ทรงผมหญิงไทยและทรงผมเด็กไทยในสมัยโบราณ!
โซงโขดง
เริ่มในสมัยสุโขทัยทั้งหญิงและชายไว้ผมคล้ายกันคือ ไว้ผมยาวมีลักษณะเกล้าเป็นมวยมุ่นอยู่กลางศีรษะ สันนิษฐานได้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองยุคนั้นอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขจนมีคำว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าวไพร่ฟ้าหน้าใส ผู้หญิงไทยยังไว้มวยเกล้า แล้วรวบขึ้นไปเกล้าบนกระหม่อม รัดเกล้าเป็นห่วงยาว ๆ มีเกี้ยวหรือพวงมาลัยสวมโดยมาก
ทรงมหาดไทย
เริ่มในสมัยอยุธยา ซึ่งมีสงครามอยู่หลายครั้งส่งผลให้ทรงผมเปลี่ยนไป มีลักษณะโกนรอบศีรษะ มีผมตอนกลางศีรษะแล้วแสกกลาง เพราะต้องรบทัพจับศึกไม่มีเวลาแต่งตัวหรือเอาใจใส่ทรงผม ส่วนผู้หญิงก็ตัดผมให้สั้นลงเพื่อปลอมตัวกลมกลืนให้เหมือนเป็นชายและสะดวกในการหลบหนีข้าศึกได้ จนมาถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เพราะยังมีการรบกันอยู่ จึงยังนิยมไว้ผมทรงมหาดไทยกัน แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นหญิง ด้วยจิตใจที่รักสวยรักงาม เลยต้องขอไว้ปอยผมยาวสักนิดให้พอชื่นใจ
ทรงผมปีก
พอมาถึงช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เริ่มเรียนรู้วิทยาการของตะวันตกเข้ามาบ้าง เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการแต่งตัวและทรงผมบ้าง ยังเป็นทรงผมปีกคือ โกนหรือตัดสั้นโดยรอบ ปล่อยผมไว้ยาวพอประมาณบริเวณตอนบนและกลางศีรษะหวีเสยตั้งขึ้นโบราณเรียกว่าตัดผมขูดหัว มีการกันไรผมบริเวณรอบวงหน้าและไว้จอนยาวสองข้างใบหู
ทรงดอกกระทุ่ม
ผมทรงดอกกระทุ่มนี้เป็นที่นิยมกันโดยทั่วไปในช่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 คือ ตัดผมทั้งศีรษะแล้วปล่อยให้ยาวชี้ขึ้นมาเล็กน้อย คล้ายดอกกระทุ่ม ตัดผมด้านท้ายทอยให้สั้นขึ้นและหวีเสยด้านหน้าให้ตั้งสูง จับด้วยน้ำมันตานีหอมให้อยู่ทรง และจะไม่มีการทัดหรือตกแต่งทรงผมด้วยดอกไม้สด เนื่องจากมีข้อบัญญัติในกฎ มณเฑียรบาลมาครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้วว่าห้ามการทัดดอกไม้ อาจเป็นเพราะมองดูว่างามเกินจริตขาดความสุภาพเรียบร้อย หากสตรีผู้ใดทัดดอกไม้ในเขตพระบรมมหาราชวังจะต้องลงโทษให้นำดอกไม้นั้นมายีบนศีรษะ
ทรงหัวจุก / ทรงผมโก๊ะ / ทรงผมแกละ / ทรงผมเปีย
เหตุผลที่เด็กต้องไว้ผมทรงต่างๆนั้น ส่วนหนึ่งมาจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน หากให้เด็กไว้ผมยาวก็จะไม่สะดวก ดูแลรักษายากเพราะเด็กอยู่ในวัยซุกซน แต่ในขณะเดียวกันกะโหลกศีรษะหรือกระหม่อมของเด็กซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า "ขวัญ" นั้นยังบอบบาง โดยเชื่อกันว่าขวัญหรือชีวิตวิญญาณของคนเราอยู่ที่กระหม่อม หากสังเกตจะเห็นว่าบริเวณขวัญของเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็ก ๆ จะเห็นตรงกระหม่อมบาง ๆ เต้นตุบ ๆ จึงถือเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ดังนั้นหากไปโกนผมตรงส่วนนั้นออก อาจเป็นอันตรายได้ จึงโกนเฉพาะส่วนอื่น ๆ ปล่อยตรง ขวัญไว้ เมื่อผมยาวมากขึ้น ปล่อยไว้ก็จะสร้างความรำคาญให้แก่เด็กและดูไม่เรียบร้อย จึงเกล้ามัดขึ้นเป็นจุก
ที่มาการไว้ผมทรงต่างๆ ของเด็กไทยโบราณคือ
1.ไว้ตามประเพณี เห็นคนอื่นเขาให้ลูกไว้ก็ให้ลูกของตนไว้บ้าง ส่วนใหญ่จะให้เริ่มไว้หลังจากที่ทำพิธีโกนจุกแล้วโดยจะเหลือผมตรงกระหม่อมไว้ เพราะเชื่อกันว่า หากโกนผมทิ้งไปหมด ขวัญก็จะไม่มีที่อาศัยแล้วก็เริ่มไว้จนยาวตั้งแต่นั้นเรื่อยมา
2.ไว้เพราะเป็นการแก้เคล็ด เนื่องจากเด็กมักเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ หรือเป็นเด็กที่เลี้ยงยาก ผู้ใหญ่เห็นว่าอาจเป็นเพราะไว้ผมธรรมดา เลยให้เปลี่ยนมาเป็นไว้จุก ไว้แกละ ไปตามแต่เห็นสมควร บางที่พอเปลี่ยนทรงผมแล้วกลายเป็นเด็กแข็งแรง เลี้ยงง่ายไปเลยก็มี
โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีเสี่ยงทาย โดยผู้ใหญ่จะไปหาดินเหนียวมาปั้นตุ๊กตาเป็นรูปเด็กไว้ผมทั้ง 4 แบบ คือ ผมจุก ผมแกละ ผมเปีย และผมโก๊ะ แล้วให้เด็กซึ่งยังเล็กๆไม่ประสีประสาเลือก หากเด็กจับตุ๊กตาที่ไว้ผมแบบใด ก็จะให้เด็กเปลี่ยนมาไว้ผมแบบนั้น หรือใช้วิธีเสี่ยงทายอื่นๆ เช่น เขียนชื่อทรงผมยอดฮิตทั้ง 4 แบบ ใส่กระดาษแยกออกเป็นแผ่นๆ ให้เด็กเลือกหยิบขึ้นมาแผ่นหนึ่งแล้วไว้ผมตามนั้น สำหรับวัยที่เหมาะกับการโกนผมของเด็ก คือ ช่วงอายุ 11-13 ปี เด็กชายจะโกนราว 13 ปี เด็กหญิงจะโกนราว 11 ปี ซึ่งในที่นี้ไม่ได้จำกัดตายตัวแต่อย่างใด
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/100044739000097/posts/pfbid034daVHic8hWPFnk2f4UYnin7EaRDRTr3jH8CrRkDcKV8VRkqku5dCtnKUVYJfWVb9l/