หนี้สาธารณะไทยจ่อทะลุ 9ล้านล้าน และเกินเพดาน 60% ถามว่ายังไหวไหม ตอบชัดว่ายังกู้ได้อีกเรื่อยๆ
กระทรวงการคลัง รายงานหนี้สาธารณะของประเทศ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2564 มียอดหนี้จำนวน 8,825,097 ล้านบาท หรือ 56.09% ของจีดีพี ใกล้ระดับเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ล้านบาท โดยยอดหนี้สาธารณะเดือนพ.ค. 2564 อยู่ที่ 8,696,140 ล้านบาท หรือ 55.42% ของจีดีพี เป็นการเพิ่มทั้งจำนวนหนี้และสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีอย่างน้อย 5 เดือนติด
สำหรับหนี้สาธารณะเดือน มิ.ย. 2564 ที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากการกู้โดยตรงของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการกู้เพื่อการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2564 ที่มีกรอบการกู้อยู่ที่ 608,962 ล้านบาท และการกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิดที่มีการกู้ไปแล้ว 752,726 ล้านบาท จากวงเงินกู้ทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท และต้องกู้ภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ ซึ่งทำให้เสี่ยงเพดานหนี้สาธารณะจะเกินกรอบที่กำหนดไว้ 60%
อย่างไรก็ดี คาดว่า คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังภาครัฐ ที่มี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธาน จะหารือการขยายกรอบเพดานหนี้ให้มากกว่า 60% เพื่อรองการกู้เงินจาก พ.ร.ก.โควิด 1 ล้านล้านบาทในส่วนที่เหลือทั้งหมด
รวมถึงการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด 5 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุดคณะรัฐฒนตรี (ครม.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นขอบการปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะครั้งที่ 3 โดยให้มีการกู้เงินจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท ภายในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท จากเดิม 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการกู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ 1.2 แสนล้านบาท เพื่อมาปิดหีบงบประมาณปี 2564 ให้ได้ การกู้ทั้งหมดคาดว่าจะเกินกรอบเพดานหนี้ 60% จึงต้องมีการขยายกรอบเพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังภาครัฐ