2 กระทรวงยักษ์ใหญ่ จับมือกันชวนคนไทยร่วมปลูกป่าผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่ Carbon Neutrality
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ร่วมพิธี “ประกาศนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม” พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สิ่งแวดล้อมกับความยั่งยืน เพื่อโลก เพื่อเรา” ซึ่งจัดขึ้นโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ร่วมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน รวมทั้ง นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมในพิธี ณ หอประชุมออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่
ทางด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้เน้นย้ำถึงความพร้อมในการประกาศความมุ่งมั่นของประเทศร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (LT-LEDS) ซึ่ง ทส. ได้ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำขึ้น โดยประเทศไทยจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี ค.ศ.2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ รวมถึงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065
ทั้งนี้ การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
โดยมีมาตรการสำคัญๆ ที่ต้องดำเนินการ ภายในปี พ.ศ. 2580 ได้แก่
- มาตรการการปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ 11 ล้านไร่ ในพื้นที่ต่างๆเช่น ป่าสงวน พื้นที่ คทช. (ลุ่มน้ำ 1,2) ป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน และพื้นที่ ส.ป.ก. เป็นต้น
- มาตรการส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ 16 ล้านไร่ ในพื้นที่ต่างๆได้แก่ พื้นที่ ค.ท.ช. (ลุ่มน้ำ 3,4,5) พื้นที่ป่าไม้ถาวร (ลุ่มน้ำ 3,4,5) พื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตป่าสงวน และพื้นที่เอกชน (ที่ดินกรรมสิทธิ์) และ
- มาตรการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท 3 ล้านไร่ รวมถึงมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการป้องกันการเผาป่าซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้ถึง 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมปลูก บำรุงรักษาและฟื้นฟูป่าในพื้นที่ของรัฐ โดยเอกชนจะได้รับแบ่งปันปริมาณคาร์บอนเครดิต ซึ่งการปลูกป่าหรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีผลประโยชน์ร่วมในเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Co-benefit) อีกด้วย
สำหรับ พิธีลงนามความร่วมมือโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมเป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับกระทรวงพลังงาน โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “EGAT Carbon Neutrality” โดยมีเป้าหมายในการปลูกป่าปีละหนึ่งแสนไร่ รวมจำนวนหนึ่งล้านไร่ ระหว่างปี พ.ศ.2565-2574 ประกอบด้วย ป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ โดยคาดว่า ทั้งโครงการฯ จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์จำนวนหนึ่งล้านตันต่อปี
ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยจะร่วมกันจัดทำแผนและดำเนินงานสนับสนุนให้เกิดการปลูกป่า และบำรุงรักษาพื้นที่ป่าในการดูแลของแต่ละหน่วยงาน สนับสนุนระบบการผลิตกล้าไม้พันธุ์ดี ที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ผลักดันให้เกิดโครงการที่จะเสริมสร้างกระบวนการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ และสังคม พร้อมร่วมมือพัฒนาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งศึกษา ระบบนิเวศ พร้อมสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ร่วมแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญ รวมถึงข้อมูลปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (คาร์บอนเครดิต) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน
#TopVarawut #MNRE #พรรคชาติไทยพัฒนา
(ขอบคุณแหล่งที่มา https://www.facebook.com/TOPVarawut/photos/a.674770099640932/1373812503070018, https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000104818