จุดเชื่อมโยงของ เมขลา และ รามเกียรติ์
เมขลา หรือ มณีเมขลา เป็นเทพธิดาประจำทะเล และเป็นนางผู้ถือดวงแก้วล่อให้รามสูรขว้างขวานจนทำให้เกิดฟ้าร้อง แต่นางก็โยนแก้วล่อไปล่อมาทำให้เกิดฟ้าแลบแสบตา ทั้งนี้ท้าวโลกบาลทั้งสี่ได้มอบหมายให้คอยช่วยเหลือผู้มีบุญญาที่ตกน้ำ โดยปรากฏในชาดกเรื่อง พระมหาชนก ซึ่งเมขลาเข้าช่วยเหลือเจ้าชายมหาชนกจากเรืออัปปาง และปรากฏใน สมุทรโฆษคำฉันท์ ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็มีการกล่าวถึงเมขลาเข้าช่วยพระสมุทรโฆษที่ลอยคออยู่กลางทะเลเจ็ดวัน
ทั้งนี้ฉากรามสูรไล่จับเมขลาไม่ปรากฏในวรรณคดีอินเดียใด ๆ แต่ในประเทศไทยมีการประดิษฐ์ฉากดังกล่าวให้เป็นท่าระบำที่มีลักษณะสนุกสนานสำหรับการแสดงเบิกโรง
ที่มาของชื่อ
เมขลา เป็นภาษาบาลี แปลว่า "สายรัดเอว" หรือ "เข็มขัดสตรี" บ้างว่าหมายถึงจับปิ้ง อันเป็นเครื่องประดับอวัยวะเพศหญิง ประเทศไทยใช้ชื่อ "เมขลา" มาตั้งเป็นชื่อของพายุหมุนเขตร้อนในปี พ.ศ. 2548 และ 2551 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังใช้เป็นชื่อรางวัลผลงานดีเด่นทางโทรทัศน์ และศูนย์ป้องกันวิกฤตน้ำ
ประวัติ
ในอรรถกถาสังขชาดกระบุว่าเมขลาเป็นเทพธิดาที่ได้รับมอบหมายจากท้าวโลกบาลทั้ง 4 เพื่ออารักขาทะเล โดยสั่งว่าถ้าเรือมาแตกลง มนุษย์ที่ถือไตรสรณคมน์ก็ดี มีศีลสมบูรณ์ก็ดี ปฏิบัติชอบในมารดาบิดาก็ดี มาตกทุกข์ในสมุทรนี้ พึงพิทักษ์รักษาเขาไว้
ตามนิยายพื้นบ้านของไทย ได้ยกเรื่องเมขลามาอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ฟ้าแลบและฟ้าร้อง โดยเล่าว่าเมขลามีแก้ววิเศษประจำตัว รามสูรเห็นดังนั้นก็พอใจในดวงแก้วและความงามของเมขลาจึงเที่ยวไล่จับ เมื่อจับไม่ทันก็เอาขวานขว้างแต่ไม่ถูก เนื่องจากนางใช้แก้วล่อจนมีแสงเป็นฟ้าแลบทำให้รามสูรตาพร่ามัวขว้างขวานไม่ถูก บ้างว่าเป็นเพราะรามสูร เมขลา และพระประชุนมาชุมนุมรื่นเริงกัน พระประชุนคือพระอินทร์ในสมัยพระเวทที่มีหน้าที่ทำให้เกิดพายุฝน พระอินทร์ในหน้าที่นี้เรียกว่า ปรรชันยะ หรือ ปรรชัยนวาต ไทยเรียกเป็นพระประชุน เมื่อมีการชุมนุมรื่นเริงกันของเทพแห่งฝน เมขลาผู้มีดวงแก้วและรามสูรผู้มีขวานจึงทำให้เกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าเข้าใจว่าเดิมคงเป็นมุขปาฐะเล่าเรื่องดินฟ้าอากาศของคนสมัยก่อน โดยให้เสียงฟ้าร้องเป็นยักษ์ถือขวาน นางฟ้าถือดวงมณี และให้สภาพอากาศเป็นเทวดา ภายหลังจึงแผลงให้เป็นอินเดียด้วยการใส่ชื่อเทวดาที่มีลักษณะคล้ายกันคือ รามสูร เมขลา และอรชุน ตามลำดับ
ขณะที่เสฐียรโกเศศและนาคะประทีปกล่าวถึงเมขลาว่านางสมุทรเทวี คือเทพธิดารักษาสมุทรไท และเทพธิดาสำหรับฝน ในวรรณคดี เฉลิมไตรภพ ได้อธิบายว่า มีพระยามังกรการตนหนึ่งอมแก้วไว้เสมอ จะไปไหนก็เอาดวงแก้วทูนศีรษะไว้ มังกรการได้แปลงเป็นเทวดาไปสมสู่กับนางฟ้ามีบุตรีชื่อ เมขลา เมื่อเจริญวัยขึ้นมีความงามยิ่ง มังกรการได้นำบุตรีและดวงแก้วไปมอบแก่พระอิศวร ครั้งหนึ่งเมขลาได้ขโมยดวงแก้ววิเศษนั้นไป ราหูผู้มีครึ่งตัวเพราะถูกจักรพระนารายณ์เมื่อครั้งแปลงเป็นเทวดาไปดื่มน้ำอมฤต ได้อาสาไปจับเมขลา และได้ชวนรามสูรผู้เพื่อนไปด้วย รามสูรได้ขว้างขวานจนกลายเป็นฟ้าลั่น ดังที่สุนทรภู่ได้แต่งกลอนอธิบายการล่อแก้วของเมขลาและการขว้างขวานของรามสูรไว้ ความว่า
๏ เมขลากล้าแกล้ว ล่อแก้วแววไว
โยนสว่างเหมือนอย่างไฟ ปลาบไนยเนตรมาร
๏ หน้ามืดฮืดฮาด เกรี้ยวกราดโกรธทยาน
แค้นนางขว้างขวาน เปรี้ยงสท้านโลกา
๏ ฤทธิ์แก้วแคล้วคลาศ ยิ่งกริ้วกราดโกรธา
โลดไล่ไขว่คว้า เมขลาล่อเวียน
๏ ยักษ์โถมโจมโจน นางก็โยนวิเชียร
หลีกลัดฉวัดเฉวียน ล่อเวียนวงวล
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงขวาน ก้องสท้านสากล
ไล่นางกลางฝน มืดมนท์ในเมฆา
๏ นวลนางนั้นช่างล่อ รั้งรอร่อนรา
เวียนรไวไปมา ในจักรราศีเอย ๚
ในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า เทศกาลวสันต์คราวหนึ่งนางอัปสรและเทวดาต่าง ๆ มาร่วมจับระบำกัน เมขลาเองก็ถือแก้วมณีไปร่วมจับระบำด้วย รามสูรเห็นดังนั้นจึงไล่จับนางเมขลา แต่พระอรชุนเหาะมาพอดี ด้วยความโกรธรามสูรจึงจับสองขาพระอรชุนไปฟาดเหลี่ยมเขาพระสุเมรุจนตาย ทำให้เขาพระสุเมรุเอียงด เดือดร้อน ต้องขอความช่วยเหลือจากเหล่ายักษ์เหล่าลิงและนาคทั้งหลายเข้ามาช่วยดันเขาให้กับขึ้นตรง โดยมีทั้ง พาลี สุครีพ ทศกัณฐ์
อ้างอิงจาก: google