10วัน'ที่ถูกทำให้หายไป'ในปฏิทิน
วันนี้มีเรื่องราวที่ฟังดูแปลกและชวนสงสัย
ในด้านประวัติศาสตร์ของ 'ปฏิทิน' มาแบ่งปันกัน
ปฏิทินจูเลียน (Julian Calendar) ของโรมัน ก่อนหน้าที่จะมาเป็นจูเลียนได้นั้น
โรมได้เคยพัฒนาระบบ ปฏิทินโรมิวซุส ที่มี 304 วันต่อปีและ ปฏิทินนูมา ที่ซอยย่อยสำหรับศาสนากับสำหรับประชาชน
สร้างความสับสนอย่างมาก จูเลียส ซีซาร์ (Gaius Julius Caesar) ซึ่งควบตำแหน่งปุโรหิตสูงสุด (Pontifex Maximus)
จึงได้คิดทำการปฏิรูปปฏิทินใหม่โดยบัญชาให้นักดาราศาสตร์ไปคำนวณปฏิทินใหม่ขึ้นมา (ระบบปฏิทินใหม่ได้ชื่อตามคนสั่งนั่นเอง)
ปฏิทินจูเลียนได้รับอิทธิพลมาจากปฏิทินปวงชนของอียิปต์จากการใช้จำนวน 365 วันเท่ากันและเป็นการผสมระหว่างสุริยคติกับจันทรคติ
เดือนมีการผสมกันทั้งแบบ 30 และ 31 วัน มีการเพิ่มวันอธิกสุรทินเข้าไปด้วยในทุกๆ 4 ปี มีหลายทฤษฎีที่ยังถกกันอยู่ว่าเหตุผลที่แท้จริงที่กระตุ้นซีซาร์ให้สั่งแก้นั้นเป็นเพราะเหตุอะไรกันแน่ บ้างก็กล่าวว่าเป็นการกำจัดขั้วนักบวชเก่าที่ชอบเลื่อนวันตามอำเภอใจเพื่อปรับวันจ่ายภาษีให้เร็วหรือช้าลง บ้างก็บอกว่าต้องการผสานการปกครองดินแดนโรมันให้เป็นปึกแผ่นมากขึ้นโดยเฉพาะดินแดนอียิปต์ที่ผนวกได้มาในตอน 46 ปีก่อนคริสตกาล (ปีเดียวกับที่ประกาศใช้ระบบปฏิทินจูเลียน) แม้จะมีการปรับแก้ลำดับและชื่อเดือนตามเกมการเมืองของรัชสมัยต่างๆ จนดูพิลึกไปบ้าง เช่นเดือนกันยายนหรือ September ที่ควรจะเป็นเดือน 7 หากยึดตามรากศัพท์แต่กลับไปวางอยู่ที่เดือน 9 แต่สิ่งหนึ่งที่ผมและผู้อ่านสามารถมั่นใจได้คือระบบปฏิทินจูเลียนนี้ยังคงเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่และยาวนานที่สุดที่จักรวรรดิโรมันได้ทิ้งเอาไว้ให้เราสัมผัสครับ
ถ้ายึดตามปฏิทินจูเลียนของซีซาร์ ในห้วงเวลาหนึ่งปีจะประกอบด้วย 365 วันกับอีก 6 ชั่วโมง การทดด้วยปีอธิกสุรทินทุก 4 ปีก็ดูจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่เดี๋ยวก่อน หากเราคำนวณให้ละเอียดมากขึ้นก็จะพบว่ายังมีติ่งของเวลาอีก 11 นาที 14 วินาทีที่ไม่ได้ถูกคิดเข้าไปด้วย สะสมนานเข้าก็ชักจะเจอปัญหาเดียวกับปฏิทินปวงชน แม้จะไม่หนักเท่า แต่ชีวิตของชาวโรมันก็จะคลาดเคลื่อนไป 1 วันในทุก 131 ปี ใช้เวลานานอยู่พอสมควรกว่านักดาราศาสตร์ อาลอยเซียส ลิเลียส (Aloysius Lilius) จากอิตาลีจะตรวจพบความผิดพลาดนี้ ลิเลียสจึงได้ร่างหนังสือแจ้งต่อ พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 13 (Pope Gregory XIII) ถึงความคลาดเคลื่อนที่จะกระทบกับวันสำคัญทางศาสนาโดยเฉพาะวันอีสเตอร์ (Easter) เข้าอย่างจัง
ตามแต่เดิม ชาวคริสเตียนได้ยึดถือเอาตามพระราชโองการของจักรพรรดิคอนสแตนตินซึ่งให้นับวันอาทิตย์หลังวันที่ 14 ของเดือนนิสาน (เดือนแรกตามปฏิทินยิว อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนเมื่อเทียบกับสมัยนี้) ซึ่งเมื่อนับไปก็จะพบว่าวันอาทิตย์นั้นอยู่หลังวันวสันวิษุสวัต (Vernal Equinox) หรือวันแรกของฤดูใบไม้ผลิซึ่งจะตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ปีที่จะเกิดปัญหาตามที่คริสตจักรกังวลคือ ค.ศ.1582 วันวสันวิษุสวัตจะมีการเลื่อนมาเป็นวันที่ 11 มีนาคมแทน เทศกาลที่ระลึกถึงการเป็นขึ้นจากความตายของพระเยซูคริสต์นี้จึงคลาดเคลื่อนตามอย่างไม่สามารถยอมรับได้ (การที่ผูกวันอีสเตอร์กับฤดูใบไม้ผลิเปรียบเหมือนการเริ่มต้นของชีวิตใหม่อีกครั้งเช่นเดียวกับพระเยซูที่ฟื้นคืนชีวิตมา)
นักดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ถูกเกณฑ์มาคิดแนวทางแก้ปฏิทินที่จักรพรรดิซีซาร์บัญชาไว้ อย่างแรกคือต้องปรับปีให้ใกล้เคียงปีดาราศาสตร์ (Tropical Year) ที่แท้จริงเสียก่อน พวกเค้าจึงทำการทอนเวลาในหนึ่งวันลงเหลือ 365.2425 วันแทน 365.25 ของเดิม เพิ่มกฎการคำนวณปีอธิกสุรทินว่าจะเพิ่ม 1 วันก็ต่อเมื่อปี ค.ศ.นั้นสามารถหารด้วยเลข 4 และเลข 100 ลงตัวเท่านั้น ปีที่หารด้วย 400 ลงตัวจะไม่นับ ดังนั้น ค.ศ.1700 หรือ 1800 จึงไม่เป็นปีอธิกสุรทิน
พระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 13 ยังได้ทำการตีตราประกาศตัดวันที่ 5-14 ตุลาคมของปี ค.ศ.1582 ทิ้งเพื่อชดเชยระบบปฏิทินที่เพี้ยนมานานนับพันปี ดังนั้นวันที่ 4 ตุลาคมจึงเป็นวันสุดท้ายปฏิทินจูเลียน นับวันที่ 5 ตุลาคมใหม่เป็น 15 ตุลาคมโดยอัตโนมัติ ปฏิทินเกรโกเรียน (Gregorian calendar) นี้ก็คือปฏิทินที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันนั่นเอง เรียกได้ว่าศาสนาเป็นส่วนช่วยเร่งผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาก็ไม่ผิดนัก
แต่ช้าก่อน... ด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ทำให้เราเริ่มตรวจพบความไม่ชอบมาพากลของระบบปฏิทินเกรโกเรียน (อีกแล้ว!) ความจริงเผยตนออกมาว่าระยะเวลาในการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์แท้จริงนั้นอยู่ที่ 365.24219 วัน ความผิดพลาดอยู่ในระดับวินาทีจึงยังไม่ส่งผลอะไรรุนแรงเท่าที่ผ่านๆมา กว่าจะเลื่อนไป 1 วันก็ต้องรออีกกว่า 3,323 ปี อย่างไรก็ตาม มีความพยายามแก้ไขให้ถูกต้องด้วยการเสนอระบบ ปฏิทินโลก (World Calendar) ขึ้นในปี ค.ศ.1930 ในระยะเวลา 12 เดือนจะแบ่งออกเป็น 4 ตอน เดือนแรกของแต่ละตอนจะพิเศษโดยมี 31 วัน (อีก 2 เดือนที่เหลือในตอนจะมีเดือนละ 30 วัน) กำหนดวันที่ 1 มกราคมของทุกปีให้ตรงกับวันอาทิตย์ เปลี่ยนวิธีแก้ไขด้วยปีอธิกสุรทินเดิมด้วยระบบวันอธิกสุรทิน (Leapyear Day) เข้าไป 1 วัน ทั่วโลกจะต้องทำการเว้นเวลา 24 ชม.หลังวันที่ 30 มิถุนายนทิ้งไปแล้วค่อยเริ่มกลับมานับเป็นวันที่ 1 กรกฎาคมตามปกติ นอกจากนี้ยังเพิ่มวันโลก (World Day) เข้าไปทุกหลังวันที่ 30 ธันวาคมแล้วจึงค่อยนับเริ่มปีใหม่ ข้อดีของระบบปฏิทินโลกคือมนุษยชาติจะบอกลาความสับสนในการจะเพิ่มหรือลดวัน ทั้งยังสามารถพิมพ์ปฏิทินล่วงหน้าได้ยันลูกหลานบวชเพราะเดือนต่างๆในแต่ละตำแหน่งถูกปรับให้มีความเหมือนกัน (เดือนกุมภาพันธ์จะกลายเป็น 30 วัน) ปฏิทินแต่ละชุดจะแตกต่างแค่เลขปีเท่านั้น