รีไฟแนนซ์บ้าน เรื่องง่าย ๆ ที่จะทำให้คุณเป็นเจ้าของบ้านได้ไวกว่าที่คิด
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังติดขัดกับสภาพการเงิน และกำลังหมุนเงินเพื่อมาผ่อนบ้าน หลายคนอาจจะแนะนำให้คุณรีไฟแนนซ์บ้าน แต่เอ๊ะ!! แล้วการรีไฟแนนซ์บ้าน มันคืออะไรล่ะ มันจะช่วยคุณได้อย่างไร บทความนี้ จะช่วยให้คุณเข้าใจว่า การรีไฟแนนซ์บ้าน มีข้อดีอย่างไร ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง รวมถึงขั้นตอนต่าง ๆ แค่คุณรู้ก่อน ก็จะแก้ปัญหาเรื่องเงินและเรื่องบ้านได้อย่างง่ายดาย
รีไฟแนนซ์บ้าน คือ
รีไฟแนนซ์บ้าน (Refinance) คือ การขอยื่นกู้สินเชื่อบ้าน (สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย) กับสถาบันการเงินใหม่ เพื่อนำไปปลดภาระเงินกู้เก่าที่มีอยู่กับสถาบันการเงินเดิมหรือภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยจะต้องผ่อนมามากกว่า 3 ปี ถึงสามารถรีไฟแนนซ์บ้านได้ มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อลดดอกเบี้ยบ้านให้ต่ำลง ช่วยลดภาระค่าผ่อนชำระต่อเดือนน้อยลง และผ่อนบ้านให้หมดเร็วไวยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น หากเรากู้เงิน เพื่อซื้อบ้านหลังหนึ่งกับธนาคาร A ในช่วงที่ผ่อนชำระต่อเดือน 1 - 2 ปีแรก ดอกเบี้ยก็จะยังถูกอยู่ แต่หลังจากนั้น ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงตัดสินใจรีไฟแนนซ์บ้าน โดยศึกษาข้อมูลเทียบระหว่างธนาคาร A ที่เดิม กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ว่าที่ใดมีเงื่อนไขในการผ่อนชำระที่ดีกว่าเดิม โดยพิจารณาจากการผ่อนชำระต่อเดือนน้อยลง และยืดระยะเวลาการผ่อนได้นานขึ้น
สรุปแล้ว รีไฟแนนซ์บ้าน คือ การย้ายทำสัญญาสินเชื่อกู้ซื้อที่อยู่อาศัย หลังการผ่อนมามากกว่า 3 ปี โดยผู้ขอสินเชื่อสามารถเลือกสถาบันการเงินได้เองตามแต่ว่าสถาบันการเงินใดจะให้ข้อเสนอที่น่าจูงใจมากกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นที่เดิมหรือที่ใหม่
โดยสถาบันการเงินใหม่อาจจะเสนอดอกเบี้ยบ้านที่ถูกกว่าที่เดิม เพื่อดึงดูดให้เราย้ายไปอยู่กับสถาบันการเงินใหม่ ซึ่งดอกเบี้ยที่ลดลงและยอดหนี้คงเหลือน้อยลงกว่าสัญญาเดิม ส่งผลให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนถูกลง การผ่อนบ้านก็จะหมดเร็วขึ้นด้วย
คุณสมบัติของผู้รีไฟแนนซ์บ้าน
ผู้ที่ต้องการรีไฟแนนซ์บ้าน ทางสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้มีการกำหนดคุณสมบัติ ดังนี้
- ต้องมีสัญชาติไทย
- มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เกิน 65 - 70 ปี (แล้วแต่สถาบันการเงินกำหนด)
- ไม่เคยเป็นลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน (แล้วแต่สถาบันการเงินกำหนด)
- มีสินเชื่อบ้านกับสถาบันการเงินอื่นไม่ต่ำกว่า 3 ปี
- มีผู้กู้ร่วมได้ไม่เกิน 3 คน และต้องเป็นเครือญาติตามกฎหมาย (ยกเว้นคู่สมรสไม่จดทะเบียน) (แล้วแต่สถาบันการเงินกำหนด)
- รายได้สุทธิรวมตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ทั้งผู้กู้หลักและผู้ร่วม (ทั้งกรณีกู้เดี่ยวและกู้ร่วม) (แล้วแต่สถาบันการเงินกำหนด)
- อายุงานไม่น้อยกว่า 6 เดือน (อายุงานรวมที่ทำงานเก่าได้โดยต้องผ่านการทดลองงาน ณ ที่ทำงานปัจจุบัน) (แล้วแต่สถาบันการเงินกำหนด)
ทั้งนี้ หากผู้รีไฟแนนซ์บ้านมีหน้าที่การงานต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องมีหลักฐานในการยืนยันสถานภาพทางการเงินประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัท ราชการ รัฐวิสาหกิจ เจ้าของกิจการ เจ้าของธุรกิจ หรือคนที่ประกอบอาชีพอิสระ ก็ต้องแสดงหลักฐานประกอบด้วยเช่นกัน
สำหรับพนักงานบริษัท ราชการ รัฐวิสาหกิจ
สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำอย่างพนักงานบริษัท ราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ จำเป็นต้องมีหลักฐานแสดงสถานภาพทางการเงิน ดังนี้
- หนังสือรับรองเงินเดือน
- สลิปเงินเดือน
- เอกสารการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
สำหรับคนที่ประกอบอาชีพอิสระ
สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ หากต้องการรีไฟแนนซ์บ้าน จะต้องมีหลักฐานแสดงสถานภาพทางการเงิน ดังนี้
- เอกสารการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (แพทย์ วิศวกร ทนายความ หรือสถาปนิก)
สำหรับเจ้าของกิจการ เจ้าของธุรกิจ
ส่วนผู้ที่มีธุรกิจส่วนตัว เป็นเจ้าของกิจการ ต้องมีหลักฐานแสดงสถานภาพทางการเงิน ดังนี้
- เอกสารการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน (บัญชีส่วนตัวและบัญชีกิจการ)
- ภาพถ่ายกิจการ 4 - 5 ภาพ และแผนที่ตั้งกิจการโดยสังเขป
- สำเนาทะเบียนการค้า
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
- หลักฐานการนำภาษีย้อนหลัง 1 ปี (ภงด.)
- บันทึกรายรับ-รายจ่าย
- ใบเสร็จซื้อ-ใบเสร็จขายสินค้า
ทั้งนี้ รายละเอียดเอกสารแนบต่าง ๆ อาจจะขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินที่เราต้องการไปรีไฟแนนซ์บ้าน ดังนั้น ควรจะศึกษาข้อมูลและเตรียมเอกสารให้พร้อมจะดีกว่า
รีไฟแนนซ์บ้าน ข้อดี
เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า รีไฟแนนซ์บ้าน คืออะไร ทีนี้ เราลองมาดูข้อดีของการรีไฟแนนซ์บ้านกันบ้างดีกว่า
- ช่วยลดดอกเบี้ยบ้าน ซึ่งเป็นเหตุผลักของการรีไฟแนนซ์บ้านเลย โดยเมื่อเราผ่อนชำระไปได้อย่างน้อย 3 ปีกับสถาบันการเงินเดิม เราก็สามารถขอรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินอื่นได้ โดยพิจารณาจากดอกเบี้ยและข้อเสนอเป็นหลัก
- ลดระยะเวลาผ่อนบ้าน เมื่อดอกเบี้ยลดลง ทำให้เรามีเวลาในการผ่อนชำระเงินต้นมากขึ้น ทำให้การผ่อนบ้านของเราหมดเร็วขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำการรีไฟแนนซ์บ้านทุก 3 ปี จากเดิมที่ต้องใช้เวลาผ่อนบ้านที่ 30 ปี ก็อาจจะเหลือเพียง 25 ปี หรือน้อยกว่านี้
- ลดยอดผ่อนต่อเดือน เมื่อดอกเบี้ยลดลง ก็ทำให้ยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือนลดลงตามไปด้วย ทำให้สภาพการเงินของคุณคล่องขึ้น
- สามารถขอวงเงินกู้เพิ่ม เพื่อปิดภาระหนี้ได้ นอกจากจะรีไฟแนนซ์บ้าน เพื่อลดดอกเบี้ย ลดยอดผ่อนต่อเดือนและลดระยะเวลาในการผ่อนบ้านแล้ว เราก็สามารถขอรีไฟแนนซ์บ้านพร้อมวงเงินลดภาระหนี้สินได้อีกด้วย โดยอาจจะนำไปรีโนเวทบ้าน หรือปิดหนี้บัตรเครดิตก็ได้
ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรีไฟแนนซ์บ้าน
เมื่อเราตัดสินใจที่จะรีไฟแนนซ์บ้านแล้ว เราก็ต้องรู้ว่า ในการรีไฟแนนซ์บ้านนั้น มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้เตรียมงบประมาณสำหรับส่วนนี้ได้ถูก โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- ค่าปรับกรณีไถ่ถอนหลักประกันก่อนกำหนด ในกรณีที่เรารีไฟแนนซ์บ้านในช่วง 3 ปีแรกของสัญญา แต่ถ้าเรารีไฟแนนซ์ในปีที่ 4 เป็นต้นไป ก็จะไม่ต้องจ่ายค่าปรับนี้
- ค่าสำรวจและประเมินราคาหลักประกัน ประมาณ 2-3 พันบาท (แล้วแต่สถาบันการเงิน เพราะบางที่ก็อาจจะไม่มีค่าใช้จ่าย หรือขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งของหลักประกัน)
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนจำนอง เป็นการจ่ายให้กรมที่ดิน 1% ของวงเงินกู้ (โปรโมชั่นบางสถาบันการเงินฟรีค่าจดจำนอง)
- ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงิน (ไม่เกิน 10,000 บาท)
- ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของธนาคาร เช่น ค่าธรรมเนียมสินเชื่อ
- ค่าประกันอัคคีภัย (ซึ่งประกันอัคคีภัย ถึงเราไม่ได้รีไฟแนนซ์ ก็ต้องทำทุก 1 - 3 ปี ตามกฎหมาย)
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจ
เอกสารสำหรับรีไฟแนนซ์บ้าน
หลายคนอาจจะกำลังปวดหัวว่า ต้องเตรียมเอกสารรีไฟแนนซ์บ้านอะไรบ้าง ทั้งเอกสารของตัวเองและของที่พักอาศัย ซึ่งเราสรุปให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ดังนี้เลย
1. เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล
เอกสารรีไฟแนนซ์บ้านประเภทนี้ จะเป็นเอกสารเกี่ยวกับผู้กู้ เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถยืนยันตัวตนได้ว่า เป็นตัวผู้กู้จริง ๆ ไม่ใช่บุคคลอื่นมาแอบอ้าง โดยส่วนใหญ่เอกสารประเภทนี้ จะประกอบด้วย
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรข้าราชการ
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ของคู่สมรส (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนบ้าน ของคู่สมรส (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี) / หย่า (ถ้ามี)
- สำเนาใบมรณบัตร (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)
*ถ้ามีผู้กู้ร่วม ต้องให้ผู้กู้ร่วมเตรียมเอกสารแสดงข้อมูลส่วนบุคคลเช่นเดียวกัน
2. เอกสารด้านหลักประกัน
ส่วนนี้จะเป็นเอกสารรีไฟแนนซ์บ้านที่ยืนยันความเป็นเจ้าของหลักประกันที่จะนำมารีไฟแนนซ์ ซึ่งมีทั้งเอกสารจากสถาบันการเงินเดิม และเอกสารจากกรมที่ดิน ประกอบด้วย
- สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หลักประกัน (เช่น โฉนดที่ดิน หรือ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด อช.2)
- ใบอนุญาติปลูกสร้าง/หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง เช่น สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน ทด.13 หรือ สัญญาให้ที่ดิน ทด.14 หรือ สัญญาซื้อขายห้องชุด
- สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน หรือ สำเนาสัญญาจำนองห้องชุด
- สำเนาสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินเดิม
- สำเนาใบเสร็จผ่อนชำระค่างวดบ้าน หรือ ถ้าผ่อนชำระแบบตัดค่างวดอัตโนมัติ ให้ใช้รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 12 เดือน
- แผนที่ตั้งหลักประกันโดยสังเขป
จะเห็นว่าเอกสารที่ใช้นั้น ไม่ได้แตกต่างไปกับการยื่นกู้บ้านใหม่เท่าไหร่นัก จะมีเพิ่มเติมก็คือเอกสารด้านหลักประกันที่ได้มาหลังจากจำนองกับกรมที่ดินตอนซื้อบ้านแล้ว และสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินเดิมนั่นเอง
3. เอกสารด้านการเงิน
เป็นเอกสารรีไฟแนนซ์บ้านส่วนสำคัญที่สถาบันการเงินใช้พิจารณาว่า เราเข้าเงื่อนไขของเขาหรือไม่ เพราะสามารถแสดงสถานะการเงิน รายได้ และประวัติการเดินบัญชี โดยประกอบด้วยเอกสารดังต่อไปนี้
3.1 กรณีบุคคลมีรายได้ประจำ
- สลิปเงินเดือน ย้อนหลัง 3 - 6 เดือน
- หนังสือรับรองการทำงาน
- สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 - 12 เดือน
- หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการ (ถ้ามี)
- สำเนารับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) (สำหรับบางธนาคารเท่านั้น)
3.2 กรณีบุคคลที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน/ใบทะเบียนการค้า
- สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีชื่อผู้กู้/ผู้กู้ร่วม
- สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 - 12 เดือน (ทั้งในนามบุคคล และกิจการ)
- สำเนาแบบแสดงภาษีซื้อขาย ภ.พ. 30 (ถ้ามี) หรือ ภงด. 50/51 ย้อนหลัง 5 เดือน (ถ้ามี)
ทั้งนี้ หากมีผู้กู้ร่วมก็ต้องให้ผู้กู้ร่วมเตรียมเอกสารข้อมูลส่วนบุคคลและเอกสารแสดงรายได้ดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้าน
เมื่อเราเตรียมเอกสารทั้งหลายครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลามาเรียนรู้วิธีรีไฟแนนซ์บ้านว่า จะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งในความจริง การรีไฟแนนซ์บ้านนั้น เป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพียงเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนก็สามารถขอดำเนินการได้ทันที ดังนี้
- ตรวจสอบสัญญากู้ของตัวเอง ทั้งรายละเอียดสัญญา เงินผ่อนที่เหลือ อัตราส่วนดอกเบี้ยและระยะเวลา โดยส่วนมากสัญญากู้จะอนุญาตให้เรารีไฟแนนซ์บ้านไปสถาบันการเงินอื่น (บางที่ใช้คำว่า ไถ่ถอน) หลังจากผ่อนมาแล้ว 3 ปี
- เลือกธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง โดยอ้างอิงจากปัจจัยหลัก 2 ข้อ คือ ดอกเบี้ยและระยะเวลาการผ่อน หากคำนวณดูแล้วมีความคุ้มค่ามากกว่าจริง ให้เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องได้เลย
- เตรียมเอกสารประกอบการยื่นรีไฟแนนซ์ ประกอบด้วย เอกสารแสดงข้อมูลส่วนบุคคล, เอกสารแสดงรายได้ และเอกสารด้านหลักประกัน ซึ่งอาจจะแตกต่างกันในแต่ละสถาบันการเงิน
- ยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินใหม่ ซึ่งใช้เวลาพิจารณาอนุมัติประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ ซึ่งเราอาจจะยื่นเรื่องก่อนผ่อนครบ 3 ปี เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลา
- สอบถามยอดหนี้คงเหลือและนัดวันไถ่ถอนจากธนาคารเก่า เมื่อได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงินแห่งใหม่แล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้เราไปสอบถามยอดหนี้คงเหลือและนัดวันไถ่ถอนจากที่เก่า เพื่อให้สถาบันการเงินใหม่และเก่าสามารถโอนหนี้ให้กันได้อย่างถูกต้อง
- ไปทำสัญญาและจดจำนองที่กรมที่ดิน เจ้าหน้าที่จากสถาบันการเงินใหม่จะถือสัญญาไปให้เซ็นที่กรมที่ดิน พร้อม ๆ กับการไปทำสัญญาจำนองที่กรมที่ดินในวันเดียวกันเลย เพื่อความสะดวกของทางลูกค้าเอง
- มอบโฉนดที่ได้มาจากสำนักงานที่ดินให้กับสถาบันการเงินใหม่ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับรีไฟแนนซ์บ้าน
รีไฟแนนซ์บ้านสามารถทำได้ทุกกี่ปี?
เราควรทำการรีไฟแนนซ์บ้าน เมื่อเราครบกำหนดตามสัญญากับสถาบันการเงินปัจจุบันที่เราผ่อนอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีสัญญาอยู่ที่ 3 - 5 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาที่เราทำไว้
มีประวัติเสียทางด้านการเงิน รีไฟแนนซ์บ้านได้ไหม?
สำหรับผู้ที่มีประวัติเสียทางการเงินกับธนาคาร เช่น ชำระล่าช้าเกิน 90 - 120 วัน หรือ ค้างชำระ ไม่สามารถทำการผ่อนชำระได้ หรือได้มีการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าว จะส่งผลต่อการพิจารณาของทางธนาคารผู้รับพิจารณาสินเชื่อ ในการขอรีไฟแนนซ์บ้าน ซึ่งผลของการพิจารณานั้น จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของทางธนาคารนั้นๆ
ขอแนะนำสำหรับผู้ที่อยากขอสินเชื่อนั้น ควรรักษาประวัติการผ่อนชำระสินเชื่อให้เป็นประวัติปกติ มีวินัยในการชำระอย่างตรงเวลา หากมีค้างชำระ ควรทำการชำระหนี้ค้างให้เรียบร้อย เมื่อรักษาประวัติเป็นปกติ ต่อเนื่องมา 1-3 ปี จะสามารถกลับขอสินเชื่อได้อีกครั้ง
สามารถรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารเดิมได้ไหม?
การลดดอกเบี้ยบ้านกับธนาคารเดิม (Home Retention) หรือ รีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารเดิม เป็นรูปแบบหนึ่งในการลดดอกเบี้ยบ้าน โดยเป็นการแจ้งกับธนาคารเดิม เพื่อขอลดดอกเบี้ยบ้าน ซึ่งธนาคารเดิมก็จะทำการพิจารณาว่าจะอนุมัติลดดอกเบี้ยให้หรือไม่ ข้อแตกต่างจากการรีไฟแนนซ์บ้านย้ายไปธนาคารอื่น คือ การดำเนินเรื่องในการขอลดดอกเบี้ยบ้านจะง่ายกว่า แต่ดอกเบี้ยที่ลดได้ส่วนใหญ่ก็จะไม่เท่ากับการรีไฟแนนซ์บ้านย้ายไปธนาคารอื่น
รีไฟแนนซ์บ้านต้องทำประกัน MRTA ถึงจะกู้ผ่านใช่หรือไม่?
ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน หรือ MRTA ไม่ใช่ประกันภาคบังคับ ดังนั้นจึงไม่มีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน แต่หากเราทำประกัน MRTA ในตอนรีไฟแนนซ์บ้าน จะทำให้เราได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เช่น ได้ดอกเบี้ยพิเศษเฉพาะผู้ที่ทำประกัน MRTA ฟรีค่าจดจำนอง ฯลฯ
สำหรับผู้ที่มีประกัน MRTA จากธนาคารเดิมอยู่แล้วสามารถทำเรื่องย้ายผู้รับผลประโยชน์มาธนาคารใหม่ได้โดยไม่ต้องทำประกันใหม่ หรือทำการขอเวนคืนกรมธรรม์ได้
รีไฟแนนซ์บ้าน สรุป
การรีไฟแนนซ์บ้านเปรียบเสมือนการย้ายสถาบันการเงินในการผ่อนชำระค่าบ้าน โดยที่หากเราผ่อนชำระครบ 3 ปี เราก็สามารถเลือกกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงินแห่งใหม่ได้ เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยบ้านที่ต่ำลง ช่วยลดภาระค่าผ่อนชำระต่อเดือนน้อยลง และผ่อนบ้านให้หมดเร็วไวยิ่งขึ้น โดยที่การเตรียมเอกสารและขั้นตอนในการรีไฟแนนซ์บ้านก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด เพียงแต่เราต้องศึกษาและเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละที่ให้ดี เท่านี้ คุณก็สามารถเป็นเจ้าของบ้านที่คุณอยู่ได้ไวขึ้นแล้ว