ชายผู้ขายหินเป็นสัตว์เลี้ยงมูลค่าเกือบร้อยล้าน
ฉันเลี้ยงหินน่ะ”
ในฤดูร้อนปี 1975 มีกลุ่มเพื่อนแก๊งหนึ่งกำลังคุยกันอย่างสนุกสนาน
ที่บาร์แห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย บทสนทนาของพวกเขาช่างเพลิดเพลิน
จนกระทั่งดำเนินมาถึงเรื่องสัตว์เลี้ยงที่แสนจะเลี้ยงยากแถมยังเรื่องมากอีก
ทันใดนั้นชายคนหนึ่งในกลุ่มก็พูดขึ้นมาว่าสัตว์เลี้ยงของเขานั้นเลี้ยงง่ายมาก
มันไม่เคยเรียกร้องความสนใจหรือขอให้ดูแลเลยสักครั้ง เพราะสัตว์เลี้ยงของเขาคือ
‘หิน’ จากนั้นทุกคนก็หัวเราะกับมุขตลกที่เขาเล่น ชายคนนั้นมีชื่อว่า แกรี่ ดาห์ล
#จุดเริ่มต้น
แกรี่ ดาห์ล (Gary Dahl) เกิดเมื่อปี 1936 ที่รัฐนอร์ทดาโกต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา
เขาเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้ฐานะดีวิเศษวิโสไปกว่าใคร
โดยมีคุณพ่อเป็นคนงานโรงไม้และคุณแม่เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร
เมื่ออายุได้ 18 ปี แกรี่ก็สมัครเข้าเรียนสาขาการโฆษณาที่มหาวิทยาลัยวอร์ชิงตัน
พอเรียนจบ เขาก็ทำงานเป็นนักเขียนคำโฆษณา หรือ Copy Writer อยู่ในแคลิฟอร์เนีย
แต่รายได้ก็ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างค่อยๆ เปลี่ยนไปหลังจากที่แกรี่
ได้ไปสังสรรค์กับเพื่อนที่บาร์แล้วเล่นมุขว่าตัวเองเลี้ยงหิน
แกรี่กลับคิดจริงๆ ว่ามุขตลกที่ออกมาจากปากเขาตอนกำลังเมาน่าจะทำเงินได้
เพราะจากประสบการณ์ด้านการเขียนคำโฆษณา ไอเดียนอกกรอบนี้สามารถทำให้คนสนใจได้
หากมีการสื่อสารที่ตรงกับใจคนที่เบื่อหน่ายกับการเลี้ยงสัตว์ เขาจึงเกิดไอเดียขายก้อนหินให้คนนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง
หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Pet Rock
#กำเนิดPetRock
หลังจากปิ๊งไอเดียสุดแปลกประหลาด แกรี่ก็เริ่มชักชวนเพื่อนร่วมงานสองคนเข้ามาในฐานะนักลงทุน
และนำเงินไปซื้อหินชายหาดเม็กซิกันจำนวนหนึ่งซึ่งมี่ราคาก้อนละประมาณหนึ่งเพนนี
จากนั้นเขาก็นำหินแต่ละก้อนใส่เข้าไปในกล่องกระดาษแข็งแต่ละอันที่มีวัสดุเหมือนรังนกอยู่ภายในเพื่อทำให้ดูมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นจุดขายและดูมีมูลค่าจริงๆ กลับไม่ใช่ก้อนหินในกล่องแต่อย่างใด
แต่แท้จริงแล้วคือคู่มือการเลี้ยงหินที่แถมมาด้วยต่างหาก แกรี่ปลดปล่อยความสามารถในฐานะ Copy Writer
ของตัวเองด้วยการทำคู่มือดูแลเจ้า Pet Rock ซึ่งมีวิธีเลี้ยงด้วยกันทั้งหมดถึง 32 ข้อ! อย่างเช่น
วิธีการฝึก Pet Rock - “เจ้า Pet Rock นั้นฝึกง่ายและเชื่องมาก พวกมันเรียนรู้ที่จะ นั่งเฉยๆ รู้จักรอ
และแกล้งตาย ได้รวดเร็วมาก แต่พวกมันจะขี้เกียจหน่อยนะ เพราะเรียกแล้ว มันไม่ยอมมา” มันต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ก็มันคือหินนี่นา!
นอกจากการฝึกแล้วยังมีอีกหลายวิธีในการเลี้ยงเจ้า Petrock เช่น วิธีให้อาหาร วิธีพาไปเที่ยว และอื่นๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่แกรี่จะขายจริงๆ นั้นคือมุขและการเล่นสำนวนทะเล้นเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับเจ้าของนั่นเอง
#เทรนด์เลี้ยงก้อนหิน
เมื่อแกรี่เตรียมทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย เวลาเปิดตัว Pet Rock ก็มาถึง ในช่วงกลางปี 1975
เขานำ Pet Rock ไปเปิดตัวในงานแสดงของที่ระลึกที่ซานฟรานซิสโกและเขียนแถลงการณ์
เพื่อโปรโมทสินค้าของตัวเองจนเจ้า Pet Rock ได้รับความสนใจจากสื่อและเป็นกระแสยอดนิยมในเวลาต่อมา
นิตยสาร Newsweek ตีข่าวผลิตภัณฑ์ของแกรี่ลงหนังสือถึงครึ่งหน้ากระดาษ เท่านั้นยังไม่พอ
แกรี่ยังได้เป็นแขกรับเชิญในรายการ Johnny Carson TV ให้มาพูดถึงสิ่งประดิษฐ์สุดแปลกหลาดของเขา
และนี่จึงเป็นเหตุผลที่แกรี่แทบจะไม่ต้องเสียค่าโฆษณา Pet Rock เลยสักแดงเดียว
Pet Rock ของแกรี่ได้รับความนิยมมากจนห้างสรรพสินค้าหลายแห่งต้องสั่งสินค้าตัวนี้
เข้าเพื่อรองรับกระแสการมีหินเป็นสัตว์เลี้ยง ในช่วงวันหยุดเทศกาล Pet Rock สามารถขายได้ถึง 1 หมื่น
ก้อนต่อวัน ด้วยราคาก้อนละ 3.95 เหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่เยอะมากในช่วงเวลานั้น
ยิ่งหินของแกรี่ขายดีมากเท่าไหร่ สื่อก็ยิ่งเข้ามารุมเพื่อสัมภาษณ์ถึงความสำเร็จของเขา
ซึ่งนั่นก็ยิ่งช่วยให้ Pet Rock เป็นที่รู้จักไปอย่างกว้างขวาง แกรี่จึงขาย Pet Rock
ได้มากกว่า 1.5 ล้านก้อน ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน นิตยสารชื่อดังอย่าง Time
ถึงกับเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘1% product and 99% marketing genius’ เพื่อยกย่องถึงความอัจฉริยะของแกรี่
#มาเร็วไปเร็ว
แกรี่ได้เปิดเผยในภายหลังว่า เขาทำรายได้อย่างถล่มทลายด้วยตัวเลขราวๆ 5 ล้านเหรียญ
หรือราวๆ 160 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เทรนด์เลี้ยงก้อนหินมันก็อยู่ไม่นานนัก
แกรี่ลองทำสินค้าแนวนี้อีกหลายแบบแต่มันก็ไม่สามารถทำรายได้มากเท่า Pet Rock
เลยสักอย่าง เขาจึงหันมาเปิดบริษัทเอเจนซี่โฆษณาออนไลน์ที่ชื่อ Gary Dahl Creative Services แทน
ถึงในปัจจุบันแกรี่จะเสียชีวิตไปแล้วในปี 2015 แต่สิ่งที่เขาคิดค้นขึ้นมายังคงหายใจอยู่
เพราะ Pet Rock ถูกบริษัท Rosebud Entertainment มาซื้อลิขสิทธิ์ไป และสามารถหาซื้อได้ในเว็บ Amazon
ด้วยราคา 19.95 เหรียญ (ราว 670 บาท)
จริงอยู่ที่ไอเดียเงินล้านของแกรี่ผุดออกมาอย่างไม่ตั้งใจ แต่สิ่งที่เขา
แตกต่างจากคนอื่นคือเขากล้าทำสิ่งที่แปลกใหม่และไม่หลงอยู่กับความคิดเดิมๆ
มากไปกว่านั้นคือเขาพินิจพิเคราะห์และทำความเข้าใจถึงความรู้สึกหรืออารมณ์ที่โดนใจผู้บริโภคได้อย่างจริงจัง
ด้วยความกล้าและความเข้าใจของแกรี่ ทำให้ก้อนหินก้อนหนึ่งสามารถมีมูลค่าขึ้นมาได้