คำที่คนไข้รู้สึกว่าปลอม กับ 4 ข้อสำคัญดูแลผู้ป่วย หายแน่นอน
“กำลังใจ” เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยที่ต้องต่อสู้กับโรคร้าย แต่คำพูดให้กำลังใจบางคำอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงโดยที่คนพูดไม่ได้เจตนา เช่นคำว่า หายแน่ๆ — พญ.พจนา จิตตวัฒนรัตน์ อายุรแพทย์ด้านมะเร็งและโลหิตวิทยา อธิบายเรื่องนี้ว่า โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคร้ายอย่างโรคมะเร็งจะรู้สึกว่าคำพูดให้กำลังใจที่เกินจริง เช่น หายแน่ๆ หายชัวร์ เป็นการโกหกเพื่อทำให้คนป่วยสบายใจเท่านั้น หรืออาจเปรียบเทียบกับเวลาที่มีคนชม ถ้าได้รับคำชมแบบเว่อร์ๆ คนฟังก็มักจะรู้สึกว่าปลอม
“คุณสวยที่สุดในโลก ไม่มีใครในโลกที่สวยเกินคุณ อ่ะ คุณคิดอะไรข้อแรก คนนี้ปลอม เราไม่ได้สวยขนาดนั้น พอคิดว่าเราไม่ได้สวยขนาดนั้น ก็จะพานไปคิดว่า เห้ย เราไม่ค่อยสวยเลยนะ นึกออกไหมคะ มันจะเหมือนในกรณีเดียวกันว่า ถ้าสมมติเราบอกว่า เธอหายแน่ ผลข้างเคียงไม่มีหรอก อะไรมันไม่มีทั้งสิ้น ดีหมด อย่างนี้เขาจะรู้สึกว่าแสดงว่าฉันต้องป่วยหนักมากแน่นอน จะกลายเป็นปฏิกริยาย้อนกลับมาในทางด้านตรงข้าม ซึ่งมันไม่เป็นผลดีเลยค่ะ” พญ.พจนา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น พร้อมกับให้คำแนะนำ 4 ข้อสำคัญ สำหรับดูแลผู้ป่วย
4 ข้อสำคัญ สำหรับดูแลผู้ป่วยโรคร้าย
1. ยอมรับความจริง
“ข้อแรกเลย ต้องยอมรับความจริงก่อน ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลยอมรับความจริงว่ากำลังเจอกับอะไร พูดความจริงเลย เช่น เธอเป็นมะเร็งระยะที่ 2 นะ คุณหมอบอกว่าถ้ารักษาตามขั้นตอน มันมีโอกาสหายได้ประมาณ 80-90% แค่ต้องไปหาหมอเอง รักษาตามขั้นตอน พอคนไข้มีความคิดบวกแบบนี้ โอกาสที่จะควบคุมโรคได้ก็มีสูงขึ้นค่ะ”
2. “คนดูแล” สำคัญไม่แพ้ผู้ป่วย
“โดยธรรมดาแล้ว เรามักจะสนใจว่าคนไข้จะเป็นอย่างไร ความรู้สึกนึกคิดจะเป็นอย่างไร การรักษาจะกระทบกับต่อชีวิตเขาไหม แต่หลายครั้งที่เราลืมนึกไปว่าคนที่ดูแลก็มีความเครียด แล้วก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ตอนที่วินิจฉัยส่วนใหญ่ ประมาณเกินครึ่งหนึ่ง คนที่เป็นผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้องหรือว่าจะเป็นสามีภรรยาจะรู้สึกว่า ทำไมเราถึงไม่รู้ว่าเขาเป็นมะเร็ง หรือทำไมถึงไม่ได้พาเขาไปตรวจตั้งแต่แรก ก็จะเกิดความรู้สึกผิด” ดังนั้นคุณหมอแนะนำว่าผู้ดูแลไม่ควรโทษตัวเอง แต่ต้องดูแลรักษาสุขภาพไปพร้อมๆ กับการดูแลผู้ป่วยด้วย
3. อย่าทำให้คนไข้รู้สึกว่า “ป่วยหนัก” เกินจริง
“คนดูแลจะคิดมาก พอเขาคิดมากปุ๊บ เขาก็จะดูแลคนไข้เหมือนคนเป็นโค้ช คือจริงๆ แล้วน่าจะเป็นทีมเดียวกันมากกว่า คือเป็นผู้ร่วมทีม โอเค เธอเป็นอย่างนี้นะ ฉันจะช่วยเธอแบบนี้ อย่างนี้จะดีกว่า แต่ถ้าเป็นโค้ชก็จะแบบ…ดูแลทุกอย่าง ไม่ต้องออกนอกบ้านเลยนะ อ่ะ นอนๆ กินๆ แบบนี้จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยเครียด พอเครียดปุ๊บ โอ้โห เราไม่ปกติ เราป่วย ร่างกายก็ยิ่งป่วยหนัก โดยส่วนตัวหมอจะบอกให้คนไข้กลับไปทำงานเท่าที่ทำไหวเลย ถ้าฝ่าตัดเสร็จ แผลหายดี กลับไปทำงานเลย ถ้าผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาสามารถฟังก์ชันได้ปกติ กำลังใจเขาจะกลับมาค่ะ”
4. คนดูแลพยายามอย่าดราม่า
“ถ้าคนดูแลไปหาผู้ป่วยด้วยอารมณ์ที่เศร้าสร้อย ผู้ป่วยจะรู้สึกว่า โอ้โห เราแย่นะ เราเป็นภาระ มันเป็นเรื่องปกติมากเลยค่ะที่เราจะมีอารมณ์เศร้าเมื่อเห็นคนที่เรารักไม่สบาย ก็ขอให้ปลีกตัวออกไปก่อน ไปทำอารมณ์ให้ดีก่อน จุดสำคัญที่สุดที่หมอเน้นก็คือว่า ต้องยอมรับความจริงตามสภาพความเป็นจริง ไม่น้อยไป หรือมากไป คุยกับคุณหมอตรงๆ แล้วพอวางแผนรักษา จะเกิดอะไรขึ้นก็สู้ไประหว่างทาง จนสุดท้ายถ้าได้ผลดี เราก็ชนะ แต่ถ้าเกิดว่ากรณีที่ไม่ได้ผลดี เราก็สู้เต็มที่แล้ว เมื่อเราสู้เต็มที่แล้วก็ไม่ต้องรู้สึกผิดค่ะ”