“พระยาอนิรุทธเทวา” (มหาดเล็ก) “คนโปรด” ในรัชกาลที่ 6 ที่ “งดงามจนใคร ๆ พากันโจษว่าท่านเป็นกะเทย”
เป็นกระทู้ "ประวัติศาสตร์ไทย" ที่ให้ความรู้เท่านั้น ผู้ตั้งกระทู้ มิได้มีเจตนาจาบจ้วง หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ต่อเชื้อพระวงศ์ทุกๆพระองค์ หรือดูหมิ่นบุคคลที่กล่าวถึงดังกล่าวแต่อย่างใด
เป็นเรื่องราวในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีมหาดเล็กที่ "ทรงโปรด" บุคคลหนึ่งที่ "งามเหมือนเทวามาจากสวรรค์" จนใครๆก็ต่างพากันกล่าวว่าท่านเป็น "กะเทย"
ซึ่งก็คงไม่แปลกที่ไม่ว่าจะประเทศไหนๆ ก็ย่อมมี "ข้าราชบริพาร" ที่จงรักภักดีและเป็นที่ "ทรงโปรด" กันทั้งนั้น
นั่นก็คือ "พระยาอนิรุทธเทวา" หรือชื่อเดิมคือ หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 เป็นบุตรของ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมราชวงศ์ละม้าย พึ่งบุญ) และ พระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา พระนมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ท่านมีพี่-น้องร่วมมารดา ดังนี้
1. ท้าวอินทรสุริยา (หม่อมหลวงหญิงเชื้อ พึ่งบุญ)
2. พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ)
3. พระยาอนิรุทธเทวา
4. หม่อมหลวงหญิงถนอม พึ่งบุญ
ได้เข้ารับการศึกษาในสำนักเรียนวัดมหาธาตุเป็นขั้นแรก จนจบหลักสูตรชั้น 1 จากนั้นมารดาจึงนำขึ้นถวายตัวเป็น "มหาดเล็ก" พร้อมกับพี่ชาย (เจ้าพระยารามราฆพ) ที่ต่างก็ได้ถวายงานสนองเบื้องพระยุคลบาทรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร
ซึ่ง "พระยาอนิรุทธเทวา" ไม่ได้โสดแต่ทรงแต่งงานกับ "คุณหญิงเฉลา อนิรุทธเทวา" เมื่อ พ.ศ. 2467 มีบุตรธิดารวม 3 ท่าน คือ
1. งามเฉิด พึ่งบุญ ณ อยุธยา
2. งามฉลวย พึ่งบุญ ณ อยุธยา
3. เฟื่องเฉลย พึ่งบุญ ณ อยุธยา
แล้วทำไม ? จึงได้มีคนครหานินทาว่าท่านเป็น "กะเทย" ?
เนื่องด้วยท่านเป็นชายหนุ่มรูปงาม อุปนิสัยเรียบร้อย สุขุมเยือกเย็น มีจริตกิริยาแช่มช้อย ใครได้มีโอกาสพูดคุยด้วยก็จะรู้ว่าท่านน่ารักน่านับถือ แถมยังมีหัวในทางสวยงาม มองอะไรในแง่สวยงาม และมีความสามารถทางนาฏศิลป์ ได้รับการฝึกหัดท่าละคร จาก พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ครูละครผู้ใหญ่ และยังมีความสามารถในการแสดงละครพูด ละครร้อง อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ด้วย การแสดงละครร้อง ละครพูด นั้นท่านจึงมักรับบทเป็น "ตัวนาง"
แม้แต่ภรรยาท่าน (คุณหญิงเฉลา) ยังอธิบายว่า...
"พระยาอนิรุทธเทวา" มีนิสัยใจคอละเอียดอ่อน ละมุนละไม เมตตาปรานีกับทุกคนที่คบหาสมาคม และหวังดีต่อทุกๆคน เป็นคนอ่อนน้อมและน่าเคารพบูชา ด้วยกิริยาต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดเสียงนินทาว่าท่านมิใช่ผู้ชาย"
ซึ่งคำครหานินทานี้คงมีที่มาจากเหตุหนึ่งคือ..
พระยาอนิรุทธเทวามักแต่งกายคล้ายผู้หญิง ซึ่งตามบันทึกของหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ชมว่า..
เมื่อครั้งที่ท่านไปงานฤดูหนาวที่วังสราญรมย์ ท่านได้ไปเจอ “ชายงาม” ที่ทำให้ติดตาติดใจ ภาพของชายผู้นั้น ทุกคนต่างชมว่า "งามเหมือนเทวามาจากสวรรค์" ใส่เครื่องเพชรทั้งตัวงามวูบวาบไปหมด มองดูกลับไม่น่าเกลียด กลับเห็นเป็นน่ารัก แม้จะใส่สร้อยเพชรที่ข้อเท้าก็ดูดี ใบหน้าก็ขาวสวย ผมหยักศกสวยดำสนิท ดวงตาใสแวววาว ดูสวยไปทั้งตัว
แม้คนที่ไม่ชอบก็ไม่มีอะไรจะติเตียนนอกจากจะหัวเราะกันว่า....
"ท่านชอบแต่งตัวใกล้ๆ ผู้หญิง” อย่างไรก็ตามแต่ท่านมิได้แต่งกายเป็นหญิงทุกวันหากแต่แต่งตามโอกาสสำคัญเท่านั้น (ซึ่งน่าจะเป็นการถวายงานด้านการละครร้องนั่นเอง)
แต่อย่างว่าบนโลกใบนี้ไม่มีใครที่ไม่เคยโดนคำนินทา แม้มีเสียงชมก็ต้องมีเสียงตำหนิ นี่คือสัจธรรมของมนุษย์
“จนใคร ๆ พากันโจษว่าท่านเป็นกะเทย” แต่ภรรยาท่านปฎิเสธเรื่องดังกล่าว โดยอธิบายว่า..
ใครๆนึกว่าท่านมีใจเป็นผู้หญิง ชอบเลียนแบบอย่างผู้หญิง เพียงเพราะท่านเป็นคนเอวบางร่างน้อย กิริยาเหมือนผู้หญิง แต่แท้จริงแล้วท่านก็เป็นสุภาพบุรุษที่มีใจเข้มแข็ง บึกบึน เด็ดเดี่ยว มั่นคง อดทน กล้าหาญไม่แพ้ชายชาติชาตรีทั้งหลาย
ด้านหน้าที่การงาน
ท่านถวายตัวรับใช้รัชกาลที่ 6 พร้อมกับพี่ชาย (เจ้าพระยารามราฆพ) เมื่อ พ.ศ. 2446 หลังรัชกาลที่ 6 เสด็จนิวัติจากทวีปยุโรปคืนสู่พระนคร
จากนั้นในปี พ.ศ. 2449 ก็รับราชการครั้งแรกตามลำดับดังนี้
1. "มหาดเล็ก" ห้องพระบรรทม
2. เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นนายสมุทรโมมัย ชั้นหุ้มแพร พ.ศ. 2454 (คือเป็นนายม้าต้นสังกัดกรมพระอัศวราช) มีความสามารถด้านการขี่ม้ามาก
3. เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาอนิรุทธเทวา" เมื่อ พ.ศ. 2459
4. ดำรงตำแหน่งสำคัญฯ เช่น อธิบดีกรมมหาดเล็กและผู้บัญชาการกรมมหรสพ
เป็นคนที่ "ทรงโปรด" ของรัชกาลที่ 6
ถวายงานอย่างใกล้ชิดเสมอมา ไม่ว่ารัชกาลที่ 6 จะเสด็จประทับ ณ ที่ใด ก็จะติดสอยห้อยตามไปด้วยทุกที่ไม่ว่า..จะห้องพระบรรทม, ห้องพระอักษร, ในโรงละคร, ในสนามเล่น, ในสนามเสือป่าก็ดี หรือในการเสด็จออกขุนนางก็ดี
ท่านได้นั่งเรือกรรเชียงลำเดียวกับรัชกาลที่ 6 ครั้นเสด็จบางปะอิน ส่วนพี่ชายก็แล่นเรือยนต์ไปมาเพื่อตรวจดูความเรียบร้อย ส่วนมหาดเล็กคนอื่นๆก็ตามเสด็จด้วยเรือกรรเชียงลำอื่น จึงแสดงให้เห็นถึงการเป็น “คนโปรด” ของรัชกาลที่ 6 ได้อย่างชัดเจน
มีหน้าที่ถวายงานอย่างใกล้ชิด เช่น ตัดแต่งพระนขา (เล็บ) ปลงพระมัสสุ (โกนหนวด) ซึ่งไม่มีใครถวายงานได้ดีเท่าท่าน ต้องนอนใกล้ชิดห้องพระบรรทมที่พื้นตรงปลายพระแท่น (เตียง) เพื่อถวายการอารักขาอย่างใกล้ชิด และยังได้ร่วมโต๊ะเสวยกับรัชกาลที่ 6 อีกด้วย
ดังนั้นรัชกาลที่ 6 "ทรงชุบเลี้ยงท่านเสมือนหนึ่งเป็นพระราชบุตรบุญธรรม" นั่นเอง
ด้วยความจงรักภักดีของท่าน จึงเป็นที่ "ทรงโปรด" เพราะท่านต้องถวายงานให้รัชกาลที่ 6 โดยมิขาดตกบกพร่อง และท่านรู้ว่ารัชกาลที่ 6 โปรดสิ่งใดและไม่โปรดสิ่งใด ถวายงานทั้งกลางคืนและกลางวันโดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย ดังนั้นรัชกาลที่ 6 จึงมีพระเมตตาประทานสิ่งของต่างๆให้
ไม่ว่าจะซองบุหรี่, นาฬิกาพก รัชกาลที่ 6 ก็เซ็นให้เป็นของรางวัลให้ จากความตั้งใจปฏิบัติงานของท่านที่ทำให้ทรงพอพระทัย และท่านเป็นคนมิได้มักใหญ่ใฝ่สูงทางการเมือง แต่ท่านซื่อตรงจงรักภักดี ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะลูกกับพ่อจริงๆ
บั้นปลายชีวิต
ภายหลังรัชกาลที่ 6 สวรรคต ท่านก็ลาออกจากราชการ ใช้ชีวิตเรียบง่ายในบ้านบรรทมสินธุ์ (ปัจจุบันคือบ้านพิษณุโลก ตั้งอยู่บริเวณถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล) ท่านไม่มุ่งแสวงหาโชคลาภเงินทอง และยังคงยึดแนวทางตามแบบของรัชกาลที่ 6 จัดตั้งคณะนาฏศิลป์เรียกว่า “คณะละครบรรทมสินธุ์”
และการหัดระบำให้กับเด็กรุ่นใหม่ ท่านได้ช่วยอุปถัมภ์นาฏศิลป์และให้การสนับสนุนกรมศิลปากรเริ่มฟื้นฟูการแสดงนาฏศิลป์ไทย ช่วยวิจารณ์ชี้แนะในฐานะผู้ที่มีความสามารถด้านศิลปกรรมแขนงนี้
ท่านเสียชีวิตป่วยด้วย "โรคหัวใจพิการ" อาการได้ทรุดลงตลอดมา ณ บ้านบรรทมสินธุ์ เทเวศร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2494 เวลา 9.20 น. รวมอายุได้ 58 ปี
ขอบคุณเนื้อหาและภาพ : กูลเกิล