คดีหญิงญี่ปุ่นฆ่าพ่อตนเอง ทำให้ญี่ปุ่นยกเลิกความผิดอาญาฐานฆ่าบุพการี
คดีลูกฆ่าพ่อในโทจิงิ หรือ คดีปิตุฆาตในโทจิงิ เป็นคดีสมสู่ระหว่างบิดากับบุตรสาวและปิตุฆาต อันเกิดขึ้นในยาอิตะ จังหวัดโทจิงิ ประเทศญี่ปุ่น โดย ชิโยะ ไอซาวะ จำเลยถูกบิดาข่มขืนกระทำชำเรามาสิบห้าปี จนฆ่าบิดาเสียเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1968 พนักงานอัยการฟ้องว่าเธอฆ่าบุพการี และศาลพิพากษาว่าเธอมีความผิดฐานดังกล่าว แต่ให้รอการลงโทษ
คดีนี้ยังให้มีการยกเลิกความผิดฐานฆ่าบุพการีในประมวลกฎหมายอาญาญี่ปุ่นในกาลต่อมาด้วย
เรื่องมีอยู่ว่า ชิโยะ ไอซาวะ จำเลย เป็นบุตรหัวปีในจำนวนบุตรทั้งหมดหกคนของ ทาเกโอะ ไอซาวะ (3 พฤษภาคม ค.ศ. 1915–5 ตุลาคม ค.ศ. 1968) กับ ริกะ ไอซาวะ ชิโยะถือกำเนิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1939 ณ จังหวัดโทจิงินั้นทากาโอะติดสุรายาเมาและข่มขืนกระทำชำเราชิโยะตั้งแต่เธออายุสิบสี่ปีเรื่อยมา ริกะ มารดาของชิโยะ
เมื่อทราบก็รับไม่ได้ และทิ้งครอบครัวหนีไปจังหวัดฮกไกโดในไม่ช้า หลายปีต่อมา ริกะหวนคืนเพื่อร้องขอให้ทาเกโอะเลิกล่วงเกินบุตรสาว แต่เธอพบว่าทาเกโอะบังคับให้ชิโยะอยู่กินกับตนฉันสามีภริยา กับทั้งชิโยะยังตั้งครรภ์กับทาเกโอะถึงสิบเอ็ดครั้ง ให้กำเนิดบุตรสาวห้าคน โดยสองคนในจำนวนนี้ตายแต่แรกเกิด
ใน ค.ศ. 1967 ชิโยะในวัยยี่สิบแปดจึงทำหมันหลังถูกบังคับทำแท้งมาแล้วหกครั้ง ครั้นปีถัดมา ชิโยะพบรักกับหนุ่มวัยยี่สิบสองคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นในมหาวิทยาลัย และต้องการวิวาห์กับเขา ทาเกโอะได้ทราบก็โกรธเป็นอันมาก เขาพันธนาการเธอไว้ที่บ้าน และขู่ฆ่าบุตรทั้งสามของเธอเสีย ชิโยะถูกจองจำอยู่กับความสิ้นหวังของชีวิต กระทั่งคืนวันที่ 5 ตุลาคม ปีนั้น ทาเกโอะเข้าราวีเธออีก เธอจึงบีบคอเขาถึงแก่ความตาย
เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงคิดกันมาตลอดว่าชิโยะเป็นภริยาของทาเกโอะ จนกระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมเธอ และแถลงว่า ชิโยะตั้งครรภ์บุตรทั้งสามกับบิดาของตนเอง อนึ่ง เนื่องด้วยกฎหมายญี่ปุ่นลักษณะครอบครัวห้ามพหุสามีภริยา (polygamy) และห้ามญาติสนิทสมรสกัน นายทะเบียนครอบครัวจึงขึ้นทะเบียนว่า บุตรทั้งสามของชิโยะเป็นบุตรมิชอบด้วยกฎหมายของทาเกโอะ
ตามประมวลกฎหมายอาญาของญี่ปุ่น ฆ่าบุพการีของตนเอง ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตพร้อมทำงานโยธา ซึ่งหนักกว่าฆ่าคนทั่วไปที่ระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกไม่เกินสามปีพร้อมทำงานโยธา นอกจากนี้ ศาลจะรอการลงโทษก็ได้แต่เฉพาะเมื่อโทษที่ลงนั้นเป็นจำคุกไม่เกินสามปี โดยให้รอไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี แต่ไม่เกินสามปี
จากนั้นที่ประชุมใหญ่ศาลสูงสุดตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า โทษที่ศาลอุทธรณ์ลงนั้นรุนแรงเกินไป และเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และใช้บังคับมิได้ ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1973 จึงลงมติด้วยคะแนนเสียง 14 ต่อ 1 แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า ชิโยะมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น (เปลี่ยนฆ่าบุพการีเป็นฆ่าบุคคลทั่วไป) โดยให้ลงโทษจำคุกสองปีกับหกเดือน พร้อมทำงานโยธา แต่ให้รอการลงโทษไว้สามปี
หลังคดีนี้แล้ว ชิโยะประกอบอาชีพอยู่ที่อุตสึโนมิยะ จังหวัดบ้านเกิด ต่อไป
ผลพวงหลังจากนั้นคือ กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นแถลงเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1973 ว่า จะพิจารณาอภัยโทษให้แก่จำเลยคดีฆ่าบุพการีเป็นรายบุคคลไป และได้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 จริง ๆ ในอีกยี่สิบสองปีให้หลัง เหลือเพียงมาตรา 199 ที่ปัจจุบันบัญญัติว่า "ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตพร้อมทำงานโยธา หรือจำคุกมีกำหนดไม่ต่ำกว่าห้าปี" ทั้งนี้ เป็นโทษที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่