮัมมิ่งเบิร์ด ถูกขายทอดตลาดด้วย ทางบริษัทลีเวอร์ บราเธอร์ เจ้าของสบู่ลักส์ได้ซื้อ แบรนด์ COLIBRITA ไป ในขณะที่ทางวอลเตอร์ ไมเยอร์ ได้ตกลงซื้อเครื่องจักรมา
สบู่หอมนกแก้วจึงได้ผลิตขึ้นครั้งแรก ในนามบริษัทรูเบียอุตสาหกรรม มีโรงงานตั้งอยู่ในซอยรูเบีย เขตกล้วยน้ำไท โดยมีบริษัท เบอร์ลี่ฯ เข้าช่วยในเรื่องการจัดจำหน่าย จนถึง ปัจจุบัน แต่การทำตลาดเพื่อสร้างแบรนด์นี้ให้เข้มแข็งขึ้น ทางบริษัทรูเบียฯ จะเป็นคนวางคอนเซ็ปต์เองตั้งแต่ต้น
คำว่า "นกแก้ว" ได้มาจากวอลเตอร์ ไมเยอร์ เพราะเป็นคนที่ชอบเดินป่าล่าสัตว์มากในสมัยหนุ่ม และในป่าเขาได้พบกับนกแก้ว นกที่มีความสวยงามจนเขาติดใจ เอามาใช้เป็นยี่ห้อของสบู่
จุดแข็งของสบู่หอมนกแก้วตั้งแต่สมัยแรกเริ่มก็คือ เนื้อสบู่จะแข็ง ไม่เหลว เป็นสบู่สะเทินน้ำสะเทินบก ใช้กับน้ำทุกชนิด สิ่งที่สำคัญคือเหมาะ สำหรับการชำระล้างเหงื่อของคนในเมืองร้อน และยังมีกลิ่นหอมติดตัว เป็นเอกลักษณ์อีกด้วย
ราคาของสบู่หอมนกแก้วก็ยังเป็นสินค้าราคาไม่แพงนัก เป็นราคาเพื่อคนไทย โดยเริ่มขายก้อนละ 3 บาท ถึง 5 บาท
ในสมัยนั้น นอกจากแบรนด์นกแก้วแล้วรูเบียอุตสาหกรรมผลิตสบู่แบรนด์อื่นๆ ด้วย เช่น ตรานกยูง ออกมาหลายรุ่นด้วยกัน แต่ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าแบรนด์นกแก้วได้รับความนิยมสูงสุด แบรนด์อื่นๆ ก็เลยหยุดผลิตไปโดยปริยาย
ในปี พ.ศ.2496 สบู่หอมนกแก้ว ก็ได้เริ่มมีโฆษณาผ่านโปสเตอร์ สปอตโฆษณาวิทยุ และสิ่งพิมพ์ต่างๆ จนกระทั่งในปี 2514 สินค้าของ นกแก้ว เริ่มมีการโฆษณาในโทรทัศน์เป็นครั้งแรก ตัวเลขจาก บริษัทรูเบียฯ ระบุว่าในปีนั้นยอดรายได้จากการขายสบู่สูงถึง 25 ล้านบาท และมีแนวโน้มชัดเจนว่าต้องโตขึ้นแน่นอน การเปลี่ยนแปลงทางด้านการผลิตครั้งใหญ่ก็เลยเกิดขึ้นในปีนั้น
จากโรงงานเล็กๆ แถวกล้วยน้ำไท มีพนักงานไม่ถึง 20 คน ขยับขยายมาเป็นโรงงานผลิตแถวปู่เจ้าสมิงพรายเนื้อที่กว่า 10 ไร่ และมีพนักงานเพิ่มขึ้นเกือบ 100 คน ในปี 2517
บทความ คุณอรวรรณ บัณฑิตกุล /ผู้จัดการ/ตุลาคม 2545