ทุนยักษ์ งับทุกโครงสร้างพื้นฐาน
ช่วงนี้มีข่าวในกระแสที่สำคัญเกี่ยวกับเงินในกระเป๋าของประชาชนไปจนถึงความมั่นคงของชาติ ที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกันอยู่ 2 เรื่อง
เรื่องแรกการประมูลวงโคจรดาวเทียม ที่กสทช. กำลังจะประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลได้ ซึ่งหมอวรงค์และพันธมิตรยังคงเดินหน้าคัดค้านการประมูลอย่างสุดกำลัง ด้วยเห็นว่าดาวเทียมเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการสื่อสารของชาติ ไม่ควรตกไปอยู่ภายใต้การบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จของเอกชน เพราะจะทำให้รัฐไม่สามารถควบคุมหรือรับรู้ได้ หากเกิดเหตุการณ์คอขาดบาดตายในอนาคต โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความั่นคงของประเทศ เรียกว่า เป็นสมบัติชาติ ที่ชาติโดยหน่วยงานของรัฐต้องมีสิทธิ์ในการกดปุ่มชี้เป็นชี้ตาย ไม่ใช่ยกสิทธิ์ขาดให้เอกชน แล้วตัวเองต้องไปร้องขออนุญาตในภายหลัง
อีกเรื่องหนึ่งก็คือปัญหาค่าไฟแพง ที่ประชาชนต้องแบกรับภาระต้นทุนแทนเอกชนผู้ผูกขาดสัมปทานไฟฟ้า ซึ่งคุณรสนา โตสิตระกูล เป็นแกนหลักในการคัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะเห็นว่ารัฐให้เอกชนเปิดโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการ ซ้ำยังทำสัญญา Take or Pay ที่ต่อให้ไม่มีการผลิตไฟฟ้า ก็ยังต้องจ่ายอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ โดยผลักภาระมาให้ประชาชนรับผิดชอบในส่วนนี้ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ ซึ่งเป็นขบวนการคอร์รัปชันที่ใหญ่สุดของประเทศ
(ยุทธการดับแผนโจรกรรมเหนือเมฆ : https://www.facebook.com/suphanat.aphinyan/posts/pfbid0Lg7EtsjyTFwrNSXyriD44YLU8TQHMSSWrXTjmZkzNH5JKGARfQpZTH2q2A4uEDxdl)
สองเรื่องนี้ที่เคยแยกกันอยู่คนละส่วน แต่กลับกลายมาเกี่ยวพันกันได้ เพราะมีปัจจัยเกื้อหนุนเดียวกัน ซึ่งก็คือมีเอกชนทุนยักษ์ใหญ่รายเดียวกันเป็นผู้เล่นอยู่ข้างหลัง ไม่ใช่ใครที่ไหน กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ของเสี่ยสารัชถ์ รัตนาวะดี มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย ซึ่งแต่ดั้งเดิมกัลฟ์เป็นทุนใหญ่ที่โดดเด่นในตลาดพลังงาน แต่จะด้วยการอิ่มตัวของธุรกิจหรือเหตุผลกลใดก็ตาม ต่อมากัลฟ์ได้สยายปีกเข้าไปใหญ่ในธุรกิจอื่น ๆ อย่างรวดเร็วด้วย รวมถึงธุรกิจโทรคมคมนาคม ที่เพิ่งรวบ 3BB มาอยู่ในกำมือจากการซื้อผ่านเอไอเอส และธุรกิจดาวเทียม ที่กำลังเป็นประเด็นฮอตเรื่องการยกสมบัติชาติให้นายทุน ด้วยการเข้าประมูลวงโคจรดาวเทียมครั้งล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ ในนามบจ.ไทยคม
หากย้อนไปดูธุรกิจที่กัลฟ์จับ ก็จะเห็นว่ามักเป็นธุรกิจหลัก ๆ ใหญ่ ๆ ที่เป็นแกนสำคัญของประเทศที่สามารถต่อยอดไปได้อีกหลากหลายธุรกิจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านพลังงาน ที่กัลฟ์เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย โดยผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปี, ธุรกิจจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ, ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ที่มีโรงไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป 4 แห่งในชลบุรีและระยอง รวมถึงโครงการร่วมทุนเพื่อลงทุนและดำเนินงานระบบจำหน่ายไฟฟ้าและระบบทำความเย็นสำหรับโครงการ One Bangkok ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
ธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ที่เกี่ยวข้องกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) โครงการบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง บางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81)
ธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ที่กัลฟ์กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้เป็นเจ้าของทั้งอินทัช เอไอเอส และไทยคม เรียกว่าได้รวบตึงโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมส่วนใหญ่ของประเทศไปเลย ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า งานนี้กัลฟ์ให้ความสำคัญกับการประมูลวงโคจรครั้งนี้มาก ไม่ใช่แค่ว่าจะนำมาทดแทนสัญญาเก่าของไทยคมที่หมดอายุลงเพียงอย่างเดียว แต่จะนำไปใช้ต่อยอดธุรกิจในอาณาจักรกัลฟ์ ทั้งธุรกิจโทรคมนาคมของเอไอเอส ที่จะขยับไปสู่ Deep Tech และธุรกิจพลังงานอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย
ด้วยลักษณะการจับธุรกิจใหญ่ที่เป็นแกนสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนี้เอง ที่ทำให้กัลฟ์เข้ามาอยู่ในโฟกัสของมวลมหาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับหัวเรือใหญ่ของกัลฟ์ที่ได้ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทยในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาคู่ขนานกับการที่คนไทยต้องควักเงินในกระเป๋าออกมาจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้น ซึ่งเกี่ยวโยงกับกิจการที่กัลฟ์ทำอยู่กับกฟผ. จึงทำให้ผู้บริโภคต้องมาทบทวนว่ากำลังควักเงินในกระเป๋าเอาไปให้เขาไต่อันดับมหาเศรษฐีอยู่หรือเปล่า
นี่ก็เป็นแค่น้ำจิ้ม จากนี้ไปกัลฟ์ก็คงต้องเจอกับศึกหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะโครงสร้างพื้นฐานเป็นสินทรัพย์ที่ใหญ่และหนักมาก เมื่อคิดจะกอดไว้มากเท่าไร ย่อมต้องแบกรับผลที่หนักมากเท่านั้น แต่เชื่อว่าจะหนักแค่ไหน ก็คงหยุดกัลฟ์ขยายธุรกิจไม่ได้ ดูจากปัจจุบัน ที่กำลังจะกำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนเอาไว้ในมืออีกด้วย จากการลงทุนใน Binance Labs Investment Fund นั่นเอง
อันที่จริงการจะจับธุรกิจอะไรก็เป็นเรื่องของธุรกิจเขา ตราบใดที่การทำธุรกิจนั้นไม่เป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่ได้มาเบียดเบียนเงินในกระเป๋า ทำให้ประชาชนผู้บริโภคอย่างเราต้องเดือดร้อน แต่ถ้ากระทบแม้เพียงนิดเดียว ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องนิ่งดูดาย อาจต้องไปเจอกันบนถนนบ้างหละ แต่หากมองให้เป็นความรู้และเรื่องสนุก ตอนนี้ที่ทำได้แน่ ๆ ก็คือจับตาดูต่อไปว่า โครงสร้างพื้นฐานไหนจะถูกรวบไปอยู่ในมือของยักษ์ใหญ่รายนี้อีกเท่านั้นเอง