กลับมาแชร์อีก!! ข่าวปลอมเก่ามาก "ห้ามใช้ไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือ ส่องกล่องเบรคเกอร์ไฟ"
คนไทยบางกลุ่มนี่เชื่อง่ายแชร์ดะ.......
อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โพสต์เรื่องราวให้ได้ตาสว่าง
ข่าวปลอมเก่ามากเรื่อง "ห้ามใช้ไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือ ส่องกล่องเบรคเกอร์ไฟ" กลับมาแชร์กันอีกแล้วครับ ... ไม่จริงนะครับ !!
เรื่องนี้เคยโพสต์เตือนไปหลายรอบแล้ว แต่ยังกลับมาแชร์กันเรื่อยๆ
ที่มาของเรื่องนี้ มาจากข่าวเก่า ปี 2559 ที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเจ้าหน้าที่ของสนามบินแม่ฮ่องสอน โดยเจ้าหน้าที่ 2 ท่านไปซ่อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แล้วโดนไฟฟ้าแรงสูงดูด (ดูรายละเอียดข่าวด้านล่าง)
ซึ่งตอนแรก ข่าวที่มีการรายงานออกไป บอกว่า "ประสบอุบัติเหตุขณะปฎิบัติงาน จากการ #ใช้โทรศัพท์มือถือเปิดเป็นไฟส่องสว่าง ใกล้บริเวณที่มีกระแสไฟฟ้าแรงสูง ทำให้โทรศัพท์ระเบิด จากกระแสไฟแรงสูงวิ่งผ่านอากาศเข้าสู่โทรศัพท์ ได้รับบาดเจ็บบริเวณมือ-แขนและใบหน้าบางส่วน ถูกนำส่ง รพ.ศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน "
แต่ต่อมา รายงานข่าวก็มีการแก้ไข โดยระบุใหม่ว่า "ประสบอุบัติเหตุขณะปฎิบัติงาน จากการ #เสื่อมสภาพของเครื่องมือวัด ทำให้ได้รับบาดเจ็บ บริเวณมือ-แขนและใบหน้าบางส่วน ถูกนำส่งโรงพยาบาลศรีสังวาลย์
จังหวัดแม่ฮ่องสอน"
นั่นคือ การที่ทั้งสองท่านได้รับอุบัติเหตุ ไม่ใช่เพราะว่าเปิดไฟฉายในโทรศัพท์มือถือมาดู แต่เกิดจากการที่เครื่องมือวัดเสื่อมสภาพ ต่างหาก
ข่าวปลอมเรื่องมั่วทำนองนี้ ไม่ได้มีแค่ที่ในไทย แต่มีแชร์ในต่างประเทศเช่นกัน (เคยมีข่าวที่อินเดีย ชายคนหนึ่งไปถ่ายรูปแถวทางรถไฟไฟฟ้า แล้วโดนไฟฟ้าดูด แต่ไปแชร์กันว่าเป็นเพราะเค้าใช้แสงแฟลชจากกล้องในโทรศัพท์มือถือ)
ซึ่งจริงๆ แล้ว การทำงานใกล้กับแหล่งที่มีไฟฟ้าแรงสูงนั้น อาจเกิดอุบัติเหตุจากการที่กระแสไฟฟ้ากระโดดข้ามมายังตัวคนได้ เมื่อเข้าใกล้ โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสโดน จึงต้องมีความระมัดระวังสูง มีการซักซ้อมกฏเกณฑ์การทำงานกับไฟฟ้า มีการตัดไฟเสียก่อน รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ที่ไม่เสื่อมสภาพหรือเสียหายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
ส่วนแสงจากไฟฉายในโทรศัพท์มือถือนั้น ไม่สามารถที่จะล่อหรือเป็นตัวนำให้ไฟฟ้าเข้ามาให้ตัวเราได้ .. รวมถึงสัญญาณโทรศัพท์มือถือเอง ที่เป็นคลื่นวิทยุ ก็ไม่ได้เหนี่ยวนำให้ไฟฟ้าเข้าหาตัวเรา (สัญญาณโทรศัพท์ ก็ไม่ได้ล่อฟ้าผ่าด้วย)
แต่ที่เกิดอุบัติเหตุกระแสไฟฟ้าแรงสูงกระโดดเข้าหาตัวเราเมื่ออยู่ใกล้ ก็เนื่องจากความต่างศักย์ที่แตกต่างกัน ระหว่างไฟฟ้าแรงสูงนั้น กับร่างกายและสิ่งของที่อยู่กับร่างกาย ประกอบกับอากาศที่ชื้นพอเหมาะ จึงจะเกิดขึ้น
ดังนั้น ที่เอาไปพูดกันว่า "อย่าเอาโทรศัพท์มือถือทำเป็นไฟฉายส่องตู้ไฟ แผงคัตเอาท์ หรือถังเชื้อเพลิงถังแก๊ส จะเกิดระเบิดได้" ก็ไม่ใช่เรื่องจริงครับ
(ปล. ก็เหมือนกับเรื่องห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในปั๊มน้ำมัน ซึ่งจริงๆ แล้วสัญญาณโทรศัพท์ไม่ได้จะทำให้น้ำมันติดไฟได้หรอกครับ ... ปัญหาอุบัติเหตุไฟไหม้ปั๊มน้ำมัน มาจากเรื่องไฟฟ้าสถิต ที่อยู่บนตัวผู้ที่เติมน้ำมัน เกิดสปาร์คกับไอระเหยของน้ำมันจนติดไฟ ไม่ใช่เพราะใช้โทรศัพท์มือถือ)
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess/photos/a.220998438383217/1419754348507614/