The Last Zhuang Yuan หลิว ชุนหลิน “จอหงวนคนสุดท้าย”
จะชวนมารู้จักกับบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “จอหงวน” คนสุดท้ายในประวัติศาสตร์ของจีนกันดีกว่า
หลิว ชุนหลิน (Liu Chunlin 劉春霖)เกิดเมื่อปี 1872 ที่มณฑลเหอเป่ย ครอบครัวของเขามีฐานะยากจน มารดาเป็นสาวใช้ ส่วนบิดาเป็นคนงานในหน่วยงานราชการเล็ก ๆ บิดาจึงได้เคี่ยวเข็ญให้เขาเรียนหนังสือในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งเมื่ออายุ 8 ปี และเมื่ออายุ 20 ปี เขาได้เข้าเรียนในสถาบัน Baoding Lianchi ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีความรู้สูงในสถาบันแห่งนั้น
จนกระทั่งเมื่อปี 1904 เมื่อราชสำนักได้จัดการสอบจอหงวน หลิวก็ได้เข้าสอบคัดเลือก และได้รับตำแหน่งจอหงวน จากการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปในโลกและการที่ราชวงศ์จะปรับตัวให้ทันสมัย ก่อนที่ในปีต่อมาจะมีการยกเลิกการสอบจอหงวน จึงทำให้หลิวได้กลายเป็นจอหงวนคนสุดท้ายไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
ตามปรกติแล้ว ในอดีตผู้ที่ได้เป็นจอหงวนจะได้เข้ารับราชการเป็นขุนนางในทันที แต่ในยุคนั้นซึ่งราชสำนักต้องยอมรับวิทยาการจากตะวันตก ดังนั้นในปีถัดมา (1905) หลิวกับเพื่อนอีกหลายคนจึงถูกส่งตัวไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ก่อนจะกลับมาประเทศจีนอีกครั้งในปี 1908
เมื่อราชวงศ์ชิงล่มสลายในปี 1912 หลิวได้ถูก หยวน ซื่อข่าย เรียกตัวให้ไปช่วยราชการในทำเนียบประธานาธิบดี หลิวทำงานอย่างเต็มใจแม้ว่าส่วนตัวเขายังคงเชื่อมั่นในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมากกว่าก็ตาม และยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ของโรงเรียนมัธยม Zhili และตำแหน่งอื่น ๆ อีกหลายตำแหน่ง
อย่างไรก็ตามหลังจากที่หยวนซื่อข่ายเสียชีวิตและเกิดสุญญากาศทางการเมือง บรรดาขุนศึกแม่ทัพต่างพากันตั้งตัวเป็นใหญ่และแย่งชิงอำนาจกัน หลิวซึ่งรู้สึกหมดหวังกับเหตุการณ์บ้านเมืองในเวลานั้นลงทุกที จึงตัดสินใจลาออกจากราชการในปี 1928
หลังจากออกราชการแล้ว หลิวได้ดำรงชีวิตด้วยการแต่งกวีนิพนธ์ รวมถึงมีรายได้จากความสามารถด้านอักษรศิลป์ หลิวได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เขียนอักษรจีนด้วยพู่กันได้อย่างสวยงามคนหนึ่ง จึงมีผู้สนใจงานของเขาอยู่อย่างไม่ขาดสาย ทำให้หลิวมีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง หลิวได้ชื่อว่าเป็นผู้ใจบุญมักจะบริจาคเพื่อการกุศลเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 1933 และเมื่อกองทัพญี่ปุ่นรุกรานจีน หลิวก็เป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านญี่ปุ่น แม้จะได้รับข้อเสนอจากญี่ปุ่นให้เข้าร่วมรัฐบาลแมนจูกัวที่มีจักรพรรดิปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงเป็นหุ่นเชิดก็ตาม แต่หลิวปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งใด ๆ ในรัฐบาลนั้น
หลิว ชุนหลิน เสียชีวิตเมื่อปี 1942 ในอพาร์ตเมนต์ของเขาที่กรุงปักกิ่ง สิริอายุได้ 70 ปี
เพิ่มเติม
อยากเป็น “จอหงวน” ต้องผ่านอะไรบ้าง
ช่วงนี้เด็ก ๆ ที่เรียนจบชั้นมัธยมปลายก็คงกำลังเตรียมตัวที่จะสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยกัน (หรือจะสอบเสร็จไปแล้วก็ไม่รู้ เพราะไม่ได้ตามระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมานานแล้ว ไม่รู้เปลี่ยนไปอย่างไรแล้วเพราะเปลี่ยนกันอยู่แทบทุกปี) ซึ่งมีใครไม่รู้บอกว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นการสอบครั้งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะมันอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราไปตลอดชีวิตเลย แต่จะเป็นอย่างไรนั้นก็คงจะพูดถึงละ จะชวนมาคุยเรื่องของ “การสอบ” ในสมัยโบราณที่มีความสำคัญมากต่อชีวิตของผู้สอบและอาจจะรวมถึงประเทศชาติเลยด้วย นั่นก็คือ “การสอบจอหงวน”
พูดถึงการสอบจอหงวนแล้ว เชื่อว่าแทบทุกคนคงจะเคยได้ยินมาจากประวัติศาสตร์จีนหรือนิยายจีนย้อนยุคทั้งหลาย แต่ความจริงแล้ว การสอบดังกล่าวเรียกว่า “การสอบคัดเลือกเป็นขุนนาง” (Keju) ส่วนคำว่า “จอหงวน” นั้น ที่จริงจะหมายถึงตำแหน่งของผู้ที่สอบได้อันดับสูงสุดของการสอบต่างหาก
ระบบการสอบคัดเลือกขุนนางหรือสอบจอหงวนนั้นอาจจะสืบสาวไปได้ถึงยุคราชวงศ์เว่ยในสมัยราชวงศ์เหนือใต้แล้ว (ยุคราชวงศ์เหนือใต้ คือยุคหลังจากราชวงศ์จิ่นของสุมาเอี้ยน มาจนถึงก่อนสมัยราชวงศ์สุย) แต่มาเริ่มเป็นรูปแบบที่ชัดเจนในสมัยราชวงศ์ถัง (คริสต์ศตวรรษที่ 7) และมาลงตัวแน่นอนในราชวงศ์ซ่ง หลังจากนั้นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงยึดรูปแบบของราชวงศ์ซ่งเป็นหลัก ดังนั้นในที่นี่เลยจะพูดถึงรูปแบบการสอบในสมัยราชวงศ์ซ่งเป็นหลัก
การสอบจอหงวน (ขอเรียกตามที่คุ้นเคย) ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นการสอบครั้งเดียว แต่แบ่งการสอบเป็น 3-4 ขั้น คือ การสอบระดับจังหวัด จะจัดสอบทุกปี เมื่อผ่านการสอบขั้นนี้แล้วจะได้เข้าสอบในระดับเมืองหรือมณฑล ซึ่งจะจัดทุก ๆ 3 ปี เมื่อผ่านขั้นนี้ไปแล้ว ก็จะได้เข้ามาสอบที่เมืองหลวง โดยมีขุนนางฝ่ายพิธีการเป็นผู้ดูแลการสอบ ซึ่งในการสอบในเมืองหลวงนี้ จะคัดเลือกเหลือเพียง 3 คนเท่านั้นที่จะได้เข้าสอบขั้นสุดท้าย นั่นก็คือ การสอบต่อหน้าพระที่นั่ง โดยขั้นนี้ ฮ่องเต้จะเป็นผู้ตั้งคำถามและคัดเลือกด้วยพระองค์เอง
ผู้ที่มีสิทธิเข้าสอบจะจำกัดเฉพาะผู้ชายเท่านั้น (บางยุคอาจจะอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าสอบได้ แต่น้อยมาก) และต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น เป็นทาส นักโทษ ฯลฯ วิชาที่ต้องสอบจะแตกต่างไปตามยุค ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาศิลป์ เช่น ดนตรี คำนวณเลข อักษรศิลป์ พิธีกรรม ปรัชญา ประวัติศาสตร์ การปกครอง ฯลฯ รวมถึงตำราพิชัยยุทธ การสอบบางครั้งอาจจะยาวนานถึง 3 วัน 3 คืน ผู้สอบจึงต้องนำอุปกรณ์เครื่องเขียนและของใช้ส่วนตัวมาด้วย
ผู้ที่สอบผ่านแต่ละระดับจะได้รับตำแหน่งยศตามระดับที่สอบผ่าน เช่น ผู้ที่ผ่านการสอบระดับจังหวัด จะได้เป็น “ซิวไฉ” (Xiucai) ผู้ที่สอบผ่านระดับมณฑลจะเป็น “จูเหยิน” (Juren) ผู้ที่สอบผ่านระดับเมืองหลวงจะได้เป็น “กงซือ” (Gongshi) ส่วนผู้ที่สอบผ่านระดับราชสำนัก จะได้เป็น จิ้นซือ (Jinshi) ซึ่งผู้ที่ได้เป็นจิ้นซือ จะมีโอกาสได้รับคัดเลือกให้เข้าสอบต่อหน้าพระที่นั่ง ซึ่งผู้ที่สอบหน้าพระที่นั่ง อันดับสามจะเรียกว่า ท้ำฮวย (Tanhua) อันดับสอง “ปางัง” (Bangyan) และอันดับหนึ่งก็คือ “จอหงวน” (Zhuàngyuán) ที่เรารู้จักกันดี
ผู้ที่ผ่านในระดับต้น ๆ หากไม่สามารถสอบผ่านในขั้นต่อไป ส่วนมากก็จะรับราชการตามหัวเมือง หรือเป็นครูสอนหนังสือตามบ้านขุนนางหรือเจ้านาย ผู้ที่ได้เป็นจิ้นซือ โดยมากจะได้เข้ารับราชการในส่วนกลาง ส่วนตำแหน่งจอหงวนถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติยศสูงสุด ก็จะมีโอกาสก้าวหน้าเป็นขุนนางใหญ่ถึงระดับเสนาบดีได้ และหากมีหน้าตาดี ก็อาจจะมีโอกาสได้เป็นถึงพระราชบุตรเขยฮ่องเต้เลยก็ได้ เรียกว่า “พลิกชีวิต” จากดินเป็นดาวกันได้เลย
ระดับการสอบจอหงวนได้ใช้มาจนถึงปลายราชวงศ์ชิงจึงยกเลิกไป เมื่อมีระบบการศึกษารูปแบบใหม่จากตะวันตกเข้ามาแทนที่ การสอบจอหงวนครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 1904 โดยหลิว ชุนหลิน (Liu Chunlin) เป็นผู้ได้รับตำแหน่งจอหงวนเป็นคนสุดท้าย และนอกจากจีนแล้ว ในประเทศอื่นที่ได้รับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมจากจีนอย่างญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ก็เคยมีการสอบในรูปแบบใกล้เคียงกับการสอบจอหงวนเช่นกัน
อ้างอิงจาก: รูป https://ytjiang.pixnet.net/blog/post/353446376
เรื่อง https://inf.news/en/history/505c98dba65162d3e5216c07785ecaf3.html
และ https://min.news/en/culture/0e44c70b46205693635d604a67aba966.html และ
https://en.wikipedia.org/wiki/Imperial_examination
และ http://www.chinaknowledge.de/History/Terms/examination.html