ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร สาเหตุ อาการ รักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยวิธีไหนได้บ้าง
เคยไหม? กับปัญหาปวดกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆของร่างกาย ที่ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งปวดกล้ามเนื้อถี่มากขึ้นเท่านั้น จนเริ่มมีผลรบกวนกับการใช้ชีวิตประจำวัน จะทำงานนานๆก็เริ่มไม่ได้ ขับรถไปไกลๆก็เริ่มไม่ไหว ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ หลายๆคนมองว่า คงเป็นเพราะเริ่มแก่ตัวแล้ว เลยเป็นแบบนี้แหละ แท้ที่จริงแล้วเป็นแบบนั้นจริงหรือ?
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นโรคที่กลุ่มคนวัยทำงานมักเป็นแบบไม่รู้ตัว เนื่องด้วยสภาพการทำงานที่มีการแข่งขันสูง มีความเครียด ความกดดัน ใช้ระยะเวลาในการทำงานค่อนข้างนาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่จำเป็นต้องนั่งอยู่ที่เดิมเป็นระยะเวลานาน หรือมักมีพฤติกรรมการนั่งผิดท่าทางบ่อยๆ ก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้มากกว่าคนทั่วไป
ฉะนั้น บทความนี้เราจะมาเจาะลึกถึงเรื่องของโรคออฟฟิศซินโดรมกัน ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศซินโดรมคืออะไร? สาเหตุมาจากไหน? อาการออฟฟิศซินโดรม หรือสัญญาณเตือน ออฟฟิศซินโดรมมีอะไรบ้าง พร้อมด้วยวิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมที่เหมาะสม หากใครกำลังสงสัยว่าตนเองน่าจะเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม อย่ารอช้า มาหาคำตอบไปด้วยกันได้ที่บทความนี้
ภาวะออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือชาตามส่วนต่างๆของร่างกาย อันเนื่องมาจากลักษณะการทำงานที่ต้องอยู่ในท่าทางซ้ำๆ หรือมีพฤติกรรมการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น หลังค่อม ไหล่ห่อ ยกไหล่ หรือก้มคอ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
แน่นอนว่า เมื่อทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ ต่อเนื่องกันเป็นชีวิตประจำวัน อาจส่งผลต่อการเกิดโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อขึ้นมาได้ โดยกลุ่มที่พบบ่อย ได้แก่ อาการกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง นิ้วล็อก เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่สะบักบ่า หรือหลังยึดติดในท่าแอ่น เป็นต้น
สาเหตุอาการออฟฟิศซินโดรม
แท้ที่จริงแล้ว โรคออฟฟิศซินโดรม สาเหตุมีอยู่ 2 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้
สาเหตุจากสภาพแวดล้อม
- ทำงานในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ
- ระดับความสูงระหว่างโต๊ะกับเก้าอี้ไม่สัมพันธ์กัน
- ระยะเวลาการทำงานไม่เหมาะสม หรือนานจนเกินไป
สาเหตุจากสภาพร่างกาย
- ความเครียด
- ความกดดัน
- พฤติกรรมการทำงานไม่เหมาะสม เช่น นั่งหลังค่อม ก้มคอเป็นเวลานาน
- จำเป็นต้องทำท่าทางเดิมซ้ำๆเป็นระยะเวลานาน เช่น รับโทรศัพท์ตลอดทั้งวัน ยกของ พิมพ์งาน
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ทานอาหารไม่ตรงเวลา
5 อาการออฟฟิศซินโดรมยอดฮิต
เมื่อเราเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ และลักษณะของโรคไปแล้ว ในพาร์ทนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าอาการออฟฟิศซินโดรมเป็นอย่างไรบ้าง โดยทางเราได้ทำการรวบรวม 5 อาการออฟฟิศซินโดรมยอดฮิตที่พบได้บ่อยในกลุ่มวัยทำงานมาให้แล้ว ดังนี้
1. ปวดหลัง คอ บ่า ไหล่
ปวดหลัง คอ บ่า ไหล่ หรือที่บางคนเป็นอาการปวดไหล่สะบักบ่า อาการเหล่านี้อาจมาจากพฤติกรรมการนั่ง ยืน เดิน ที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน หรือในชีวิตประจำวันเราอาจทำกิจกรรมที่กล้ามเนื้อต้องเกร็งตัวมากเกินไป ไม่ค่อยเคลื่อนไหวเท่าไหร่นัก จึงก่อให้เกิดความรู้สึกตึงที่กล้ามเนื้อบริเวณนี้ได้
2. ปวดศีรษะ
อาการออฟฟิศซินโดรม มึนหัว ปวดศีรษะ ก็อาจมาจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ เกิดการตึงตัว เลือดจึงไม่สามารถไหลไปยังส่วนหัวได้อย่างสะดวกเท่าที่ควร ก่อให้เกิดเป็นอาการปวดศีรษะ มึนๆ ซึ่งในบางครั้ง การนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดการปวดศีรษะ ร่วมกับอาการตาแห้ง ปวดตา จนเสี่ยงต่อการเกิดโรคไมเกรนได้
3. ปวดข้อมือ นิ้วล็อค
ปวดข้อมือ นิ้วล็อค เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนส่วนใหญ่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มาจากการที่เราใช้นิ้วมือ ในการเกร็ง จับสิ่งของต่างๆเป็นระยะเวลานาน ซึ่งกลุ่มอาชีพเสี่ยง ได้แก่ พนักงานออฟฟิศ ที่ต้องมีการพิมพ์งานผ่านคอมพิวเตอร์ จับเม้าส์อยู่ตลอดเวลา หรืออย่างแม่ค้าขายอาหาร คนทำอาหาร หรือช่างซ่อมสิ่งของต่างๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะจำเป็นต้องใช้มือในการจับอุปกรณ์เป็นเวลานานนั่นเอง
หากปล่อยให้เกิดอาการปวดต่อไป โดยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือเข้ารับการรักษาออฟฟิศซินโดรม จะทำให้เสี่ยงต่อการกล้ามเนื้อกดทับจนพังผืดทับเส้นประสาท จนเกิดอาการปวดข้อมือ นิ้วล็อก หรือมีอาการชาที่บริเวณมือได้
4. ปวดตา สายตาเบลอ ตาพร่า
ปวดตา สายตาเบลอ ตาพร่า เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยเช่นกัน ซึ่งสาเหตุหลักๆมาจากการที่ต้องจ้องข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์เป็นเวลานาน รวมไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ เมื่อใช้สายตาอย่างมาก อาจทำให้สายตาเบลอ ตาพร่า ตาล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตา หรือมองเห็นภาพซ้อนกันได้
5. ปวดขา เหน็บชา
ปวดขา เหน็บชา อาจมาจากการที่มีพฤติกรรมอยู่ในท่าทางใดท่าทางหนึ่งเป็นระยะเวลานาน จนทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับ ส่งผลให้ระบบเลือดมีการหมุนเวียนไม่สะดวก หากมีระดับความรุนแรงที่มากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการชาลุกลามไปยังเท้า หรือขาไร้เรี่ยวแรง
อาชีพที่เสี่ยงต่ออาการเหล่านี้ คือ กลุ่มพนักงานบริการต่างๆ แม่ค้าขายอาหาร ที่ต้องมีการยืนตลอดทั้งวัน หรือพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน
พฤติกรรมเสี่ยงออฟฟิศซินโดรมมีอะไรบ้าง
พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรม มีดังนี้
- อยู่ที่เดิมเป็นระยะเวลานาน ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกาย
- พฤติกรรมท่าทางไม่เหมาะสม เช่น หลังค่อม ห่อไหล่ นั่งไขว่ห้าง
- สภาพแวดล้อมการทำงานไม่เหมาะสม เช่น แสงสว่างไม่เพียงพอ ระดับความสูงระหว่างโต๊ะกับเก้าอี้ไม่สัมพันธ์กัน การใช้เม้าส์และคีย์บอร์ดห่างจากลำตัวเกินไป
- ลักษณะการทำงานที่เลี่ยงได้ยาก เช่น การทำงานกับคอมพิวเตอร์ที่ต้องก้มๆเงยๆ พนักงานขายสินค้าที่ต้องยืนตลอดทั้งวัน คนที่ต้องยกของหรือหิ้วของหนักอย่างต่อเนื่อง
- ความเครียดสะสม
- ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
กลุ่มเสี่ยงภาวะออฟฟิศซินโดรม
กลุ่มอาชีพเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจนกลายเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม มีดังนี้
- กลุ่มที่ต้องนั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน เช่น พนักงานขับรถ พนักงานออฟฟิศ พนักงานขายสินค้า
- กลุ่มที่ต้องใช้แรงในการทำงาน เช่น พนักงานขายกาแฟ พนักงานยกของ
- บุคคลที่เล่นกีฬาเป็นประจำ และไม่ได้ดูแลร่างกายให้ถูกวิธี
- ผู้ที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น แสงสว่างไม่เพียงพอ ระดับความสูงของโต๊ะกับเก้าอี้ไม่สัมพันธ์กัน ลักษณะของเก้าอี้ที่ไม่ซัพพอร์ตกับสรีระร่างกาย
- บุคคลที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน
- บุคคลที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย
- ผู้ที่มีความเครียดสะสม
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือพักผ่อนน้อย
อาการออฟฟิศซินโดรมแบบใดที่ควรพบแพทย์
อาการออฟฟิศซินโดรม มีตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อย ไปจนถึงระดับความรุนแรงมาก หากคุณรู้ตัวเองเร็ว ก็จะทำให้เข้ารับการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งอาการที่ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว มีดังนี้
- เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆของร่างกายบ่อยๆ
- เริ่มมีอาการชามากขึ้น
- อาการที่เป็นอยู่เรื้อรัง แม้ว่าพยายามทำกิจกรรมต่างๆแล้วแต่ก็ยังไม่หายขาด
- ปวดอย่างมากจนไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ชัดเจนได้
- เริ่มเกิดโรคอื่นๆร่วมด้วย เช่น เอ็นข้อมืออักเสบ
การตรวจวินิจฉัยโรคออฟฟิศซินโดรม
เมื่อคุณอ่านมาถึงตรงนี้ และกำลังลังเลที่จะตัดสินใจเข้าพบแพทย์ คุณไม่ต้องกังวลไป เพราะการตรวจวินิจฉัยโรคออฟฟิศซินโดรม มีดังต่อไปนี้
- ซักประวัติผู้ป่วย ผู้เชี่ยวชาญจะซักประวัติเกี่ยวกับอาการนำ การใช้ชีวิตประจำวัน อาชีพ ลักษณะงานที่ทำ หรือเช็คเรื่องของพฤติกรรมท่าทางขณะนั่ง ยืน เดิน รวมไปจนถึงประวัติการเกิดอุบัติเหตุ ระดับความเครียด และการพักผ่อน เพื่อดูว่าสาเหตุของอาการออฟฟิศซินโดรมน่าจะมาจากจุดใด
- เริ่มทำการตรวจร่างกาย ประเมินตามลักษณะอาการที่ปรากฏ ตำแหน่งกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดหรือชา ดูแนวกระดูกสันหลัง หรือตรวจเช็คอิริยาบถในการเคลื่อนไหว
- ประเมินความเจ็บปวดของบริเวณกล้ามเนื้อที่ระบุ ซึ่งสามารถแบ่งวิธีการประเมินออกมาได้ 2 วิธีหลัก ได้แก่ การบอกความรู้สึกเป็นตัวเลข (numerical rating scales: NRS) คือ การให้ผู้ป่วยใช้ตัวเลขเพื่อระบุระดับควาามเจ็บปวด และเฟเชียล สเกลส (facial scales) เป็นการใช้รูปภาพที่มีสัญลักษณ์หน้าสื่ออารมณ์ ให้ผู้ป่วยเลือก เพื่อแสดงถึงระดับความเจ็บปวด
- เริ่มทำการรักษาและฟื้นฟูกล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ โดยในขั้นตอนนี้ ผู้เชี่ยวชาญจะรักษาออฟฟิศซินโดรม กายภาพบำบัด หรือ แบบเทคโนโลยี เพื่อบำบัดออฟฟิศซินโดรมให้มีอาการดีขึ้น ในบางกรณีอาจมีการใข้ยารักษาออฟฟิศซินโดรมร่วมด้วย
- ผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง เพื่อปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นได้รับความเสียหายซ้ำ
- นัดติดตามผลการรักษา โดยให้ผู้ป่วยจดบันทึกระดับความเจ็บปวด ความถี่ในการปวดของแต่ละวัน รวมไปจนถึงวันนัดติดตามผลจะมีการตรวจประเมินอาการและการเคลื่อนไหวอีกครั้ง
วิธีรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม
หลายๆ คนอาจมีความกังวลใจว่า ออฟฟิศซินโดรมรักษาหายไหม? คำตอบก็คือ การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมไม่ได้อยู่ที่เพียงการทำกายภาพบำบัดอย่างเดียวเท่านั้น แต่คุณยังต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆควบคู่ไปกับการเข้ารับการรักษาด้วย จึงจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งสิ่งที่สามารถทำได้ควบคู่ไปกับการเข้ารับการรักษากับผู้เชี่ยวชาญ มีดังนี้
1. การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน เวลาชีวิตส่วนใหญ่มักอยู่ในที่ทำงาน ซึ่งสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของคุณ คุณควรปรับสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสม เช่น นั่งอยู่ในที่ที่แสงสว่างเพียงพอ ปรับระดับความสูงของโต๊ะกับเก้าอี้ให้มีความสัมพันธ์กัน เลือกลักษณะเก้าอี้ที่มีฟังก์ชันซัพพอร์ตกับสรีระร่างกาย อากาศบริเวณนั้นถ่ายเทสะดวก เป็นต้น
2. การปรับอิริยาบถให้ถูกต้องเหมาะสม
หากคุณต้องนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน แต่ไม่อยากเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมแล้วหล่ะก็ สิ่งที่คุณจะต้องทำเป็นอย่างต้นๆคือ คุณต้องหมั่นสังเกตลักษณะท่าทางการนั่ง ยืน เดิน ของตนเอง ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากพบว่าไม่เหมาะสม ควรพยายามปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น พยายามนั่งหลังตรง ไม่ไหล่ห่อ เมื่ออยู่ในช่วงที่รู้ตัว หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง เป็นต้น
3. การออกกำลังกายเป็นประจำ
หากคุณกำลังรู้สึกเบื่อ และต้องการหากิจกรรมใหม่ๆทำอยู่หล่ะก็ การออกกำลังกายก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะการออกกำลังกาย เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อต่างๆ ทำให้อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลดลง ผ่อนคลาย ลดความเครียด อีกทั้งช่วยเรื่องการนอนหลับได้ด้วย
4. การทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อ
การทำกายภาพบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้คุณมั่นใจได้ว่า ได้มีการยืดกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง ทำให้กล้ามเนื้อได้รับความผ่อนคลาย ลดอาการเกร็งหรือตึงตัว ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว นักกายภาพบำบัดจะสอนท่าบริหารต่างๆในการดูแลกล้ามเนื้อตนเองอย่างถูกวิธีให้คุณกลับไปทำที่บ้านด้วย จึงทำให้เหมาะสำหรับมือใหม่ที่อยากดูแลตนเองเพิ่มเติมแบบถูกวิธีนั่นเอง
5. การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยยา
บางกรณี การรักษาออฟฟิศซินโดรมอาจจำเป็นต้องใช้ยารักษาออฟฟิศซินโดรมร่วมด้วย เนื่องจากระดับความรุนแรงของโรคออฟฟิศซินโดรมมากจนเกินไป จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาในการให้ยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
6. การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือก
- การฝังเข็ม
การฝังเข็ม จะฝังลงบนบริเวณกล้ามเนื้อที่มีอาการปวด เพื่อทำให้เกิดการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้อาการปวดบริเวณนั้นเบาลง
- การนวดแผนไทย
การนวดแผนไทย เป็นการนวดเพื่อลดความเกร็งตัวหรือความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้ลำเลียงสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากคุณจะเลือกวิธีนี้ อาจต้องระวังเรื่องของความเชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัย
7. การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shockwave Therapy)
การรักษาด้วยคลื่นกระแทก เป็นวิธีการบำบัดออฟฟิศซินโดรมรูปแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับศาสตร์ของกายภาพบำบัด โดยผู้เชี่ยวชาญจะส่งคลื่นกระแทกเข้าไปยังกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด เนื้อเยื่อที่ได้รับพลังงานคลื่นกระแทก จะถูกกระตุ้นให้เกิดการบาดเจ็บใหม่ ทำให้เริ่มกระบวนการซ่อมแซมตนเองอีกครั้ง ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่จำนวนครั้งในการเข้ารับการรักษาค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ และเห็นผลลัพธ์ได้อย่างรวดเร็ว
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากออฟฟิศซินโดรม
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากออฟฟิศซินโดรม ได้แก่…
- ปวดบริเวณตา เช่น อาการตาพร่า กระบอกตา กล้ามเนื้อตา
- เกิดอาการเหน็บชาตามส่วนต่างๆของร่างกาย
- กล้ามเนื้อเกิดการตึงตัวหลายจุด
- ปวดหลัง คอ หรือปวดไหล่สะบักบ่า
- หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- ปวดศีรษะ มึนงง หรือเสี่ยงเป็นไมเกรน
- นิ้วล็อค
- เอ็นข้อมืออักเสบ
แนวทางการป้องกันภาวะออฟฟิศซินโดรม
หากคุณไม่อยากเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม สามารถใช้วิธีป้องกันโดยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำได้ ดังนี้
- ขยับตัว เปลี่ยนท่าทางการนั่ง ยืน เดิน ไม่อยู่ในท่าทางเดิมนานจนเกินไป
- นั่งอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงสว่างเพียงพอต่อการทำงาน
- ปรับระดับความสูงของโต๊ะกับเก้าอี้ทำงานให้สัมพันธ์กัน
- เลือกเก้าอี้ที่รองรับกับสรีระร่างกาย
- ผ่อนคลายความเครียดในการทำงาน
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การพยายามนั่งหลังตรง ไม่เงยหรือก้มหน้าบ่อยจนเกินไป
- ฝึกท่าบริหาร หรือยืดกล้ามเนื้อให้ถูกวิธี และทำอย่างเป็นประจำ
- ออกกำลังกาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ
รักษาออฟฟิศซินโดรมที่ไหนดี
มาถึงพาร์ทนี้ หลายๆคนอาจเลือกตัดสินใจเข้ารับการรักษาแล้ว แต่ติดอยู่ที่ว่าจะรักษาออฟฟิศซินโดรมโรงพยาบาลไหนดี? หรือออฟฟิศซินโดรมรักษาที่ไหนดี?
การเลือกสถานพยาบาลเข้ารับการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม ควรมีแนวทางในการเลือก ดังนี้
- สถานพยาบาล มีความสะอาด มีมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วย
- สะดวกในการเดินทาง ปลอดภัย
- ได้รับการบริการจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญและสามารถเชื่อถือได้
- ผู้ให้บริการมีใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง
- มีเทคโนโลยีในการกายภาพบำบัดพร้อม
ข้อสรุป
ออฟฟิศซินโดรม เป็นอาการปวดหรือตึงกล้ามเนื้อที่บริเวณส่วนต่างๆของร่างกาย โดยมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการทำงานและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การอยู่ในท่าทางเดิมเป็นระยะเวลานาน ใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ จนเริ่มเกิดการบาดเจ็บและอักเสบในที่สุด
การเข้ารับการรักษาออฟฟิศซินโดรม จะต้องพิจารณาถึงหลายๆส่วนตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น และจะต้องทำกิจกรรมอื่นๆเพื่อปรับพฤติกรรมตนเองควบคู่ไปกับการเข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ลดโอกาสที่เนื้อเยื่อจะเกิดการบาดเจ็บและกลับมาเป็นซ้ำได้อีกด้วย