กระเจี๊ยบเขียว..กินสดได้นะ
ปลูกกระเจี๊ยบเขียวไว้ วันนี้มารู้ประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียวไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าค่าาา
ชื่อเรียกทั่วไป
-กระเจี๊ยบเขียว
ชื่อเรียกตามท้องถิ่น
-กระต้าด(สมุทรปราการ)
-กระเจี๊ยบ, กระเจี๊ยบมอญ, มะเขือ, มะเขือมอญ, มะเขือทะวาย, ทวาย(ภาคกลาง)
-มะเขือมอญ, มะเขือพม่า, มะเขือละโว้, มะเขือขื่น, มะเขือมื่น(ภาคเหนือ)
-ถั่วเละ(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
กระเจี๊ยบเขียว ในอินเดียจะเรียกกระเจี๊ยบเขียวว่า บินดี(Bhindi) ในประเทศแถบเมดิดเตอร์เรเนียน จะเรียกว่า บามี(Bamies)
กระเจี๊ยบเขียว ในประเทศไทย มีพื้นที่การปลูกกระเจี๊ยบเขียวมากที่สุด ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในภาคกลาง เช่น นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี นครนายก ราชบุรี ระยอง พิจิตร สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และกาญจนบุรี
กระเจี๊ยบเขียว เป็นสมุนไพรที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย หลายคนจึงเชื่อว่าการบริโภคกระเจี๊ยบเขียวอาจช่วยบำรุงสุขภาพและรักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ภายในร่างกาย
กระเจี๊ยบเขียว นิยมรับประทานตอนฝักอ่อน มีรสหวาน กรอบ อร่อย ส่วนฝักแก่จะมีเนื้อเหนียวไม่เป็นที่นิยมในการรับประทาน นิยมรับประทานคู่กับน้ำพริกทั้งแบบสดและแบบลวกต้มสุกก่อน(แบบต้มสุกเวลาเคี้ยวจะลื่นมากกว่ารับประทานแบบสด) และนำไปปรุงอาหารเมนูอื่นๆ
กระเจี๊ยบเขียว มีอยู่หลายสายพันธ์ุด้วยกัน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของลักษณะ เช่น ความสูงของต้น ความยาวของฝัก สีของฝัก หรือจำนวนเหลี่ยมบนฝัก แต่สายพันธุ์ที่มีการเพาะปลูกเพื่อการส่งออกนั้น จะต้องเป็นสายพันธ์ุที่มีฝัก 5 เหลี่ยม สีฝักมีสีเขียวเข้ม เส้นใยน้อย ผิวของฝักมีขนละเอียด ฝักดก ให้ผลผลิตสูง และมีลำต้นเตี้ย
สรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียว
-ฝักกระเจี๊ยบเขียวมีเส้นใยอยู่มาก จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ โดยช่วยรักษาระดับการดูดซึมน้ำตาลจากสำไส้ใหญ่ให้คงที่ กระเจี๊ยบเขียวจึงเป็นผักที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน(ผล)
-ใช้เป็นยาบำรุงสมอง(ผล)
-ช่วยรักษาโรคความดันโลหิต รักษาความดันให้เป็นปกติ(ผล)
-ช่วยแก้อาการหวัด รักษาหวัด(ผล)
-ช่วยป้องกันอาการหลอดเลือดตีบตัน(ผล)
-ช่วยขับเหงื่อ(ใบ)
-กระเจี๊ยบเขียว ช่วยแก้โรคปากนกกระจอก(ใบ)
-เส้นใยของกระเจี๊ยบเขียว ยังช่วยกำจัดไขมันปริมาณสูงที่น้ำดี ซึ่งจะช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลได้ คล้ายกับการกินยาลดไขมันและคอเลสเตอรอล(สแตติน)(ผล)
-ช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกายและช่วยลดคอเลสเตอรอล โดยเส้นใยของกระเจี๊ยบเขียวเป็นตัวช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ โดยการจัดกับน้ำดี ซึ่งมักจับสารพิษที่ร่างกายต้องการขับถ่ายที่ถูกส่งมาจากตับ และสารเมือกในฝักยังช่วยจับสารพิษเหล่านี้ ซึ่งการจับกับน้ำดีนี้จะเกิดในลำไส้และขับออกมาทางอุจจาระ ทำให้ไม่เหลือสารพิษตกค้างอยู๋ในลำไส้(ผล)
-กระเจี๊ยบเขียว ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ (ผล)
-การรับประทานฝักกระเจี๊ยบเขียว เป็นประจำ ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร เยื่อบุกระเพาะและลำไส้อักเสบ ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่าย จึ่งช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายอุจจาระได้คล่อง ช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี และช่วยในการทำงานของระบบดูดซึมสารอาหาร ช่วยสนับสนุนการขยายพันธ์ุของแบคทีเรียที่มีประโยชน์(โพรไบโอติกแบคทีเรีย) ช่วยลดความเสี่ยงของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่(ผล)
-ในฝักกระเจี๊ยบเขียว มีสารที่เป็นเมือกจำพวกเพกทิน(Pectin) และกัม(Gum) ที่มีคุณสมบัติช่วยในการเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามของแผลได้เป็นอย่างดี(ได้ผลดีเท่าๆ กับยา Misoprotol) และยังช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้(ผล)
-เมือกลื่นในฝักกระเจี๊ยบเขียว ช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะไม่เกิดการระคายเคือง ช่วยทำให้อาหารถูกย่อยในลำไส้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น(ผล)
-ช่วยแก้บิด ด้วยการใช้ผลแก่นำมาบดเป็นผง ใช้ผสมกับน้ำดื่มแก้อาการ(ผล)
-ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องของโรคกระเพาะ หรือในผู้ป่วยที่เยื่อบุกระเพาะและลำไส้อักเสบ(ผล)
-ช่วยแก้อาการกรดไหลย้อนกลับ ด้วยการนำฝักกระเจี๊ยบเขียวมาต้มในน้ำเกลือแล้วใช้กินแก้อาการ(ผล)
-ช่วยขับพยาธิตัวจี๊ด(สาเหตุมาจากการได้รับตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในเนื้อดิบ เช่น หมู เป็ด ไก่ กบ กุ้ง เนื้อปลา เป็นต้น) ด้วยการรับประทานฝักกระเจี๊ยบเขียวติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 15 วัน แต่สำหรับบางรายต้องรับประทานเป็นเดือนจึงจะหาย(ผล)
-ช่วยแก้อาการขัดเบา(ในอินเดีย)(ผล)
-ในตำรายาแผนโบราณของจีน มีการนำราก เมล็ด และดอกกระเจี๊ยบ สรรพคุณใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ส่วนในประเทศอินเดียนั้นจะใช้ฝักนำมาต้มกับน้ำดื่ม เพื่อช่วยขับปัสสาวะ เมื่อมีอาการกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือเมื่อปัสสาวะขัด(ผล, ราก, เมล็ด, ดอก)
-ในอินเดีย ใช้ผลกระเจี๊ยบเขียวเป็นยารักษาโรคหนองใน(ผล)
-รากนำมาต้มน้ำเพื่อใช้รักษาโรคซิฟิลิส(Syphilis) (ราก)
-การรับประทานฝักกระเจี๊ยบเขียวเป็นประจำสามารถช่วยบำรุงตับได้(ผล)
-ดอกกระเจี๊ยบเขียวนำมาตำใช้พอกรักษาฝีได้(ดอก)
-ในเนปาล นำน้ำคั้นจากรากมาใช้เพื่อล้างแผลและแผลพุพอง(ราก)
-ยางจากผลสด ใช้เป็นยารักษาแผลสด เมื่อถูกของมีคมบาด หรือใช้ยางกระเจี๊ยบเขียวทาแผล จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และไม่ทำให้เกิดแผลเป็น(ยางจากผล)
-ในอินเดีย มีการใช้เมล็ดนำมาบดผสมกับนม ใช้ทาผิวหนังเพื่อแก้อาการคัน(เมล็ด)
-ใบกระเจี๊ยบ ใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น นำมาประคบเพื่อลดอาการอักเสบ ปวด บวมได้ และช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นไม่แตกแห้ง(ใบ)
-ใช้เป็นยาบำรุงข้อ กระดูก โดยมีการเล่ากันว่า ชาวชุมชนมุสลิมทางภาคใต้สมัยก่อน จะนิยมกินผักที่เป็นเมือก เช่น ผักกูด และกระเจี๊ยบเขียว เพื่อช่วยเพิ่มไขมันหรือเมือกให้ข้อกระดูก โดยเชื่อว่าจะทำให้หัวเข่าหรือข้อต่อกระดูกมีน้ำเมือกมากขึ้น ทำให้ไม่เกิดการบาดเจ็บและช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น เสมือนเป็นน้ำหล่อเลี้ยง(ผล)
-ผลกระเจี๊ยบมีเมือกลื่นที่ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ไม่แห้งแตก บางคนจึงนิยมนำผลอ่อนมาพอกผิวเมื่อมีอาการแสบร้อน(ผล)
-การรรับประทานกระเจี๊ยบเขียวเป็นประจำ จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของทารกในครรภ์และช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง เนื่องจากมีโฟเลตสูง โดยฝักแห้ง 40 ฝัก จะเทียบเท่ากับปริมาณที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวัน(ผล)
ประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียว
-ฝักอ่อนหรือผลอ่อน ใช้เป็นผักจิ้มรับประทาน โดยนำมาต้มให้สุกหรือย่างไฟก่อน หรือนำมาใช้ทำแกงต่างๆ เช่น แกงส้ม แกงเลียง แกงจืด ใช้ใส่ในยำต่างๆ ใช้ชุบแป้งทอด ทำเป็นสลัดหรือซุปก็ได้
-เมนูกระเจี๊ยบเขียว เช่น แกงส้มกระเจี๊ยบเขียว แกงเลียงกระเจี๊ยบเขียว แกงจืดกระเจี๊ยบเขียวยัดไส้ แกงกะหรี่ปลาใส่กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวผัดผง... ผัดเมล็ดกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวผัดขิงอ่อน ห่อหมกกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวต้มกะทิปลาสลิด ยำกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวชุบแป้งทอด สลัดกระเจี๊ยบเขียว ชากระเจี๊ยบเขียว เป็นต้น
-สำหรับชาวอียิปต์ มักใช้ผลกระเจี๊ยบเขียวรับประทานร่วมกับเนื้อสัตว์ หรือนำมาใช้ในการปรุงสตูว์เนื้อน้ำข้น สตูว์ผัก หรือนำไปดอง ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาทางตอนใต้จะใช้ผลอ่อนนำมาต้มเป็นสตูว์กับมะเขือเทศที่เรียกว่า "กัมโบ้" หรือทางตอนใต้ของอินเดียจะนำผลกระเจี๊ยบเขียวมาผัดหรือใส่ในซอสข้น ส่วนชาวฟิลิปปินส์จะใช้กินเป็นผักสดและนำมาย่างกิน และชาวญี่ปุ่นจะนำมาชุบแป้งทอดกินกับซีอิ๊ว
-ดอกอ่อนและตาดอกสามารถนำมารับประทานได้เช่นกัน
-รากกระเจี๊ยบเขียวสามารถนำมารับประทานได้ แต่จะค่อนข้างเหนียวและไม่เป็นที่นิยม
-แป้งจากเมล็ดแก่ เมื่อนำมาบด สามารถนำมาใช้ทำเป็นขนมปังหรือทำเป็นเต้าหู้ได้
-ใบตากแห้งนำมาป่นเป็นผง ใช้โรยอาหารและช่วยชูรสชาติอาหารได้
-ฝักที่นำมาตากแห้งแล้ว สามารถนำมาใช้ทำเป็นชาไว้ชงดื่มได้
-เมล็ดกระเจี๊ยบเขียวนำมาคั่วและบด สามารถนำมาใช้แทนเมล็ดกาแฟได้ หรือนำใช้ในการแต่งกลิ่นกาแฟ
-ใบกระเจี๊ยบเขียว นำมาใช้เป็นอาหารวัวหรือใช้เลี้ยงวัวได้
-กากเมล็ดมีโปรตีนมาก เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์
-ในประเทศอินเดีย มีการใช้เมล็ดกระเจี๊ยบเขียวเพื่อไล่ผีเสื้อเจาะผ้า
-ในประเทศอินเดีย โรงงานผลิดน้ำตาลบางแห่ง มีการใช้เมือกจากต้นนำมาใช้ในกระบวนการทำให้น้ำอ้อยสะอาด
-เปลือกต้นกระเจี๊ยบเขียว แม้จะไม่เหนียวนัก แต่ก็สามารถนำมาใช้ทอกระสอบ ทำเชือก เชือกตกปลา ตาข่ายดักสัตว์ ใช้ถักทอเป็นผ้าได้ หรือทำเป็นกระดาษ ลังกระดาษได้
-เมือกจากผลกระเจี๊ยบเขียว สามารถนำมาใช้เคลือกกระดาษให้มันได้
-กระเจี๊ยบเขียว เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดปี จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับเกษตรกรไทย เนื่องจากต่างประเทศมีการสั่งซื้อกระเจี๊ยบเขียวของไทยปีละหลายล้านบาท โดยมีบริษัทที่ทำโครงการปลูกกระเจี๊ยบเขียวอย่างครบวงจร มาร่วมมือกับเกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ช่วยกันปลูกเพื่อส่งออก
-สำหรับัในต่างประเทศ มีการนำกระเจี๊ยบเขียวไปผลิตแปรรูปได้อย่างหลากหลาย เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ทำเป็นอาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง หรืออาหารสำเร็จรูป เช่น กระเจี๊ยบเขียวอบแห้ง หรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมขนมหวาน รวมไปถึงอุตสาหกรรมเครื่องหอม อุตสาหกรรมยา เช่น ทำเป็นยาผงและแคปซูล
คุณค่าทางโภชนาการของกระเจี๊ยบเขียวดิบ ต่อ 100 กรัม
-พลังงาน 33 กิโลแคลอรี
-คาร์โบไฮเดรต 7.45 กรัม
-น้ำตาล 1.48 กรัม
-เส้นใย 3.2 กรัม
-ไขมัน 0.19 กรัม
-โปรตีน 1.93 กรัม
-น้ำ 89.58 กรัม
-วิตามินเอ 36 ไมโครกรัม 5%
-วิตามินบี 1 0.2 มิลลิกรัม 17%
-วิตามินบี 2 0.06 มิลลิกรัม 5%
-วิตามินบี 3 1 มิลลิกรัม 7%
-วิตามินบี 6 0.215 มิลลิกรัม
-วิตามินซี 23 มิลลิกรัม 28%
-วิตามินอี 0.27 มิลลิกรัม 2%
-วิตามินเค 31.3 ไมโครกรัม
-ธาตุแคลเซียม 82 มิลลิกรัม 8%
-ธาตุเหล็ก 0.62 มิลลิกรัม 5%
-ธาตุแมกนีเซียม 57 มิลลิกรัม 16%
-ธาตุโพแทสเซียม 299 มิลลิกรัม 6%
-ธาตุสังกะสี 0.58 มิลลิกรัม 6%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
ขอบคุณทุกท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมชม
ขอให้ทุกท่านโชคดี