การฝากไข่คืออะไร? ทางเลือกสำหรับสาวๆที่ไม่อยากมีลูกเร็ว
การฝากไข่คืออะไร?
การฝากไข่ (Egg Freezing) เป็นการรักษาคุณภาพของเซลล์ไข่ของผู้หญิงโดยการแช่แข็งเอาไว้ ซึ่งเหมือนเป็นการหยุดเวลา ก่อนที่ไข่จะเสื่อมคุณภาพลงเมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น แล้วค่อยนำมาละลายเมื่อว่าที่คุณแม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ โดยนำเซลล์ไข่ไปปฏิสนธิภายนอกกับอสุจิของสามีในเวลาที่กำหนดเองได้ ด้วยเทคนิคทางการแพทย์ที่ช่วยในการเจริญพันธุ์ (IVF หรือ ICSI) จากนั้นก็นำกลับเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูกภายในร่างกายอีกครั้ง เพื่อให้ไข่เติบโตกลายเป็นลูกน้อยที่น่ารักต่อไป
ทำไมควรเก็บไข่ และแช่แข็งไข่
ผู้หญิงสมัยใหม่อาจจะคิด หรือเริ่มที่จะวางแผนมีบุตรกันช้ามากขึ้น อาจเกิดจากหลายๆปัจจัย เช่น หน้าที่การงาน สถานะความสัมพันธ์ และเป้าหมายอื่นๆ ของชีวิต หรืออาจตรวจพบสภาวะทางร่างกายซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ รวมถึงทั้งกำลังรับการรักษาอยู่ (เช่น โรคมะเร็ง) โดยไข่ของผู้หญิงนั้นมีวันหมดอายุ ส่วนมากราวช่วงอายุ 40 ปี การผลิตไข่จะลดลงทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพอย่างรวดเร็ว และจะคงสภาพดังกล่าวจนถึงช่วงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งร่างกายจะไม่ผลิตไข่อีกต่อไป
การฝากไข่ แช่แข็งไข่จึงช่วยคงสภาพเซลล์ไข่ที่ “อ่อนวัย” เอาไว้ เพื่อนำมาใช้ในช่วงเวลาที่คุณพร้อมมีเจ้าตัวน้อย
ผู้หญิงยุคใหม่ มีลูกช้าขึ้นทำให้พบปัญหามีบุตรยากมากขึ้นจากอายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนไข่ในรังไข่ และคุณภาพไข่ลดลง การแช่แข็งไข่ตั้งแต่อายุยังไม่มาก อาจช่วยลดปัญหาการมีบุจรยากในอนาคตได้ เพราะเป็นไข่ที่ถูกเก็บไว้ตั้งแต่อายุน้อย ทั้งจำนวนและคุณภาพจะดีกว่า นอกจากนี้ในผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับยาเคมีบำบัด หรือฉายแสง ที่จะส่งผลให้จำนวนไข่ลดลงอย่างรวดเร็ว การแช่แข็งไข่ไว้ก่อนแล้วกลับมาใช้หลังหายจากโรคจะช่วยลดปัญหามีบุตรยากได้
การฝากไข่มักถูกใช้ในกรณีใดบ้าง?
กระบวนการฝากไข่สามารถถูกใช้ในหลากหลายกรณี ดังนี้:
- ผู้ที่วางแผนมีบุตรในอนาคตแต่ยังไม่พร้อมมีบุตรในขณะนี้ หรือการที่คู่หญิงชายวางแผนแต่งงานช้าลงด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างทางสังคม เช่น การศึกษา หน้าที่การงาน หรือการใช้ชีวิตตามความฝัน
- ผู้หญิงที่ยังไม่เจอคู่ชีวิตในเวลาที่ใช่ แต่วางแผนการมีบุตรในอนาคต
- ผู้หญิงที่ต้องได้รับการรักษาโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น การรักษาด้วยการฉายรังสี หรือการให้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งที่อาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ การเก็บรักษาไข่ไว้ในขณะที่ร่างกายยังสมบูรณ์จึงถือว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของรังไข่ เช่น เนื้องอก ซีสต์ หรือ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวหมดประจำเดือนเร็ว เคยมีประวัติผ่าตัดบริเวณรังไข่มาก่อน
- ผู้มีปัญหาด้านพันธุกรรม ชนิดที่ทำให้รังไข่เสื่อมการทำงานเร็ว หรือ ผู้มีประวัติเสี่ยงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็ว
- กรณีที่ใช้วิธีเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือ ICSI ไข่ที่ได้รับการกระตุ้นออกมาแล้ว แต่ยังไม่ได้นำมาใช้ แพทย์อาจแนะนำให้นำไข่ไปแช่แข็งไว้เพื่อรอวันที่พร้อมปฏิสนธิ
How การฝากไข่มีขั้นตอนอย่างไร?
การฝากไข่มีขั้นตอนอยู่ 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ:
1. การกระตุ้นไข่
หลังจากที่แพทย์ได้ตรวจอัลตราซาวด์รังไข่และตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดเรียบร้อยแล้ว จะแนะนำวิธีการฉีดยากระตุ้นไข่ (เริ่มวันที่ 2 หรือ 3 ของการมีประจำเดือน) เพื่อกระตุ้นให้มีการตกไข่ในปริมาณที่มากกว่าปกติ โดยจะกระตุ้นทุกวันเป็นเวลา 10 – 14 วัน แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเป็นระยะ (ทุก 2-3 วัน) เพื่อเช็กจำนวนไข่ ว่าเป็นไปตามเป้าหมายแล้วหรือยัง (โดยส่วนใหญ่ คาดหวังให้อยู่ที่ 10-20 ใบ) ตรวจดูตำแหน่งของไข่ ตลอดจนความแข็งแรงสมบูรณ์ของไข่ หากทุกอย่างตรงตามเป้าหมาย จะฉีดยากระตุ้นการตกไข่ (36 ชั่วโมงก่อนการเก็บไข่) เพื่อเตรียมตัวสู่กระบวนการการดูดเก็บไข่ในขั้นตอนต่อไป
2. การดูดเก็บไข่
ในการเก็บเซลล์ไข่ แพทย์จะให้ยาสลบแก่คนไข้ จึงไม่รู้สึกถึงความเจ็บระหว่างการเก็บไข่ แพทย์จะอัลตร้าซาวด์รังไข่เพื่อตรวจดูความพร้อมและตำแหน่งที่ไข่จะตก จากนั้นจะทำการดูดเก็บไข่โดยใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปทางช่องคลอดและดูดไข่ออกมาจากรังไข่ ซึ่งจะต้องทำในช่วงเวลาก่อนไข่ตกเท่านั้น
3. การแช่แข็งไข่
หลังจากแพทย์เก็บไข่ที่จะนำไปปฏิสนธิต่อในอนาคตแล้ว เซลล์ไข่จะถูกแช่แข็ง ด้วยเทคนิคการแช่แข็งแบบผลึกแก้ว หรือ Vitrification และเก็บรักษาในไนโตรเจนเหลว ที่อุณหภูมิติดลบ จนกว่าจะตัดสินใจนำไข่มาใช้
ประสิทธิผลของการเก็บรักษาไข่
ไข่ที่ถูกแช่แข็งไว้ในไนโตรเจนเหลวนั้น สามารถเก็บได้นานเป็น 10 ปี โดยจะเก็บไว้ที่อุณหภูมิ ต่ำกว่า – 190 องศาเซลเซียส เพื่อคงคุณภาพของไข่ไว้ให้เหมือนเดิมแม้เวลาจะผ่านไป เพื่อรอเวลาที่พร้อมที่สุดของ (ว่าที่) คุณพ่อคุณแม่ อย่างไรก็ตามการตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของหญิงที่จะตั้งครรภ์ ความแข็งแรงของร่างกาย และความแข็งแรงของอสุจิของฝ่ายชายด้วย
การฝากไข่ปลอดภัย/มีความเสี่ยงแค่ไหน?
แม้ว่าการฝากไข่จะเป็นวิธีการที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการกระตุ้นไข่และเก็บไข่ได้ เช่น ภาวะรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome) หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น บางรายอาจมีอาการเจ็บ ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ น้ำหนักขึ้น หรืออาจมีอารมณ์แปรปรวน เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึงกับเป็นอันตรายต่อชีวิต
การฝากไข่มีอัตราความสำเร็จเท่าไหร่?
โอกาสตั้งครรภ์จากการฝากไข่นั้นเท่ากับการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ โดยช่วงอายุที่แพทย์แนะนำคือ 20 ไปจนถึง 35 ปี เนื่องจากอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เซลล์ไข่เมื่อนำมาละลายด้วยวิธีการ Vitrification โอกาสรอดสูงถึง 90-95% ดังนั้น ยิ่งมีจำนวนของไข่มาก ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์มากขึ้นเท่านั้น
แพทย์จะแนะนำจำนวนการเก็บไข่ที่เหมาะสม โดยจะขึ้นกับอายุของฝ่ายหญิง ผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีจำนวนไข่ที่ถูกเก็บและนำไปแช่แข็งจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 ฟองสำหรับการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง และจะเก็บได้ปริมาณที่น้อยลงตามอายุ โดยโอกาสการตั้งครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 7% ต่อไข่ 1 ใบ
ดังที่ได้เล่าไปตอนต้น โอกาสตั้งครรภ์จากการฝากไข่ไม่ใช่ 100% ความสำเร็จในการตั้งครรภ์เกิดจากปัจจัยต่างๆ ของร่างกายของทั้งฝ่ายชายและหญิงเช่นเดียวกับการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ ซึ่งการฝากไข่นั้นเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการนำไข่มาเก็บรักษาไว้ภายนอกร่างกายเท่านั้น