5 แซ่จีน ลูกหลานมังกรในไทย เปิดที่มาต้นกำเนิดนามสกุลจีน!!
รู้จัก 5 แซ่จีน ลูกหลานมังกรในไทย เปิดที่มาต้นกำเนิดนามสกุลจีน
คนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจีนถิ่นแต้จิ๋ว ทำให้ชื่อแซ่จีนต่างๆ มักออกเสียงตามสำเนียงจีนแต้จิ๋ว ขณะเดียวกันหลายๆ คนก็เปลี่ยนมาใช้นามสกุลภาษาไทย แต่ก็ยังนำชื่อของแซ่ ตั้งไว้ต้นนามสกุล โดยจะยกตัวอย่างที่มาของ 5 แซ่จีนในไทย ที่คนไทยใช้กันเยอะที่สุด และเป็นที่คุ้นเคยกันดี ได้แก่
陈
1. แซ่ตั้ง (ภาษาจีนกลางคือ แซ่เฉิน)
ถือเป็นตระกูลใหญ่ มีผู้ใช้แซ่ตั้งในประเทศไทยเยอะมาก ประวัติความเป็นมาของแซ่ตั้ง แยกออกเป็นหลายสาย แต่สำหรับเรื่องเล่าที่รู้จักกันมากที่สุด เชื่อว่ามาจากสมัยที่กษัตริย์ของแคว้นโจวตะวันตก ออกตามหาทายาทสืบสกุลของราชวงศ์ซางที่ล่มสลายไปแล้ว จนกระทั่งตามหาพบ ซึ่งก็คือ "กุยหม่าน" จึงได้ยกลูกสาวของตนให้แต่งงานด้วย และให้ทั้งคู่ไปปกครองเมืองที่ชื่อว่า "เฉิน" ตั้งอยู่ในมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของแซ่เฉินในเวลาต่อมา
林
2. แซ่ลิ้ม (ภาษาจีนกลางคือ แซ่หลิน)
แซ่ลิ้ม ในประเทศไทย เป็นตระกูลที่รวมตัวเป็นสมาคมที่เหนียวแน่นมาอย่างยาวนาน ประวัติของตระกูลลิ้มเล่าสืบต่อกันมาว่า มีต้นตระกูลมาจาก "เกียงกง" ซึ่งเป็นบุตรชายของ "ปีกังกง" ผู้เป็นข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์ แต่กลับถูกจักรพรรดิสั่งประหารชีวิตโดยมิชอบ ภรรยาของปีกังกงจึงหลบหนีไปคลอดลูกในถ้ำเชี่ยงลิ้ม ซึ่งต่อมาก็คือบุตรชายที่ชื่อว่าเกียงกงนั่นเอง เมื่อสิ้นสุดรัชสมัยเดิม จักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ และได้พระราชทานแซ่สกุลให้ว่า "ลิ้ม" โดยตั้งตามชื่อถ้ำเชี่ยงลิ้ม อันเป็นสถานที่กำเนิดของเขา
李
3. แซ่หลี (ภาษาจีนกลางคือ แซ่หลี่)
คนแซ่หลี ไม่ได้มีเยอะแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นแซ่ที่คนจีนแผ่นดินใหญ่ใช้กันจำนวนมากอีกด้วย แซ่หลีมีประวัติหลายที่มา แยกออกไปเป็นแซ่ และสายตระกูลต่างๆ มากมาย ต้นกำเนิดตระกูลนี้ เชื่อว่าหลักๆ มาจากลูกหลานของ "จวนซุนตี้" บ้างก็ว่ามาจาก "เล่าจื๋อหลี่เอ๋อ" เจ้าแห่งลัทธิเต๋าในสมัยราชวงศ์โจว ขณะที่อีกเรื่องเล่า ก็เชื่อว่าเป็นการนำตำแหน่งทางราชการที่เรียกว่า "ต้าหลี่" มาตั้งเป็นแซ่ต้นตระกูล
• 黄
4. แซ่อึ๊ง (ภาษาจีนกลางคือ แซ่หวง)
ส่วนใหญ่บรรพบุรุษของคนแซ่นี้ มีถิ่นกำเนิดในมณฑลกวางตุ้ง ถือเป็นตระกูลเก่าแก่อีกตระกูลหนึ่งของจีน คำคำนี้ออกเสียงในภาษาจีนกลางว่า "หวง" มีความหมายว่า "สีเหลือง" ประวัติที่มาต้องย้อนกลับไปถึงสมัยโบราณ ที่เชื่อว่ามีเผ่าจำนวน 9 เผ่า ที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด โดยหนึ่งในนั้นคือ เผ่าหวง เป็นเผ่าที่บูชานกสีเหลืองขนงดงาม อาศัยอยู่แถบมองโกเลียใน ก่อนจะอพยพลงใต้มาเรื่อยๆ รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนเรื่องเล่าอื่นๆ เชื่อว่าเป็นการตั้งแซ่ตามแคว้นที่ชื่อว่า "หวง" ซึ่งเมื่อออกเสียงตามภาษาจีนถิ่นแต้จิ๋ว ก็คือ "อึ๊ง" นั่นเอง
吴
5. แซ่โง้ว (ภาษาจีนกลางคือ แซ่อู๋)
โง้ว ออกเสียงในภาษาจีนกลางว่า "อู๋" เป็นตระกูลที่กระจายกว้างขวางที่สุดอีกแซ่หนึ่งในไทย มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เชื่อว่าต้นกำเนิดมาจาก "อู๋ฉวน" ข้าราชการในสมัยของพระเจ้าจวนซู บ้างก็ว่ามาจาก "อู๋เฮ่อ" ข้าราชการสมัยราชวงศ์เซี่ย ซึ่งล้วนมีเรื่องเล่าที่แตกต่างกันออกไป แต่จุดร่วมมีลักษณะใกล้เคียงกันคือ ผู้ให้กำเนิดต้นตระกูล เป็นข้าราชบริพารของจักรพรรดิ และรับราชการเป็นข้าแผ่นดินในรัชสมัยต่างๆ
แซ่จีน หรือแซ่ของคนจีน นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่สามารถบอกภูมิลำเนา และแนวคิดการนับถือบรรพชนได้ อีกทั้งยังสะท้อนเรื่องราวของสายเลือดมังกรพลัดถิ่น การที่มีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงทำให้มีคำกล่าวที่ว่า แผ่นดินจีนเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน