หลายท่านคงได้เห็นข่าวกองทัพแมลงนับพันนับหมื่นตัวบุกถล่มบ้านกันเป็นประจำ! วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเจ้าแมลงชนิดนี้กันครับ!!
#แมลงกระเบื้อง #ด้วงกระเบื้อง
เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน หลายท่านคงได้เห็นข่าวกองทัพแมลงนับพันนับหมื่นตัวบุกถล่มบ้านกันเป็นประจำนะครับ โดยเฉพาะบ้านไม้...วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเจ้าแมลงชนิดนี้กันครับ
ด้วงกระเบื้อง หรือ แมลงกระเบื้อง เป็นแมลงในอันดับด้วงอยู่ในวงศ์ Tenebrionidae (วงศ์เดียวกับมอดแป้ง) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 𝘔𝘦𝘴𝘰𝘮𝘰𝘳𝘱𝘩𝘶𝘴 𝘷𝘪𝘵𝘢𝘭𝘪𝘴𝘪 (Chatany, 1917) อาหารของด้วงกระเบื้องคือเศษเน่าเปื่อยผุพังของพืช เมล็ดธัญพืชที่มีคงามชื้น รวมถึงเชื้อราที่ขึ้นบนเนื้อไม้ พบมากในช่วงต้นฤดูฝนเนื่องจากความชื้นจะทำให้เชื้อราซึ่งเป็นอาหารของด้วงชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีนั่นเอง
ทั้งนี้มีรายงานการพบด้วงกระเบื้องในแปลงมันสำปะหลังที่ไม่ได้ดำเนินการทำเขตกรรมหลังจากเก็บเกี่ยว โดยด้วงชนิดนี้สามารถกัดกินหัวมันสำปะหลังที่เกิดเชื้อรารวมถึงทำลายรากอ่อนของต้นมันสำปะหลังต้นใหม่ได้อีกด้วย
นอกจากนี้มักพบด้วงกระเบื้องในบ้านที่ปลูกสร้างจากไม้เนื้ออ่อนและบ้านไม้ที่ปลูกอาศัยมานานหลายปี เนื่องจากความชื้นในช่วงฤดูฝนจะทำให้เนื้อไม้เกิดเชื้อราซึ่งเป็นอาหารของด้วงชนิดนี้นั่นเอง และหลังจากที่ด้วงกระเบื้องบุกเข้ามากัดกินเชื้อราบนผิวไม้ก็จะผลิตสารที่มีกลิ่นเฉพาะในการดึงดูดด้วงกระเบื้องตัวอื่นๆ เข้ามาสู่บ้านหลังนั้นๆ ในลำดับต่อไปอีกด้วย
ทั้งนี้ด้วงกระเบื้องและด้วงดำ [𝘈𝘭𝘱𝘩𝘪𝘵𝘰𝘣𝘪𝘶𝘴 𝘥𝘪𝘢𝘱𝘦𝘳𝘪𝘯𝘶𝘴 (Panzer, 1797)] เป็นแมลงที่มีขนาดใกล้เคียงกัน แต่ต่างกันที่ลักษณะลำตัวซึ่งด้วงกระเบื้องจะมีลำตัวสีน้ำตาล ผิวด้านไม่มันวาว และมีเส้นขนปกคลุมทั่วลำตัว
ในขณะที่ด้วงดำซึ่งเป็นแมลงศัตรูสำคัญในฟาร์มไก่จะมีลำตัวสีดำเป็นมันวาว และไม่มีเส้นขนลำตัวปกคลุม แต่อย่างไรก็ตามสามารถพบแมลงทั้งสองชนิดนี้ได้ในที่ที่มีความชื้นเนื่องจากอาหารของพวกมันคือเชื้อรานั่นเอง
แนวทางการป้องกันกำจัด (ระยะยาว)
1. หมั่นสังเกตสภาพชิ้นส่วนเนื้อไม้ที่ใช้ปลูกอาศัย หากยังอยู่ในสภาพที่มีความหนาแน่นดี ไม่บิดงอ ไม่มีลักษณะเป็นโพรงภายใน จะเป็นสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการเข้าอยู่อาศัยของด้วงชนิดนี้ แต่หากสภาพเนื้อไม้มีความบาง โค้งงอ หรือเป็นโพรงภายในจะทำให้เหมาะสมต่อการเข้าอยู่อาศัย ดังนั้นจึงควรหมั่นตรวจสภาพเนื้อไม้ที่ใช้สร้างเป็นที่อยู่อาศัยอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี
2. การทำเขตกรรมแปลงปลูกพืชที่ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีรายงานการพบด้วงชนิดนี้ในแปลงปลูกพืช เช่น มันสำปะหลัง หรือพืชตระกูลถั่ว โดยสามารถพบแมลงชนิดนี้กัดกินชิ้นส่วนของพืชในดินที่ไม่ได้ดำเนินการไถพรวนหรือการทำเขตกรรม ซึ่งด้วงชนิดนี้จะกินเชื้อราจากชิ้นส่วนของพืช หากดำเนินการไถพรวนหรือการทำเขตกรรมจะช่วยลดปริมาณและตัดวงจรชีวิตของด้วงชนิดนี้ได้ในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน
3.ดำเนินการฉีดพ่นสารรักษาเนื้อไม้หรือสารป้องกันกำจัดแมลงอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปีเพื่อเป็นการรักษาเนื้อไม้และช่วยป้องกันไม่ให้ไม้เกิดเชื้อรา ทำให้สามารถป้องกันการเข้าทำลายของด้วงกระเบื้องได้ในปีต่อๆ ไป
.
อิทธิพล บรรณาการ
นักกีฏวิทยาชำนาญการ กลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช