พระวิหารลายคำวัดสุชาดาราม
พระวิหารลายคำวัดสุชาดาราม
วิหารลายคำวัดสุชาดาราม (ในวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม) สร้างในสมัยของเจ้าวรญาณรังษี เจ้าผู้ครองนครลำปางในสมัยนั้น โดยฝีมือของช่างเชียงแสน ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๕๒ เมื่อครั้งชาวเชียงแสนถูกกวาดต้อนมาอยู่เป็นชุมชนในเมืองเขลางค์
พระวิหารเป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นครึ่งปูนครึ่งไม้ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๗ เมตร ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก โครงสร้างพระวิหารเป็นแบบ “ม้าตั่งไหม” ที่มีการถ่ายทอดน้ำหนักจากหลังคาวิหารลงมาตามส่วนของขื่อต่าง ๆ ลงสู่เสาและหลังคาปีกนกด้านล่าง ๒ ข้าง ซึ่งเป็นลักษณะอาคารที่จำเพาะกับกษัตริย์หรือเจ้าเมือง ส่วนของหลังคาเป็นการยกซ้อนของไม้เป็นสามชั้นสามระดับ เพื่อประกอบเป็นหลังคาของห้องประธาน ส่วนหน้าซ้อนสามชั้น และส่วนหลังซ้อนกันเป็นสองชั้น มีเสารองรับหลังคาทั้งหมด การประกอบส่วนของหลังคาทั้งหมดใช้ลิ่มไม้เป็นตัวยึด ไม่มีการใช้ตะปู เสาและขื่อเขียนลายทองในเป็นที่มาของชื่อวิหารลาย(ทอง)คำ ขื่อและโครงรับจั่วหลังคาซ้อนกันเหมือนวางซ้อนเก้าอี้ หลังคาไม่มีเพดานทำให้เห็นกระเบื้องดินเผา พื้นที่ภายในพระวิหารแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนประธานเป็นส่วนที่ประดิษฐานพระพุทธสีหะเชียงแสน ระหว่างห้องประธานและส่วนหน้ามีฝาปิด ตามเสาและขื่อลงรักดำ (ฮัก) และชาด (หาง) ปิดทองเป็นลวดลายพรรณพฤกษา ฝาผนังเป็นเรื่องราวในชาดก และเรื่องนรก ส่วนหลังคาลาดต่ำ หน้าต่างด้านขวาแคบเล็ก หน้าต่างด้านซ้ายเป็นลูกกรงลูกมะหวด การทำหน้าต่างแคบในลักษณะเช่นนี้เพื่อรักษาความอบอุ่นของอาคารในหน้าหนาว ด้านหน้าประกอบด้วยราวบันได และสิงห์ปูนปั้นคู่ประดับเหนือบานประตู
พระวิหารลายคำสุชาดา ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการอนุรักษ์ศาสนสถานที่ทรงคุณค่าทางด้านศิลปะที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตแบบล้านนา และวัฒนธรรมของภาคเหนือได้เป็นอย่างดี