เกาะกระแสควบรวม : OTT ตัวเร่งธุรกิจโทรคมนาคมไทย ทำให้บริการบางอย่างหายไป ???
อินเตอร์เน็ต ปัจจัยที่ 5 ที่คนยุคนี้ไม่สามารถขาดได้ เหมือนอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่มไปซะแล้ว จนทำให้อินเตอร์เน็ตและมือถือ ถือได้ว่า เป็นอวัยวะที่สำคัญและถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคทำให้บริการบางชนิดต้องหายสาบสูญไป
จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ตั้งแต่ปี 2561 - 2564 พบว่า
"คนไทยมีการใช้งานโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้น แต่พฤติกรรมการสื่อสารด้วยการโทรหากันด้วยเสียงโดยตรงลดลง และหันไปใช้การโทรผ่านอินเตอร์เน็ต ผ่านช่องทางการสื่อสารด้วยแอปพลิเคชั่นต่างๆ เพิ่มมากขึ้น"
ประกอบกับการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตในปี 2564 ของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ที่สอดคล้องกัน พบว่า คนไทยมีการใช้งานอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่าวันละ 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ตื่นนอน ยันเข้านอน และด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้คนไทยใช้ชีวิตที่บ้านกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่อายุน้อยกว่า 21 ปี มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในกลุ่ม
จากพฤติกรรมการใช้งานที่เปลี่ยนไป ทั้งจากการที่ต้องรักษาระยะห่าง การกักตัว ทำให้คนไทยมีการใช้ Video Call เพื่อติดต่อสื่อสารกันมากยิ่งขึ้นไปอีก จนทำให้การโทรคุยหากันด้วยเสียงโดยปกติ เรียกได้ว่า จำนวนนาทีที่เคยมีคนใช้งานโทรคุยกันลดลงเรื่อยๆ จนทำให้ผู้ให้บริการไม่ว่าจะเป็น AIS, TRUE, DTAC หรือ NT ลดจำนวนนาทีสำหรับโทรในแพคเกจต่างๆ ลง จนบางแพคเกจมีเฉพาะแต่อินเตอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว
สอดคล้องกับพฤติกรรม และตัวเลขของการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ (DATA) ของผู้บริโภคคนไทย ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
จากข้อมูลดังกล่าว กสทช. จึงสามารถสรุปพฤติกรรมว่า ผู้บริโภคคนไทยกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร จากเดิมที่อาจจะเคยโทรหากันด้วยเสียงผ่านโทรศัพท์โดยตรง ก็เปลี่ยนมาเป็นการโทรหากันผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยแอปพลิเคชันอย่าง Line, WhatsApp, Skype, Messenger, KakaoTalk หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ แทน
จนทำให้โทรศัพท์บ้านที่สามารถใช้เพียงเสียงในการติดต่อสื่อสารเท่านั้น ได้รับผลกระทบไปด้วยจนจำนวนติดตั้งลดลงทุกๆ ปี โดยเหลือเบอร์ติดต่อไว้สำหรับการดำเนินธุรกิจเท่านั้น ส่วนเบอร์โทรศัพท์สำรองสำหรับที่พักอาศัยจึงไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป
จากพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคทั่วโลก และคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเกิดการพัฒนาของแอปพลิเคชั่น จนทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถติดต่อถึงกันผ่านแอปพลิเคชั่นได้ง่ายมากขึ้น จนทำให้ธุรกิจ OTT หรือ Over-the-top ที่เป็นการให้บริการผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นตัวแปรที่สำคัญที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก โดยผู้ให้บริการ OTT เองไม่จำเป็นต้องลงทุน หรือเป็นเจ้าของโครงข่ายอินเตอร์เน็ตด้วยตนเอง เช่น YouTube, Line TV หรือ Netflix เป็นต้น
จากแรงกระเพื่อมที่รุนแรง ทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยจึงต้องเร่งเปลี่ยนแปลง และปรับตัวเพื่อตามให้ทันกับแนวโน้มที่เปลี่ยนไปของเทคโนโลยียุคดิจิทัล และต้องตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโคยุคใหม่ที่นิยมใช้แอปพลิเคชั่น OTT ที่เข้ามาทดแทนเทคโนโลยีแบบเดิมๆ ทั้งการโทรหากันด้วยเสียง หรือการดูทีวีแบบเดิมๆ ที่มีข้อผูกมัดมากกว่าและราคาแพงกว่าเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาแทน
พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ จนทำให้บริการ OTT ต่างๆ ยิ่งได้รับความนิยมกับผู้บริโภคคนไทยยุคที่ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น เป็นเหมือนปัจจัยที่ 5 จนทำให้บริการที่มีแต่ดั้งเดิมอย่างบริการโทรด้วยเสียง ลดความนิยมลงไปเรื่อยๆ จนมีโอกาสที่จะหายไปในอนาคตอย่างแน่นอน
แล้วเพื่อนๆ ใช้บริการโทรด้วยเสียงครั้งล่าสุดไปเมื่อไหร่ ?
ข้อมูลอ้างอิง :
1. รายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคม ประจำไตรมาสที่ 1/2564 (มกราคม – มีนาคม 2564) https://www.nbtc.go.th/getattachment/Services/serviceandarticleoftelecomeconomy/รายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคมรายไตรมาสและรายปี-(1)/ปี-2564/50794/เอกสารแนบ.pdf
2. ETDA เผยโควิด-19 เป็นเหตุสังเกตได้ Gen Z ใช้เน็ตสูงสุด ปีแรก ชนะ Gen Y แชมป์ 6 สมัย https://www.etda.or.th/th/pr-news/ETDA-released-IUB-2021.aspx