เปิดภาพย้อนรอยเหตุการณ์ "น้ำท่วมบางกอก" ครั้งแต่โบราณ ภูมิประเทศราบลุ่ม
กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอมาแต่ครั้งโบราณ เพราะสภาพภูมิประเทศของเมืองเป็นพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายของอ่าวไทย ประกอบกับเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ จึงเจริญขึ้น มีชุมชนหนาแน่นขึ้น ทำให้แหล่งรองรับน้ำถูกถมและตื้นเขินไปเป็นจำนวนมาก
บริเวณหน้าพระบรมรูปทรงม้า
บริเวณถนนปากตรอกโรงภาษี ศุลกากร บางรัก
ในอดีตกรุงเทพฯ มีคูคลองเป็นจำนวนมาก จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น “เวนิชตะวันออก” แต่เมื่อความเจริญมากขึ้น จำเป็นต้องขยายตัวของเมือง และมีการปรับเปลี่ยนโดยมีการถมบึง สระ คู คลอง เพื่อสร้างถนน อาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ทำให้การระบายน้ำใน
โรงพิมพ์หนังสือกรุงเทพฯ เดลิเมล์ บริเวณถนนสี่พระยา
บริเวณถนนปากตรอกโอเรียลเตนสโตน์ บางรัก
กรุงเทพฯ เป็นไปได้ยากขึ้น นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่สำคัญ คือ น้ำฝนที่ตกลงมาในปริมาณที่มากเกินไป เมื่อน้ำเหนือไหลหลากน้ำทะเลจะหนุน และแผ่นดินทรุดตัว ด้วยเหตุนี้กรุงเทพฯ จึงประสบกับปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าปัญหาน้ำท่วมในอดีต กับปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันนั้นแตกต่างกัน เนื่องจากสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตชองผู้คนในกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไป ในอดีตการเกิดน้ำท่วมถือเป็นเรื่องปกติ และน้ำท่วมใหญ่ที่ทำให้เกิดอุทกภัยมีเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่ถี่เหมือนในปัจจุบัน
บริเวณบ้านกงสุลเบลเยี่ยม ถนนเพลินจิต
บริเวณสปอร์ต คลับ สนามแข่งม้า ปทุมวัน
สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่เกิดในกรุงเทพฯ คือเมื่อเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เรียกกันว่า น้ำท่วมปีมะเส็ง เกิดอุทกภัยใหญ่ขึ้นในหลายมณฑลทางภาคเหนือและภาคกลาง น้ำเหนือไหลบ่าท่วมบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาสร้างความเสียหายแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ระดับน้ำสูงสุดในตอนปลายเดือนตุลาคม วัดจากระดับน้ำที่หน้ากองรังวัดที่ดินตรงท่าน้ำหน้าวัดประยุรวงศ์ ธนบุรี สูงถึง 1.68 เมตร กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองน้ำทั่วไปหมด โดยเฉพาะในวันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า ประชาชนต้องใช้เรือเป็นพาหนะ มีการประกวดและแข่งเรือ ณ พระลานพระบรมรูปทรงม้าด้วย ระดับน้ำสูงสุดในเดือน
บริเวณห้างสิงห์โต
บริเวณโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย ถนนพลับพลาชัย
พฤศจิกายน สูงถึง 1.87 เมตร และท่วมอยู่ตลอดเดือน ข้าวปลาอาหารขาดแคลนเพราะน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ไม่มีผู้ใดสะสมเสบียงอาหารไว้ล่วงหน้า แต่ไม่ถึงกับอดอยาก นอกจากนั้นประจวบกับประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี ภาวะทางเศรษฐกิจถูกกระทบกระเทือน ทั้งสินค้าภายในประเทศและสินค้าที่สั่งจากภายนอกประเทศจนต้องมีการตั้งเจ้าหน้าที่พิเศษขึ้นช่วยเหลือตามประกาศพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 6 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 ความว่า “ให้คณะกรรมการซึ่งมีเสนาบดีกระทรวงพระคลังเป็นประธานรีบช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย แก่ผู้มาแสดงความทุกข์ยากโดยด่วน” น้ำท่วมใหญ่ปี 2460 ได้ชื่อว่าท่วมมากแต่ก็มีความเสียหายน้อยกว่าน้ำท่วมในปัจจุบันนี้
บริเวณถนนสุรวงศ์
เพราะทางรถไฟที่เสียหายมีเฉพาะทางท่าเรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับบ้านหมอเท่านั้น ทางเลยขึ้นไปถึงสถานีป่างหัวพง ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายในสมัยนั้นไม่มีอะไรเสียหายมากนัก ซ่อมแซมนิดหน่อยก็เดินได้ มีเสียหายหนักเฉพาะชาวนาที่ข้าวล่มต้องเอาควายมาเลี้ยงตามทางรถไฟซึ่งเป็นที่ดินสูงกว่า
บริเวณวัดเบญจมบพิตร
ปัจจุบันนี้จะเห็นว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในแต่ละครั้งทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองเป็นอย่างมาก ประชาชนเดือดร้อนไม่มีที่อยู่อาศัย ของกินของใช้มีราคาแพง ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สวน ไร่นาล่ม เสียหาย ถนนขาดชำรุด การคมนาคมไม่สะดวก เกิดโรคระบาดต่างๆ ที่มากับน้ำ จึงเห็นได้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมมิใช่เรื่องสนุก ผู้ที่เคยประสบกับปัญหาน้ำท่วมมาแล้วจะรู้ถึงความยากลำบากได้ดี
วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร บริเวณถนนกรุงเกษม ใกล้กับสี่แยกมหานาค หรือสะพานขาว
อ้างอิงจาก: ส. พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรพิทยา, 2535.
เอนก นาวิกมูล. เรื่องเก่าภาพเก่า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สายธาร, 2546.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุด ภ 003 หวญ 64 เรื่อง เหตุการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2460.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงนครบาล ร 6 น 43/ 1-60 เรื่อง อุทกภัย.