โลโบโทมี (Lobotomy) การผ่าตัดสุดสยองที่เคยฮิตจนคนคิดได้รางวัลโนเบล
โลโบโทมี (Lobotomy) การผ่าตัดสุดสยองที่เคยฮิตจนคนคิดได้รางวัลโนเบล
(เรียบเรียงโดย กนกพร บุญเลิศ)
ในปี ค.ศ. 1949 อีกัส โมนิซ (Egas Moniz) แพทย์ด้านประสาทวิทยาชาวโปรตุเกส ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ จากการพัฒนาเทคนิคที่เรียกว่า ‘leukotomy’ (ปัจจุบันเรียกว่า lobotomy) ซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อตัดการเชื่อมต่อระหว่างส่วนหน้าของสมองกลีบหน้าผาก (prefrontal lobe) กับส่วนที่เหลือของสมองเพื่อรักษาความเจ็บป่วยทางจิตโดยเฉพาะโรคจิตเภท (schizophrenia)
การค้นพบของคุณหมอโมนิซเริ่มต้นขึ้นที่งานประชุมวิชาการทางประสาทวิทยา ณ กรุงลอนดอน ปี ค.ศ. 1935 มีการเสนองานวิจัยเรื่องวิธีลดความก้าวร้าวของลิงชิมแปนซีด้วยการสร้างความเสียหายด้านข้างของสมองกลีบหน้าผาก
ข้อมูลเหล่านี้กระตุ้นความสนใจของคุณหมอโมนิซอย่างมาก
แต่เนื่องจากมือของคุณหมอโมนิซมีปัญหาทำให้จับมีดผ่าตัดไม่ได้ เขาจึงชักชวนศัลยแพทย์ประสาทชื่ออัลเมดา ลิม่า (Almeida Lima) มาทำการผ่าตัดผู้ป่วยจิตเวชหลายราย โดยตัดเนื้อสมองส่วนสีขาว (white matter) หกส่วนบริเวณ prefrontal แต่ละซีกออก ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘ลิวโคโตม (leucotome)’
จากการผ่าตัดผู้ป่วยจิตเภทชุดแรกจำนวน 20 คน ผลลัพธ์ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ และผู้ป่วยชุดที่สอง 18 คน มีจำนวนสามคนเกือบจะหายขาดและอีกสองคนก็ดีขึ้นมาก คุณหมอโมนิซจึงสรุปว่า prefrontal leukotomy เป็นการผ่าตัดที่ง่าย ปลอดภัย ซึ่งอาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นการผ่าตัดรักษาความผิดปกติทางจิตที่มีประสิทธิภาพ
ในปี ค.ศ. 1936 เขาได้ตีพิมพ์รายงานชิ้นแรกในเรื่องนี้
ณ ช่วงเวลานั้นการรักษาผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ lobotomy จึงเริ่มได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก และคุณหมอโมนิซก็ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1949
Psychosurgery หรือการผ่าตัดสมองเพื่อรักษาโรคทางจิตเวชรูปแบบต่างๆเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และหนึ่งในนั้นคือ transorbital lobotomy ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นที่ประเทศอิตาลีและได้รับความนิยมในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 โดยนายแพทย์วอลเตอร์ ฟรีแมน (Walter Freeman)
วิธีการผ่าตัดจะทำการสอดอุปกรณ์รูปร่างคล้ายที่เจาะน้ำแข็ง (ice pick) เข้าไปใต้เปลือกตา แล้วดันเข้าไปในเบ้าตาโดยใช้ค้อนตอก 2-3 ที เมื่อดันไปถึงสมองส่วนหน้า แล้วจึงทำการขยับแท่งเหล็กนี้ไปมาเพื่อตัดการเชื่อมต่อระหว่าง prefrontal lobe และสมองส่วนที่เหลือ
วิธีการนี้กลายมาเป็นมาตรฐานการรักษาในประเทศสหรัฐอเมริกา
ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ lobotomy ได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษที่ 1940 คือ
1. ไม่มีทางเลือกอื่นในการรักษาผู้ป่วยทางจิตที่มีอาการเรื้อรัง
2. ช่วงระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในสถาบันจิตเวชของสหรัฐอเมริกาเพิ่มจำนวนสูงขึ้นจนน่าตกใจ ในปี ค.ศ. 1946 เตียงเกือบครึ่งหนึ่งในโรงพยาบาลรัฐใช้ไปกับผู้ป่วยจิตเวช
3. ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค manic-depression (โรคไบโพลาร์ในปัจจุบัน) และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน มีอัตราการเสียชีวิตถึง 18% จากวัณโรคและโรคติดเชื้ออื่นๆ ทางโรงพยายาลจึงเริ่มหาทางลดจำนวนผู้ป่วยค้างคามากขึ้น
ในปี ค.ศ. 1949 นักวิจัยศึกษาพบผลข้างเคียงด้านบุคลิกภาพหลังการผ่าตัด แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับความทุกข์ทรมานจากปัญหาทางจิตลดลง แต่ประสบการณ์ทางอารมณ์ก็ยังลดลงด้วย จากคำบอกเล่าของพยาบาลและแพทย์ ผู้ป่วยมีอาการเฉยชา ไม่แสดงอารมณ์ ดูแข็งทื่อ เซื่องซึม และไม่สนใจสิ่งรอบตัว ดูปราศจากจุดมุ่งหมายของชีวิต
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1952 เมื่อมีการคิดค้นยาทางจิตเวช (neuroleptic drug) ตัวแรกของโลก ชื่อว่า chlorpromazine ซึ่งใช้รักษาโรคจิตเภทโดยตรง ทำให้หลังจากปี ค.ศ. 1960 การทำ lobotomy เพื่อรักษาโรคจิตเภทลดลงอย่างรวดเร็ว
การวิเคราะห์ในยุคต่อมาพบว่า จุดอ่อนของ prefrontal lobotomy คือความผิดพลาดของคุณหมอโมนิซในการประเมินผลที่ตามมาจากการผ่าตัดผู้ป่วยกลุ่มแรกอย่างรอบคอบ รายงานฉบับแรกกล่าวว่า การผ่าตัดเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ มาจากความเห็นของบุคคลที่มีความลำเอียง นั่นก็คือแพทย์ผู้สั่งผ่าตัดและทีมผ่าตัดพวกเขาตัดสินว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเอง และละเลยการประเมินสิ่งที่สำคัญนั่นคือ การปรับตัวทางจิตวิทยา (psychological adjustment) ของผู้ป่วย และผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
แม้ในปัจจุบันเราจะทราบถึงอันตรายของ lobotomy ผลกระทบทางลบมากมายที่ตามมา รวมทั้งชีวิตของผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากการทำ lobotomy แต่ต้องยอมรับว่า ณ ช่วงเวลานั้น ไม่มีการรักษาความผิดปกติทางจิต โดยเฉพาะโรคจิตเภท ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สิ่งที่เรื่องนี้บอกเราคือ
เมื่อเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าความรู้บางอย่างมันไม่เวิร์คและมีอย่างอื่นที่ดีกว่า
เราก็คงต้องก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยการตัดใจทิ้งความรู้เก่าไว้เบื้องหลัง
แม้ว่าความรู้นั้นจะเคยถูกต้องในระดับรางวัลโนเบลมาแล้วก็ตาม
อ้างอิง
Pineal, J. P. J., & Barnes, S. J. (2018). Biopsychology (10th ed.). Pearson Education.
Jansson, B. (1998, October 29). Controversial Psychosurgery Resulted in a Nobel Prize. Retrieved from https://www.nobelprize.org/.../medicine/1949/moniz/article/
.........................................................
*อย่างไรก็ตาม คุณหมอโมนิซได้รับการยอมรับระดับสากลจากการพัฒนา cerebral angiography (การตรวจหลอดเลือดสมองโดยการฉีดสารทึบรังสี) ซึ่งทำให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยเนื้องอกและความผิดปกติของหลอดเลือดสมองได้
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/ardwarong/posts/2556878554433307/