“วราวุธ ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการค้า CARBON CREDIT เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจและทางรอดใหม่ หลัง Covid-19 แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว”
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคำว่า คาร์บอนเครดิตก่อนว่าคืออะไร เพราะหลายๆ คนยังไม่ทราบ สำหรับคาร์บอนเครดิต คือ ศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออก จากชั้นบรรยากาศของโลก มาคำนวนเป็นค่าเครดิต ให้สามารถซื้อ-ขายได้ เหมือนเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง โดยหนึ่งเครดิต เท่ากับการสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน เพื่อขายให้กับประเทศพัฒนาแล้วประเทศอุตสาหกรรม หรือแม้แต่เอกชนบางราย โดยประเทศหรือหน่วยงานเหล่านี้จะซื้อ Carbon Credit ไป เพื่อใช้ขยายขอบเขตหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง
สามารถอ่านกลไกการทำงาน ของคาร์บอนเครดิตอย่างละเอียด ได้อีกครั้ง ที่ลิงค์นี้
https://www.facebook.com/.../a.674770109.../1292863657831570
- ทำไมถึงมีคนซื้อคาร์บอนเครดิต
เพราะภาวะโลกร้อน เป็นภัยคุกคาม ที่มนุษยชาติกำลังเผชิญร่วมกัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นานาประเทศจึงมีเป้าหมายร่วมกันในการลดโลกร้อน ด้วยการร่วมกันลงนามใน อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) กำหนดพันธกรณีผูกพันต่อประเทศอุตสาหกรรมให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ผลของการกำหนดเป้าหมายนั้น ก่อให้เกิดกลไก Carbon Credit ที่บังคับให้ประเทศพัฒนาแล้ว หลายๆประเทศ โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม จำเป็นต้องลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตนเอง และถ้าไม่สามารถทำได้ ก็จะต้องนำเงินมาซื้อ คาร์บอนเครดิตจากตลาดกลาง ที่มีหน่วยงาน องค์กร และประเทศต่างๆที่มีคาร์บอนเครดิตคงเหลือนำมาขายนั่นเอง
โดยราคาของคาร์บอนเครดิตจะแปรผันขึ้นลงตามปัจจัยต่างๆ หากผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจกของปีนั้นเพิ่มขึ้นสูง ก็มีโอกาสที่ราคาของคาร์บอนเครดิตจะพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
จากรายงานของธนาคารโลก ได้ระบุว่าการซื้อขายคาร์บอนในตลาดโลก เมื่อปี พ.ศ.2562 มีมูลค่าสูงถึง 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ พุ่งสูงขึ้นถึง 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี จากปี พ.ศ.2559 ที่มีมูลค่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ตอนนี้มีที่ไหนใช้คาร์บอนเครดิตกันแล้วบ้าง
ขณะนี้ สหภาพยุโรป ได้ประกาศร่างกฏหมายและเตรียมบังคับใช้แล้ว เรียกว่า CBAM หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน โดยมีหลักการคือ ผู้นำเข้าสินค้าจากนอกสหภาพยุโรป จะต้องซื้อ “ใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน” หรือ “CBAM certificates” เป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตของสินค้านั้นๆ
โดยจะบังคับใช้เป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 – 31 ธ.ค. 2568 ให้ผู้นำเข้าสินค้า รายงานปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้าก่อน โดยยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม เพื่อบันทึกข้อมูล สถิติ
- บังคับใช้จริง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าสินค้า จะต้องทำรายงานประจำปี แจ้งจำนวนสินค้าที่นำเข้า และปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าดังกล่าว ในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมส่งให้หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนด้วย CBAM certificates
เบื้องต้น มาตรการ CBAM จะมีผลต่อสินค้านำเข้าบางประเภท ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้เปิดช่องให้สหภาพยุโรป มีอำนาจทบทวนกฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง ในปี 2569 และอาจพิจารณาบังคับใช้ CBAM เพิ่มเติมกับสินค้าหรือบริการอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทานที่มีลักษณะซับซ้อนกว่า รวมทั้งอาจมีการพัฒนาเงื่อนไขที่มีความเข้มงวดมากขึ้น
นอกจาก สหภาพยุโรปแล้ว สหรัฐอเมริกา ก็กำลังศึกษามาตรการนี้ เพื่อพิจารณาบังคับใช้กับประเทศของตนเช่นกัน ดังนั้น ประเทศไทย ที่พึ่งพาการส่งออก เป็น 1 ในเครื่องจักรเศรษฐกิจสำคัญ ยังไงก็หลีกเลี่ยงการซื้อขาย คาร์บอนเครดิต ไม่พ้นแน่นอน
-โอกาศของไทยอยู่ตรงไหน
อย่างที่กล่าวไปว่าอนาคต ภาคธุรกิจของไทย จะต้องมีการซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปขยายขอบเขต หรือชดเชยการสร้างก๊าซเรือนกระจกของตน และการซื้อขายนี้ จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับกลุ่มทุน หรือ บริษัทใหญ่ๆ แต่ยังสามารถกระจายโอกาสลงได้ถึงระดับชุมชน และ ครัวเรือน โดยการคำนวนค่าคาร์บอนเครดิต จากต้นไม้ทุกต้นที่ปลูก ป่าทุกผืนที่เรากำลังเร่งขยาย ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย ผ่านกลไก ป่าชุมชน ที่มีมากกว่า 10,000 แห่ง ในปัจจุบัน และจะเดินหน้าขยายเพิ่มจำนวนอีกเรื่อยๆ ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติการเพิ่มพื้นที่ป่า จาก 32% ให้เป็น 55% ของพื้นที่ประเทศ
รวมถึงการนำเทคโนโลยีการเกษตร เข้ามาปรับปรุงระบบเกษตรกรรม เรือกสวนไร่นา ให้ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก จนมีคาร์บอนเครดิตส่วนเกิน อนาคตเกษตรกรไทย นอกจากมีรายได้จากผลผลิตของตนแล้ว ก็อาจจะยังมีคาร์บอนเครดิต จากพื้นที่เกษตรของตน มาขายในตลาดได้อีกทางนึงด้วย
ปัจจุบัน เรามี องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการคำนวนคาร์บอนเครดิต และเปิดตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต โดยขณะนี้ มีองค์กรชั้นนำของประเทศที่มีการตั้งเป้าหมาย Net Zero แล้วถึง 23 องค์กร ที่เข้ามาซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยความสมัครใจ เพื่อเตรียมรับข้อกฏหมายที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้
หากท่านที่สนใจ สามารถเข้าไปซื้อ ขาย ได้ตามลิงค์นี้เลย http://carbonmarket.tgo.or.th
-ความคืบหน้าของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมประชุมหารือ แนวทางยกระดับตลาดคาร์บอนสู่ระดับสากล ร่วมกับคณะกรรมการบอร์ด องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก การประชุมหารือในครั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบถึงผลสรุป COP26 กฎกติกาการดำเนินงานตาม Article 6 ภายใต้ความตกลงปารีส และการเตรียมความพร้อมแผนการพัฒนามาตรฐาน T-VER สู่ระดับสากล กลไกการรับรองภาคป่าไม้ระดับสากล การพัฒนา Thailand Voluntary Carbon Market Development และ แผนการปรับปรุงระบบ Registry ของประเทศไทย โดยได้พิจารณาถึงแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก และการสร้างความน่าเชื่อถือในกระบวนการลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยการใช้กลไกการตลาด ที่มุ่งเน้นตลาดภายในประเทศ และการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบัน มีองค์กรชั้นนำของประเทศที่มีการตั้งเป้าหมาย Net Zero แล้วถึง 23 องค์กร
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำร่างกฎระเบียบในการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเร่งพัฒนาระบบ Registry สู่ระดับสากล ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเร่งจัดทำแผนการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศต่อไป
ขอบคุณที่มา
#TopVarawut #MNRE #พรรคชาติไทยพัฒนา #NetZeroEmission #COP26