อาการเข่าบวม สามารถบอกปัญหาอะไรได้บ้าง มีวิธีรักษาหัวเข่าบวมอย่างไร?
หนึ่งในจุดที่มักจะเกิดการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุง่าย ๆ คือบริเวณเข่า เนื่องจากหัวเข่าเป็นจุดที่ใช้เคลื่อนไหว และยังเป็นจุดที่รับน้ำหนักร่างกายมากนั่นเอง ในบางครั้งอาการบาดเจ็บบริเวณเข่าอาจทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าบวม หรือบางรายอาจมีอาการเข่าบวมแต่ไม่ปวด แล้วปัญหาเหล่านี้มันเกิดจากอะไรได้บ้าง? ถ้าเกิดอาหารเข่าบวมแล้วจะมีวิธีรักษาอย่างไร?
ข้อเข่าบวม
ข้อเข่าบวม หรือ เข่าบวมน้ำ เป็นความผิดปกติของอวัยวะที่ใช้เคลื่อนไหวเวลาเดินอย่างหัวเข่า โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดเข่า เข่าบวม หรือเข่าบวมแต่ไม่ปวดก็ได้เช่นกัน ในบางรายอาจพบอาการหัวเขาบวมข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้
ลักษณะของอาการข้อเข่าบวมสามารถสังเกตเห็นได้ภายนอกคือบริเวณหัวเข่าของผู้ป่วยจะมีลักษณะบวม นูนออกมามากกว่าปกติ หากอาการเข่าบวมข้างเดียวจะสังเกตได้ง่ายโดยเปรียบเทียบกับหัวเข่าอีกข้างก็จะเห็นได้ชัดว่าหัวเข่ามีลักษณะที่ผิดปกติไป
อาการเข่าบวมเป็นอาการที่ไม่ควรปล่อยปละละเลย หากสังเกตได้ว่าตนเองเริ่มมีอาการเข่าบวมควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้องก็จะสามารถหลีกเลี่ยงอาการที่รุนแรงกว่าเดิมจากเข่าบวมได้ ผู้ป่วยสามารถสังเกตตนเองได้ว่าอาการที่เป็นอยู่ตอนนี้คืออาการเข่าบวมหรือไม่ได้ไม่ยาก โดยจะกล่าวในหัวข้อถัดไป
เช็กอาการข้อเข่าบวม
เวลาเข่าบวมจากการเล่นกีฬาเราสามารถสังเกตและรับรู้ได้ง่ายเพราะมีการบาดเจ็บ การกระแทกมาก่อน แต่ถ้าหากอยู่เฉย ๆ แล้วเกิดอาการเข่าบวม เราจะทราบได้อย่างไรว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นเรียกว่าเข่าบวม? นอกจากลักษณะของเข่าที่บวมขึ้นมาจนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้ว ยังสามารถสังเกตอาการเข่าบวมจากอาการเหล่านี้
- ปวดเข่า เข่าบวมแม้ว่าจะไม่ได้ขยับบริเวณข้อเลยก็ตาม ในบางรายอาจพบไข้สูงร่วมด้วย
- เมื่อสัมผัสบริเวณที่เข่าบวมจะรู้สึกอุณหภูมิที่สูงกว่าผิวหนังโดยรอบ และรอบ ๆ หัวเข่าอาจแดงซึ่งแสดงถึงการอักเสบ
- ปวดเข่าเวลาเดินขึ้น-ลงบันได ซึ่งเป็นอิริยาบทที่สร้างแรงกดให้กับหัวเข่าอย่างมาก
- ปวดหัวเข่ามากทุกครั้งที่ขยับข้อเข่า
- ปวดเข่า เข่าบวม งอเข่าไม่ได้ ยืดและเหยียดหัวเข่าได้ไม่เต็มที่
- เมื่อขยับข้อแล้วหัวเข่ามีเสียงกร๊อบแกร๊บ อาจมีอาการปวดเข่าร่วมด้วย
- ปวดเข่ามากในเวลากลางคืน รบกวนการพักผ่อนอย่างมาก
- ปวดเข่ามากจนต้องใช้ไม้พยุงช่วยรับน้ำหนักตัวแทน
- รับประทานยาแก้ปวดเข่า หรือใช้ยาทาแก้ปวดเข่าแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น
หากผู้ป่วยพบว่าตนเองมีหนึ่งในอาการเหล่านี้ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อทำการตรวจหาสาเหตุของอาการปวดเข่า เข่าบวมเกิดจากอะไรและรับการรักษาบรรเทาอาการปวดเข่าได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการเจ็บปวดเข่าที่รุนแรงขึ้นอีกด้วย
เข่าบวมเกิดจากสาเหตุใด
จากกลไกของร่างกาย เมื่อกระดูกและเอ็นบริเวณข้อเข่าเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดอาการบาดเจ็บขึ้น ร่างกายจะสร้างสารที่เป็นของเหลวออกมาเพื่อลดแรงกระแทกป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บที่กระดูกหรือเอ็นเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง และเจ้าของเหลวนั่นเองที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเข่าบวม
การที่มีของเหลวคั่งอยู่ภายในหัวเข่าหรือหัวเข่าบวมน้ำ ของเหลวนั้นอาจเป็นทั้งน้ำไขข้อที่เกิดการอักเสบ หรือมาจากเลือดที่คั่งอยู่จากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรืออาจเป็นหนองที่มาจากการติดเชื้อก็ได้
โดยของชนิดของของเหลวที่คั่งนั้นสามารถบอกได้คร่าวๆ ว่าอาการเข่าบวมนั้นมีต้นตอมาจากโรคอะไรด้วยการเข้าพบแพทย์และการเจาะตรวจของเหลวภายในข้อเข่าว่าของเหลวนั้นคือเลือด น้ำไขข้อ หรือหนอง เป็นต้น เพราะของเหลวแต่ละชนิดมักมีสาเหตุที่ทำให้เกิดแตกต่างกันไป
นอกจากนี้แพทย์ก็จะพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ข้อเข่าบวม ไม่ว่าจะอายุ ลักษณะการปวดเข่า เข่าบวม รวมถึงประวัติการเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า เป็นต้นเพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบคำวินิจฉัย และหาวิธีรักษาได้ถูกโรคมากที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเข่าบวม
จัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเข่าบวมมีหลายสาเหตุ ดังนี้
1. เข่าบวมจากการบาดเจ็บและอุบัติเหตุ
อาการเข่าบวมน้ำจากการบาดเจ็บและอุบัติเหตุมักมาจากการที่กระดูกและเอ็นต่าง ๆ ภายในข้อเข่าเกิดอาการบาดเจ็บ การกระแทก ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ หัวเข่าเกิดความเสียหาย โดยร่างกายอาจสร้างสารเหลวออกมาเมื่อลดการกระแทกจนทำให้เข่าบวมน้ำ หรือของเหลวที่ทำให้เข่าบวมน้ำอาจมาจากการฉีกขาดของเส้นเอ็น เส้นเลือดจนเกิดเลือดออกภายในข้อเข่าก็ได้เช่นกัน
โดยอุบัติเหตุที่มักจะทำให้เกิดอาการเข่าบวมมีมากมาย เช่น พลัดตก หกล้มในลักษณะที่เข่ากระแทกพื้น อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ การตกจากที่สูง เป็นต้น
2. เข่าบวมจากการเล่นกีฬา
กีฬาหลาย ๆ ชนิดมักจะเป็นภาระให้เข่าต้องรับน้ำหนักและแรงกระแทกที่มากกว่าปกติ ซึ่งการที่เข่าต้องรับภาระเหล่านี้จนเกินไปมักจะทำให้เกิดอาการข้อเข่าอักเสบ บวมน้ำได้ และยิ่งไปกว่านั้น หากการกระแทกนั้นรุนแรงมากอาจทำให้อวัยวะภายในหัวเข่าเกิดการฉีกขาดและอาจทำให้เกิดเลือดออกภายในหัวเข่าได้
3. เข่าบวมจากการอักเสบติดเชื้อ
เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อจะมีการต่อต้านเชื้อด้วยกระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะส่งเม็ดเลือดขาวไปทำลายเชื้อโรค หรือการเพิ่มอุณหภูมิเพื่อให้ไม่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อโรค โดยอาการเข่าบวมจากการอักเสบติดเชื้อ ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดเข่ารุนแรงมาก และเข่าบวมน้ำมากอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการติดเชื้อภายในหัวเข่านับว่าอันตรายมาก เพราะหากรักษาไม่ดีอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
อาการเข่าบวมจากการอักเสบติดเชื้ออาจเกิดได้จากการที่เกิดบาดแผล การบาดเจ็บบริเวณเข่าและได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม หรืออาจเกิดจากการฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อเทียมก็ได้เช่นกัน แต่กรณีนี้จะพบได้น้อย
4. เข่าบวมจากโรคต่าง ๆ
โรคที่เกี่ยวข้องกับข้อเข่ามักจะมีอาการเข่าบวมเป็นหนึ่งในอาการร่วม เช่น
- โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)
- โรคข้ออักเสบ
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- โรคเก๊าท์ (Gout)
- โรคหมอนรองข้อเข่าฉีกขาด (Miniscur Tear)
- โรคภูมิแพ้ตนเอง (Systemic Lupus Erythematosus, SLE)
- รับประทานยาแก้ปวดเข่า ใช้ยาทาแก้ปวดเข่าแล้วก็ไม่ดีขึ้น
นอกจากนี้เข่าบวมยังสามารถเกิดจากการใช้งานข้อเข่าเป็นเวลานานจนเกิดการอักเสบได้ด้วย โดยมักจะพบในผู้สูงอายุเนื่องจากอวัยวะผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน
ข้อเข่าบวม เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
หากอาการเข่าบวมที่เกิดจากอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ และผู้ป่วยยังมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงปกติสามารถบรรเทาอาการเข่าบวมได้ด้วยการประคบเย็นประคบร้อนหรือการรับประทานยาแก้ปวดเข่า ใช้ยาทาแก้ปวดเข่าไปก่อนได้
แต่หากลองวิธีดังกล่าวไปแล้วข้อเข่าบวมไม่หายสักที หรือการที่เข่าบวมนั้นไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ จู่ ๆ ก็เกิดอาการเข่าบวม หรือมีภาวะเสี่ยงอื่น ๆ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการเข่าบวมเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง โดยผู้ป่วยที่พบว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์
- เข่าผิดรูป
- เข่าบวมแดง เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกร้อน
- ปวดเข่า เข่าบวมมาก เข่าบวมเรื้อรัง
- เข่าบวมจนไม่สามารถลงน้ำหนักเวลาเดินได้เพราะปวดเข่ามาก
- เข่าบวมจนไม่สามารถงอเข่า ยืดเหยียดเข่าได้สุด
- ปวดเข่าพร้อมกับมีไข้ร่วมด้วย
การวินิจฉัยอาการข้อเข่าบวม
เมื่อผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเข่า หัวเข่าบวมน้ำจะมีขั้นตอนการตรวจหาสาเหตุของอาการเข่าบวมและวินิจฉัยโรคดังนี้
1. การสอบประวัติเบื้องต้น
ในขั้นตอนแรกแพทย์จะซักประวัติคนไข้เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการวินิจฉัย โดยข้อมูลที่แพทย์อาจซักถาม เช่น เคยเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจนทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เข่าไหม หัวเข่าเคยรับแรงกระแทกมาก ๆ ไหม ปกติเล่นกีฬาหรือเปล่า หรือลักษณะชีวิตประจำวันมีการเดินมาก ๆ ยกของแบกของหนักอันเป็นเหตุให้หัวเข่าทำงานหนักหรือไม่ เนื่องจากปัจจัยภายนอกเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเข่าบวมได้
2. การตรวจสภาพข้อเข่า
หลังจากการซักประวัติผู้ป่วยแล้ว เพื่อให้สามารถทราบถึงต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการเข่าบวมที่แท้จริง แพทย์จะให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสภาพข้อเข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยกลุ่มที่เคยเกิดการบาดเจ็บที่เข่ารุนแรง ผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอื่น ๆ ซึ่งวิธีการตรวจสภาพข้อเข่ามีหลายวิธี โดยจะใช้วิธีไหนในการตรวจนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และอาการของผู้ป่วย
- เอกซเรย์ (X-ray)
การเอกซเรย์จะทำให้เห็นภายในเข่าอย่างคร่าว ๆ โดยสามารถบอกถึงความผิดปกติของกระดูกได้ เช่นกระดูกเข่าร้าว หัก กระดูกอ่อนบาดเจ็บ กระดูกบริเวณข้อเข่าเกิดการสึกหรอ เป็นต้น แต่จะไม่สามารถบอกถึงอาการอักเสบ และความผิดปกติของเส้นเอ็นได้
- อัลตร้าซาวด์ (Ultrasound)
การทำอัลตราซาวด์จะสามารถบอกถึงอาการอักเสบบริเวณข้อเข่าได้ ซึ่งสามารถตรวจหาต้นตอของอาการเข่าบวมได้ดีกว่าเอกซเรย์ แต่ไม่ละเอียดเท่าการตรวจด้วย MRI เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบการฉีกขาดของเส้นเอ็นได้
- MRI (Magnetic Resonance Imaging)
การทำ MRI เป็นวิธีตรวจสภาพข้อเข่าที่ให้ผลแม่นยำที่สุด เนื่องจากแพทย์จะสามารถเห็นรายละเอียดภายในข้อเข่าได้ชัดเจน ไม่ว่าจะรอยหักรอยแตกของกระดูก การฉีกขาดของเส้นเอ็นที่อยู่บริเวณข้อเข่า นอกจากนี้ยังสามารถเห็นถึงปริมาณน้ำในข้อเข่าได้อีกด้วยว่ามีความผิดปกติหรือไม่
3. การเจาะข้อ
สิ่งที่ทำให้หัวเข่าบวมคือการที่มีของเหลวคั่งอยู่บริเวณข้อเข่ามาก แพทย์จะทำการเจาะเพื่อนำของเหลวภายในข้อไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูว่าของเหลวที่ทำให้เกิดอาการเข่าบวมนั้นคืออะไร มีการติดเชื้อร่วมด้วยหรือไม่วิธีการตรวจหาสาเหตุของอาการเข่าบวมที่กล่าวไปนั้นผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจทุกวิธี แต่จะตรวจเข่าบวมอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะอาการเข่าบวมของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์
อาการข้อเข่าบวมในผู้สูงอายุ
เพราะข้อเข่าเป็นอวัยวะที่ต้องรับแรงกด แรงกระแทกและใช้เคลื่อนไหวเวลาเดิน นั่ง เมื่อเข่าถูกใช้งานไปนาน ๆ เข้าก็สามารถเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาได้ ในผู้สูงอายุที่มีการใช้งานข้อเข่าเป็นเวลานานจึงเป็นเรื่องปกติที่ข้อเข่าจะเสื่อมลง เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมผู้สูงอายุนั่นเอง
อาการเสื่อมของข้อเข่าในผู้สูงอายุจะมีระดับความรุนแรงไล่ไปตั้งแต่ระดับรุนแรงน้อย ปานกลาง จนถึงรุนแรงมาก โดยผู้ป่วยที่ตรวจพบข้อเข่าเสื่อมระยะแรก ๆ มีความรุนแรงน้อยก็อาจไม่เป็นอันตรายมาก แต่เมื่อใดที่การเสื่อมของข้อเข่ารุนแรงมากขึ้น อาจทำให้เกิดการอักเสบและเกิดอาการเข่าบวมขึ้นได้
การอักเสบนั้นจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดเข่ามากขึ้น และอาจปวดเข่าแม้แต่ตอนที่ไม่ได้ขยับข้อเข่าเลย นอกจากนี้หากมีการอักเสบมาก ๆ เข้า บริเวณเข่าของผู้ป่วยจะมีอาการบวมแดง ร้อนเมื่อสัมผัสบริเวณเข่า และอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขยับข้อได้เนื่องจากเจ็บข้อเข่ามาก
หากผู้ป่วยที่อายุมากและมีอาการปวดเข่า เข่าบวม เริ่มเคลื่อนไหวขยับข้อได้ลำบาก นั่นอาจเป็นสัญญาณว่ามีภาวะข้อเข่าเสื่อม ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ หากพบว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมผู้สูงอายุจริงจะได้รักษาประคองไม่ให้เกิดการเสื่อมไปมากกว่านี้
นอกจากนี้อาการปวดเข่า เข่าบวมในผู้สูงอายุอาจไม่ได้เกิดจากข้อเข่าเสื่อมเพียงอย่างเดียว ในวัยที่จะลุกจะล้มได้ง่ายนั้นหากเกิดแผลแล้วรักษาไม่ดีอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้ หากผู้สูงอายุมีอาการปวดเข่ามาก เข่าบวมร้อนแดง ร่วมกับการมีไข้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะหากเชื้อเข้าไปในกระแสเลือดได้นั้นจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
วิธีรักษาข้อเข่าบวม
การรักษาข้อเข่าบวมมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ดังนี้
1. การรักษาด้วยการใช้ยา
วิธีรักษาอาการเข่าบวมเบื้องต้นคือการใช้ยา โดยอาจใช้ยารักษาอาการเข่าบวมรูปแบบรับประทานหรือรูปแบบยาทาก็ได้เช่นกัน ซึ่งการใช้ยารักษานั้นมีจุดประสงค์เพื่อลดอาการปวดเข่าจากอาการเข่าบวม หรือการอักเสบของข้อเข่าได้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยารักษานั้นไม่สามารถแก้ปัญหาบางอย่างได้ เช่นอาการเข่าบวมจากโรคที่เกี่ยวกับข้อ หรืออาการเข่าบวมที่เกิดจากการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นบริเวณเข่า
การใช้วิธีรักษาข้อเข่าบวมด้วยยานั้นเหมาะกับผู้ที่มีอาการเข่าบวมเล็กน้อย มีอาการปวดเข่ารุนแรงไม่มาก ซึ่งยาที่ใช้รักษามักจะเป็นกลุ่มยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงมาก ควรใช้ก็ต่อเพื่อแพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้เท่านั้น
2. การทำกายภาพบำบัด
เพื่อลดการเสียดสี การกระแทกของข้อเข่านั้นการฟื้นฟู เสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่าให้แข็งแรงนั้นสามารถช่วยให้อาการปวดเข่า เข่าบวมนั้นลดลงได้ เพราะกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าที่แข็งแรงจะเป็นตัวช่วยพยุง และช่วยรองรับน้ำหนักแทนนั่นเอง และเมื่อมีกล้ามเนื้อช่วยรองรับแรงกระแทกแล้ว ของเหลวที่ผลิตมาเพื่อป้องกันการกระแทกนั้นก็จะลดลง ทำให้เข่าบวมลดลงได้นั่นเอง แต่การทำกายภาพบำบัดนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาเข่าบวมที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อได้ เพราะของเหลวภายในเข่าไม่ได้ผลิตมาเพื่อจุดประสงค์ในการรองรับแรงกระแทกเหมือนของเหลวน้ำไขข้อปกติ
การทำกายภาพบำบัดนั้นจะช่วยได้มากเมื่อผู้ป่วยมีอาการเข่าบวมจากการอักเสบเนื่องจากการเสียดสีของข้อเข่าอย่างโรคข้อเข่าเสื่อม โดยการทำกายภาพบำบัดนั้นควรจะทำภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัดเท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการปวด บาดเจ็บมากกว่าเดิม
3. การรักษาด้วยการฉีดยา
หากการรักษาด้วยยาหรือกายภาพบำบัดแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาลดอาการเข่าบวมให้ผู้ป่วย โดยตัวยาที่ฉีดจะเป็นยากลุ่มสเตียรอยด์ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดเข่าได้ดี แต่อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่างหรือไม่สามารถใช้สเตียรอยด์ได้จะไม่สามารถรักษาด้วยการฉีดยาตัวนี้ได้
ตัวยาอีกตัวที่มักใช้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาขยับข้อเข่าได้มากขึ้นคือการฉีดน้ำไขข้อเข่าที่เป็นกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic acid) ซึ่งจะช่วยลดการเสียดสีของผิวข้อเข่าได้ดี เมื่อข้อเข่าไม่เกิดการเสียดสีก็จะไม่เกิดการอักเสบ แต่อย่างไรก็ตามกรณีที่น้ำไขข้อเดิมเกิดการอักเสบแพทย์จะเจาะเอาน้ำไขข้อเดิมออกก่อนฉีดน้ำไขข้อเข่าเทียมไป และการฉีดน้ำไขข้อเข่าเทียมนั้นไม่สามารถฉีดได้หากการเข่าบวมนั้นเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ
4. การผ่าตัดข้อเข่า
ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่า เข่าบวมมากจากการฉีกขาดของเส้นเอ็น หรือเกิดจากการเสื่อมของข้อเข่าระยะรุนแรง และใช้วิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผลแล้วแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดให้ผู้ป่วย โดยการผ่าตัดข้อเข่ามี 2 แบบดังนี้
- ผ่าตัดผ่านกล้อง (Arthroscopic Surgery)
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเข่าบวมจากการฉีกขาดของเส้นเอ็น สามารถผ่าตัดได้ด้วยการส่องกล้อง โดยการกรีดแผลเล็กเพื่อสอดเครื่องมือและกล้องขนาดเล็กเข้าไป แพทย์จะทำการผ่าตัดโดยการควบคุมอุปกรณ์และกล้อง ภาพจะแสดงขึ้นมาให้แพทย์ได้เห็นภายในข้อเข่าทั้งหมด การผ่าตัดวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยรับภาระจากการบาดเจ็บน้อยลง ใช้เวลาฟื้นฟูไม่มาก และยังลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกด้วย
- ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Knee Replacement)
สำหรับผู้ป่วยที่ข้อเข่าบวมจากข้อเข้าเสื่อมรุนแรงมาก และสภาพข้อเข่าเสียหายจนไม่สามารถแก้ไขเพียงบางส่วนได้แล้วแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าให้ทั้งหมด โดยทำการผ่าตัดนำข้อเข่าเดิมที่เสื่อมสภาพของผู้ป่วยออกและแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียมใหม่ ที่ทำจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายและมีอายุการใช้งานยาวนาน การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาขยับข้อเข่าได้ดีเหมือนปกติ
เข่าบวมประคบเย็นหรือประคบร้อน
การเกิดอุบัติเหตุ เช่น พลัดตก หกล้มในลักษณะที่หัวเข่าได้รับแรงกระแทก หรือการใช้งานข้อเข่าหนัก ๆ ก็สามารถทำให้เกิดอาการข้อเข่าบวมได้ โดยการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเรามักจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าการประคบจะช่วยให้อาการปวดเข่า เข่าบวมลดลง แต่การประคบที่ถูกต้องนั้นควรจะประคบเย็นหรือประคบร้อน?
จุดประสงค์ของการประคบเย็นหรือประคบร้อนนั้นแตกต่างกัน ดังนี้
การประคบเย็น
สิ่งแรกเมื่อเกิดอุบัติเหตุพลัดตก หกล้ม เกิดการฟกช้ำควรจะประคบเย็น เนื่องจากความเย็นนั้นจะไปช่วยให้หลอดเลือดบริเวณนั้นหดตัวลง ลดการไหลเวียนเลือด เมื่อการไหลเวียนเลือดไปบริเวณที่บาดเจ็บน้อยลงจะช่วยให้อาการปวดลดลงได้ การประคบเย็นนั้นควรจะทำเมื่ออยู่ในระยะการบาดเจ็บใหม่ ๆ หรือในช่วงที่เพิ่งเกิดการอักเสบ จะช่วยให้อาการปวดเข่า เข่าบวมอักเสบลดลงได้ โดยสามารถใช้เจลเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งในการประคบได้เช่นกัน
วิธีประคบเย็นที่ถูกต้องควรจะประคบหลังบาดเจ็บทันทีจนถึงไม่เกิน 48 ชั่วโมงวันละประมาณ 2-3 ครั้ง เวลาที่ใช้ประคบควรอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 20-30 นาที
การประคบร้อน
การประคบร้อนจะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น บริเวณที่ประคบร้อนจะมีเลือดเข้ามาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้สามารถฟื้นฟูบริเวณที่บาดเจ็บได้และลดอาการปวดได้ดี โดยการประคบร้อนควรทำหลังเกิดการบาดเจ็บไปแล้ว 2-3 วัน ไม่ควรประคบร้อนทันทีที่เพิ่งเกิดการบาดเจ็บเพราะจะทำให้เลือดไหลไปบริเวณที่บาดเจ็บมากขึ้นและทำให้เกิดอาการปวดเพิ่มขึ้นนั่นเอง และการประคบร้อนนั้นยังเหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดอักเสบเอ็นและกล้ามเนื้อเรื้อรัง เพราะการกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดีจะช่วยให้อาการปวดบรรเทาลงได้
วิธีการประคบร้อนที่ถูกต้องสามารถใช้ถุงน้ำร้อนหรือผ้าชุบน้ำอุ่น อุณหภูมิของน้ำไม่ควรเกิน 45 องศาเซลเซียส และไม่ควรประคบนานเกินไปเพราะจะทำให้ผิวหนังไหม้แดงได้
ภาวะข้างเคียงที่อาจเกิดจากเข่าบวม
ภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
ทำไมอาการเข่าบวมถึงทำให้เกิดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อได้? เนื่องจากอาการเข่าบวมมักจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดเข่า เจ็บเข่าจนไม่อยากขยับข้อเข่า หรือในบางรายอาจปวดมากจนไม่สามารถขยับข้อได้เลย เมื่อไม่มีการขยับข้อเพื่อเคลื่อนไหวจึงทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานและนำไปสู่การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อได้
เมื่อสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปจะทำให้ผู้ป่วยเกิดการบาดเจ็บมากขึ้นหากเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากไม่มีกล้ามเนื้อที่คอยซัพพอร์ตแรงกระแทกอีกต่อไป
ภาวะถุงน้ำหลังหัวเข่า
Baker’s Cyst หรือภาวะถุงน้ำหลังหัวเข่าอักเสบเป็นความผิดปกติของถุงน้ำของข้อเข่า ภาวะถุงน้ำหลังหัวเข่านี้จะพบถุงน้ำเป็นก้อนที่เกิดการอักเสบอยู่บริเวณข้อเข่าด้านหลัง โดยปกติแล้วถุงน้ำจะอยู่ตามข้อระหว่างผิวหนังกับกระดูกเพื่อซัพพอร์ตแรงกระแทกและการเสียดสี แต่เมื่อใดที่ถุงน้ำเกิดการอักเสบขึ้นจะทำให้เกิดอาการเจ็บ เข่าบวม ขยับข้อเข่าลำบาก
แนวทางการป้องกันเข่าบวม
อาการเข่าบวมสามารถหลีกเลี่ยงได้ มีแนวทางการป้องกันเข่าบวมดังนี้
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เนื่องจากการยกของหนักจะทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดมาก
- หลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ หรือการเดินมากเกินไปเพราะจะทำให้ข้อเข่าต้องทำงานหนัก
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย การเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า
- ปรับอิริยาบทการนั่งให้ถูกวิธี ไม่นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งคุกเข่า
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะการที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์จะทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักร่างกายมากขึ้น
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารกลุ่มที่ช่วยฟื้นฟู บำรุงกระดูกและข้อ
- ออกกำลังกายหรือกายภาพบำบัด โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่า เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงจะช่วยรับแรงกระแทก ทำให้เกิดการบาดเจ็บ เข่าบวมได้ลดลง
ข้อสรุป
อาการเข่าบวมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ การอักเสบติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งเกิดจากโรคบางโรคอย่างเช่นโรคข้อเข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบ โดยอาการเข่าบวมมักสร้างความเจ็บปวดและส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง
หากผู้ป่วยพบว่าตนเองมีอาการเข่าบวมผิดปกติควรเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บที่มากขึ้นและป้องกันไม่ให้อาการเข่าบวมนั้นรุนแรงมากขึ้นจนทำให้สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว