รีไฟแนนซ์คืออะไร ตัวช่วยลดอัตราดอกเบี้ย ให้คุณประหยัดได้มากขึ้น
อีกหนึ่งเคล็ด(ไม่)ลับที่ทุกคนควรรู้ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังผ่อนชำระหนี้กับธนาคารอยู่ คือการรีไฟแนนซ์นั่นเอง ทำไมการรีไฟแนนซ์ถึงช่วยลดภาระหนี้ลงได้ รีไฟแนนซ์มีประโยชน์ขนาดนั้นเลยหรือไม่ ทำไมใคร ๆ ถึงแนะนำว่าควรทำรีไฟแนนซ์ ในบทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับการรีไฟแนนซ์แบบเข้าใจได้ง่าย ๆ กัน
รีไฟแนนซ์ คืออะไร ?
รีไฟแนนซ์ Refinance คือการกู้ยืมเงินจากธนาคารใหม่เพื่อนำไปปลดหนี้ของธนาคารเดิม โดยมีเงื่อนไขที่ดีกว่าซึ่งก็คือดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลงนั่นเอง หรือการกู้ยืมเพื่อรวมเจ้าหนี้หลาย ๆ เจ้ากลายเป็นเจ้าหนี้เพียงรายเดียว ซึ่งจะช่วยให้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น
โดยเป้าหมายของการรีไฟแนนซ์หลัก ๆ เพื่อต้องการลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง ค่างวดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนลดลง หรืออาจขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้นานขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามการรีไฟแนนซ์ที่ถูกต้องนั้นจะต้องเป็นประโยชน์กับตัวผู้กู้มากที่สุด โดยถึงแม้ว่าจะหักค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรีไฟแนนซ์ไปแล้วก็ยังทำให้ประหยัดเงินมากกว่าการผ่อนจ่ายต่อที่ธนาคารเดิม ผู้กู้จึงต้องศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขการรีไฟแนนซ์อย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการรีไฟแนนซ์สูงสุด
ปัจจุบันมีหลากหลายสถาบันการเงินที่ออกโปรโมชั่นรีไฟแนนซ์ในรูปแบบและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป แต่จะให้หาข้อมูลเปรียบเทียบเองก็คงจะทำได้ยาก Refinn สามารถช่วยให้คุณสามารถรีไฟแนนซ์ได้ง่ายกว่าเดิม สนใจคลิก >> รีไฟแนนซ์
ทำไมต้องรีไฟแนนซ์
เพราะโดยปกติแล้วหลังจากผ่อนชำระหนี้ไปสักระยะจนหมดเวลาโปรโมชั่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็จะเข้าสู่ดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้ผู้กู้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในแต่ละงวดที่สูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้นการรีไฟแนนซ์จึงช่วยให้ผู้กู้สามารถกลับมาผ่อนชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงตามที่โปรโมชั่นของแต่ละธนาคารกำหนดไว้
รีไฟแนนซ์แตกต่างจากการกู้ปกติอย่างไร
การกู้ปกติก็คือการขอสินเชื่อเพื่อให้ได้เงินมาใช้ตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ หรือเป็นเงินก้อนสำหรับค่าใช้จ่ายจิปาถะ ของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยธนาคารจะพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ โดยมีอัตราดอกเบี้ยในช่วงปีแรก ๆ ค่อนข้างต่ำ และเมื่อผ่านไประยะหนึ่งหมดระยะโปรโมชั่น ดอกเบี้ยก็จะลอยตัวทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมากขึ้น
ส่วนการรีไฟแนนซ์เป็นวิธีที่ใช้เมื่อผ่านการกู้ปกติและผ่อนชำระมาระยะหนึ่งจนอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นแล้ว การรีไฟแนนซ์จะเป็นการกู้เพื่อปิดหนี้กับเจ้าหนี้รายเดิม เพื่อไปเป็นหนี้กับเจ้าหนี้รายใหม่ในเงื่อนไขที่คุ้มค่ากว่าเดิม
ประโยชน์ของการรีไฟแนนซ์
1. ลดอัตราดอกเบี้ย
จุดเด่นของการรีไฟแนนซ์คือการลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง เพราะการขอสินเชื่อของแต่ละธนาคารมักจะมีโปรโมชั่นลดอัตราดอกเบี้ยอยู่แค่ประมาณ 3 ปีแรก และในปีถัด ๆ ไปอัตราดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้ต้องชำระหนี้ในแต่ละเดือนมากขึ้น
การรีไฟแนนซ์จะช่วยให้ผู้กู้สามารถกลับไปชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นเดียวกับตอนกู้ใหม่ ๆ โดยเปลี่ยนเจ้าหนี้เดิมและไปผ่อนจ่ายกับเจ้าหนี้ใหม่แทน และเราสามารถอาศัยโปรโมชั่นของการเป็นหนี้กับเจ้าหนี้ใหม่ผ่อนจ่ายอัตราดอกเบี้ยต่ำได้นั่นเอง
2. ลดภาระหนี้
การรีไฟแนนซ์จะช่วยให้ผู้กู้แบกรับค่าใช้จ่ายจากการผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยลดลงในแต่ละงวดจากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำลงนั่นเอง
3. ยืดเวลาชำระหนี้ได้นานขึ้น
เพราะการรีไฟแนนซ์จะเหมือนกับการเริ่มต้นผ่อนหนี้ใหม่อีกครั้ง จึงทำให้สามารถยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปได้นานขึ้น เช่น ผ่อนชำระหนี้กับที่เก่าไปแล้ว 5 ปี มีกำหนดชำระหนี้อยู่ 30 ปี เหลือเวลาชำระหนี้ 25 ปี เมื่อรีไฟแนนซ์เปลี่ยนเจ้าหนี้รายใหม่ก็จะเริ่มนับเวลาชำระหนี้ใหม่ หากเจ้าหนี้ที่ใหม่ให้ผ่อนชำระหนี้ 30 ปี เท่ากับว่าผู้กู้ก็จะมีเวลาชำระหนี้ไปอีก 30 ปี
4. ขอเพิ่มวงเงินกู้ได้
โดยปกติแล้วเมื่อเราผ่อนชำระไปสักระยะหนึ่ง จำนวนเงินต้นที่เป็นหนี้ก็จะลดลง เมื่อเราขอรีไฟแนนซ์ไปธนาคารใหม่ โดยใช้หลักประกันเดิมก็จะมีส่วนต่าง ผู้กู้สามารถขอเพิ่มวงเงินจากส่วนต่างนี้เป็นเงินก้อนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่น และผ่อนชำระไปพร้อมกับหนี้ใหม่ได้เลย
ข้อควรระวังของการรีไฟแนนซ์
รีไฟแนนซ์คือตัวช่วยให้ผู้กู้ได้รับประโยชน์ที่มากกว่าการผ่อนชำระแบบเดิม แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะทำรีไฟแนนซ์ควรศึกษาข้อมูล รายละเอียด และเงื่อนไขของสัญญากู้เดิม และเงื่อนไข โปรโมชั่นจากธนาคารใหม่ว่ารีไฟแนนซ์ไปแล้วผู้กู้ยังได้ประโยชน์ที่มากกว่าอยู่จริงหรือไม่ โดยการรีไฟแนนซ์มีข้อควรระวังดังนี้
- การรีไฟแนนซ์จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเปลี่ยนเจ้าหนี้รายใหม่ และหากสัญญาเก่ายังไม่ถึงเวลาไถ่ถอน อาจทำให้ผู้กู้ต้องเสียค่าปรับจากการไถ่ถอนก่อนกำหนด
- การรีไฟแนนซ์จะมีขั้นตอนการดำเนินการ การเตรียมเอกสารค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้กู้ที่รีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ เนื่องจากธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ใหม่ต้องขอข้อมูลผู้กู้ใหม่ทั้งหมด
- การรีไฟแนนซ์อาจอนุมัติผ่านได้ยากหากผู้กู้มีประวัติการผ่อนชำระหนี้ที่ไม่ดี หรือไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ หรือเป็นผู้ที่กำลังตกงาน
- การรีไฟแนนซ์ทำให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานขึ้น ในบางครั้งก็เป็นข้อเสียทำให้ปลดหนี้ได้ช้าลง
การรีไฟแนนซ์มีอะไรบ้าง
การรีไฟแนนซ์ในปัจจุบันมีอยู่ 3 แบบ โดยมีเงื่อนไขของหลักประกัน อัตราดอกเบี้ย และความยุ่งยากในการอนุมัติที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. รีไฟแนนซ์บ้าน
รีไฟแนนซ์บ้านเป็นวิธีที่ช่วยให้ผ่อนชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ โดยอาศัยช่วงโปรโมชั่นผ่อนเริ่มต้น 3 ปีแรกตามเงื่อนไขที่แต่ละธนาคารกำหนด เมื่อขอสินเชื่อและผ่อนจ่ายชำระหนี้ไปจนครบสัญญาไถ่ถอน หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยที่เคยต่ำก็จะลอยตัวสูงขึ้นมามากกว่าเดิม ทำให้ในแต่ละเดือนผู้กู้จะต้องจ่ายหนี้สูงขึ้น
เพื่อให้ผู้กู้สามารถกลับมาผ่อนจ่ายชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นโปรโมชั่นดังช่วงปีแรก ๆ ทางออกคือการรีไฟแนนซ์ กู้เงินมาปิดหนี้กับเจ้าหนี้รายเดิม และไปเป็นลูกหนี้กับเจ้าหนี้รายใหม่นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น กู้เงินซื้อบ้านราคา 3 ล้าน ผ่อนชำระในช่วง 3 ปีแรกดอกเบี้ยต่ำ 3% แต่เมื่อเข้าสู่หลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิมมากเป็น 6% ผู้กู้สามารถรีไฟแนนซ์ในช่วงหลังปีที่ 3 ไปที่ธนาคารใหม่ และผ่อนจ่ายดอกเบี้ยต่ำ 3% ตามเงื่อนไขที่ธนาคารใหม่กำหนดได้ ทำให้ผู้กู้ประหยัดเงินค่าดอกเบี้ยส่วนเกินไปได้ค่อนข้างมากเลยทีเดียว
2. รีไฟแนนซ์รถ
รีไฟแนนซ์รถยนต์ก็เป็นการกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้รายใหม่เพื่อมาปลดหนี้กับเจ้าหนี้รายเดิม โดยที่ผู้กู้จะได้สิทธิพิเศษที่ดีกว่าการผ่อนจ่ายกับเจ้าหนี้รายเดิม เช่น การยืดระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ทำให้สามารถผ่อนจ่ายต่อเดือนด้วยจำนวนเงินที่น้อยกว่า ประหยัดเงินมากขึ้น
การรีไฟแนนซ์รถจะมีเงื่อนไขที่ต่างจากการรีไฟแนนซ์บ้าน คือรถเป็นหลักทรัพย์ที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ทำให้เงื่อนไขอนุมัติจึงมากกว่าการรีไฟแนนซ์บ้าน ปกติแล้วสถาบันการเงินจะอนุมัติรีไฟแนนซ์รถยนต์ก็ต่อเมื่อราคาประเมินต้องสูงกว่ายอดหนี้คงเหลือ หรือต้องผ่านการผ่อนชำระหนี้มาแล้วมากกว่า 50% ของยอดหนี้ทั้งหมดนั่นเอง
อีกทั้งเพื่อให้การรีไฟแนนซ์รถอนุมัติง่ายขึ้น รถที่วางเงินดาวน์สูง ๆ ระยะเวลาผ่อนสั้นมักจะได้รับการอนุมัติที่ง่ายกว่า เนื่องจากจ่ายเงินต้นไปมากกว่ารถที่วงเงินดาวน์ต่ำ ระยะเวลาผ่อนนาน ซึ่งรถที่ระยะเวลาผ่อนยาว ๆ นั้นมักจะทำให้ต้องจ่ายดอกมากกว่า บางครั้งการผ่อนไประยะหนึ่งแล้วอาจกลายเป็นจ่ายแต่ดอก แต่เงินต้นแทบไม่ลดลงเลย
3. รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต
การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตก็ยังมีหลักการที่คล้ายกับการรีไฟแนนซ์บ้านหรือรีไฟแนนซ์รถ คือการกู้เงินจากสถาบันการเงินใหม่ไปชำระหนี้กับสถาบันการเงินเดิม โดยการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตมักใช้แก้ปัญหาในการรวมหนี้จากหลาย ๆ เจ้าให้มาเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่เจ้าเดียว แล้วผ่อนชำระด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิม นับเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ให้สามารถจ่ายหนี้ได้ที่เดียวในจำนวนเงินที่น้อยกว่านั่นเอง
ตัวอย่างเช่น หากมีบัตรเครดิต 4 ใบ วงเงินกู้ 200,000 บาท ผ่อนขั้นต่ำ 20,000 บาทต่อเดือน เมื่อยื่นขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต จะทำให้ผู้กู้เหลือเจ้าหนี้เพียงรายเดียว เหลือผ่อนเดือนละประมาณ 7,000 บาท ผ่อน 36 เดือน โดยการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตมักจะมีระยะเวลาผ่อนตั้งแต่ 12-48 เดือน ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้นั่นเอง
แต่การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันดังนั้นการอนุมัติจึงค่อนข้างยากกว่ารีไฟแนนซ์ที่มีหลักประกัน โดยหากมีประวัติไม่ดี ชำระเงินล่าช้า มียอดค้างชำระมาก ๆ อาจทำให้การยื่นขอรีไฟแนนซ์ไม่ผ่านได้
ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์
- การตรวจสอบสัญญาเงินกู้ฉบับเดิม ก่อนรีไฟแนนซ์สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคืออ่านสัญญาเก่าอย่างละเอียดว่าสามารถทำการไถ่ถอน หรือปิดยอดค้างชำระได้เมื่อไร เพราะส่วนใหญ่ในเงื่อนไขสินเชื่อมักจะมีระบุเวลาเอาไว้ เช่น สินเชื่อบ้าน จะต้องผ่อนไปแล้วประมาณ 3 ปีจึงจะสามารถไถ่ถอนด้วยการรีไฟแนนซ์ได้
- เลือกสถาบันการเงินและโปรโมชั่นที่ดีที่สุด โดยพิจารณาจากหลาย ๆ ด้วย เช่น ระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขสิทธิพิเศษอื่น ๆ
- เตรียมเอกสารเพื่อยื่นรีไฟแนนซ์ให้พร้อม เอกสารที่ใช้ในการรีไฟแนนซ์ในแต่ละสถาบันการเงินจะคล้าย ๆ กัน เช่น เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล เอกสารแสดงรายได้ เอกสารแสดงหลักประกัน เป็นต้น
- นำเอกสารที่เตรียมเรียบร้อยแล้วไปยื่นขออนุมัติสินเชื่อรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินหรือธนาคารที่ต้องการ จากนั้นรอทางสถาบันการเงินหรือธนาคารพิจารณาอนุมัติ โดยเจ้าหน้าที่จะพิจารณาจากเอกสารที่ยื่นมา ประวัติทางการเงินของผู้กู้ การประเมินหลักประกัน
- หากผลอนุมัติผ่าน ทางเจ้าหน้าที่จากสถาบันการเงินใหม่จะแจ้งผลแล้วให้ไปติดต่อกับธนาคารเดิมเพื่อสอบถามหนี้คงเหลือและนัดวันไถ่ถอน
- เมื่อทำเรื่องไถ่ถอน ปิดหนี้กับสถาบันการเงินเดิมแล้วเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้เข้ามาทำสัญญากู้ฉบับใหม่
รีไฟแนนซ์มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
การรีไฟแนนซ์จะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการย้ายสถาบันการเงิน โดยผู้กู้จะต้องพิจารณาว่าเมื่อทำรีไฟแนนซ์และต้องเสียค่าใช้จ่ายเหล่านี้แล้ว ยังสามารถทำให้ลดภาระหนี้ทั้งหมดได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน เพราะมียอดเงินต้นค่อนข้างสูงกว่ารีไฟแนนซ์ประเภทอื่น ๆ
ค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างรีไฟแนนซ์ มีดังนี้
- ค่าปรับจากสถาบันการเงินเดิม : กรณีที่ผู้กู้ไถ่ถอนก่อนครบกำหนดที่ระบุในสัญญา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะคิดค่าปรับประมาณ 2-5% ของวงเงินกู้
- ค่าสำรวจและประเมินราคาหลักประกัน โดยส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 พัน ขึ้นกับสถานที่ตั้งของหลักประกัน หรือไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ขึ้นกับโปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร
- ค่าจดจำนอง : ชำระ 1% ของวงเงินกู้ให้กับกรมที่ดิน
- ค่าอากรแสตมป์ : ชำระ 0.05% ของวงเงินกู้ (ไม่เกิน 10,000 บาท)
- ค่าประกันอัคคีภัย : ขึ้นอยู่กับมูลค่าหลักประกัน โดยส่วนมากอยู่ที่ประมาณ 1-3 พันหรือมากกว่านั้น
- ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ของธนาคาร
โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร บางโปรโมชั่นก็ยกเว้นค่าใช้จ่ายการรีไฟแนนซ์ทั้งหมด และในบางโปรโมชั่นก็อาจยกเว้นค่าใช้จ่ายบางรายการ
สรุป
การรีไฟแนนซ์คือการสร้างหนี้ก้อนใหม่กับเจ้าหนี้รายใหม่เพื่อไปปิดหนี้ก้อนเก่ากับเจ้าหนี้รายเดิม พร้อมกับเงื่อนไขที่ดีกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำ ยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปยาวขึ้น หรือขอวงเงินกู้เพิ่มเติมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น หากการรีไฟแนนซ์เป็นไปอย่างถูกวิธีก็จะช่วยให้ผู้กู้ประหยัดเงินจากดอกเบี้ยไปได้หลายบาทเลยทีเดียว