จิตวิทยาของคนตกหลุมรัก
ก่อนที่คนเราจะอยู่ในสภาวะ “คนคลั่งรัก” ทุกคนย่อมเคยผ่านสภาวะ “ตกหลุมรัก” มาก่อน ซึ่งมันเป็นอาการแรกเริ่มของคนที่กำลังมีความรัก
การมีความรักเป็นเรื่องที่ดี สามารถมอบความสุขให้กับคนเราได้ แต่เคยสงสัยไหมว่ามันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนเรารู้สึกตกหลุมรักใครสักคน
กระบวนการทางจิตวิทยา ซึ่งมีงานวิจัยที่พิสูจน์พบว่าจิตวิทยาสำคัญที่ทำให้คนเรารู้สึกตกหลุมรัก หรือดึงดูดกันและกันเข้าหากันนั้น เกิดขึ้นมาจากความคล้ายคลึงกันของคนสองคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความรู้สึกที่ใกล้ชิด ปลอดภัย สบายใจเวลาที่อยู่กับคนนี้
1 เราชอบคนที่คล้ายกับตัวเราเอง
มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า “เนื้อคู่กันจะหน้าเหมือนกัน” เพราะเชื่อว่ามันอาจจะเป็นพรหมลิขิตหรือเป็นบุพเพสันนิวาสอะไรทำนองนั้น
ไม่เพียงเท่านั้น ไม่ใช่แค่คนที่ดูคล้ายกับตัวเราเองที่จะดึงดูดความสนใจของเรา แต่ยังมีคนที่มีลักษณะดูคล้ายกับพ่อแม่ของเราด้วยเช่นเดียวกัน โดยวิทยาศาสตร์อธิบายว่า จริง ๆ แล้วคนเราไม่ได้เลือกคู่ครองหน้าตาเหมือนตัวเราเพียงอย่างเดียว แต่มีโอกาสที่จะเลือกคนรักที่หน้าตาคล้ายกับพ่อและแม่ของตัวเองด้วย หากเป็นผู้ชาย ก็มีแนวโน้มที่จะชอบผู้หญิงที่มีลักษณะบางอย่างคล้ายกับแม่ของตนเอง เช่นเดียวกัน ผู้หญิงก็มีแนวโน้มจะชอบผู้ชายที่ดูคล้ายกับพ่อของตนเอง
เพราะมันเป็นความรู้สึกผูกพัน รู้สึกปลอดภัยเมื่อเข้าใกล้ แบบว่าได้รับการปกป้องคุ้มครอง อยู่ด้วยแล้วรู้สึกอบอุ่นหัวใจ เหมือนเวลาที่อยู่กับพ่อแม่
2 ความใกล้ชิดสนิทสนมทำให้หวั่นไหว
ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้น เพราะเห็นได้ทั่วไปจากเพื่อนที่คบหาและสนิทกันมานาน มีอยู่หลายคู่ทีเดียว ที่จู่ ๆ ก็เปลี่ยนสถานะจากเพื่อนขึ้นมาเป็นคนรักซะอย่างนั้น
"พลังของความใกล้ชิดสนิทสนมทำให้เกิดความรู้สึกหวั่นไหว"
แสดงให้เห็นถึงว่าความใกล้ชิดมีต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน บางทีการที่คนเราได้ใกล้ชิด สนิทสนมกับใครคนหนึ่ง รู้จักกันดีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเหมือนกับว่าจะขาดกันไปไม่ได้ รู้สึกปลอดภัย สบายใจที่ได้อยู่กับคนที่คุ้นเคย หากถ้าวันใดคนข้าง ๆ ที่สนิทด้วยนั้นหายไป ในใจเราคงจะโหวงเหวงขึ้นมาทันที ชนิดที่เราก็อธิบายไม่ได้ด้วยว่าทำไม