ปวดหัวคลื่นไส้ อย่าปล่อยผ่าน อาจบอกอะไรได้มากกว่าที่คิด
อาการปวดหัวคงจะไม่มีใครที่ไม่เคยเป็น ซึ่งอาการปวดหัวก็อาจมีอาการร่วมต่าง ๆ ได้ด้วยเช่นกัน โดยการมีอาการร่วมต่าง ๆ ที่มากับอาการปวดหัวนั้นไม่ควรที่จะเพิกเฉย เพราะอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกาย หรือโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้เช่นกัน โดยอาการปวดหัวนั้นอาจมีอาการร่วมได้มากมาย เช่น อาการคลื่นไส้ อาการตาพร่ามัว อาการมึนงงสับสน พูดไม่รู้เรื่อง ดูไม่มีสติ หมดความรู้สึก อาการคอแข็ง อาการหน้ามืด และอาการปวดกระบอกตา เป็นต้น และในบทความนี้เราจะมาพูดถึงอาการปวดหัวคลื่นไส้ที่หลาย ๆ คนอาจเคยเป็นกันมาก่อน
ปวดหัวคลื่นไส้
การปวดหัวคลื่นไส้เป็นการเกิดอาการร่วมระหว่างอาการปวดหัวและคลื่นไส้ โดยอาการปวดหัวจะมีอาการปวดตุบ ๆ ซึ่งอาจเกิดข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งอาจปวดนานเป็นชั่วโมง หรืออาจนานถึงวัน และจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมอยู่ด้วย
ปวดหัวคลื่นไส้เกิดจากสาเหตุใด
อาการปวดหัวคลื่นไส้อาจสร้างความรำคาญหรือความลำบากให้กับคนที่เป็นมาแล้วไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดอาการร่วมของทั้ง 2 อาการนี้นั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นไมเกรน ความเครียด วิตกกังวล การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ น้ำตาลในเลือดต่ำจากการอดอาหาร หรือการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก โดยกลไกในร่างกายที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวคลื่นไส้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน
- อาการปวดหัว เกิดจากเส้นประสาท Trigeminal และสารเคมีในสมอง Serotonin เสียสมดุล ทำให้เกิดการกระตุ้นผ่านเส้นประสาท Trigeminal ไปยังหลอดเลือดที่เยื่อหุ้มสมองด้านนอก จึงทำให้หลอดเลือดขยายตัว และบวมจนเกิดการอักเสบ
- อาการคลื่นไส้ เกิดจากส่วนของ Vomiting center ซึ่งอยู่ที่สมองส่วน Medulla oblongata ได้รับสัญญาณประสาทจาก pathway หลัก ๆ 4 อย่างคือ Cortex และ Limbic system , Chemoreceptor trigger zone , Vestibular apparatus และ Peripheral pathway อื่น ๆ
ปวดหัวคลื่นไส้เสี่ยงโรคใดบ้าง
อาการปวดหัวคลื่นไส้สามารถบ่งบอกถึงโรคต่าง ๆ ได้ โดยนอกจากโรคไมเกรนที่หลาย ๆ คนจะรู้จักจากอาการนี้กันอยู่แล้ว ยังอาจเสี่ยงโรคอื่น ๆ ได้อีก เช่น โรคเนื้องอกในสมอง และ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
โรคเนื้องอกในสมอง
เป็นการเกิดของเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตผิดปกติในเซลล์สมอง หรือในบริเวณใกล้เคียง จนมีผลกระทบกับกระบวนการทำงานของสมองและระบบประสาท ซึ่งนอกจากจะมีอาการปวดหัวและคลื่นไส้แล้ว ยังมีอาการร่วมต่าง ๆ ได้แก่ บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ พูดจาติดขัด ปากเบี้ยว และแขนขาอ่อนแรงในข้างใดข้างหนึ่ง
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในบริเวณเยื่อหุ้มรอบสมองและไขสันหลัง โดยอาจติดมาจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา จนทำให้บริเวณที่ติดเชื้อเกิดการบวมและอักเสบ ซึ่งนอกจากจะมีอาการปวดหัวและคลื่นไส้แล้ว ยังมีอาการร่วมต่าง ๆ ได้แก่ คอแข็ง ตื่นนอนยาก ไม่อยากอาหาร แพ้แสง มีอาการสับสน ไข้ขึ้นสูง และอาการชัก
ปวดหัวคลื่นไส้ อาการหลักโรคไมเกรน
ในโรคไมเกรนนั้นจะมีอาการร่วมอยู่มาก ได้แก่ ตาพร่ามัว ปวดหัว คลื่นไส้ แพ้แสง แพ้เสียง เป็นต้น แต่จะมีอาการหลัก ๆ ก็คือ อาการปวดหัวและคลื่นไส้ ซึ่งอาการปวดหัวในโรคไมเกรนอาจจะเป็นการปวดข้างเดียว หรือปวดทั้งสองข้างก็ได้
โดยอาการในโรคไมเกรนจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
- ระยะบอกเหตุล่วงหน้า (Prodrome)
ในระยะนี้จะพบในช่วง 1-2 วันก่อนเป็นไมเกรน โดยจะมีอาการคือ อารมณ์แปรปรวน ไม่มีสมาธิ ปวดต้นคอ เหม็นกลิ่นอาหาร และอ่อนเพลีย
- อาการเตือนนำ (Aura)
ในระยะนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการผิดปกติทางสายตา เช่น เห็นแสงระยิบระยับ เห็นแสงเป็นเส้นคลื่น เห็นภาพเบลอหรือบิดเบี้ยว และเห็นวัตถุต่าง ๆ เป็นจุด
- ระยะปวดศีรษะ (Headache)
ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว ปวดเบ้าตา คลื่นไส้ อาเจียน แพ้แสง แพ้เสียง โดยจะมีอาการประมาณ 4-72 ชั่วโมง
- ภาวะปกติ (Postdrome)
ในระยะสุดท้ายนี้ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน หัวสมองตื้อ ความคิดไม่แล่น โดยอาการปวดหัวในโรคไมเกรนเกิดจากเส้นประสาทและสารเคมีในสมองเสียสมดุล ทำให้เกิดการกระตุ้นผ่านเส้นประสาทไปยังหลอดเลือดที่เยื่อหุ้มสมองด้านนอก ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว และบวมจนเกิดการอักเสบ
ทำไมเป็นไมเกรนแล้วจึงมีอาการคลื่นไส้
เนื่องจากอาการปวดหัวในโรคไมเกรนมีจุดกำเนิดอยู่ที่บริเวณสมอง และในบริเวณนั้นเองก็มีจุดที่ไวต่ออาการอาเจียน (Vomiting trigger zone) อยู่ด้วย ซึ่งเมื่อเกิดการกระตุ้นที่สมองส่วนนี้ ก็จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมาด้วยนั่นเอเมื่อมีอาการคลื่นไส้ ลำไส้ก็จะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ทำให้ความสามารถในการดูดซึมยามีได้ไม่เต็มที่ จึงอาจส่งผลให้ยาแก้ปวดที่ผู้ป่วยได้ทานเข้าไปนั้นออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที
ปวดหัวคลื่นไส้..เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่ออาการปวดหัวคลื่นไส้มีความรุนแรงขึ้น จนไม่สามารถควบคุมหรือจัดการได้ด้วยยา และเกิดอาการขึ้นดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- มีอาการปวดหัวแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในผู้สูงอายุ
- มีอาการปวดหัวรุนแรงหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณหัว
- มีอาการปวดหัวเรื้อรัง ที่จะมีอาการหนักขึ้นเวลาไอ เวลาออกแรงมาก หรือเวลาที่เปลี่ยนท่าทางรวดเร็วเกินไป
- มีอาการชา หรือพูดจาติดขัดอย่างชัดเจน
- มีอาการปวดหัวรุนแรง ที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
- มีอาการปวดหัว พร้อมกับมีไข้ เมื่อยคอ สับสนมึนงง มองเห็นภาพซ้อน อ่อนแรง หรือมีอาการชัก
วิธีแก้อาการปวดหัวคลื่นไส้จากโรคไมเกรน
อาการปวดหัวคลื่นไส้จากโรคไมเกรน แม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ก็สร้างความรำคาญและความลำบากให้แก่ผู้ที่เป็นค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน หรือด้านการทำงาน การหาทางแก้ไขอาการเหล่านี้จึงเป็นทางออก ซึ่งจะมีหลายวิธีด้วยกัน
1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำอย่างเพียงพอเป็นประจำนอกจากจะช่วยลดความร้อนในร่างกายแล้ว ยังสามารถช่วยลดอาการปวดหัว หรือปวดไมเกรนได้อีกด้วย โดยปริมาณน้ำที่ควรดื่มให้เพียงพอต่อวันคือ 1-2 ลิตรต่อวัน
2. ฉีดยาแก้ไมเกรน
ยาฉีดสำหรับป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนเป็นยาต้านสารสื่อประสาท CGRP ซึ่งเป็นยาสำหรับฉีดใต้ผิวหนัง สามารถออกฤทธิ์ได้นานประมาณ 1 เดือน สามารถฉีดได้ทันทีไม่ต้องรอมีอาการ เนื่องจากเป็นยาที่ใช้ในการป้องกัน ไม่ใช่ยาที่ใช้ในการรักษา ช่วยลดความถี่ในการเกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้มากถึง 50%หรืออาจใช้การฉีดยาชาเข้าที่เส้นประสาทบริเวณท้ายทอยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการรักษาที่แทบจะไม่มีผลข้างเคียงอื่นใดนอกเหนือจากอาการชาตามหนังศีรษะ
3. รับประทานยาบรรเทาอาการ
ยาที่ใช้รับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวคลื่นไส้ในไมเกรนนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 อย่าง
1.ยาบรรเทาอาการปวดหัว (กรณีที่ปวดไม่รุนแรง)
- ยาในหมวดยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ Paracetamol
- ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ได้แก่ Ibuprofen , Naproxen , Celecoxib และ Etoricoxib ซึ่งยาในกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงควรทานยาพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันที และไม่ควรทานเกิน 4-10 เม็ดต่อเดือน เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงต่อตับและไตได้
2.ยาบรรเทาอาการปวดหัว (กรณีที่ปวดรุนแรง)
- ยาในกลุ่ม Triptans ได้แก่ Sumatriptan และ Eletriptan ในผู้ที่ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง และขา ควรเว้นระยะการทานยาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และไม่ควรทานต่อเนื่องเกิน 10 เม็ดต่อเดือน
- ยาในกลุ่ม Ergot alkaloids ได้แก่ Cafergot ซึ่งจะมีผลข้างเคียงทำให้เส้นเลือดตีบ จึงไม่ควรทานติดต่อกันเป็นเวลานาน
3.ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ได้แก่ Metoclopramide และ Domperidone ซึ่งควรทานก่อนอาหาร 30 นาที
4. ฝังเข็มรักษาไมเกรน
การฝังเข็มเพื่อรักษาไมเกรนนั้นเป็นการรักษาในศาสตร์จีน ซึ่งจะสามารถลดความถี่ และความรุนแรงของอาการปวดหัวไมเกรนลงได้ โดยการฝังเข็มจะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก และลดอาการเลือดคั่ง แต่การรักษาด้วยการฝังเข็มค่อนข้างใช้ระยะเวลา ทั่วไปแล้วจะใช้การรักษาประมาณ 8-10 ครั้ง *จำนวนครั้งในการรักษาจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานร่างกายของผู้ป่วย*
5. รักษาไมเกรนด้วยการฉีดโบท็อก
การรักษาไมเกรนด้วยการฉีดโบท็อกซ์ แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถช่วยลดความถี่ และบรรเทาอาการของไมเกรนได้ 60-70% เนื่องจากโบท็อกซ์สามารถเข้าไปยับยั้งปลายประสาทที่จะมีการส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองที่ต่อกับกล้ามเนื้อ จึงทำให้กล้ามเนื้อที่เกร็งตัวอยู่นั้นคลายลง โดยโบท็อกซ์จะอยู่ได้ประมาณ 3-4 เดือน และค่อย ๆ หมดฤทธิ์ลง
วิธีป้องกันอาการปวดหัวคลื่นไส้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- ไม่อยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อนหรือเย็นเกินไป
- ทานอาหารให้ตรงต่อเวลา
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผ่อนคลายเพื่อลดความเครียด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่ควรหักโหมเกินไป
- พักผ่อนในบริเวณที่มืดและเย็น
ข้อสรุป
ในอาการปวดหัวคลื่นไส้นั้น แม้ดูเผิน ๆ แล้วเหมือนจะไม่มีอะไรร้ายแรง แต่ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของอาการในโรคร้ายต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นไมเกรน เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรหมั่นสอดส่องคอยดูอาการของตัวเองหรือคนใกล้ชิดอยู่เสมอ เพื่อที่จะสามารถป้องกัน หรือรักษาได้อย่างทันท่วงที