ตะไคร้: สมุนไพรไทยแสนล้ำค่า หญ้าวิเศษกลิ่นมายา
ในบรรดาสมุนไพรที่อยู่คู่ชีวิตของชาวไทยและชนชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างช้านาน ตะไคร้เป็นพืชลำดับต้นๆ ที่ปรากฏในชื่อและลิสต์เหล่านี้ ทั้งยังมีบันทึกในตำราแพทย์แผนไทยโบราณมาหลายฉบับ และด้วยสรรพคุณที่มากมาย ตะไคร้จึงนิยมนำมาปลูกได้อย่างดี
ต้นกำเนิด
ตะไคร้ (Cymbopogon citratus); ชื่อท้องถิ่น: จะไคร,จั๊กไคร (ภาคเหนือ), หัวซิงไค (ภาคอีสาน), ไคร (ภาคใต้), คาหอม (แม่ฮ่องสอน), เชิดเกรย, เหลอะเกรย (เขมร-สุรินทร์), ห่อวอตะโป่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นพืชตระกูลหญ้าที่พบกระจายในอนุทวีปอินเดีย เกาะศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงภาคใต้ของจีน เป็นพืชที่พบทั่วไปในวัฒนธรรม และความเชื่อของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบาหลี มันจัดเป็นพืชที่นิยมนำไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธ์ตามพิธีกรรมของนักบวช ในไทยเองก็เชื่อว่า หากปักตะไคร้ลงดินเอาก้านลง ฝนจะตก และถ้าต้องการไล่ฝน เอาด้านโคนปักลงดินฝนจะหายไป
ด้วยการที่เติบโตได้ดีในเขตร้อนและทนทานดินได้ทุกประเภท หลายๆ ประเทศจึงนิยมนำไปปลูกมากมาย และมีผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเหล่านี้มากมาย โดยปลูกตามริมรั้ว ริมเรือกสวนไร่นาก็ได้
ทำไมตะไคร้จึงมีกลิ่นหอมตอนถูกขยำ?
หากหักก้านหรือใบของตะไคร้มาขยำ จะมีกลิ่นหอมคล้ายๆ พืชตระกูลส้มหรือเลม่อนออกมา (Citrus แปลว่าพืชตระกูลส้ม จึงมีคำๆ นี้ที่เป็นรากศัพท์ในชื่อวิทยศาตร์ด้วย) กลิ่นนี้เกิดจากน้ำมันหอมระเหยที่ถูกกักเก็บในใบและก้าน โดยมีองค์ประกอบของสารกลิ่นหอมจำพวกซีทราล (Citral) คล้ายกับที่พบในพืชตระกูลส้ม ยูจินอล (Eugenol) และการบูร (Camphor) ในอัตราส่วนที่ต่างกันผสมอยู่ในน้ำมันนี้ สารเหล่านี้แท้จริงเป็นกลไกการป้องกันตัวของพืชเตือนขึ้นให้ระวังอันตรายในหมู่ตะไคร้ด้วยกันนั่นเอง และโภชนาการของตะไคร้ยังเป็นหญ้าที่มีโปรตีนสูง แต่ก็มีสัตว์ที่กินพวกมันน้อย โดยมีเพียง แรด ไก่ แพะ กวาง และสัตว์ฟันแทะบางชนิดที่กินตะไคร้ด้วยนั่นเอง น่าสนใจที่พวกวัวกลับไม่ค่อยสนใจตะไคร้มากนัก
ตะไคร้กันยุง แต่กันงูไม่ได้นะ!
ตะไคร้นั้นมีสารจำพวกซิทราลในน้ำมัน ซึ่งไล่ยุงด้วย แมลงจำพวกยุงมักจะหลีกเลี่ยงกลิ่นเหล่านี้ ตะไคร้หอมจะขับไล่ยุงและแมลงวันไม่ให้เข้าใกล้ โดยหากนำไปเผาไฟ ทำเป็นธูป หรือยาจุดกันยุงก็จะไล่แมลงเหล่านี้ได้ เพราะน้ำมันหอมระเหยติดไฟและระเหยออกมาพร้อมควันนั่นเอง แต่หากจะนำไปป้องกันงู มันอาจจะไม่ได้ผล สัตว์จำพวกงูรับรสและกลิ่นผ่านทางลิ้น พวกมันจึงแยกรสของพืชและสัตว์ได้ หากจำเป็นจริงๆ พวกมันก็สามารถนอนซุ่มตัวอยู่ในกอตะไคร้หรือเลื้อยผ่านได้ จึงไม่สามารถนำมาป้องกันงูได้นะ!
ตะไคร้ปักชำ
ตะไคร้ที่ซื้อมาจากตลาดก็สามารถปักชำได้ โดยการหากระถางที่มีรูปทรงสูงและลึกมา ทำการรองก้นด้วยกาบมะพร้าว นำดินปลูกพืชอัตรา 1 ส่วน ผสมกับขุยมะพร้าว 1 ส่วน จากนั้นเทลงไป ปักโคนตรงรากของตะไคร้ให้ลึกลงพื้นประมาณ 7-10 เซนติเมตร จากนั้นให้หมั่นรดน้ำทุกๆ วันจนกว่ารากจะงอก ขณะที่รอรากงอก อย่าใส่ปุ๋ยในทันที เพราะจะทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในดินเสียหายและพืชอาจจะตายได้
วิธีการปลูกตะไคร้แบบมีรากในกระถาง
1. ปูก้นกระถางด้วยถ่านไม้ทุบละเอียด หรือกาบมะพร้าวประมาณหนึ่ง ส่วนนี้จะช่วยให้ระบายน้ำได้ดี
2. นำตะไคร้ที่มีรากแยกออกมาจากกระถางที่นำมา อย่าดึงแรงเกินไปจนใบหรือรากขาด ให้ก้อนดินเก่าติดขึ้นมา
3. ผสมดิน 1 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน และแกลบ 1 ส่วนช่วยให้ดินระบายน้ำได้ดี การมีน้ำขังมากไปก็เพาะเชื้อราที่อันตรายได้สำหรับพืชของเรา
4. นำตะไคร้ที่ย้ายกระถางลงมาใส่ไปในกระถางเตรียมดินใหม่
5. ตักดินใส่ลงไปให้ทั่วจนคลุมโคนต้น และเกลี่ยหน้าดินกลบให้เนียนสวย
* หากต้องการให้ตะไคร้โคนอวบ ตัดใบที่งอกออกมาบ่อยๆ และหมั่นใส่ปุ๋ยทุกๆ 2 สัปดาห์เพื่อให้ตะไคร้เติบโตและรวบรวมสารอาหารไปที่ราก
เห็นไหมว่า การปลูกตะไคร้ทำได้ง่ายๆ แถมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย น้ำมันหอมระเหยของตะไคร้ก็ยังสกัดขายได้ถ้าปลูกจำนวนมากในแปลงได้ ใบตะไคร้ก็ยังนำไปต้มเป็นชาสมุนไพรที่ช่วยเรื่องของการควบคุมความดันโลหิตและเบาหวาน ขับพิษที่ไม่ดีออกจากร่างกายและยังส่งเสริมให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง โคนตะไคร้นิยมซอยลงไปในต้มยำ และใช้ในการต้มดับคาวของปลาหรือเนื้อสัตว์ก็ได้ ถ้ากินส่วนนี้ก็ยังเป็นยาถอนไข้และแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้ดี เพื่อสุขภาพที่ดี มาปลูกตะไคร้กันเยอะๆ นะครับ!