ก้าวใหม่ของ Makro รับบทพี่เลี้ยง Lotus's
ก้าวใหม่ของ Marko รับบทพี่เลี้ยง Lotus's
สู่เป้าหมายเครือซีพี พร้อมปักธงค้าปลีกไทยในเวทีโลก
การประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของกลุ่มซีพี ด้วยการโยกกิจการกลุ่ม Lotus’s ในประเทศไทยและมาเลเซีย มูลค่ารวม 217,949 ล้านบาท ไปอยู่ภายใต้ “แม็คโคร” นับเป็นการความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างมองว่าจะส่งผลมุมบวกกับหุ้นกลุ่มซีพี ทั้ง CPALL CPF และ MAKRO มีเป้าหมายที่สำคัญคือ เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจแม็คโคร และส่งเสริมกลยุทธ์ระยะยาวก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในระดับภูมิภาค จนถึงสู่เวทีโลก ตามยุทธศาสตร์ของ "ศุภชัย เจียรวนนท์" ผู้บริหารใหญ่แห่งเครือ CP
สำหรับโอนกิจการ Lotus’s ให้ MAKRO แลกเปลี่ยนหุ้น 2 ขั้นตอนสำคัญ
– ขั้นตอนแรก MAKRO จะออกหุ้นใหม่จำนวน 5,010 ล้านหุ้น ในราคา 43.50 บาท/หุ้น ให้กับ CPRH จากนั้น CPRH จะกระจายหุ้นของ MAKRO ให้กับ CPALL (สัดส่วนการถือหุ้นใน MAKRO 65.97% หลังโอนกิจการ) CPF 10.21% และ CPH 20.43% หลังจากนั้น ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง (CPRH) จะถูกชำระบัญชีเลิกบริษัท โดย MAKRO จะถือหุ้นกลุ่มโลตัสส์ 100%
หลังจากโอนหุ้นเสร็จสิ้น CPF และ CPH ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด หรือ Mandatory Tender Offer (MTO) ของหุ้น MAKRO จากผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้น 3.39% ใน MAKRO ที่ 43.50 บาท/หุ้น ในขณะที่ CPALL จะไม่ขายหุ้นใดๆ ผ่าน MTO ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน MAKRO จะเป็นดังนี้ 1. CPALL จาก 93.08% เป็น 65.97% 2. CPH จาก 0% เป็น 20.43% 3. CPM จาก 0% เป็น 10.21%
– ขั้นตอนที่สอง MAKRO จะยื่นคำร้องต่อ ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นใหม่จำนวน 1,362 ล้านหุ้น ผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชน (PO) เพื่อเป็นการเพิ่มการกระจายการถือหุ้นในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย สัดส่วนรวมกันไม่น้อยกว่า 15% เพื่อกระจายการถือหุ้น (Free Float)
ในระหว่าง PO ผู้ถือหุ้นใน MAKRO จะขายหุ้นที่มีอยู่ 703 ล้านหุ้น โดย CPALL (363 ล้านหุ้นฐานบวก 340 หุ้นที่จัดสรรเกิน) และ 182 ล้านหุ้นโดย CPF หลัง PO (หลังการปรับโครงสร้าง) CPALL จะถือหุ้น 51.5-54.7% ใน MAKRO (ขึ้นอยู่กับการจัดสรรส่วนเกิน) และ CPF จะถือ 7.34%
การเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (PO) มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนในธุรกิจ ชำระหนี้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน คาดว่าดีลดังกล่าวใช้ระยะเวลาราว 2-3 เดือน โดยจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ MAKRO และ CPALL ในวันที่ 12 ต.ค. 2564
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการโอนกิจการ MAKRO และ Lotus’s
-ส่งเสริมกลยุทธ์และความแข็งแกร่งของบริษัทฯ ในระยะยาว จากการได้รับประโยชน์จากการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ MAKRO และ CPALL เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง สินค้าอุปโภคบริโภค อันดับ 1 ในระดับภูมิภาคเอเชีย (ไม่นับรวมญี่ปุ่น)
-รับรู้ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการควบรวมของ MAKRO และ CPRD ทั้งจากการผสานจุดเด่นในแง่มุมต่าง ๆ ของ MAKRO และกลุ่มโลตัสส์ อาทิ ความครอบคลุมของรูปแบบร้านค้า และ การขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจในระดับภูมิภาค รวมถึงรับรู้ผลประโยชน์ทางอ้อมจากการลงทุนของบริษัทฯ ใน CPALL ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MAKRO
-เพิ่มโอกาสการขายสินค้าของบริษัทฯ ในร้านค้าของ MAKRO และกลุ่มโลตัสส์ จากกลยุทธ์ของทั้งสอง บริษัทที่มุ่งเน้นที่จะจำหน่ายอาหารสดที่มีคุณภาพในร้านค้าเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น
-เพิ่มสภาพคล่องของเงินลงทุนของบริษัทฯ จากเงินลงทุนในหุ้นของ CPRD (ผ่านการถือหุ้นใน CPRH) ที่ไม่มีสภาพคล่อง และไม่ได้เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเป็นเงิน ลงทุนในหุ้นของ MAKRO ที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีสภาพคล่องในการซื้อขาย
-ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันกับบริษัทอีคอมเมิร์ซ หรือบริษัทเทคโนโลยีระดับสากลต่าง ๆ ที่เข้ามาแข่งขันใน ประเทศไทยได้ โดยสามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ อย่างยิ่งพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ในทุกภาคส่วน โดยการปรับโครงสร้างภายในและการปรับโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์ทั้งหมดข้างต้น
ในส่วนของเป้าหมาย “ซีพี” ปักธงค้าปลีกไทยในเวทีโลก ปัจจุบัน เครือซีพีมีธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจค้าส่งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ทั้ง ประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมาร์ ภายใต้แบรนด์และรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย รวมจำนวน 337 ร้านค้า เป้าหมายการปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกครั้งสำคัญนี้
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และประธานกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศแผนขยายธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งของเครือซีพีในภูมิภาค พร้อมต่อยอดธุรกิจออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อนำบริษัทในกลุ่มค้าปลีกของเครือซีพีขยายธุรกิจและแข่งขันกับผู้ประกอบการในเวทีระดับโลก
ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับในวงการค้าปลีกระดับสากล จากการที่ธุรกิจค้าปลีกของไทยสามารถคว้ารางวัลยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรม จากสมาคมค้าปลีกที่มีชื่อเสียงระดับโลก และยังเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีกระดับแลนด์มาร์คในหลายประเทศ อย่างไรก็ดีอาจจะยังไม่สามารถเทียบกับยักษ์ใหญ่ของวงการค้าปลีกระดับโลกได้ ขนาดของธุรกิจ (Scale) ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จสำคัญของธุรกิจค้าปลีกระดับโลก นั่นคือ เหตุผลที่ในโลกปัจจุบัน บริษัทค้าปลีกระดับโลกจะเป็นบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่ ยกตัวอย่าง ผู้ค้าปลีก 2 รายที่ใหญ่ที่สุดของโลก สามารถสร้างยอดขายของแต่ละรายได้มากกว่าขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศไทย จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจค้าปลีกของไทยในการไปแข่งขันในระดับโลก
“ธุรกิจค้าปลีกเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยบนเวทีระดับโลก และเป็นธุรกิจที่ประเทศไทยสามารถประสบความสำเร็จบนเวทีโลกได้ นี่คือวิสัยทัศน์ร่วมกันของธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกและค้าส่งในเครือซีพี”
การขยายช่องทางค้าปลีกเครือซีพีในตลาดโลกให้มากขึ้น จะช่วยส่งเสริมสินค้าไทย โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร และอาหารสด คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยสานฝันของประเทศไทยในการเป็น “ครัวของโลก” (Kitchen of the World) โดยร้านค้าปลีกค้าส่งของเครือซีพี จะทำหน้าที่เสมือนท่อธุรกิจที่ลำเลียงนำธุรกิจขนาดเล็กๆ จากประเทศไทย ให้เข้าสู่ตลาดใหม่ได้ พร้อมกับนำผลผลิตและสินค้าของไทยไปนำเสนอ สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของเขาเอง ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งในทุกสถานการณ์ (Resilience) ให้กับธุรกิจเครือซีพี
การจัดโครงสร้างใหม่ของธุรกิจค้าปลีกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเครือซีพีบนเวทีนานาชาติครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ที่เครือซีพีเพิ่งประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจโลกยุคหลังวิกฤติโควิดด้วยการสร้างแพลตฟอร์มให้กับบริษัทอื่นๆ จากประเทศไทย และผลิตภัณฑ์ของคนไทย เพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจของพวกเขาให้ได้มากที่สุด
“เราต้องการให้ธุรกิจค้าปลีกเครือซีพีทั่วโลกทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต และ SMEs ไทยนับหมื่นๆ ราย ให้สามารถนำผลผลิตและสินค้าไปขายในต่างประเทศ”
----------------------------------------------------














